คดีระหว่างอัยการสูงสุด กับทักษิณ ชินวัตร และพจมาน ชินวัตร หรือคดีที่ดินรัชดาฯ เป็นคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐาน "เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงาน และสนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ" ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายอาญา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 และศาลมีคำสั่งรับฟ้องเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550

คดีระหว่างอัยการสูงสุด กับทักษิณ ชินวัตร และพจมาน ชินวัตร
(คดีที่ดินรัชดาฯ)
สาระแห่งคดี
ข้อกล่าวหา เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงาน และสนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ
คู่ความ
โจทก์ อัยการสูงสุด
จำเลย • พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร, ที่ 1
• คุณหญิงพจมาน ชินวัตร, ที่ 2
ศาล
ศาล ไทย ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
องค์คณะ
  • ทองหล่อ โฉมงาม
  • สมชาย พงษธา
  • สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
  • สมศักดิ์ เนตรมัย
  • วัฒนชัย โชติชูตระกูล
  • ประพันธ์ ทรัพย์แสง
  • พิชิต คำแฝง
  • ธีระวัฒน์ ภัทรานวัช
  • เกรียงชัย จึงจตุรพิธ
คำพิพากษา
คำพิพากษา คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2550
พิพากษา
" จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 (1) วรรคสาม และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุกสองปี ส่วนความผิดฐานอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 "
คดีหมายเลขดำที่ อม. 1/2550
คดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2550
ลงวันที่ 17 กันยายน 2551
มติ มติองค์คณะผู้พิพากษา
กฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายอาญา (ประเทศไทย)

คดีนี้มีผลสืบเนื่องมาจากการที่คุณหญิงพจมานประมูลซื้อที่ดินริมถนนเทียมร่วมมิตร ย่านถนนรัชดาภิเษก ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง โดยพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามยินยอมในฐานะคู่สมรส

วันที่ 17 กันยายน 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่า พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร มีความผิด ให้ลงโทษจำคุกสองปี ส่วนคุณหญิงพจมาน ชินวัตรให้ยกฟ้อง

เบื้องหลัง แก้

ที่ดินรัชดาภิเษก แก้

ที่ดินรัชดาภิเษก ("ที่ดินรัชดาฯ") เป็นหนึ่งในที่ดินสองแปลงที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ("กองทุนฯ") ซื้อจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอราวัณทรัสต์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2538 มูลค่า 2,749 ล้านบาท ต่อมาในปี 2544 กองทุนฯ ได้ปรับปรุงราคาที่ดินลดลงกว่า 2,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นการปรับปรุงบัญชีเพื่อปรับมูลค่าหนี้ให้ลดลงเพื่อให้เกิดสภาพคล่อง โดยปรับลดราคาที่ดินเหลือ 700 กว่าล้านบาท และนำออกประมูลทางอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 ตั้งราคาขั้นต่ำ 870 ล้านบาท โดยผู้ร่วมประมูลต้องวางเงินมัดจำ 10 ล้านบาท แต่ไม่มีผู้เสนอราคา กองทุนฯ จึงได้ยกเลิกการประมูล และเปิดประมูลใหม่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2546 โดยไม่กำหนดราคาขั้นต่ำ แต่ผู้ร่วมประมูลต้องวางเงินมัดจำเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท[1]

ผลการประมูล คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซึ่งส่งทนายความเป็นตัวแทนเข้าประมูลด้วยตนเอง ชนะการประมูลด้วยราคาสูงสุด 772 ล้านบาท โดยมีผู้แข่งขัน 2 ราย คือ บริษัท แลนด์แอนด์เฮาส์ และบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนต์ ก่อนทำสัญญาซื้อขาย และจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันที่ 30 ธันวาคม 2546[1]

เมือเดือนสิงหาคม 2554 ได้มีการจัดประมูลใหม่ บริษัทศุภาลัยผู้ชนะประมูลได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวไปในราคา 1,815 ล้านบาท หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่าราคาซื้อขายครั้งนี้เป็นเครื่องตอกย้ำความไม่ชอบมาพากลของการขายที่ดินให้คุณหญิงพจมาน เพราะราคาสูงขึ้นถึง 153% ในเวลาเพียง 8 ปี[2]

การเลื่อนวันหยุดปีใหม่ 2546-47 แก้

ในวันที่ 25 พ.ย. 2546 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ประกาศให้มีการประมูลที่ดินรัชดาฯ รอบ 3 คณะรัฐมนตรีในขณะนั้นซึ่งมีพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีมติบังคับให้วันพุธที่ 31 ธันวาคม 2546[3]ไม่เป็นวันหยุดราชการ

ภายหลังจากการเปิดประมูลใหม่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2546 กองทุนฯ (ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย และ กระทรวงการคลังในรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร สามีของผู้ชนะการประมูล) อนุมัติให้ผู้ชนะการประมูลนำเงินมาชำระก่อนวันที่ 29 ธันวาคม 2546 ต่อมาได้ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์พร้อมส่งมอบที่ดินวันที่ 30 ธันวาคม 2546 หรือ 1 วันก่อนวันสิ้นปี[3]

คตส. แก้

จุดเริ่มต้นของคดีเกิดจากการให้เบาะแสโดยกลุ่มข้าราชการกระทรวงการคลัง ที่ใช้ชื่อว่า "กลุ่มเป่านกหวีด" หรือ "Whistle blower"[4] ได้ส่งข้อมูลทางอีเมลถึงคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภายหลังการประมูลไม่นาน[4] จนนำไปสู่การนัดพบเพื่อให้ข้อมูล และตรวจสอบข้อเท็จจริง

วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) เป็นผู้ยื่นร้องเรียนต่อกองบังคับการ กองปราบปราม เพื่อให้ทำการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับความสนใจ ต่อมาเมื่อเกิดรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) วีระ สมความคิดได้นำเรื่องนี้เสนอต่อ คตส. ให้ตรวจสอบพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบดังกล่าวอีกครั้ง

คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐมีมติรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา และแต่งตั้งนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส. เป็นผู้รับผิดชอบ

อัยการสูงสุด แก้

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แก้

สินบน แก้

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 พันตำรวจโททักษิณเดินทางมารายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระหว่างนั้นมีทีมทนายความนำถุงขนมใส่เงิน 2 ล้านบาทไปให้เจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับ จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น และมีการแจ้งความดำเนินคดี ส่วนเงินของกลางได้คืนแก่ทีมทนายความไป หลังจากนั้นศาลได้แจ้งข้อหาละเมิดอำนาจศาลกับทั้งสาม และไต่สวนข้อเท็จจริง กระทั่งวันที่ 25 มิถุนายน 2551 ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำคุกนายพิชิฏ กับพวก คนละ 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล จนพ้นโทษเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2551 (คำสั่งศาลฎีกาที่ ๔๕๙๙/๒๕๕๑)

หมายจับ แก้

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 พันตำรวจโท ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา ตัดสินใจไม่ไปรายงานตัวต่อศาล โดยทั้งสองเดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่มีบุตรธิดาทั้งสามรออยู่แล้ว

ด้วยเหตุนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงออกหมายจับพันตำรวจโททักษิณ และคุณหญิงพจมาน และตั้งสินบนนำจับทันที คดีของพันตำรวจโททักษิณมีอายุความ 15 ปี ถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ส่วนคุณหญิงพจมาน มีอายุความ 10 ปี ถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2561

พิพากษา แก้

วันที่ 21 ตุลาคม 2551 เมื่อเวลา 14.00 น. ทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา พร้อมองค์คณะ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 (1) วรรค 3 และมาตรา 122 วรรค 1 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี ส่วนความผิดฐานอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ผลสืบเนื่อง แก้

วันที่ 24 กันยายน 2553 ศาลแพ่งพิพากษาให้คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชรส่งมอบที่ดิน 4 แปลง ที่ตั้งอยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง คืนให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน เนื่องจากเห็นว่าการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดิน ระหว่างกองทุนฟื้นฟูฯ และคุณหญิงพจมาน เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 เป็นโมฆะกรรม พร้อมทั้งให้กองทุนฯ คืนเงินซื้อขายที่ดินจำนวน 772 ล้านบาท ให้กับ คุณหญิงพจมาน พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันที่คุณหญิงพจมาน ฟ้องกลับกองทุนฟื้นฟูฯ ให้คืนเงินซื้อที่ดิน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2552[5]

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

13°46′00″N 100°34′32″E / 13.7667825°N 100.5756712°E / 13.7667825; 100.5756712