คชศาสตร์ เป็นวิชาหนึ่งในวิชาไตรเทพของศาสนาพราหมณ์ เป็นศาสตร์เกี่ยวกับช้าง แบ่งออกเป็น 2 ตำรา คือ

  1. ตำราคชลักษณ์ กล่าวถึงรูปพรรณสัณฐานของช้าง ทั้งดีและชั่ว
  2. ตำราคชกรรม กล่าวถึงตำราที่รวบรวมเวทมนตร์คาถา กระบวนการจับช้าง รักษาช้าง และการบำบัดเสนียดจัญไรต่าง ๆ ของช้าง

ตำราพระคชศาสตร์ และตำรานารายณ์ประทมสินธุ์ ได้กล่าวถึงการกำเนิดช้างมงคลว่า พระนารายณ์บรรทมบนเกษียรสมุทร บังเกิดดอกบัวจากพระอุทรมี 8 กลีบ 173 เกสร จึงนำไปถวายพระอิศวร ที่เขาไกรลาศ พระอิศวรแบ่งเกสรดอกบัวนั้นประทานแก่ พระองค์เอง พระอิศวร รับเกสรไว้ 8 เกสร ประทานแก่ พระพรหม จำนวน 24 เกสร ประทานแก่ พระวิษณุ หรือพระนารายณ์ จำนวน 8 เกสร และประทานแก่พระอัคคีหรือพระเพลิง จำนวน 135 เกสร

พระอิศวร พระพรหม พระวิษณุ และพระเพลิง เทวดา 4 ต่างสร้างช้างเผือกตระกูลต่าง ๆ 4 ตระกูล จากดอกบัวนั้นดอกบัวให้เป็นโลก พระพรหม พระอิศวร พระวิษณุและพระอัคนี มหาเทพทั้ง 4 ทรงเนรมิตช้างจากกลีบและเกสรบัว ที่พระนารายณ์ประทาน และสามารถแบ่งช้างมงคลเป็น 4 ตระกูล ตามนามแห่งเทพผู้ให้กำเนิด คือ ช้างตระกูลพรหมพงศ์, ช้างตระกูลอิศวรพงศ์, ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ และ ช้างตระกูลอัคนีพงศ์

ช้างตระกูลพรหมพงศ์ แก้

  • ช้างตระกูลพรหมพงศ์ สร้างขึ้นโดย พระพรหม อันพระพรหมให้บังเกิดด้วยเกสรประทุมชาติ์ ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีย่อมให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางวัตถุและวิทยาการต่าง ๆ

พระพรหมได้สร้างช้างประจำทิศทั้ง 8 ด้วยเกสรดอกบัวทั้ง 8 คือ เกสรที่

1. ช้างไอยราพตอยู่ทิศบูรพา เกสรหนึ่งทิ้งออกไปข้างทิศบูรพา เกิดเป็นช้างชื่อไอยราพต สมบูรณ์ด้วยลักษณะ 15 ประการ สีกายดุจสีเมฆเมื่อคลุ้มฝน เท้าทั้ง 4 เท้ากลมดังกงฉัตร เล็บเสมอ หน้าสูงท้ายต่ำอย่างสิงห์ ตัวใหญ่กว่าช้างทั้งปวง ตาใหญ่ดังดาวประกายพฤกษ งายาวขึ้นขวางวงดังภุชงค์นาค หลังราบดังคันธนูปลายหูปรบหน้า หลัง ถึงกัน โขมดทั้ง ๒ สูง เสียงดุจเสียงสังข์ หาง บังคลองต้องด้วยลักษณะ 15 ประการ

2. ช้างบุณฑริกอยู่ทิศอาคเนย์ เกสรหนึ่งทิ้งไปข้างทิศอาคเนย์ บังเกิดเป็นช้างชื่อบุณฑริกมีลักษณะ 5 ประการ สีกายดังดอกบัวขาว งาใหญ่สั้นสีดังสังข์ เล็บงามคือทอง ท้องมัวดังฝนคร่ำ กลิ่นหอมดังดอกสัตบงกช พร้อมด้วยลักษณะ

3. ช้างพราหมณ์โลหิตอยู่ทิศทักษิณ เกสรหนึ่งไปประดิษฐานอยู่ทิศทักษิณ บังเกิดเป็นช้างชื่อพราหมณโลหิต มีลักษณะ 5 ประการ สีกายดังสีโลหิต งาใหญ่คอกลม เสียงดุจเสียงแตรแตร้น พร้อมด้วยลักษณะ

4. ช้างกมุทอยู่ทิศหรดี เกสรหนึ่งทิ้งไปข้างทิศหรดี ให้บังเกิดเป็นช้างชื่อกมุท มีลักษณะ 5 ประการ สีดังดอกกมุท ตัวสูงโสตรยาวกลมหูอ่อน เสียงดุจเสียงแตรงอน งางอนขึ้นขวาดังพระจันทร์ เมื่อขึ้น 3 ค่ำ พร้อมด้วยลักษณะ

5. ช้างอัญชันอยู่ทิศประจิม เกสรหนึ่งทิ้งไปข้างทิศประจิม ให้บังเกิดเป็นช้างชื่ออัญชัน มีลักษณะ 5 ประการ สีดังอัญชันงาใหญ่ตรง คอใหญ่เสียงดังลมพัดในปล้องไม้ไผ่ พร้อมด้วยลักษณะ 5 ประการ

6. ช้างบุษปทันต์อยู่ทิศพายัพ เกสรหนึ่งทิ้งไปข้างทิศพายัพ บังเกิดเป็นช้างชื่อบุษปทันต์ มีลักษณะ 7 ประการ สีดังหมากสุกผิวเนื้อละเอียด มีกระหน้าตัวใหญ่งามงาน้อยขึ้นขวา เสียงดังเสียงเมฆ พร้อมด้วยลักษณะ

7. ช้างเสาวโภคอยู่ทิศอุดร เกสรหนึ่งทิ้งไปข้างทิศอุดร บังเกิดเป็นช้างชื่อเสาวโภม มีลักษณะ 5 ประการ สีดังตองแก่ สูงสัณฐานดังใส่เสื้อ เท้าทั้ง 4 ดังตองอ่อน ตัวกลมหน้าใหญ่งาน้อยยาว เสียงดังเสียงนกกเรียนพร้อมด้วยลักษณะ

8. ช้างสุประดิษฐ์อยู่ทิศอิสาน เกสรหนึ่งทิ้งไปข้างทิศอิสาน บังเกิดเป็นช้างสุปรดิษฐ์ มีลักษณะ 9 ประการ สีเนื้อดังสีเมฆเมื่อสนธยา ผนฎท้องดังผนฎท้องงู งาซื่อสีขาวบริสุทธิ์ดังผ้าขาวที่เนื้ออ่อนดังสีบัวแดง ขนปากยาว อัณฑโกษอ่อน เต้ามันอ่อน ร้องเสียงดังเสียงฟ้า พร้อมด้วยลักษณะ 9 ประการ

นอกจากนี้พระพรหมยังได้สร้างช้างอีก 10 หมู่ คือ

1. ฉัททันต์หัตถี กายสีขาว หางเท้าสันหลังสีแดง งาเป็นแขนง เป็นพญาช้าง มีกำลังสูงสุดเหาะไปในอากาศได้ เดินรวดเร็วมาก

2. อุโบสถหัตถี กายดั่งสีทองนพคุณ เดินได้รวดเร็ว เหาะไปในอากาศได้ อยู่บริเวณป่ากรรณิการ์ ส่วนหนึ่งของป่าหิมพานต์ มีนางช้าง ปีตวรรณ เป็นบริวาร

3. เหมหัตถี กายดั่งสีรัศมีทอง มีกำลังมาก

4. มงคลหัตถี สีผิว สีตา และสีเล็บ เป็นสีม่วงเหมือนสีดอกอัญชัน มีงางอนขึ้นไปด้านขวา

5. คันธหัตถี เป็นช้างที่มีร่างสูงใหญ่ ผิวตัวดังไม้กฤษณา กลิ่นตัวและมูตรคูตหอมหวนชื่นใจ

6. บิงคัลหัตถี หรือ ปิงคล กาย สีตาและเล็บ เป็นสีเหลืองเหลือบน้ำตาล ดั่งสีตาแมว

7. ตามพหัตถี หรือ ดามพหัตถี กายสีดั่งทองแดง ขนหางคล้ายดอกบัวแดง ลักษณะสูงใหญ่ มีอานุภาพห้าวหาญในการศึก

8. บัณฑรหัตถี หรือ นาคันธรหัตถี กายสีดั่งรัศมีเงิน มีอีกชื่อหนึ่งว่า นาคันธร ห้าวหาญองอาจในการสงคราม

9. คังไคยหัตถี กายดั่งสีน้ำไหล (สีเขียวน้ำทะเล) มีลักษณะสูงใหญ่ สมบูรณ์งดงาม เกิดบริเวณลุ่มน้ำคงคา

10. กาลวกะหัตถี กายสีดำ และสีเล็บเป็นสีดำดั่งสีปีกกา ดามพหัตถี กายสีดั่งทองแดง มีขนหางคลายดอกบัวแดง ลักษณะสูงใหญ่ เหมหัตถี กายดั่งรัศมีทอง มีกำลังมาก

ช้างตระกูลอิศวรพงศ์ แก้

ช้างตระกูลอิศวรพงศ์ สร้างขึ้นโดย พระอิศวร อันพระอิศวรให้บังเกิดด้วยเกสรประทุมชาติ์ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีบ้านเมืองจะมีความเจริญรุ่งเรืองด้วยทรัพย์และอำนาจ พระอิศวรสร้างช้าง 8 ตระกูล คือ

  • 1. อ้อมจักรวาฬ หนังเนื้อดำสนิท ผิวพรรณละเอียด เกลี้ยง หน้าใหญ่ โขมดสูง น้ำเต้ากรม งวงเรียว ปลายงางอนขึ้นเสมอกันปากรูปหอยสังข์ คอกลม เมื่อยามย่างยกอยู่ดูเป็นสง่า หน้าสูงกว่าท้าย ทรวงอกผึ่งผายใหญ่กว่าแสดงกำลัง เท้าใหญ่ท้ายเป็นสุกรชาติ หลังราวคันธนูศรผนฏท้องเป็นไปตามวงหลัง ขาหน้าทั้งสองอ่อนประหนึ่งท้าวแขน บาทและข้อหน้าหลังเรียวดังดอกบัวกลม หางเป็นข้อห่วง สนับงาแลเห็นเป็นสองชั้นขมับเต็มมิได้พร่อง หูใหญ่ ช่อม่วงข้างขวายาว ใบหูอ่อนนุ่มสรรพด้วยขนขึ้นมากกว่าข้างซ้าย
  • 2. คชกรรณหัสดี ช้างหนึ่งชื่อว่า คชกรรณหัสดี งาขวาโอบงวงบน งาซ้ายอ้อมขึ้นไพรปาก งาซ้ายโอบงวงไปใต้งาขวา ปลายงาขึ้นไพรปากเสมอกัน ชนช้างดีมีอานุภาพมาก
  • 3. เอกทันต์ ช้างหนึ่งชื่อว่า เอกทันต์ งางอกแต่เพดาน งางอนขึ้นขวา ยกงวงช้างขวางงาอยู่ซ้าย ยกงวงไปซ้ายงาอยู่ขวา มีกำลังมาก พันช้างจึงจะสู้เอกทันต์ตัวเดียวได้ แทงเงาตาย เป็นพาหนะแห่งพระอินทร์ เทพคชนาคไปรักษาไว้ป่าพ้นคนเห็น
  • 4. กาฬทันต์ ช้างหนึ่งชื่อว่า กาฬทันต์หัษดี มีกาย งา เล็บ ตา ดำทั่วสารพางค์
  • 5. จัตุศก ช้างหนึ่งชื่อว่า จัตุศก โขมดสูงงาทั้ง 2 ช้าง แต่ละข้างนั้น ต้นกลมกล่อมดีปลายเป็น 2 งาทั้งซ้าย ขวา เป็น 4 งา
  • 6. โรมทันต์ ช้างหนึ่งชื่อว่า โรมทันต์ ต้นงาขวาทับต้นงาซ้าย มีกำลังมาก ถ้าพระยาองค์ใดได้ขี่ปราบศัตรู ๆ แลเห็นก็พ่ายแพ้
  • 7. สิงหชงฆ์ ช้างหนึ่งชื่อว่า สิงหชงฆ์ เท้าหลังดำดุจสิงหราช
  • 8. จุมปราสาท ช้างหนึ่งชื่อว่า จุมปราสาท ปลายงามีรัศมีอันแดง

ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ แก้

ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ สร้างขึ้นโดย พระวิษณุพระนารายณ์ อันพระนารายณ์ให้บังเกิดด้วยเกสรประทุมชาติ์ ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีย่อมมีชัยชนะแก่ศัตรู ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล ผลาหารธัญญาหารจะบริบูรณ์ เป็นช้างในวรรณะ พระนารายณ์ได้สร้างช้าง 8 ตระกูลด้วยเกสร คือ

  • 1. สังขทันต์ ช้างหนึ่งชื่อสังขทันต์ มีลักษณ 4 ประการ สีดังสีทอง งา น้อยงอนเสมอ เวลาเช้าเสียงดังเสียงเสือ เสียงดังเสียงไก่เมื่อเวลาสายัณห ยืนอยู่กลางทิศมีลักษณ 4 ประการ
  • 2. พะหัสดิน ช้างหนึ่งชื่อตามพหัษดินทร์ สีกายดุจทองแดงอันหม่น
  • 3. ชมลบ ช้างหนึ่งชื่อว่าชมลบ หูปรบเบื้องหน้าพอจรดกัน
  • 4. ลบชม ช้างหนึ่งชื่อว่าลบชม หูปรบเบื้องหลังถึงกัน
  • 5. ครบกระจอก ช้างหนึ่งชื่อว่าครบกระจอก มีเล็บเท้าละ 5 เล็บ
  • 6. พลุกสดำ ช้างหนึ่งชื่อว่าพลุกสดำ งางอนขึ้นขวา 
  • 7. สังขทันต์ (อีกจำพวกหนึ่ง) ช้างหนึ่งชื่อว่าสังขทันต์ งาขาวดังสีสังข์ สีกายดำบริสุทธิ์ ไม่มีขาวระคน
  • 8. ช้างโคบุตร ช้างหนึ่งชื่อโคบุตร มีพรรณผิวเหลืองดังหนังโค เปนบุตรนางโค เสียงดุจเสียงโค ขนหางขึ้นรอบดุจหางโค งางอนน้อย คุ้มโทษอันตรายทั้งปวงได้

ช้างตระกูลอัคนีพงศ์ แก้

ช้างตระกูลอัคนีพงศ์ สร้างขึ้นโดย พระอัคนี อันพระเพลิงให้บังเกิดด้วยเกสรประทุมชาติ์ ช้างตระกูลนี้เมื่อมาสู่พระบารมีบ้านเมืองจะเจริญด้วยมังสาหารและมีผลในทางระงับศึก อันพึงจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้ว ทั้งมีผลในทางระงับความอุบาทว์ทั้งปวง อันเกิดแก่บ้านเมืองและราชบัลลังก์ พระเพลิงสร้างช้าง 51 จำพวก เช่น ประพัทจักรวาฬ เศวตพระพร ปทุมหัสดี เศวตาคชราช ประทุมทันต์ ประทุมทนต์ ประทุมทันต์มณีจักร เป็นต้น จากนั้นกล่าวถึงช้างชาติอำนวยพงศ์ต่าง ๆ นามของช้างพัง และลักษณะของช้างที่ให้โทษ 80 ประการ

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้