เชอร์ล็อก โฮมส์
เชอร์ล็อก โฮมส์ (อังกฤษ: Sherlock Holmes, ออกเสียง: /ˈʃɜːrlɒk ˈhoʊmz/) เป็นนวนิยายสืบสวนหรือรหัสคดี ประพันธ์โดยเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ นักเขียนและนายแพทย์ชาวสกอต ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ตัวละคร เชอร์ล็อก โฮมส์ เป็นนักสืบชาวลอนดอนผู้ปราดเปรื่องที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านทักษะการประมวลเหตุและผล ทักษะด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยอาศัยหลักฐานและการสังเกตอันคาดไม่ถึงเพื่อคลี่คลายคดี
เชอร์ล็อก โฮมส์ | |
---|---|
ภาพวาด เชอร์ล็อก โฮมส์ ในนิตยสารสแตรนด์ ค.ศ. 1891 | |
ผู้ประพันธ์ | เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ |
ชื่อเรื่องต้นฉบับ | Sherlock Holmes |
ผู้แปล | หลวงสารานุประพันธ์, อ. สายสุวรรณ,พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ประเทศ | สหราชอาณาจักร |
ภาษา | อังกฤษ |
ชุด | เชอร์ล็อก โฮมส์ |
ประเภท | รหัสคดี |
สำนักพิมพ์ | หนังสือพิมพ์ Beeton's Christmas Annual นิตยสารสารานุกูล |
วันที่พิมพ์ | ค.ศ. 1887 พ.ศ. 2469 |
โคนัน ดอยล์ แต่งเรื่อง เชอร์ล็อก โฮมส์ ไว้ทั้งสิ้นเป็นเรื่องยาว 4 เรื่อง และเรื่องสั้น 56 เรื่อง เกือบทุกเรื่องเป็นการบรรยายโดยเพื่อนคู่หูของโฮมส์ คือ นายแพทย์จอห์น เอช. วอตสัน หรือ หมอวอตสัน ในจำนวนนี้ มี 2 เรื่องที่โฮมส์เป็นผู้เล่าเรื่องเอง และอีก 2 เรื่องเล่าโดยบุคคลอื่น เรื่องสั้นสองเรื่องแรกตีพิมพ์ใน Beeton's Christmas Annual ในปี ค.ศ. 1887 และ Lippincott's Monthly Magazine ในปี ค.ศ. 1890 แต่หลังจากที่ชุดเรื่องสั้นลงพิมพ์เป็นคอลัมน์ประจำใน นิตยสารสแตรนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1891 นิยายเรื่องนี้ก็โด่งดังเป็นพลุ เหตุการณ์ในนิยายอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1878 ถึง ค.ศ. 1903 และคดีสุดท้ายเกิดในปี ค.ศ. 1914
ความโด่งดังของเชอร์ล็อก โฮมส์ ทำให้ผู้อ่านจำนวนมากเชื่อว่าเขามีตัวตนจริงและพากันเขียนจดหมายไปหา มีพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮมส์ ตั้งขึ้นในตำแหน่งที่น่าจะเป็นบ้านในนวนิยายของเขาในกรุงลอนดอน นับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นสำหรับตัวละครในนิยาย เรื่องราวของเชอร์ล็อก โฮมส์ มีการนำไปดัดแปลงและแต่งเพิ่มเติมขึ้นใหม่อีกโดยนักเขียนคนอื่น ทั้งที่เขียนร่วมกับทายาทของโคนัน ดอยล์ และเขียนขึ้นใหม่เป็นเอกเทศ บทประพันธ์ของโคนัน ดอยล์ และนวนิยายที่แต่งขึ้นใหม่ ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ และสื่ออื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน กระทั่งบันทึกสถิติโลกกินเนสส์ระบุว่า เชอร์ล็อก โฮมส์เป็น "ตัวละครที่มีผู้แสดงมากที่สุด" ภาพลักษณ์ของโฮมส์กลายเป็นสัญลักษณ์ของนักสืบ และส่งอิทธิพลต่อวรรณกรรมและการแสดงในประเภทรหัสคดีจำนวนมาก
ประวัติ
แก้โคนัน ดอยล์ ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้าง เชอร์ล็อก โฮมส์ มาจากนายแพทย์ผู้หนึ่ง คือ นายแพทย์โจเซฟ เบลล์ ระหว่างที่เขาเป็นแพทย์ฝึกงานที่ โรงพยาบาลเอดินบะระรอยัล[1] นายแพทย์อาวุโสสามารถระบุอาการและโรคของคนไข้ได้ทันทีเพียงจากการสังเกตสภาพภายนอก หรือสามารถอธิบายเรื่องราวได้มากมายจากข้อสังเกตเพียงเล็กน้อย ซึ่งทำให้โคนัน ดอยล์ ทึ่งมาก นายแพทย์เบลล์ยังเคยช่วยเหลือการสืบสวนคดีของตำรวจบางคดีอีกด้วย[2]
เมื่อโคนัน ดอยล์ เรียนจบและออกไปประกอบอาชีพ เขาเขียนหนังสือเป็นงานอดิเรกเพื่อสร้างรายได้เสริม โดยเขียนเรื่องสั้นส่งให้กับนิตยสาร เนื่องจากการงานอาชีพแพทย์ไม่ค่อยสร้างรายได้ดีนัก เขาใช้เวลาว่างระหว่างรอคนไข้เริ่มเขียนนวนิยาย โดยใช้นายแพทย์เบลล์ อาจารย์ของเขาเองเป็นต้นแบบในการสร้างตัวละครเอก คือ เชอร์ล็อก โฮมส์ แล้วสร้างตัวละครรองเป็นนายแพทย์ซึ่งเกี่ยวข้องกันกับวิชาชีพของเขา และเรื่องแรกที่โคนัน ดอยล์ เขียนคือ แรงพยาบาท (A Study in Scarlet) พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ Beeton's Christmas Annual ในปี ค.ศ. 1887 หลังจากที่ถูกปฏิเสธอยู่หลายครั้งหลายหน หลังจากนั้น โคนัน ดอยล์ จึงทยอยเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับนักสืบโฮมส์และเพื่อนนายแพทย์ของเขา ผลตอบรับจากการเขียนนวนิยายนักสืบชุดนี้ดีจนคาดไม่ถึง และโคนัน ดอยล์ ต้องแต่งเรื่องส่งให้สำนักพิมพ์อยู่เรื่อย ๆ จนเป็นที่ยอมรับ
โครงเรื่อง
แก้เชอร์ล็อก โฮมส์ ตอนแรกที่ลงตีพิมพ์ใน Beeton's Christmas Annual คือ ตอน แรงพยาบาท (A Study in Scarlet) โดยบทแรกเล่าถึงการพบกันครั้งแรกระหว่างโฮมส์กับวอตสัน ทั้งสองมาเช่าห้องพักร่วมกันที่บ้านเลขที่ 221 บี ถนนเบเกอร์ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1881 แต่เนื้อเรื่องใน แรงพยาบาท เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1884[3]
เวลานั้นโฮมส์เป็นนักสืบอยู่แล้ว ส่วนหมอวอตสันเพียงต้องการพักผ่อนหลังจากเกษียนตัวเองจากสงครามอัฟกานิสถาน ในช่วงแรกหมอวอตสันรู้สึกว่าโฮมส์ช่างเป็นคนแปลกประหลาด แต่ต่อมาเมื่อคุ้นเคยขึ้น วอตสันจึงเข้าใจและมองเห็นความสำคัญของสิ่งที่โฮมส์ทำ นับแต่นั้นหมอวอตสันได้ร่วมในการสืบสวนคดีของโฮมส์หลายต่อหลายครั้ง และเขียนเป็นบันทึกเก็บไว้อ่าน เนื้อเรื่อง เชอร์ล็อก โฮมส์ ที่โคนัน ดอยล์ ประพันธ์นั้น สมมติขึ้นว่าเป็นการเล่าเรื่องจากสมุดบันทึกของหมอวอตสัน ซึ่งเขาส่งให้หนังสือพิมพ์ตีพิมพ์บ้างบางตอน เพราะต้องการเผยแพร่กิตติคุณความสามารถของโฮมส์ให้โลกรู้
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1888 ระหว่างการสืบสวนคดี จัตวาลักษณ์ (The Sign of Four) หมอวอตสันได้รู้จักกับแมรี มอร์สตัน ซึ่งเป็นเจ้าทุกข์ หลังเสร็จสิ้นคดี ทั้งสองได้แต่งงานกัน และหมอวอตสันย้ายออกจากห้องเช่า 221 บี ไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อมา เมื่อภรรยาเสียชีวิต หมอวอตสันจึงได้ย้ายกลับมาอยู่กับโฮมส์อีกครั้ง[3]
โฮมส์และหมอวอตสันได้ร่วมสืบคดีด้วยกันเป็นเพื่อนคู่หู รวมคดีที่โฮมส์สะสางทั้งสิ้นมากกว่าหนึ่งพันคดี[4] บางปีโฮมส์มีคดีมากมายจนทำไม่ทัน บางปีก็ว่างจนโฮมส์ต้องหันไปพึ่งโคเคน ช่วงปีที่โฮมส์มีงานยุ่งที่สุดคือ ปี ค.ศ. 1894-1901 โฮมส์มีโอกาสได้ถวายการรับใช้สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ. 1895 เหตุการณ์นี้ปรากฏในตอน แผนผังเรือดำน้ำ (The Bruce-Partington Plan) ต่อมาในปี ค.ศ. 1902 โฮมส์มีโอกาสได้รับยศอัศวินแต่เขาปฏิเสธ[4]
อย่างไรก็ตาม หมอวอตสันก็ยังคงเป็นเพื่อนผู้ซื่อสัตย์และอยู่ร่วมในคดีสุดท้ายของโฮมส์ในปี ค.ศ. 1914 ดังปรากฏในบันทึกตอน ลาโรง (His Last Bow) หลังจากคดีนี้แล้วก็ไม่มีบันทึกของหมอวอตสันปรากฏให้เห็นอีก จึงไม่มีใครรู้เลยว่า ชีวิตของคนทั้งสองหลังจากนี้ได้ดำเนินไปเช่นไร
ลักษณะตัวละคร
แก้นิสัยและบุคลิก
แก้เชอร์ล็อก โฮมส์ เป็นชาวอังกฤษ เกิดวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1854 มีนิสัยรักสันโดษ แต่ก็ยังไม่สันโดษเท่าพี่ชาย คือ ไมครอฟต์ โฮมส์ ที่คอยช่วยเหลือเขาในบางคดี เชอร์ล็อก มีรูปร่างผอมสูง จมูกโด่งเป็นสันเหมือนเหยี่ยว มีความรู้รอบตัวในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเคมี ฟิสิกส์ และความรู้เกี่ยวกับพืชมีพิษตระกูลต่าง ๆ และเขายังเก่งเรื่องเล่นไวโอลิน แต่เขาไม่มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับดาราศาสตร์เลย
โฮมส์มีอารมณ์แปลก ๆ บางครั้งก็เศร้าซึม พูดน้อย บางครั้งก็ร่าเริง หมอวอตสัน เพื่อนคู่หูของเชอร์ล็อก โฮมส์ ได้บรรยายถึงลักษณะต่าง ๆ ของโฮมส์เอาไว้ในบันทึกคดีคราวต่าง ๆ กัน เช่น ในเวลาที่กำลังครุ่นคิดเรื่องคดี โฮมส์จะไม่ทานข้าวเช้า (จาก ตอน ช่างก่อสร้างเจ้าเล่ห์ (the Norwood Builder) ) โฮมส์ชอบทำการทดลองเคมี แล้วทิ้งข้าวของในห้องกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ (จาก ตอน ปริศนาลายแทง (Musgrave Ritual)) โฮมส์สูบไปป์จัดมาก มักกลั่นแกล้งตำรวจโดยการให้ข้อมูลปลอมหรือปกปิดหลักฐานบางอย่าง แต่ก็มีความเป็นสุภาพบุรุษและให้เกียรติแก่สตรีอย่างสูง (จากตอน นายหน้าขู่กิน (Charles Augustus Milverton)) แต่นิสัยที่หมอวอตสันเห็นว่าเลวร้ายและยอมรับไม่ได้เลย คือ การที่โฮมส์ชอบเสพโคเคนกับมอร์ฟีน ซึ่งวอตสันเห็นว่าเป็นความชั่วประการเดียวของโฮมส์[5]
โฮมส์ยังเป็นนักแสดงที่เก่งกาจ ดังปรากฏในตอน ซ้อนกล (the Dying Detective) และ จดหมายนัดพบ (the Reigate Squires) และตอนอื่น ๆ อีกหลายตอน เพื่อหันเหความสนใจของผู้ต้องสงสัย มิให้ตระหนักถึงความสำคัญของหลักฐานบางอย่าง ในตอน สัญญานาวี (the Naval Treaty) โฮมส์ได้แสดงให้เห็นว่าเขาชื่นชมนักอาชญวิทยาชาวฝรั่งเศส อัลฟองเซ เบอทิลลอง ผู้คิดค้นทฤษฎีการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุเพื่อช่วยระบุตัวตนของอาชญากร นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า โฮมส์เป็นนักอ่าน นักศึกษา มีความรู้ด้านอาชญวิทยาอย่างกว้างขวาง และให้ความนิยมนับถือบรรดานักสืบผู้ชำนาญเป็นอย่างมาก[6]
แม้โฮมส์จะชอบกลั่นแกล้งตำรวจ แต่เขาก็เป็นมิตรที่ดีของสกอตแลนด์ยาร์ดโดยเฉพาะสารวัตรเลสเตรด และมักยกความดีความชอบในคดีให้แก่ฝ่ายตำรวจอยู่เสมอ ในตอน สัญญานาวี โฮมส์เคยบอกว่า ในบรรดาคดีที่เขาสะสาง 53 คดี เขายกความสำเร็จให้เพื่อนตำรวจไปเสีย 49 คดี คงมีแต่เพียงหมอวอตสันที่บรรยายถึงความสามารถของเขาผ่านทางบันทึกเท่านั้น
โฮมส์มีศัตรูตัวฉกาจ ชื่อ ศาสตราจารย์เจมส์ มอริอาร์ตี ผู้มีมันสมองปราดเปรื่องในด้านอาชญากรรม อีกทั้งยังเป็นตัวการเบื้องหลังในบางคดีที่เกิดขึ้นอีกด้วย คำพูดของโฮมส์ที่ติดปากกันดี คือ "ถ้าเราตัดสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทั้งหมดออกไป สิ่งที่เหลืออยู่ ไม่ว่ามันจะดูเหลือเชื่อเพียงใด แต่มันก็เป็นความจริง"
ความรู้และทักษะ
แก้โคนัน ดอยล์ ได้บรรยายถึงพื้นฐานการศึกษาและทักษะของโฮมส์ไว้ในนิยายตอนแรก แรงพยาบาท ว่า เขาเคยเป็นนักศึกษาสาขาเคมี ที่มีความสนอกสนใจไปสารพัด โดยเฉพาะวิชาความรู้ที่สามารถช่วยเหลือในการคลี่คลายคดีอาชญากรรม บันทึกคดีแรกของโฮมส์ที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร คือ เรือบรรทุกนักโทษ (Gloria Scott) ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่ทำให้โฮมส์หันมายึดถืออาชีพนักสืบ เขามักใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ การสังเกตและการทดลอง มาใช้ประกอบในการพิจารณาคดีอาชญากรรมเสมอ แม้ว่าเขาจะชอบเก็บงำผลลัพธ์เอาไว้ และสร้างความประหลาดใจแก่ผู้อื่นโดยค่อย ๆ เผยปมของคดีให้ทราบทีละเล็กละน้อย
ในเรื่องยาว แรงพยาบาท (A Study in Scarlet) หมอวอตสันเคยประเมินทักษะต่าง ๆ ของโฮมส์ไว้ ดังนี้
- ความรู้ด้านวรรณกรรม — น้อยมาก
- ความรู้ด้านปรัชญา — ไม่มี
- ความรู้ทางดาราศาสตร์ — ไม่มี
- ความรู้ด้านการเมือง — น้อยมาก
- ความรู้ด้านพฤกษศาสตร์ — ไม่แน่นอน ชำนาญพิเศษด้านพืชมีพิษและฝิ่น แต่ไม่รู้ด้านการทำสวน
- ความรู้ด้านธรณีวิทยา — ชำนาญ แต่มีข้อจำกัด สามารถบอกความแตกต่างระหว่างดินแต่ละชนิด เช่นหลังจากออกไปเดินเล่น สามารถระบุตำแหน่งที่ได้รับรอยเปื้อนดินบนกางเกงได้ว่ามาจากส่วนไหนของลอนดอน โดยดูจากสีและลักษณะของดิน
- ความรู้ด้านเคมี — ยอดเยี่ยม เชอร์ล็อก โฮมส์เป็นตัวละครสมมติที่ได้รับตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ จากสมาคมวิชาการด้านเคมีที่มีอยู่จริง คือ ราชสมาคมเคมีแห่งอังกฤษ[7]
- ความรู้ด้านกายวิภาค — แม่นยำ แต่ไม่เป็นระบบ สันนิษฐานได้ว่ามาจากการศึกษาด้วยตนเอง[8]
- ความรู้ด้านอาชญวิทยา — กว้างขวาง ดูเหมือนจะรู้จักเหตุสะเทือนขวัญอย่างละเอียดทุกเรื่องในรอบศตวรรษ[6]
- ความรู้ด้านดนตรี — เล่นไวโอลินได้ดีมาก และยังเป็นเจ้าของไวโอลินสตราดิวาเรียส อันมีชื่อเสียง[9]
- เป็นนักมวยและนักดาบ
- มีความรู้กฎหมายอังกฤษเป็นอย่างดี
ในตอน ความลับที่หุบเขาบอสคูมบ์ (The Boscombe Valley Mystery) โฮมส์ได้แสดงให้เห็นถึงความรู้เกี่ยวกับยาสูบเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ในตอน รหัสตุ๊กตาเต้นรำ (The Dancing Man) โฮมส์ได้แสดงถึงทักษะและไหวพริบในการถอดรหัส ส่วนความสามารถในการปลอมแปลงตัวของโฮมส์ได้ใช้ประโยชน์หลายครั้ง เช่น การปลอมเป็นกะลาสีในตอน จัตวาลักษณ์ (The Sign of the Four) เป็นนักบวชผู้ถ่อมตนใน เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย (A Scandle in Bohemie) เป็นคนติดยาใน ชายปากบิด (The Man with the Twisted Lip) เป็นพระชาวอิตาลีใน ปัจฉิมปัญหา (The Final Problem) หรือแม้แต่ปลอมเป็นผู้หญิงในตอน เพชรมงกุฎ (The Mazarin Stone) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี มีบางเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า หมอวอตสันประเมินโฮมส์ผิดไปบ้าง เช่น เหตุการณ์ในตอน เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย ซึ่งโฮมส์สามารถตระหนักถึงความสำคัญของเคานต์ฟอนแครมได้ทันที หรือในหลาย ๆ คราวที่โฮมส์มักเอ่ยอ้างถึงถ้อยคำในพระคัมภีร์ไบเบิล เชกสเปียร์ หรือเกอเธ่ แต่กระนั้น โฮมส์กลับเคยบอกกับหมอวอตสันว่า เขาไม่สนใจเลยว่าโลกหรือดวงอาทิตย์จะหมุนรอบใครกันแน่ เพราะมันไม่มีประโยชน์ต่อการคลี่คลายคดีสักนิด
โฮมส์มีความสามารถในการวิเคราะห์หลักฐานทางกายภาพอย่างถูกต้องแม่นยำ กระบวนการตรวจสอบหลักฐานของเขามีหลายกรรมวิธี เช่น การเก็บรอยรองเท้า รอยเท้าสัตว์ หรือรอยล้อรถจักรยาน เพื่อวิเคราะห์การกระทำใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเกิดอาชญากรรม (เช่น ตอน แรงพยาบาท หรือ หมาผลาญตระกูล) หรือการวิเคราะห์ประเภทของยาสูบเพื่อระบุตัวตนของอาชญากร (เช่น ตอน จองเวร (The Resident Patient) หรือ หมาผลาญตระกูล) โฮมส์เคยตรวจสอบร่องรอยผงดินปืน และเปรียบเทียบกระสุนที่พบในที่เกิดเหตุ ทำให้แยกแยะได้ว่าฆาตกรมีสองคน (จาก ตอน จดหมายนัดพบ และ บ้านร้าง (The Empty House) ) นอกจากนี้ โฮมส์ยังเป็นคนแรก ๆ ที่มีแนวคิดในการตรวจสอบลายนิ้วมืออีกด้วย (จาก ตอน ช่างก่อสร้างเจ้าเล่ห์)
ในช่วงปีหลัง ๆ ระหว่างที่โฮมส์หยุดพักผ่อนที่ซัสเซกซ์ดาวน์ (ในตอน รอยเปื้อนที่สอง (The Second Stain) ) เขาได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งเพื่อบันทึกการสังเกตเรื่องวิถีชีวิตของผึ้ง ชื่อ "Practical Handbook of Bee Culture" นอกจากนี้ ยังมีงานเขียนด้านวิชาการอื่น ๆ ของโฮมส์อีกหลายเล่ม เช่น "Upon the Distinction Between the Ashes of the Various Tobaccos" (การแยกแยะรายละเอียดระหว่างขี้เถ้าของยาสูบชนิดต่าง ๆ) หรือ บทความสองเรื่องเกี่ยวกับ "หู" ที่ได้เผยแพร่ใน Anthropological Journal เป็นต้น[4]
ถิ่นที่อยู่
แก้ตามท้องเรื่อง โฮมส์และหมอวอตสันรู้จักกันครั้งแรก เนื่องจากต่างต้องการหาผู้ร่วมเช่าห้องพักอยู่ด้วยกันในกรุงลอนดอนเพื่อลดค่าใช้จ่าย ห้องพักที่ทั้งสองเช่าเป็นบ้านของมิสซิสฮัดสัน ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 221 บี ถนนเบเกอร์ โดยพวกเขาเช่าพื้นที่ชั้นสองของบ้าน ส่วนมิสซิสฮัดสันอาศัยอยู่ชั้นล่าง และทำหน้าที่จัดเตรียมอาหารเช้าให้พวกเขาด้วย หมอวอตสันเคยย้ายออกจากบ้านเช่านี้ไปเมื่อคราวแต่งงาน ทว่าหลังจากภริยาเสียชีวิต หมอวอตสันก็ย้ายกลับมาอยู่กับเชอร์ล็อก โฮมส์อีก
การงานอาชีพ
แก้โฮมส์ทำงานเพียงอย่างเดียว คือ เป็นนักสืบเชลยศักดิ์ หมายถึง เป็นนักสืบเอกชนที่ทำงานตามการว่าจ้างเป็นคราว ๆ ไป อย่างไรก็ดี มีหลายครั้งที่โฮมส์ทำคดีเพื่อช่วยเหลือเพื่อนตำรวจที่สก๊อตแลนด์ยาร์ด หรือเพื่อความบันเทิงส่วนตัว ลูกค้าส่วนใหญ่ของโฮมส์เป็นผู้มีสตางค์ โฮมส์จึงได้รับค่าจ้างอย่างงามจนสามารถใช้ชีวิตอย่างสบาย หมอวอตสันเคยเล่าไว้ในตอน ซ้อนกล เมื่อตอนที่เขาย้ายออกไปจากบ้านเช่า และโฮมส์อาศัยอยู่เพียงลำพังว่า เงินค่าเช่าที่โฮมส์จ่ายมิสซิสฮัดสันนั้นมากพอจะซื้อตึกหลังนั้นได้เลยทีเดียว
ในตอน แผนผังเรือดำน้ำ โฮมส์ได้รับของรางวัลจากการคลี่คลายคดีให้แก่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เป็นเข็มกลัดมรกต คราวหนึ่งเขาได้รับเหรียญทองคำเป็นที่ระลึกจากไอรีน แอดเลอร์ (ตอน เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย) อีกคราวหนึ่งในตอน โรงเรียนสำนักอธิการ (the Priory School) โฮมส์ถึงกับถูมือด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่องเมื่อเห็นตัวเลขในเช็คที่ท่านดยุคสั่งจ่าย ที่หมอวอตสันเองยังตื่นเต้นตกใจ แต่แล้วโฮมส์ก็ตบเช็คใบนั้นแล้วร้องว่า "กันยากจนจริงหนอ"
ครอบครัวและความรัก
แก้โฮมส์มีพี่ชายหนึ่งคน คือ ไมครอฟต์ โฮมส์ ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง แต่ไม่มีข้อมูลอื่นเกี่ยวกับครอบครัวของเขา นอกจากในเรื่องสั้นตอน ล่ามภาษากรีก ซึ่งโฮมส์เอ่ยถึงย่าของตนว่าเป็นน้องสาวของเวอร์เน่ต์ (Vernet) ศิลปินชาวฝรั่งเศส โฮมส์ไม่ได้แต่งงาน เขามองว่าความรักเป็นเรื่องของอารมณ์ที่จะทำให้การพิเคราะห์เหตุผลเกิดสับสนผิดพลาดได้ กระนั้นเขาก็เคยแสดงความชื่นชมต่อสตรีผู้หนึ่ง...และเพียงผู้เดียวเท่านั้น อดีตนักแสดงชูโรงอุปรากรชาวอเมริกันผู้เคยมีสัมพันธ์ลับกับมกุฎราชกุมารแห่งโบฮีเมีย ที่โฮมส์ต้องนำหลักฐานที่เธอถืออยู่ไว้กลับคืนแก่เจ้าชายผู้เป็นลูกความ ทว่าเธอสามารถรู้ทันแผนของโฮมส์และซ้อนแผนของเขาโดยทิ้งไว้เพียงรูปถ่ายของเธอเองเพียงรูปเดียวให้กับเจ้าชาย ซึ่งต่อมาโฮมส์ได้ขอพระราชทานมาแทนรางวัล และสำหรับโฮมส์แล้วเธอคือยอดหญิงเสมอ ซึ่งโฮมส์มองว่าเธอนั้นอยู่เหนือและบดบังสตรีเพศเดียวกันทั้งปวง เธอผู้นั้นคือ ไอรีน แอดเลอร์
ชีวิต
แก้วัยเยาว์
แก้นอกเหนือไปจากการผจญภัยของโฮมส์ที่หมอวอตสันบันทึกเอาไว้ มีรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของเขาน้อยมาก ถึงกระนั้นก็ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตวัยเยาว์และครอบครัวของเขาอยู่บ้าง ทำให้เห็นภาพชีวประวัติของโฮมส์บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ
จากอายุของโฮมส์ที่ระบุไว้ในเรื่อง ลาโรง ทำให้ประมาณได้ว่า เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1854 เพราะเหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 และบรรยายว่าโฮมส์มีอายุ 60 ปี เลสลี คลิงเกอร์ ระบุวันเกิดของโฮมส์ว่าเป็นวันที่ 6 มกราคม[10]
โฮมส์เคยบอกว่าเขาเริ่มพัฒนากระบวนการลำดับเหตุผลของตนขึ้นตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา คดีแรก ๆ ของเขาสมัยที่ยังเป็นมือสมัครเล่นนั้นมาจากพวกเพื่อนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย[11] ตามที่โฮมส์เล่า การได้พบกับพ่อของเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งทำให้เขาตัดสินใจถืออาชีพเป็นนักสืบ[12] และเขาใช้เวลาอีก 6 ปีทำงานเป็นนักสืบที่ปรึกษา จนกระทั่งประสบปัญหาทางการเงิน จึงต้องมาหาคนร่วมแบ่งห้องเช่า และได้พบกับหมอวอตสัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของนิยายชุดนี้
นับแต่ปี 1881 โฮมส์อาศัยอยู่ที่ห้องเลขที่ 221 บี ถนนเบเกอร์ กรุงลอนดอน อันเป็นที่ซึ่งเขาดำเนินกิจการนักสืบที่ปรึกษา ห้อง 221 บี เป็นอะพาร์ตเมนต์ชั้นบน มีบันได 17 ขั้น ตั้งอยู่ทางซีกบนของถนน ก่อนจะพบกับหมอวอตสัน โฮมส์ทำงานเพียงลำพัง และจ้างชาวบ้านหรือเด็กข้างถนนใช้งานเป็นครั้งคราว
มีการกล่าวถึงครอบครัวของโฮมส์เพียงเล็กน้อย ไม่มีการเอ่ยถึงพ่อแม่ของเขาในนิยายเลย เขาพูดถึงบรรพบุรุษของตนคร่าว ๆ ว่าเป็น "ผู้ดีบ้านนอก" ในเรื่อง ล่ามภาษากรีก โฮมส์บอกว่าลุงของพ่อเขาคือ เวอร์เนต์ ศิลปินชาวฝรั่งเศส พี่ชายของโฮมส์ชื่อ ไมครอฟต์ อายุมากกว่าเขา 7 ปี ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ปรากฏในนิยาย 3 เรื่อง[13] และถูกเอ่ยถึงในนิยายอีก 1 เรื่อง[14] ตำแหน่งงานของไมครอฟต์เป็นพลเรือน ทำหน้าที่คล้าย ๆ ฝ่ายข้อมูลหรือฐานข้อมูลเคลื่อนที่สำหรับนโยบายของรัฐบาลทั้งหมด นิยายบรรยายถึงไมครอฟต์ว่ามีพรสวรรค์ในด้านการสังเกตและการวิเคราะห์เหตุผลยิ่งกว่าโฮมส์เสียอีก แต่เขาออกจะขี้เกียจและไม่ชอบงานภาคสนามแบบโฮมส์ กลับชอบใช้เวลาว่างอยู่ในสมาคมไดโอจีนีส ซึ่งบรรยายไว้ว่าเป็น "สมาคมสำหรับชายผู้ไม่ชอบสมาคมแห่งลอนดอน"
กับหมอวอตสัน
แก้โฮมส์ใช้ช่วงชีวิตการงานส่วนใหญ่ของตนอยู่กับหมอวอตสัน ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทและผู้จดบันทึกชีวประวัติของเขา หมอวอตสันพักอยู่กับโฮมส์ก่อนจะแต่งงานในปี ค.ศ. 1887 และหลังจากที่ภรรยาของเขาเสียชีวิตก็กลับมาอยู่กับโฮมส์อีก เจ้าของห้องพักที่พวกเขาเช่าอยู่คือมิสซิสฮัดสัน
วอตสันมี 2 บทบาทในชีวิตของโฮมส์ อย่างแรกคือเป็นผู้ช่วยโฮมส์ในการสางคดี ทำหน้าที่คอยดูต้นทาง เป็นนกต่อ เป็นผู้ช่วยและส่งข่าว อย่างที่สอง เขาเป็นผู้บันทึกชีวประวัติของโฮมส์ เรื่องราวของโฮมส์เขียนขึ้นจากมุมมองของวอตสันในรูปบทสรุปของคดีน่าสนใจต่าง ๆ ที่โฮมส์เคยสะสางมา โฮมส์มักบ่นว่างานเขียนของวอตสันนั้นเร้าอารมณ์มากเกินไป และมักบอกให้วอตสันบันทึกแต่ข้อเท็จจริงกับรายงานทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว
ถึงกระนั้น โฮมส์ถือว่ามิตรภาพกับวอตสันมีความสำคัญสูงยิ่ง มีบรรยายในนิยายหลายเรื่องถึงความชื่นชมที่โฮมส์มีต่อวอตสัน ซึ่งมักถูกปิดบังเอาไว้ภายใต้ความเย็นชาของเขา เช่นในเรื่อง พินัยกรรมประหลาด วอตสันได้รับบาดเจ็บจากการเผชิญหน้ากับโจร โฮมส์จัดการเอาปืนกระแทกศีรษะคนร้ายแล้วเข้าไปหาวอตสันทันที แม้กระสุนปืนนั้นจะเพียงแค่ถากไปก็ตาม และยังประกาศกับคนร้ายว่าหากคนร้ายฆ่าวอตสัน เขาจะไม่ปล่อยอีกฝ่ายให้ออกจากห้องนี้ทั้งที่ยังมีชีวิต
โดยรวมแล้วโฮมส์ประกอบอาชีพนักสืบอยู่ 23 ปี โดยมีหมอวอตสันร่วมอยู่ในชีวิตการงานของเขา 17 ปี[15]
ความรัก
แก้ในนิยายเรื่อง นายหน้าขู่กิน โฮมส์ได้หมั้นหมายกับหญิงคนหนึ่ง แต่ก็เพื่อหาข้อมูลในการทำคดีเท่านั้น แม้โฮมส์จะแสดงความสนใจในสตรีลูกความหลายคน (เช่น ไวโอเลต ฮันเตอร์ ในเรื่อง คฤหาสน์อุบาทว์ ไวโอเลต สมิธ ในเรื่อง นักจักรยานผู้เดียวดาย และเฮเลน สโตนเนอร์ ในเรื่อง ห่วงแต้ม) วอตสันก็บอกว่าเขา "เลิกสนใจในตัวลูกความทันทีที่หล่อนไม่ได้เป็นศูนย์กลางของปัญหาที่เขาต้องขบคิดอีกต่อไป" โฮมส์เห็นว่าความสาว ความสวย และความกระชุ่มกระชวย (ของคดีที่พวกหล่อนนำมา) ทำให้เขาสดชื่นรื่นเริง โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเชิงพิศวาสแต่อย่างใด ในนิยายชุดนี้ โฮมส์เป็นคนมีเสน่ห์ วอตสันเล่าว่าโฮมส์นั้น "เป็นโรคเกลียดผู้หญิง" แต่ "สามารถประจบประแจงเข้ากันกับพวกหล่อนได้เป็นอย่างดี" ส่วนโฮมส์บอกว่า ตนมิได้ชื่นชมสตรีอย่างหมดใจ เขาพบว่า "แรงผลักดันของสตรีนั้นไม่อาจหยั่งรู้ได้ การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ของพวกหล่อนอาจตีความได้มากมาย ... ความประพฤติอันผิดธรรมดาที่สุดอาจเป็นเพราะปิ่นปักผมอันเดียวเท่านั้น"
เกษียณ
แก้ในเรื่อง ลาโรง โฮมส์เกษียณตนเองไปอยู่ในฟาร์มเล็ก ๆ ที่ซัสเซกซ์ดาวน์ ไม่มีบันทึกแน่ชัดว่าย้ายไปเมื่อใด แต่ประมาณว่าน่าจะเกิดขึ้นก่อนปี ค.ศ. 1904 เพราะมีการเล่าย้อนความหลังในเรื่อง รอยเปื้อนที่สอง ซึ่งตีพิมพ์ในปีนั้น ที่ฟาร์มนี้เขาเลือกงานอดิเรกในการเลี้ยงผึ้งมาเป็นงานประจำ และได้เขียนหนังสือ "คู่มือเลี้ยงผึ้งทางปฏิบัติ พร้อมด้วยข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับวิธีแยกนางพญา" เนื้อเรื่องเล่าถึงโฮมส์กับวอตสันที่หยุดชีวิตเกษียณชั่วคราวเพื่อช่วยเหลืองานทางทหารในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นอกจากนี้มีนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างช่วงเกษียณ คือ ขนคอสิงห์ ซึ่งโฮมส์เป็นคนเล่าเรื่องเอง ไม่มีรายละเอียดว่าโฮมส์เสียชีวิตเมื่อใด
แรงบันดาลใจ
แก้นิติวิทยาศาสตร์
แก้เชอร์ล็อก โฮมส์ เป็นแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญต่อนิติวิทยาศาสตร์ในวรรณกรรม โดยเฉพาะวิธีที่เขาใช้ในการตรวจตราสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งหลักฐานเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถแสดงถึงลำดับเหตุการณ์ของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นได้ เขาใช้วัตถุพยานเช่นรอยรองเท้าหรือล้อรถเป็นประโยชน์บ่อยครั้ง รวมถึงลายนิ้วมือ แนวกระสุนปืน และการวิเคราะห์ลายนิ้วมือ หลักฐานเหล่านี้ใช้เพื่อทดสอบทฤษฎี ที่ฝ่ายตำรวจหรือตัวเขาเองคาดการณ์ขึ้น เทคนิคต่าง ๆ ทั้งหมดที่โฮมส์ใช้ซึ่งในยุคสมัยที่ดอยล์ประพันธ์ยังเป็นเพียงแนวคิดเริ่มต้นนั้น ได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจังในเวลาต่อมา มีอยู่หลายคดีที่โฮมส์บ่นอยู่บ่อย ๆ ถึงการที่ผู้คนโดยเฉพาะพวกตำรวจเข้าไปก่อกวนจนสถานที่เกิดเหตุเสียหาย ซึ่งแสดงถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการรักษาสภาพเดิมของสถานที่เกิดเหตุเอาไว้ ปัจจุบันก็คือการตรวจสถานที่เกิดเหตุนั่นเอง
เนื่องจากร่องรอยหลักฐานมีขนาดเล็กมาก (เช่น ขี้บุหรี่ เส้นผม หรือลายนิ้วมือ) เขาจึงมักใช้แว่นขยายในการตรวจสถานที่ และใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจซ้ำเมื่อกลับไปยังบ้านของเขาที่ถนนเบเกอร์ เขาใช้การวิเคราะห์ทางเคมีในการตรวจรอยเลือดแห้งหรือสารพิษ โฮมส์มีห้องทดลองเคมีขนาดย่อมในบ้านของตัวเอง ซึ่งดูเหมือนจะใช้กระบวนการทางเคมีอย่างง่ายในการตรวจสอบสารเฉพาะบางอย่าง เช่นในเรื่อง สัญญานาวี มีการตรวจสอบแนวกระสุนปืนถ้าพบว่ามีการใช้ปืนในที่เกิดเหตุ และมีการวัดขนาดลำกล้องเพื่อตรวจสอบกับอาวุธของผู้ต้องสงสัย เช่นในเรื่อง บ้านร้าง
โฮมส์ยังให้ความสำคัญมากกับเครื่องแต่งกายและทัศนคติของทั้งลูกความและผู้ต้องสงสัย เขาบันทึกสไตล์และรูปแบบการแต่งกาย เนื้อผ้า รอยตำหนิต่าง ๆ (เช่น รอยโคลนบนรองเท้า) ภาวะจิตใจและภาวะทางกายภาพเพื่อลงความเห็นถึงที่มาและสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น รอยตำหนิบนผิวหนังเช่น รอยสัก อาจเผยถึงความเป็นมาอะไรได้มากมาย วิธีการเดียวกันนี้ยังใช้กับเครื่องใช้ส่วนตัว เช่น ไม้เท้า (ที่เห็นชัดในเรื่อง หมาผลาญตระกูล) หรือหมวก (ในคดี ทับทิมสีฟ้า) ซึ่งร่องรอยเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเหรียญตรา เนื้อผ้า และรอยตำหนิอื่นบ่งชี้ถึงตัวเจ้าของที่หายไป
ปี ค.ศ. 2002 ราชสมาคมเคมีแห่งลอนดอน มอบตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้แก่เชอร์ล็อก โฮมส์ สำหรับการที่เขาใช้นิติวิทยาศาสตร์และการวิเคราะห์ทางเคมีในวรรณกรรมอันโด่งดังนี้[16] และทำให้เขาเป็นตัวละครเพียงคนเดียวที่ได้รับเกียรตินี้ (ตราบถึงปี 2012)
บทบาทในประวัติศาสตร์นิยายนักสืบ
แก้แม้เชอร์ล็อก โฮมส์ จะไม่ใช่ตัวละครนักสืบคนแรก (เขาได้รับอิทธิพลจากตัวละครโอกุสต์ ดูว์แป็ง ของเอ็ดการ์ อัลลัน โพ และเมอซีเยอเลอก็อก ของเอมีล กาบอรีโย ซึ่งทั้งสองตัวละครแสดงความเย่อหยิ่งอย่างเปิดเผย) แต่ชื่อของเขากลับกลายเป็นความหมายถึงการเป็นนักสืบ เรื่องราวของเขายังรวมเอาตัวละครนักสืบอื่น ๆ อีกมากมาย เช่นผู้ช่วยที่แสนภักดีแต่ฉลาดน้อยไปนิด อันเป็นบทบาทที่หมอวอตสันกลายเป็นต้นแบบ[ต้องการอ้างอิง] นิยายนักสืบกลายเป็นที่นิยม นักเขียนหลายคนเขียนนิยายนักสืบหลังจากหมดยุคของโฮมส์ไปแล้ว เช่น อกาธา คริสตี้และโดโรธี เซเยอร์ กับตัวละคร แอร์กูล ปัวโรและลอร์ดปีเตอร์ วิมซีย์ กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ถูกลดความสำคัญลงกว่าจิตวิทยาของอาชญากรรม[ต้องการอ้างอิง] ทั้ง ๆ ที่มีตำรวจเริ่มใช้การสืบสวนแบบนิติวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
การศึกษาทางวิทยาศาสตร์
แก้เชอร์ล็อก โฮมส์ ถูกนำมาศึกษาในทางวิทยาศาสตร์อยู่หลายคราว จอห์น แรดฟอร์ด (1999) คาดเดาระดับความฉลาดของเขา โดยอาศัยนิยายของโคนัน ดอยล์ เป็นข้อมูล แรดฟอร์ดใช้กระบวนวิธีที่แตกต่างกัน 3 แบบเพื่อประเมินระดับไอคิวของเชอร์ล็อก โฮมส์ และสรุปว่าระดับไอคิวของเขาสูงมากประมาณ 190[17] สไนเดอร์ (2004) ศึกษาวิธีการทำงานของโฮมส์โดยใช้วิทยาศาสตร์และอาชญวิทยาในช่วงกลางถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19[18] เคมป์สเตอร์ (2006) เปรียบเทียบทักษะของนักประสาทวิทยากับคุณลักษณะต่าง ๆ ของโฮมส์[19] และสุดท้าย ไดเดียร์จีนกับเฟอร์นานด์ โกเบ็ต (2008) ศึกษานิยายเรื่องนี้ในแง่มุมทางจิตวิทยาของผู้เชี่ยวชาญ โดยใช้เชอร์ล็อก โฮมส์ เป็นต้นแบบของผู้เชี่ยวชาญในวรรณกรรม พวกเขาให้ความสำคัญกับแง่มุมงานเขียนของดอยล์ที่เทียบได้กับคำว่า ผู้เชี่ยวชาญ ในปัจจุบัน แง่มุมที่เป็นไปไม่ได้ และแง่มุมที่ควรต้องศึกษาต่อไป[20]
การตีพิมพ์และการแปล
แก้เชอร์ล็อก โฮมส์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ในหนังสือพิมพ์ Beeton's Christmas Annual ค.ศ. 1887 โดยตอนแรกที่พิมพ์ คือ แรงพยาบาท หลังจากนั้น จึงได้ลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารสแตรนด์ ปี ค.ศ. 1892 เรื่องสั้นที่โคนัน ดอยล์ เขียนลงในสแตรนด์ ได้นำมาพิมพ์รวมเล่มครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ George Newnes ใช้ชื่อหนังสือว่า "The Adventures of Sherlock Holmes" ต่อมา ฉบับรวมเล่มนี้ได้ตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา โดยสำนักพิมพ์ Harper & Brothers นครนิวยอร์ก ปี ค.ศ. 1892 เช่นเดียวกัน[21]
เชอร์ล็อก โฮมส์ ได้แปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่า 60 ภาษา[22] และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ปี ค.ศ. 2004 เชอร์ล็อก โฮมส์ ได้วางจำหน่ายเป็นหนังสือชุดพิเศษสำหรับนักสะสม ในโอกาสครบรอบวันเกิด 150 ปีของโฮมส์[23]
สำหรับประเทศไทย มีการแปลเรื่อง เชอร์ล็อก โฮมส์ เป็นภาษาไทยครั้งแรกโดยหลวงสารานุประพันธ์ ตีพิมพ์ลงในนิตยสารสารานุกูล ในปี พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1926) [24][25] นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง His Last Bow ออกเป็นภาษาไทย (ทรงใช้พระนามแฝงว่า “พันแหลม”) และยังได้ทรงนำเค้าโครงเรื่องสั้นเชอร์ล็อกโฮมส์หลายเรื่องมาดัดแปลงเป็น “พฤติการของนายทองอิน รัตนะเนตร์” นักสืบชาวสยาม ซึ่งมีเพื่อนคู่หูชื่อ นายวัด คล้ายกับนายแพทย์วอตสัน ด้วย ต่อมา อ. สายสุวรรณ แปลต้นฉบับ เชอร์ล็อก โฮมส์ จนครบทุกตอนทั้งเรื่องสั้นและเรื่องยาวเป็นคนแรก[26] ปี พ.ศ. 2535 ต่อมา สำนักพิมพ์ดอกหญ้า นำผลงานแปลของ อ. สายสุวรรณ มาจัดพิมพ์ใหม่ทั้งชุด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2549 สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์ ได้นำเรื่อง เชอร์ล็อก โฮมส์ มาแปลใหม่อีกครั้งทั้งชุดโดย มิ่งขวัญ แต่ใช้สำนวนแปลและชื่อเรื่องที่ต่างออกไป ในปี พ.ศ. 2552 แพรวสำนักพิมพ์ ได้รวบรวม เชอร์ล็อก โฮมส์ สำนวนแปลของ อ. สายสุวรรณ มาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
รายชื่อผลงานในชุด
แก้- หมายเหตุ: ชื่อภาษาไทยของผลงานในที่นี้ เป็นสำนวนแปลของ อ. สายสุวรรณ ลิขสิทธิ์ สำนักพิมพ์ เวิร์ดส์ (words publishing)
ชุดเรื่องยาว 4 เรื่อง
แก้- แรงพยาบาท (A Study in Scarlet) ลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ช่วงปี ค.ศ. 1887
- จัตวาลักษณ์ (The Sign of the Four) ตีพิมพ์ปี ค.ศ. 1890
- หมาผลาญตระกูล (The Hound of the Baskervilles) ลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารสแตรนด์ ช่วงปี ค.ศ. 1901–1902
- หุบเขาแห่งภัย (The Valley of Fear) ลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ช่วงปี ค.ศ. 1914–1915
ชุดเรื่องสั้น
แก้แต่เดิมลงพิมพ์เป็นตอน ต่อมามีการรวมเล่มเป็นห้าชุด ได้แก่
- ชุด "ผจญภัย" (The Adventures of Sherlock Holmes)
|
|
- ชุด "จดหมายเหตุ" (The Memoirs of Sherlock Holmes)
|
|
- ชุด "คืนชีพ" (The Return of Sherlock Holmes)
|
|
- ชุด "ลาโรง" (His Last Bow)
|
|
- ชุด "บันทึกคดี" (The Case-Book of Sherlock Holmes)
|
|
ความนิยม และอิทธิพลต่องานอื่น
แก้ความนิยมในประเทศอังกฤษ
แก้เรื่องสั้น เชอร์ล็อก โฮมส์ ที่ลงพิมพ์ในนิตยสารสแตรนด์ ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนผู้อ่านจำนวนมากเชื่อว่า เชอร์ล็อก โฮมส์ มีตัวตนจริง และพากันเขียนจดหมายไปหาเพื่อขอความช่วยเหลือ จดหมายจำนวนมากที่ส่งไปยังบ้านเลขที่ 221 บี ถนนเบเกอร์ ถูกตีกลับมายังที่ทำการไปรษณีย์ เนื่องจากบ้านเลขที่นั้นไม่มีอยู่จริง[27] กล่าวกันว่า โคนัน ดอยล์ มีรายได้จากนวนิยายเรื่องนี้มากกว่างานประจำของเขาเสียอีก[ต้องการอ้างอิง]
ปี ค.ศ. 1893 เมื่อโคนัน ดอยล์ เริ่มคิดโครงเรื่องนิยายได้ยากขึ้น และต้องการหันไปทุ่มเทกับงานเขียนด้านอื่นที่เขาเห็นว่ามีคุณค่ามากกว่า เขาได้เขียนเรื่องสั้นตอน ปัจฉิมปัญหา (The Final Problem) ให้เชอร์ล็อก โฮมส์ พ่ายแพ้ในการต่อสู้กับศาสตราจารย์เจมส์ มอริอาร์ตีและพลัดตกเหวไป เพื่อจบบทบาทของเชอร์ล็อก โฮมส์เสีย ผลปรากฏว่า ผู้อ่านพากันต่อว่าต่อขานโคนัน ดอยล์ อย่างเคียดแค้น สมาชิกนิตยสารสแตรนด์ บอกยกเลิกสมาชิกภาพถึงกว่าสองหมื่นคน บางคนถึงกับไว้ทุกข์ให้แก่เชอร์ล็อก โฮมส์ มีจดหมายจำนวนมากส่งไปถึงโคนัน ดอยล์ เพื่อเค้นถามข้อเท็จจริงว่า โฮมส์ตกเหวไปแล้วตายจริงหรือเปล่า[ต้องการอ้างอิง] หลังจากต้านทานแรงกดดันจากสาธารณะแปดปี ในที่สุดโคนัน ดอยล์ ทนไม่ไหว จึงปล่อยเรื่องยาว หมาผลาญตระกูล ออกมาในปี ค.ศ. 1901 ทำให้ผู้อ่านตื่นเต้นยินดีมาก แต่ก็ยังไม่หายสงสัย เพราะเหตุการณ์ในเรื่อง หมาผลาญตระกูล เป็นเหตุการณ์ก่อนที่เขาจะต่อสู้กับศาสตราจารย์มอริอาตี้ ข้อกังขาว่าโฮมส์ตกเหวแล้วตายหรือไม่ จึงยังมิได้ไขกระจ่าง[28]
ในที่สุด โคนัน ดอยล์ แต่งเรื่องสั้นชุด "คืนชีพ" (The Return of Sherlock Holmes) ในปี ค.ศ. 1903 เป็นการตอบคำถามว่า เชอร์ล็อก โฮมส์ ยังไม่ตาย หลังจากนั้น เขาก็แต่งเรื่องยาวและเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง[29]
ในปี ค.ศ. 2002 ราชสมาคมเคมีแห่งประเทศอังกฤษมอบตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้แก่เชอร์ล็อก โฮมส์ ในฐานะนักสืบคนแรกที่นำศาสตร์ทางเคมีไปประยุกต์ใช้กับงานสืบสวน ในโอกาสครบรอบหนึ่งร้อยปีการคลี่คลายคดี หมาผลาญตระกูล และครบรอบหนึ่งร้อยปีการรับบรรดาศักดิ์อัศวินของเซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์[30]
ปี ค.ศ. 2007 หนังสือพิมพ์ Beeton's Christmas Annual 1887 ซึ่งตีพิมพ์เรื่อง เชอร์ล็อก โฮมส์ ตอนแรกสุด ได้รับประมูลไปในราคา 156,000 ดอลลาร์สหรัฐ[31]
สมาคม
แก้ปี ค.ศ. 1934 มีการก่อตั้งสมาคมเชอร์ล็อก โฮมส์ขึ้นในกรุงลอนดอน และหน่วยลาดตระเวนถนนเบเกอร์ก็ตั้งขึ้นในนครนิวยอร์ก สมาคมทั้งสองนี้ยังคงมีกิจกรรมต่อเนื่องอยู่จนถึงปัจจุบัน (แม้ว่าสมาคมเชอร์ล็อก โฮมส์ จะสลายตัวไปในปี 1937 แต่ก็มีการรื้อฟื้นขึ้นใหม่ในปี 1951) และยังมีสมาคมเชอร์ล็อก โฮมส์ ตั้งขึ้นในประเทศอื่น ๆ อีก เช่น ในเดนมาร์ก อินเดีย และญี่ปุ่น
พิพิธภัณฑ์
แก้ระหว่างงานเทศกาลใหญ่ในอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1951 มีการก่อสร้างห้องนั่งเล่นของเชอร์ล็อก โฮมส์ เพื่อแสดงใน นิทรรศการเชอร์ล็อก โฮมส์ โดยจำลองของสะสมของโฮมส์และองค์ประกอบต่าง ๆ ตามที่มีระบุในนิยาย หลังปิดงานนิทรรศการ ข้าวของเหล่านั้นนำไปเก็บไว้ที่ผับเชอร์ล็อก โฮมส์ ในกรุงลอนดอน และบางส่วนนำไปเก็บไว้กับพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของโคนัน ดอยล์ ในลูว์ซ็อง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมา ในปี ค.ศ. 1990 มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮมส์ที่บ้านเลขที่ 239 ถนนเบเกอร์ ในกรุงลอนดอน[27] และที่ไมริงเงิน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปีต่อมา แต่พิพิธภัณฑ์สองแห่งนี้แสดงข้อมูลของโคนัน ดอยล์ มากกว่าข้อมูลของโฮมส์
พิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮมส์ ที่ "221 บี ถนนเบเกอร์" นับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในโลกที่ตั้งขึ้นสำหรับตัวละครในนิยาย[32]
อนุสาวรีย์
แก้อนุสาวรีย์เชอร์ล็อก โฮมส์ ตั้งอยู่ที่ด้านหน้าสถานีรถไฟใต้ดินถนนเบเกอร์ นอกจากนี้ ยังมีอนุสาวรีย์เชอร์ล็อก โฮมส์ และวอตสัน ที่สถานทูตอังกฤษในกรุงมอสโก เป็นผลจากความโด่งดังของโฮมส์ที่นำไปจัดทำเป็นรายการโทรทัศน์ในประเทศรัสเซีย[33]
ที่ไมริงเงิน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮมส์แล้ว ยังเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์เชอร์ล็อก โฮมส์ด้วย เมืองนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ โดยแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่ง คือ น้ำตกไรเชินบัค ซึ่งเป็นสถานที่ที่โฮมส์ต่อสู้กับมอริอาร์ตีจนพลัดตกเหวไป[34]
อิทธิพลต่องานอื่น
แก้ภาพลักษณ์ของเชอร์ล็อก โฮมส์ คือ การสวมเสื้อคลุม หมวก และคาบไปป์ กลายเป็นสัญลักษณ์ของนักสืบ ภาพยนตร์และละครหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักสืบมักแต่งตัวตามอย่างโฮมส์เช่นนี้ และยังมีนวนิยายแนวสืบสวนอีกหลายเรื่องที่ได้รับอิทธิพลจากเชอร์ล็อก โฮมส์โดยตรง เช่น
- หนังสือและภาพยนตร์การ์ตูนจากประเทศญี่ปุ่น เรื่อง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ได้รับอิทธิพลจากเชอร์ล็อก โฮมส์ค่อนข้างมาก ทั้งบุคลิกของตัวละครหลัก และชื่อของตัวละครที่นำมาจากชื่อกลางของเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์
- ตัวละครหลักในละครทีวีเรื่อง เฮาส์ เอ็ม.ดี. คือ เกรกอรี เฮาส์ ก็ได้รับอิทธิพลจากเชอร์ล็อก โฮมส์ ทั้งในการชอบใช้ยา (เฮาส์ติดยาแก้ปวด ส่วนโฮมส์สูบไปป์และเคยใช้โคเคน) ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าเพื่อแก้ปัญหาที่คนอื่นแก้ไม่ได้ เฮ้าส์ใช้เทคนิคเดียวกันกับโฮมส์ในการตรวจวิเคราะห์ปัญหาของผู้ป่วยของเขา เพื่อนสนิทของเฮาส์ คือ นายแพทย์เจมส์ วิลสัน ซึ่งสามารถสังเกตได้จากชื่อที่คล้ายกัน คือ เฮาส์-โฮมส์ กับ เจมส์ วิลสัน-จอห์น วอตสัน นอกจากนี้ ยังมีตัวละครที่ชื่อ มอริอาตี (ชื่อเดียวกับอริของโฮมส์) ปรากฏตัวในตอนสุดท้ายของฤดูกาลที่สอง และเกือบจะสังหารเฮาส์ได้สำเร็จ[35] นอกจากนั้นที่อยู่ของเฮาส์คือเลขที่ 221 บี เช่นเดียวกับโฮมส์
- พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ ทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากเรื่องชุดเชอร์ล็อก โฮมส์ในการพระราชนิพนธ์นิยายนักสืบชุด นิทานทองอิน บรรยายพฤติการณ์ของ "นายทองอิน รัตนะเนตร์" ซึ่งมีอาชีพเป็นนักสืบ มีสหายคู่ใจผู้ร่วมผจญภัยและเป็นผู้เล่าเรื่องแต่ละตอน (ทำนองเดียวกับหมอวอตสันในเรื่องเดิม) ชื่อ นายวัด มีอาชีพเป็นหมอความหรือทนาย พฤติการณ์หลายเรื่องของนายทองอินได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องของเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ แต่บางเรื่องก็ได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องนักสืบของผู้อื่น เช่น เอดการ์ อัลลัน โป และมีบางเรื่องที่พระราชนิพนธ์ขึ้นเอง[36][37]
การดัดแปลงเป็นสื่ออื่น
แก้เชอร์ล็อก โฮมส์ เป็นตัวละครที่มีชื่อเสียงมาก และมีการนำไปจัดแสดงเป็นละครเวทีหรือภาพยนตร์มากมาย เช่นเดียวกับแฮมเล็ตหรือแดรคิวลาที่มีผู้นำไปสร้างและแต่งเติมเรื่องราวไปอีกเป็นจำนวนมาก หนังสือกินเนสส์บุ๊กบันทึกว่า เชอร์ล็อก โฮมส์ เป็น "ตัวละครที่มีผู้แสดงมากที่สุด" คือ มีนักแสดงกว่า 75 คนที่รับบทเป็นโฮมส์ ปรากฏในภาพยนตร์กว่า 211 เรื่อง[38]
ภาพยนตร์
แก้ในระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1939 - 1946 เบซิล รัธโบน แสดงเป็น เชอร์ล็อก โฮมส์ โดยมีไนเจล บรูซ เป็นหมอวอตสัน แสดงร่วมกันในภาพยนตร์ 15 เรื่อง นับเป็นภาพยนตร์ชุดเชอร์ล็อก โฮมส์ ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด นอกจากนี้ นักแสดงคนอื่น ๆ ที่เคยแสดงเป็นโฮมส์ ได้แก่ มอริส คอสเตลโล, บัสเตอร์ คีตัน, คริสโตเฟอร์ ลี, ปีเตอร์ กุชชิ่ง, จอร์จ ซี สก๊อต, ไมเคิล เคน, คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์, แมท ฟรีเวอร์, จอห์น เนวิล, โรเจอร์ มัวร์, ปีเตอร์ คุก, และ เลโอนาร์ด นิโมย[39]
ในปี ค.ศ. 2009 ฮอลลีวุดได้นำเรื่องเชอร์ล็อก โฮมส์ กลับมาสร้างใหม่ ใช้ชื่อตรง ๆ ว่า Sherlock Holmes หรือชื่อภาษาไทยว่า เชอร์ล็อก โฮมส์ ดับแผนพิฆาตโลก โดยมีโรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ รับบทเป็นเชอร์ล็อก โฮมส์, จู๊ด ลอว์ รับบทเป็นหมอวอตสัน และราเชล แม็กอดัมส์ รับบทเป็นไอรีน แอดเลอร์ สามารถทำรายได้ในสหรัฐอเมริกากว่าสองร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้ทั่วโลกกว่าห้าร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในปี ค.ศ. 2011 เชอร์ล็อก โฮมส์ มีภาคต่อคือ เชอร์ล็อก โฮมส์ เกมพญายมเงามรณะ โดยมีโรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์, จู๊ด ลอว์ และราเชล แม็กอดัมส์ กลับมารับบทเดิมอีกครั้ง
ละครวิทยุ
แก้สถานีวิทยุบีบีซี ออกอากาศละครชุดเชอร์ล็อก โฮมส์ ในปี ค.ศ. 1974 โดยมีแบร์รี ฟอสเทิร์ล รับบทเป็นโฮมส์ และเดวิด บัค เป็นหมอวอตสัน ต่อมา ในปี ค.ศ. 1989 มีการออกอากาศอีกครั้งแบบเต็มชุด เริ่มตั้งแต่ตอน แรงพยาบาท และปิดชุดด้วยตอน หมาผลาญตระกูล คลิฟ เมอริสัน รับบทเป็นโฮมส์ และไมเคิล วิลเลียมส์ เป็นหมอวอตสัน[39]
รายการโทรทัศน์
แก้เชอร์ล็อก โฮมส์ เป็นตัวละครจากนิยายคนแรกที่มีการนำมาดัดแปลงเป็นรายการโทรทัศน์ โดยตอน พินัยกรรมประหลาด (The Three Garridebs) ออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1937 จากเวที Radio City Music Hall ในนครนิวยอร์กโดยสมาพันธ์เครือข่ายวิทยุอเมริกัน (American Radio Relay League) ภาพการแสดงสดจะนำมาประกอบกับบทบรรยายข้างใต้ก่อนออกอากาศ หลุยส์ เฮคเตอร์ แสดงเป็นนักสืบโฮมส์ และวิลเลียม พอดมอร์ แสดงเป็นหมอวอตสันเพื่อนคู่หู[40]
ปี ค.ศ. 1968 สถานีโทรทัศน์บีบีซี ดัดแปลงเรื่องราวของนักสืบผู้ยิ่งใหญ่นี้ออกอากาศทางช่องบีบีซี 1 โดยมี ปีเตอร์ กุชชิ่ง รับบทเป็นโฮมส์ และไนเจล สตอค เป็นหมอวอตสัน แต่ละครโทรทัศน์ชุดที่โด่งดังที่สุด คือ ชุดที่ทอม เบเกอร์ รับบทเป็นโฮมส์ ในตอน หมาผลาญตระกูล ในปี ค.ศ. 1982[39]
เรื่องยาวของโคนัน ดอยล์ ตอน หมาผลาญตระกูล เป็นตอนที่มีการนำไปดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์มากที่สุดถึง 18 ครั้ง ครั้งล่าสุดออกอากาศทางช่อง บีบีซี 1 เมื่อช่วงคริสต์มาส ปี 2003 นำแสดงโดยริชาร์ด ร็อกซเบิร์ก เป็นโฮมส์ และเอียน ฮาร์ท เป็นหมอวอตสัน[39]
ในปี 2010 สถานีโทรทัศน์บีบีซีได้ผลิตเชอร์ล็อก โฮมส์ ในรูปแบบซีรีส์โดยใช้ชื่อว่า เชอร์ล็อก ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 ฤดูกาล นำแสดงโดยเบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ และมาร์ติน ฟรีแมน
สำหรับนักแสดงผู้รับบทเป็นเชอร์ล็อก โฮมส์ ที่โด่งดังที่สุด (และอาจเป็นผู้แสดงได้ดีที่สุด) คือ เจเรมี เบรต (Jeremy Brett) ซึ่งรับบทเป็นโฮมส์ ทั้งสิ้น 42 ครั้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 จนถึงวาระสุดท้ายในปี ค.ศ. 1995[39][41]
ในช่วงปี ค.ศ. 1979-1986 รายการโทรทัศน์ในรัสเซีย จัดทำละครชุด "เชอร์ล็อก โฮมส์" นำแสดงโดย วาสิลี ลิวานอฟ (Vasily Livanov) ผลจากการแสดงอันยอดเยี่ยมของเขาทำให้เขาได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ[33]
เชอร์ล็อก โฮมส์ยุคหลัง
แก้หลังจากที่ โคนัน ดอยล์ เสียชีวิตไปแล้ว มีนักประพันธ์ที่สร้างนวนิยายเกี่ยวกับ เชอร์ล็อก โฮมส์ สืบเนื่องต่อมาอีก ส่วนหนึ่งมีการเขียนร่วมกับทายาทของโคนัน ดอยล์ และบางส่วนเขียนขึ้นเองเป็นเอกเทศ แม้ในยุคเดียวกันกับโคนัน ดอยล์ เอง ก็มีนักประพันธ์เลื่องชื่อท่านอื่น ๆ ที่นำ เชอร์ล็อก โฮมส์ ไปปรากฏในผลงานเขียนของตน เช่น มาร์ค ทเวน ได้ประพันธ์เรื่อง A Double Barrelled Detective Story เมื่อปี ค.ศ. 1902 เป็นนิยายเชิงขบขันล้อเลียน เขานำบุคลิกของโฮมส์ไปตีความในแง่มุมที่ขบขัน (ทำให้แฟน ๆ ของโฮมส์ไม่ชอบใจนักและบางคนบอกว่าเขาเลวไปเลย) [42] นักเขียนนิยายสืบสวนและสยองขวัญชื่อดังอย่าง สตีเฟน คิง ก็เคยเขียนเรื่อง The Doctor's Case ในปี ค.ศ. 1987 โดยในเรื่องนี้ หมอวอตสัน สามารถคลี่คลายคดีได้ก่อนโฮมส์[43] แต่ก็ทำให้ผู้คนไม่รู้สึกดีเท่าไรนัก
ลูกชายของโคนัน ดอยล์ ชื่อ เอเดรียน โคนัน ดอยล์ ร่วมกับ จอห์น ดิกสัน คารร์ ในการแต่งเรื่องสั้นเกี่ยวกับการสืบสวนคดีของเชอร์ล็อก โฮมส์ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 12 เรื่อง พิมพ์รวมเล่มในปี ค.ศ. 1954 ใช้ชื่อว่า The Exploits of Sherlock Holmes
งานเขียนชุดหนึ่งที่จัดว่ามีชื่อเสียงไม่แพ้ชุดของโคนัน ดอยล์ เนื่องจากสามารถรักษาบุคลิกภาพและแนวทางดำเนินเรื่องได้คล้ายคลึงกับต้นฉบับ คืองานเขียนชุดเชอร์ล็อก โฮมส์ ของนิโคลัส มีเยอร์ ได้แก่เรื่อง The Seven-Per-Cent Solution, The Canary Trainer และ The West End Horror มีเยอร์เปิดตัว The Seven-Per-Cent Solution ในปี 1974 โดยแต่งเนื้อเรื่องว่าทายาทของหมอวอตสันได้รับมอบเอกสารส่วนหนึ่งมาเป็นมรดก ในเอกสารเหล่านั้นมี "บันทึกที่หายไป" ว่าด้วยคดีของเชอร์ล็อก โฮมส์ที่ยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
ปี ค.ศ. 1985 มีหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด The Further Adventures of Sherlock Holmes ภายในประกอบด้วยเรื่องสั้นเกี่ยวกับเชอร์ล็อก โฮมส์ ที่เขียนขึ้นโดยนักเขียนหลาย ๆ ท่าน เช่น จูเลียน ไซมอนส์, วินเซนต์ สตาร์เรตต์, สจ๊วต ปาล์มเมอร์ และโรนัลด์ น็อกซ์ เป็นต้น แนวทางการประพันธ์ของหนังสือชุดนี้ค่อนข้างเอาจริงเอาจังมากกว่างานเขียนเกี่ยวกับโฮมส์ในชุดอื่น ๆ [44] ชื่อหนังสือนี้ต่อมาได้เป็นชื่อซีรีส์ละครวิทยุที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุบีบีซี ในปี ค.ศ. 2002 ผู้เขียนบทละครวิทยุชุดนี้คือ เบิร์ต คูลส์ โดยมีคลิฟ เมอร์ริสัน ให้เสียงเป็นโฮมส์[45]
นอกจากนี้ยังมีนักเขียนคนอื่น ๆ ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยของโฮมส์โดยตรง หรือที่นำเรื่องราวของโฮมส์ไปเป็นส่วนประกอบ อีกเป็นจำนวนมาก[46] บางเรื่องยังประพันธ์ให้โฮมส์กับวอตสัน ได้มาพบกับโคนัน ดอยล์ เองด้วย[47]
อ้างอิง
แก้- ↑ Ely Liebow, Dr. Joe Bell: Model for Sherlock Holmes เก็บถาวร 2008-04-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 1992 Reader's Digest (Australia) PTY LTD (A.C.N. 000565471)
- ↑ 3.0 3.1 A Basic Timeline of Terra 221B เก็บถาวร 2008-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก sherlockpeoria.net
- ↑ 4.0 4.1 4.2 "Sherlock Holmes' Resume". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-30. สืบค้นเมื่อ 2008-02-17.
- ↑ Dalby JT. (1991). "Sherlock Holmes' Cocaine Habit" Irish Journal of Psychological Medicine 8: 73-74
- ↑ 6.0 6.1 Richard L. Kellogg, THE MORIARTY GENE เก็บถาวร 2008-04-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Royal Society of Chemistry to Honour Sherlock Holmes with a Special Honorary Fellowship
- ↑ [1]
- ↑ CARL HEIFETZ, THE CASE OF THE JEWISH PAWNBROKER or How Sherlock Holmes Got His Violin เก็บถาวร 2008-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Klinger, Leslie (2005). The New Annotated Sherlock Holmes. New York: W.W. Norton. p. xlii. ISBN 0-393-05916-2.
- ↑ Doyle, Arthur Conan (1893). The Original illustrated 'Strand' Sherlock Holmes (1989 ed.). Ware, England: Wordsworth. pp. 354–355. ISBN 978-1-85326-896-0.
- ↑ จากเรื่อง "เรือบรรทุกนักโทษ"
- ↑ ล่ามภาษากรีก, ปัจฉิมปัญหา และ แผนผังเรือดำน้ำ
- ↑ บ้านร้าง
- ↑ จากเรื่อง "หญิงคลุมหน้า"
- ↑ "NI chemist honours Sherlock Holmes". BBC News. 16 October 2002. สืบค้นเมื่อ 19 June 2011.
- ↑ Radford, John (1999). The Intelligence of Sherlock Holmes and Other Three-pipe Problems. Sigma Forlag. ISBN 82-7916-004-3.
- ↑ Snyder LJ (2004). "Sherlock Holmes: Scientific detective". Endeavour. 28 (3): 104–108. doi:10.1016/j.endeavour.2004.07.007. PMID 15350761.
- ↑ Kempster PA (2006). "Looking for clues". Journal of Clinical Neuroscience. 13 (2): 178–180. doi:10.1016/j.jocn.2005.03.021. PMID 16459091.
- ↑ Didierjean, A & Gobet, F (2008). "Sherlock Holmes – An expert's view of expertise". British Journal of Psychology. 99 (Pt 1): 109–125. doi:10.1348/000712607X224469. PMID 17621416.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์) - ↑ "The Adventures..." เก็บถาวร 2008-03-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Sherlock Holmes in the Lilly Library
- ↑ Christy Edina Richards, [ils.unc.edu/MSpapers/2907.pdf AN ASSESSMENT OF THE MARY SHORE CAMERON SHERLOCK HOLMES COLLECTION] University of North Carolina at Chapel Hill
- ↑ Americans Join In Celebrations As Sherlock Holmes Turns 150
- ↑ OSK หลวงสารานุประพันธ์ ผู้แต่งเพลงชาติไทย
- ↑ สารบาญ หนังสือสารานุกูล
- ↑ "มาคุยเรื่องนิยายแปลกันเจ้าค่ะ" จาก reurnthai.com
- ↑ 27.0 27.1 SHERLOCK HOLMES 101 จาก Washingtonpost.com
- ↑ "The Death of Sherlock Holmes". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-02. สืบค้นเมื่อ 2008-02-11.
- ↑ Life Stories: Sir Arthur Conan Doyle
- ↑ RSC's News Release 14 ตุลาคม ค.ศ. 2002
- ↑ Randall Stock Beeton's Christmas Annual 1887: An Annotated Checklist and Census[ลิงก์เสีย] 9 สิงหาคม 2007
- ↑ Becki Rose Sherlock Holmes and His Infuence Around the World เก็บถาวร 2008-04-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ 33.0 33.1 Moscow honours legendary Holmes จาก bbc.co.uk
- ↑ "Spotlight On Meiringen". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-15. สืบค้นเมื่อ 2008-02-13.
- ↑ Connections Between House and Holmes จากเว็บไซต์ละครเรื่อง House M.D.
- ↑ รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, คดีรหัส - พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, สำนักพิมพ์ศยาม [2]
- ↑ http://www.reurnthai.com/index.php?topic=793.0
- ↑ Sherlock Holmes and the 21st Century
- ↑ 39.0 39.1 39.2 39.3 39.4 Sherlock Holmes Part II - the Legacy จาก bbc.co.uk
- ↑ "SHERLOCK HOLMES Mystery (Various National Productions)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-21. สืบค้นเมื่อ 2008-02-13.
- ↑ "Jeremy Brett". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-16. สืบค้นเมื่อ 2008-02-12.
- ↑ เวสลี่ย์ บริตตอน. รวมบทวิจารณ์ อารมณ์ขันของมาร์ค ทเวน กับ "The Double-Barreled Detective Story" เรียบเรียงจากเว็บไซต์ marktwain forum
- ↑ "รวมผลงานของสตีเฟน คิง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-24. สืบค้นเมื่อ 2008-10-11.
- ↑ "Sir Arthur Conan Doyle & SHERLOCK HOLMES (Canon and Pastiche)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-22. สืบค้นเมื่อ 2008-10-11.
- ↑ Charles Prepolec, The Further Adventures of Sherlock Holmes: Reviewed
- ↑ "รายชื่อนักประพันธ์ที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับ เชอร์ล็อก โฮมส์ ขึ้นใหม่". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-31. สืบค้นเมื่อ 2008-10-11.
- ↑ "Siyaram Saran: The Boer War Mystery". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-31. สืบค้นเมื่อ 2008-10-11.
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
แก้- Dakin, David (1972). A Sherlock Holmes Commentary. Newton Abbot: David & Charles. ISBN 0715354930.
- Hall, Trevor (1969). Sherlock Holmes: Ten Literary Studies. London: Duckworth. ISBN 0715604694.
- Keating, H. R. F. (2006). Sherlock Holmes: The Man and His World. Edison, NJ: Castle. ISBN 0785821120.
- Klinger, Leslie (2005). The New Annotated Sherlock Holmes. New York: W.W. Norton. ISBN 0393059162.
- Klinger, Leslie (1998). The Sherlock Holmes Reference Library. Indianapolis: Gasogene Books. ISBN 0938501267.
- Riley, Dick (2005). The Bedside Companion to Sherlock Holmes. New York: Barnes & Noble Books. ISBN 0760771561.
- Roy, Pinaki (2008). The Manichean Investigators: A Postcolonial and Cultural Rereading of the Sherlock Holmes and Byomkesh Bakshi Stories. New Delhi: Sarup and Sons. ISBN 9788176258494.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Sir Arthur Conan Doyle Literary Estate - Official Website (อังกฤษ)
- การผจญภัยของเชอร์ล็อก โฮมส์ (The Adventures of Sherlock Holmes) เก็บถาวร 2010-03-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน นิยายออนไลน์ฉบับเต็ม และฉบับ PDF (อังกฤษ)
- พิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮมส์ ถนนเบเกอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ (อังกฤษ)
- สมาคมเชอร์ล็อก โฮมส์ แห่งประเทศอังกฤษ (อังกฤษ)
- เชอร์ล็อก โฮมส์ ฉบับสมบูรณ์ เก็บถาวร 2008-03-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน รวมเรื่องสั้น 56 เรื่อง เรื่องยาว 4 เรื่อง และภาพวาดต้นฉบับในนิตยสารฉบับพิมพ์ครั้งแรก (อังกฤษ)
- Discovering Sherlock Holmes งานวิจารณ์วรรณกรรมของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (อังกฤษ)
- The Sherlock Holmes Collections รวมแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับเชอร์ล็อก โฮมส์ ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตา (อังกฤษ)
- Sherlock Holmes Special Collections
- Sounds of the Baskervilles BBC Radio 4 programme on Holmes and music
- Sherlock Holmes radio dramas. Public domain audio radio dramas adapted from the canonical texts
- Sherlock Holmes Granada TV series 41 episodes เก็บถาวร 2009-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน and filming locations
- The Harpooners of the Sea Unicorn A Scion Society of the Baker St. Irregulars based in St. Charles Missouri
- Publication order of Sherlock Holmes stories by A. Conan Doyle