คลองโอ่งอ่าง
คลองโอ่งอ่าง เป็นช่วงหนึ่งของคลองรอบกรุง มีขอบเขตจากปากคลองมหานาคไปถึงปากคลองซึ่งหันออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนใต้[1] ข้าง ๆ กับสะพานพระพุทธยอดฟ้า มีระยะทางรวมประมาณ 750 เมตร คลองโอ่งอ่างทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งเขตปกครองระหว่างเขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
ในอดีตคลองโอ่งอ่าง เป็นช่วงคลองสัญจรที่สำคัญของฝั่งพระนคร ประกอบด้วยชุมชนตลอดช่วงสองฝั่งริมคลอง และถือเป็นแหล่งขายเครื่องปั้นดินเผาของชาวจีนและมอญที่สำคัญเมือง จึงเป็นข้อสันนิษฐานของชื่อคลองโอ่งอ่าง[2] ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างสะพานหันที่ถอดรูปแบบสะพานริอัลโต เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี[3] ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญในยุคนั้น จนเมื่อเมืองได้ขยายตัวมากขึ้น ความสำคัญของคลองก็ได้ลดลง การสัญจรส่วนใหญ่เปลี่ยนรูปแบบไปใช้บนถนน ทำให้เกิดชุมชนแออัดโดยรอบคลองและแปรเปลี่ยนสภาพเป็นคลองระบายน้ำทิ้ง โดยเฉพาะในทางทิศเหนือของสะพานภาณุพันธุ์ไปจรดสะพานรพีพัฒนภาค ที่มีการวางหลังคาสังกะสีปิดผิวคลองทั้งหมด
ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 กรุงเทพมหานคร โดยมติของรัฐบาลได้ทำการรื้อถอนอาคารร้านค้าต่าง ๆ บริเวณริมคลองโอ่งอ่างที่ถูกบดบังทัศนียภาพมานานกว่า 40 ปี เพื่อทำการปรับภูมิทัศน์ให้เป็นถนนคนเดิน และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ โดยสามารถเดินทางมาเที่ยวได้ด้วยการนั่งรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน ลงสถานีสามยอด
ประวัติ
แก้ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวัง และขยายอาณาเขตพระนครให้กว้างออกไปนั้น ต่อมาใน พ.ศ. 2326 ตรงกับปีเถาะ เบญจศก จุลศักราช 1144 พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองคูเมืองเดิม โดยเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือที่ตำบลบางลำพู ผ่านวัดบวรนิเวศวิหาร, วัดเทพธิดาราม วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร, วังบูรพาภิรมย์ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้ เหนือวัดสามปลื้มหรือวัดจักรวรรดิราชาวาส เป็นระยะทาง 85 เส้น 13 วา (ประมาณ 3.426 กิโลเมตร) กว้าง 10 วา (ประมาณ 20 เมตร) ลึก 5 ศอก (ประมาณ 2.5 เมตร) ในการครั้งนั้นได้สร้างกำแพงประตูเมือง ป้อมปราการ เลียบแนวคลองด้านใน ตลอดทั้งคลอง ประตูเมืองและป้อมปราการเว้นระยะห่างกันเป็นช่วง ๆ ถึง 9 ช่วง เป็นคลองคูเมืองชั้นนอก เมื่อขุดคลองแล้วพื้นที่เมืองจึงกลายเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ คือ ด้านตะวันตกเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และด้านตะวันออกเป็นคลองรอบกรุง
คลองรอบกรุงนี้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปหลายชื่อ ส่วนที่เริ่มตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงวัดสังเวชวิทยารามจนถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศตรงช่วงปากคลองมหานาคนิยมเรียกว่า "คลองบางลำพู" เมื่อผ่านสะพานหันเรียก "คลองสะพานหัน" เมื่อผ่านวัดเชิงเลนเรียก "คลองวัดเชิงเลน" และช่วงสุดท้ายก่อนบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาเรียก "คลองโอ่งอ่าง" เพราะเคยเป็นแหล่งค้าขายเครื่องดินเผาของชาวมอญและชาวจีน การที่เรียกชื่อแตกต่างกันมีมาตั้งแต่สมัยไหนนั้นไม่สามารถค้นหลักฐานได้ จากหนังสือเก่าซึ่งพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการเรียกชื่อคลองโอ่งอ่างกับคลองบางลำพูแล้ว[4] เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2525 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2525 ให้เรียกชื่อคลองนี้ให้ถูกต้องว่า "คลองรอบกรุง" ตลอดทั้งสาย
ใน พ.ศ. 2526 กรุงเทพมหานครได้เปิดสัมปทานเปิดพื้นที่ให้เช่า บนคลองโอ่งอ่าง เพื่อย้ายผู้ค้าจากคลองถมเดิมมาที่คลองโอ่งอ่างนี้แทน จนกลายเป็นย่านสะพานเหล็กทับคลอง เป็นแหล่งขายเกม และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ [5] ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 กรุงเทพมหานคร โดยมติของรัฐบาลได้ทำการรื้อถอนอาคารร้านค้าต่าง ๆ บริเวณริมคลองโอ่งอ่างที่ถูกบดบังทัศนียภาพมานานกว่า 40 ปี เพื่อทำการปรับภูมิทัศน์ให้เป็นถนนคนเดินที่ร่มรื่นรวมถึงมีร้านค้า[6] และมีความสวยงามทางศิลปะเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมคล้ายกับคลองช็องกเยช็อน ในประเทศเกาหลีใต้[7][6] ปัจจุบันทางเดินริมคลองสามารถมองเห็นสะพานข้ามคลองที่เรียงกัน 5 สะพาน คือ สะพานดำรงสถิต (สะพานเหล็ก), สะพานภาณุพันธุ์, สะพานหัน, สะพานบพิตรพิมุข และสะพานโอสถานนท์ บริเวณเชิงสะพานพระปกเกล้า อันเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างเขตพระนครกับเขตสัมพันธวงศ์ รวมถึงการปรับปรุงสภาพน้ำในคลองและบูรณะสะพานที่ข้ามคลองโอ่งอ่างทั้ง 5 ด้วย[8]
อ้างอิง
แก้- ↑ โรม บุนนาค. (2561). เปิดตำนานคลองโอ่งอ่าง ก่อนเปลี่ยนโฉมหน้า! ทำกันจริงๆก็พลิกได้เหมือนฝ่ามือ!!. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564
- ↑ เมืองไทยวันนี้. (2563). เปลี่ยนจากน้ำเน่า เป็นคลองสวยน้ำใส. เก็บถาวร 2021-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564
- ↑ เอนก นาวิกมูล. (2541). สะพานหัน หันได้อย่างไร?. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564
- ↑ ข้อมูลคูคลอง กรุงเทพมหานคร | http://dds.bangkok.go.th/csd/canal_h6.htm เก็บถาวร 2013-11-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ https://www.facebook.com/Thailand.Infra/posts/1060975771007568/
- ↑ 6.0 6.1 "ประชาชนปลื้มโฉมใหม่คลองโอ่งอ่าง". ไทยรัฐทีวี. 2015-11-19.
- ↑ "สภากทม.ยก'ชองเกชอน' ต้นแบบฟื้นฟูคลองในกรุงเทพฯ". กรุงเทพธุรกิจ. 2016-06-15.
- ↑ "วีดิทัศน์โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่างบริเวณสะพานดำรงสถิตถึงบริเวณสะพานโอสถานนท์". กรุงเทพมหานคร. 2016-12-13.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ คลองโอ่งอ่าง
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์