งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

(เปลี่ยนทางจาก งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ)

งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ หรือ พุทธชยันตี 2500 ปี (อังกฤษ: 2500th Buddha Jayanti Celebration) เป็น เทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสที่ครบรอบ 2500 ปีแห่งการปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังเรียกว่างานฉลองกึ่งพุทธกาล เนื่องจากความเชื่อโบราณว่าพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ 5000 ปี แล้วจักเสื่อมสลายลง1

งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ในประเทศไทย ได้มีการเตรียมการล่วงหน้ากว่า 5 ปี นับแต่ปี พ.ศ. 2495 มีการสร้างอนุสรณ์สถานพุทธมณฑล และการจัดกิจกรรมมากมายเพื่อเฉลิมฉลองพร้อมกันกับประเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า เนปาล และประเทศที่มีประชากรนับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลก2 โดยในประเทศอื่นใช้คำว่า "พุทธชยันตี 2500 ปี"

งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษมีการถ่ายทอดสดโดยสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4

ประวัติ

แก้
 
พุทธมณฑล อนุสรณ์การฉลองวาระกึ่งพุทธกาล งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อ พ.ศ. 2500

งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ในประเทศไทย เริ่มจัดขึ้นโดยการปรารภของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยการแนะนำของ ฯพณฯ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า เลขาธิการองค์การสหประชาชาติในขณะนั้น ที่ท่านได้ดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันจัดงานฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ หรือ 2500th Buddha Jayanti Celebration โดยมีการรณรงค์ให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่าง ๆ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในปีนั้น เช่น ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา[1] ประเทศอินเดีย[2][3] โดยประเทศต่าง ๆ ได้จัดกิจกรรมเพื่อการฉลองนี้เป็นงานสำคัญระดับประเทศ

โดยในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้นำโอกาสนี้จัดเป็นงานฉลองทางพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย โดยเริ่มงานตั้งแต่ พ.ศ. 2495 มีการวางโครงการและระดมทุนเพื่อจัดสร้างพุทธมณฑล เพื่อเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างพุทธมณฑล เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 นอกจากนี้ยังมีการออกประกาศพระบรมราชโองการ พระราชทานบริเวณสนามหลวงเป็นสังฆปริมณฑลสำหรับจัดงานฉลองในครั้งนี้เป็นการชั่วคราว[4] ระหว่างวันที่ 12 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 โดยมีการจัดสร้างพระเครื่องจำนวนมากที่สุด เรียกว่า "พระฉลอง 25 พุทธศตวรรษ" จำนวนกว่า 5,042,500 องค์[5] เพื่อระดมทุนในการสร้างพุทธมณฑล มีการออกประกาศให้วันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ[6]1 มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม[7] พระราชบัญญัติล้างมลทิน[8] นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลยังได้ออกพระราชบัญญัติเหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ[9] เป็นกรณีพิเศษด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประเทศไทยที่รัฐบาลมีการออกเหรียญที่ระลึก และแพรแถบ เนื่องในโอกาสสำคัญทางศาสนา นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค เพื่อฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ด้วย ซึ่งเป็นการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 9

เชิงอรรถ

แก้

หมายเหตุ 1: ความเชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ 5000 ปี แล้วจักเสื่อมสลาย มีที่มาจากคัมภีร์จตุตถสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย จุลลวรรค ว่าด้วยภิกขุนิกขันธกวรรณนา[10] ซึ่งคัมภีร์นี้แต่งโดยพระเถระชาวชมพูทวีปในสมัยหลังพุทธกาล เพื่ออธิบายความในพระวินัยปิฎก ซึ่งเป็นอัตตโนมติสำหรับการศึกษาเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎกเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในพระบาลีพุทธพจน์ พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสไว้ว่าศาสนาพุทธจะมีอายุ 5000 ปี หรือกำหนดปีแห่งการสิ้นสุดของศาสนาพุทธหรือพระธรรมวินัยไว้ แม้ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 ตอนว่าด้วยครุธรรม 8 ประการของภิกษุณี[11] ที่ผู้แต่งคัมภีร์จตุตถสมันตปาสาทิกานำมาอธิบายความ ก็ไม่ได้มีเนื้อความที่ทรงกำหนดปีสิ้นสุดของพระพุทธศาสนาไว้แต่ประการใด ดังนั้นคำว่ากึ่งพุทธกาล หรือความเชื่อว่าศาสนาพุทธจักสิ้นใน 5000 ปีหลังพุทธปรินิพพาน จึงเป็นความเชื่อที่มีมาแต่โบราณที่ยึดเอามติของผู้เขียนคัมภีร์สมัยหลังพระบาลีที่เป็นคัมภีร์อื่นนอกเหนือจากพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ ซึ่งในทางวิชาการพุทธศาสนาเถรวาทถือว่าโต้แย้งได้

หมายเหตุ 2: ประเทศไทยจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ 1 ปี โดยประเทศอินเดีย ศรีลังกา และพม่า จัดงานฉลองนี้ในปี พ.ศ. 2499 เนื่องจากประเทศไทยนับพุทธศักราชช้ากว่าประเทศอื่น โดยประเทศไทยนับหนึ่งปีหลังพุทธปรินิพพานเป็น พ.ศ. 1 แต่ประเทศอื่นนับตั้งแต่การปรินิพพานของพระพุทธเจ้าเป็น พ.ศ. 1 (ดูเพิ่มที่ พุทธศักราช)

เหรียญที่พระราชทานเป็นที่ระลึก

แก้
  •   แพรแถบย่องานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ

อ้างอิง

แก้
  1. Ananda W. P. Guruge. (2012). A Blueprint for the Revival of Buddhism: Reflections on the Fiftieth Anniversary of 2500 Buddha Jayanti. [on-line]. Available URL: [1] เก็บถาวร 2012-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 19-3-12
  2. วัดไทยลุมพินี. (2555). ประวัติวัดไทยลุมพินี. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.watthailumbini-th.org/index.php?lay=show&ac=article&Id=538915761 เข้าถึงเมื่อ 19-3-55
  3. พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ. ลุมพินี สถานที่ประสูติพระรูปกายของพระสิทธัตถโคตมพุทธเจ้าแห่งศากยวงศ์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๔๑
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานบริเวณสนามหลวงเป็นสังฆปริมณฑลในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๔๓ ก , ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๗๔๘
  5. หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. (2555). พระฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พระ​เครื่อง​แห่งประวัติศาสตร์ พระ​เจ้าอยู่หัว ​เสด็จพระราชดำ​เนิน ทรง​เททอง ทรงกดพิมพ์. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [2] 20-3-55
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๙๙, ๗๓ ตอนที่ ๘๑ ง, ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙, หน้า ๒๙๘๐
  7. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๑๑ ก, ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๒๘๓
  8. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๑๑ ก, ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๒๗๘
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเหรียญงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๘, ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๒๕๕
  10. อรรถกถาพระวินัย จุลลวรรค วรรณนา ภิกขุนิกขันธก วรรณนา ว่าด้วยครุธรรม ๘. จตุตถสมันตปาสาทิกา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3]. เข้าถึงเมื่อ 20-3-55
  11. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ครุธรรม ๘ ประการของภิกษุณี. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4]. เข้าถึงเมื่อ 20-3-55

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้