ข้าราชการฝ่ายตุลาการ (ประเทศไทย)

ตุลาการ คือผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาอรรถคดี ตำแหน่งของตุลาการเรียกว่า "ผู้พิพากษา" โบราณเรียกว่า "ตระลาการ" หรือ "กระลาการ"[1] ทั้งนี้ ตุลาการกับผู้พิพากษาของไทยในสมัยโบราณนั้นมีอำนาจหน้าที่คนละอย่างกัน ปัจจุบัน ในศาลยุติธรรมนั้น ตุลาการเป็นชื่อข้าราชการประเภทหนึ่ง เรียกว่า "ข้าราชการตุลาการ" ส่วนผู้พิพากษาเป็นตำแหน่งของข้าราชการตุลาการ แต่ในศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญนั้น คำว่า ตุลาการ ใช้เรียกเป็นชื่อข้าราชการและเป็นตำแหน่งด้วย สำหรับศาลยุติธรรมนั้น คำว่า ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม นี้รวมถึง ดะโต๊ะยุติธรรมและข้าราชการธุรการที่ปฏิบัติงานให้แก่ฝ่ายตุลาการด้วยที่เรียกว่า ข้าราชการศาลยุติธรรม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถทรงเครื่องแบบข้าราชการตุลาการในฐานะที่ทรงเป็นที่มาแห่งความยุติธรรมตามความเชื่อโบราณ

อนึ่ง คำว่า "ตุลาการ" ยังเป็นชื่ออำนาจเกี่ยวกับการข้างต้นอีกด้วย โดยเป็นอำนาจฝ่ายหนึ่งในอำนาจทั้งสามตามการแบ่งแยกอำนาจของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งได้แก่ อำนาจตุลาการ อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร

วิวัฒนาการของตุลาการในทางนิรุกติศาสตร์ แก้

คำว่า "ตุลาการ" แก้

คำ "ตุลาการ" นั้น มีที่มาจากคำว่า "ตุลา" ซึ่งแปลว่า ตราชู หรือคันชั่ง + "การ" แปลว่า กระทำ หรือผู้กระทำ เป็นการอุปมาว่าผู้ตัดสินคดีความพึงตั้งอยู่ในความเที่ยงตรงไม่เอนเอียงเปรียบประดุจตราชู และด้วยเหตุนี้ รูปตราชูจึงเป็นสัญลักษณ์สากลของวงการตุลาการและวงการกฎหมาย คำว่า "ตุลาการ" นั้นจึงแปลว่า "ผู้กระทำความเที่ยงตรง" โดยปริยาย[2]

คำว่า "ตระลาการ"[2] แก้

อนึ่ง เท่าที่มีการค้นพบ คำว่า "ตุลาการ" นี้เพิ่งใช้กันในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง ก่อนหน้านั้นจะใช้คำว่า "ตระลาการ" หรือ "กระลาการ" แทน ซึ่งมีความเดียวกันทั้งสามคำ

หลักฐานของการใช้คำ "ตระลาการ" นี้ ได้แก่ ที่ปรากฏในพระอัยการลักษณะตระลาการ จุลศักราช 1058 (พ.ศ. 2239-2240) อันตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา และบทพระอัยการเพิ่มเติมลักษณะตระลาการ จุลศักราช 1090 (พ.ศ. 2271-2272) อันตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ กฎหมายทั้งสองฉบับนี้บัญญัติถึงรายละเอียดแห่งอำนาจหน้าที่ในการตัดสินอรรถคดีของตุลาการ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นกฎหมายวิธีพิจารณาความ (อังกฤษ: procedural law) ตามความเข้าใจในปัจจุบัน ใจความของกฎหมายดังกล่าวยึดหลักการเดิมตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ฉบับภาษาบาลีและปรับปรุงให้เข้ากับสภาพสังคมอยุธยา เป็นต้นว่า

1. มีการบัญญัติว่า ตุลาการนั้นต้องปราศจากอคติหรือความลำเอียงทั้งสี่ คือ ฉันทาคติ-ความลำเอียงเพราะรัก โทษาคติ-ความลำเอียงเพราะโกรธ ภยาคติ-ความลำเอียงเพราะกลัว และโมหาคติ-ความลำเอียงเพราะหลงหรือโง่

2. กับทั้งยังกล่าวว่า ตุลาการนั้นได้ชื่อว่าเป็น "อิสโร" (อิสฺสโร) คือ ผู้มีอิสรภาพในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

3. ตลอดจนมีข้อความสาปแช่งตุลาการที่ประพฤติมิชอบในหน้าที่ เป็นต้นว่า เกียรติยศและโภคศรีสวัสดิ์แห่งตุลาการผู้นั้นจะถอยเสื่อมสูญไปประดุจพระจันทร์ในวันกาฬปักษ์ (วันข้างแรม) และจะประสบกับความเดือดร้อนเป็นอันมาก ถ้าตุลาการผู้ใดกินสินบนสินจ้างมิได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามพระธรรมศาสตร์ เมื่อตายไปจะตกนรกหมกไหม้ทนทุกขเวทนาชั่วนิรันดร์ กลายเป็นเปรตมีเล็บมือใหญ่เท่าใบจอบ มีเปลวไฟปรากฏอยู่รอบตัว เปรตนั้นจะคอยควักเอารุธิรมังสะ (เลือดและเนื้อ) ของตนกินเป็นอาหาร

นอกจากนี้ คำว่า "ตระลาการ" ยังมีกระเส็นกระสายในบทกฎหมายอื่น ๆ ของสมัยอยุธยา เช่น ลักษณะอุทธรณ์ที่ตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาท มีคำว่า "ผู้พิพากษาตระลาการ" และในลักษณะโจรห้าเส้นที่กล่าวถึงผู้ร้ายประเภทซึ่งจำอยู่ ณ คุก ตะราง หรือทิม ว่ามิให้สอดเสียสินบนให้แก่ "ตระลาการ" เป็นต้น

บรรดากฎหมายเก่าที่มีคำว่า "ตระลาการ" นี้ แม้เมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีแล้วก็ยังมีผลใช้บังคับต่อมา จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ ในจุลศักราช 1166 (พ.ศ. 2347-2348) ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการที่มีสติปัญญาจำนวนสิบเอ็ดนายเป็นคณะกรรมการชำระกฎหมายทั้งปวงที่มีอยู่ในหอหลวง แล้วให้อาลักษณ์จัดทำไว้เป็นสามฉบับประทำตราสามตรา ดังที่เรียกติดปากกันจนทุกวันนี้ว่า "กฎหมายตราสามดวง" กระนั้น คำว่า "ตระลาการ" ก็ยังปรากฏอยู่

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กฎหมายหลายฉบับที่ตราขึ้นก็ยังใช้คำ "ตุลาการ" อยู่ กระทั่งมีการประกาศใช้พระธรรมนูญศาลทหารบก รัตนโกสินทรศก 126 (พ.ศ. 2450)[3] ปรากฏคำว่า "ตุลาการศาลกรมยุทธนาธิการ" ซึ่งราชบัณฑิตยสถานกล่าวว่า "...ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่เริ่มใช้คำนี้ในกฎหมาย หลังจากนั้นกฎหมายเกี่ยวกับราชการศาลของฝ่ายทหารต่อ ๆ จนปัจจุบันนี้ก็เรียกผู้พิพากษาของศาลทหารว่า ตุลาการศาลทหาร"

ส่วนด้านศาลพลเรือนนั้น การใช้คำ "ตุลาการ" ปรากฏครั้งแรกในพระบรมราชโองการประกาศจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรม ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455)[4] อันตราขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศนี้กำหนดให้อธิบดีศาลฎีกา (ประธานศาลฎีกาในปัจจุบัน) มีหน้าที่ดำริวางระเบียบราชการแผนกตุลาการ ในราชการฝ่ายตุลาการนั้นให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมปรึกษาหารือและฟังความคิดเห็นอธิบดีศาลฎีกา หลังจากนั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พุทธศักราช 2471[5] ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมและประกาศใช้ใหม่หลายครั้งเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 299 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2515[6] ประกาศฉบับนี้ ราชบัณฑิตยสถานกล่าวว่า[2]

...ให้ยกเลิกความในบางมาตราแห่งพระราชบัญญัตินั้น [พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ] และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งความใหม่ที่ให้ใช้แทนนั้นกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของบุคคลเป็นอันมากในขณะนั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางการเมือง และมีการแสดงความเห็นคัดค้านอย่างกว้างขวาง ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จะมีผลในทางปฏิบัติ...

ในวันที่ 25 ธันวาคม 2515 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตราพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 299 ลงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2515[7] โดยมาตรา 2 ว่าให้พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับย้อนหลังไปถึงวันที่ 13 ธันวาคม ปีนั้นเอง ซึ่งเป็นวันที่ประกาศคณะปฏิวัตินั้นเริ่มมีผลใช้บังคับ

คำว่า "ตุลาการ" นี้ นอกจากใช้ในราชการศาลยุติธรรมฝ่ายทหารและพลเรือนแล้ว ยังใช้ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยหลายแห่ง เช่น ในสนธิสัญญาการพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างประเทศไทยกับอังกฤษ พ.ศ. 2480[8] ข้อ 1 (3) ได้กล่าวถึงเจ้าหน้าที่และสุภาตุลาการในการรัษฎากร (อังกฤษ: the fiscal authorities and tribunals)

วิวัฒนาการของตุลาการในทางประวัติศาสตร์ แก้

วิวัฒนาการของตุลาการไทย แก้

โปรดดู วิวัฒนาการของตุลาการในทางนิรุกติศาสตร์ / คำว่า "ตระลาการ" ข้างบนประกอบ

ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีแต่โบราณจะมีเจ้าพนักงานสองฝ่าย คือ "ตระลาการ" หรือ"ตุลาการ" มีหน้าที่พิจารณาไต่สวนหาข้อเท็จจริง และ "ผู้พิพากษา" มีหน้าที่ให้คำพิพากษาเมื่อได้ข้อเท็จจริงจากตุลาการแล้ว เมื่อมีการเลิกใช้กฎหมายตราสามดวงโดยปริยาย ฝ่ายตุลาการก็สูญสิ้นไปด้วย ผู้พิพากษาจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการอย่างโบราณอีกหน้าที่หนึ่ง อย่างไรก็ดี ต่อมาภายหลังกลับรื้อคำว่า "ตระลาการ" หรือ "ตุลาการ" ขึ้นมาใช้อีก โดยให้ความหมายว่าผู้พิจารณาพิพากษาอรรถคดีเหมือนอย่างผู้พิพากษา จนกระทั่งภายหลังมีกฎหมายว่าด้วยข้าราชการตุลาการขึ้น จึงเป็นที่ทำให้เข้าใจอย่างตายตัวว่า ในบัดนี้ความหมายของคำว่า "ผู้พิพากษา" กับ "ตุลาการ" เป็นอย่างเดียวกัน[9] จนกระทั่งต่อมามีการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครองขึ้น โดยโอนอำนาจของศาลยุติธรรมที่เกี่ยวกับคดีปกครองและการตีความรัฐธรรมนูญไปให้กับศาลที่จัดตั้งใหม่ทั้งสองประเภทดังกล่าว จึงมีการกำหนดในกฎหมายอย่างชัดเจนทำให้เห็นได้ว่าตำแหน่ง "ผู้พิพากษา" นั้นจะใช้กับศาลยุติธรรมเท่านั้น แต่ศาล รัฐธรรมนูญกับศาลปกครองนั้น จะเรียกว่า "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลปกครอง"

การได้มาและการให้พ้นจากตำแหน่งซึ่งข้าราชการตุลาการ แก้

ข้าราชการตุลาการนี้ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้ง เลื่อนตำแหน่ง หรือถอดถอนตามคำแนะนำของคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ (ก.ต.) เว้นแต่สำหรับตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาเป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของ ก.ต.

ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตุลาการจะต้องเป็นผู้ดำรงตนอยู่ในความดีงาม กับทั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

1. มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด

2. มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีบริบูรณ์

3. มีความเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยความบริสุทธิ์ใจ

4. เป็นสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา

5. ไม่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว

6. ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งให้พักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามกฎหมาย

7. ไม่เคยถูกลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

8. ไม่เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นกรณีสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

9. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือคนมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

10. ไม่มีกายภาพหรือจิตภาพพิการจนเป็นเหตุให้ไม่สมควรที่จะรับราชการ

11. ไม่เป็นโรคตามที่ ก.ต. ระบุไว้ในระเบียบของ ก.ต.

12. ได้ผ่านการตรวจร่างกายและจิตใจ และได้รับการรับรองสำหรับการตรวจดังกล่าวจากคณะกรรมการแพทย์ที่ ก.ต. แต่งตั้งแล้ว

13. ได้ผ่านการฝึกหัดเป็นผู้พิพากษามาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามดังกล่าวนี้ไม่ใช้บังคับแก่ข้าราชการที่มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับปลัดกระทรวงยุติธรรม อัยการ และทนายความที่เคยว่าความมาแล้วไม่ต่ำกว่าห้าปี กับทั้งไม่ใช้บังคับแก่บุคคลที่มีสัญชาติต่างด้าวซึ่งรัฐบาลไทยได้ทำสัญญาว่าจ้างมาเป็นข้าราชการตุลาการไทย

อำนาจและหน้าที่ของข้าราชการตุลาการ แก้

สมัยก่อน ผู้พิพากษาแบ่งออกเป็นสองชั้น ชั้นแรกมีอำนาจหน้าที่ที่จะพิจารณาและพิพากษาความอาญาอันมีโทษจำคุกไม่เกินกว่าหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท และความแพ่งอันมีโทษหรือทุนทรัพย์ไม่เกินกว่าหนึ่งพันบาท ส่วนชั้นที่สองมีอำนาจหน้าที่ที่จะออกหมายหรือสั่งให้จับได้ ที่จะบังคับส่งตัวคนไปต่างดินแดน ที่จะออกหมายหรือมีคำสั่งให้ค้นของกลาง ที่จะออกหมายเรียกคู่ความและพยานในคดีซึ่งตนรับผิดชอบอยู่ ที่จะพิจารณาคดีอื่นใดทั้งปวง[10]

ปัจจุบัน ผู้พิพากษามีอำนาจหน้าที่เสมอกันหมดแล้ว โดยผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจที่จะออกหมายเรียก หมายอาญา หรือหมายสั่งให้ส่งคนมาหรือไปยังเขตใด ๆ กับทั้งที่จะออกคำสั่งใด ๆ อันมิใช่เป็นทางวินิจฉัยชี้ขาดคดีความ และมีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคดีความทั้งปวงที่ตนรับผิดชอบ ตลอดจนไต่สวนและออกคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้ แล้วแต่ลำดับศาลด้วย[11]

อ้างอิง แก้

  1. ราชบัณฑิตยสถาน. (2551, 7 กุมภาพันธ์). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 17 กันยายน 2551).
  2. 2.0 2.1 2.2 วิกรม เมาลานนท์. (2516-2517). "ตุลาการ". สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (เล่ม 13 : ตัวสงกรานต์-ทะนาน). ปราณบุรี : โรงพิมพ์ศูนย์การทหารราบ. หน้า 8016-8022.
  3. "พระธรรมนูญศาลทหารบก รัตนโกสินทรศก 126 (พ.ศ. 2450)". (2450, 29 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม 24). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2450/039/1015.PDF. (เข้าถึงเมื่อ: 17 กันยายน 2551).
  4. "พระบรมราชโองการประกาศจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรม ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455)". (2455, 14 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม 29). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2455/A/3.PDF. (เข้าถึงเมื่อ: 17 กันยายน 2551).
  5. "พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พุทธศักราช 2477". (2478, 30 เมษายน). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม 52). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/A/251.PDF. (เข้าถึงเมื่อ: 17 กันยายน 2551).
  6. "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 299 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2515". (2515, 12 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม 89, ตอนที่ 189). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2515/A/189/12.PDF. (เข้าถึงเมื่อ: 17 กันยายน 2551).
  7. "พระราชบัญญัติยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 299 ลงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2515". (2515, 26 ธันวาคม). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม 29, ตอนที่ 198). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2515/A/198/231.PDF. (เข้าถึงเมื่อ: 17 กันยายน 2551).
  8. "พระบรมราชโองการ ประกาศให้ใช้สนธิสัญญาการพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างสยามกับอังกฤษ". (2480, 19 กุมภาพันธ์). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม 54). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2480/A/1565.PDF. (เข้าถึงเมื่อ: 17 กันยายน 2551).
  9. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549, มีนาคม). "ตระลาการ". พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 128-129.
  10. ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์). (2549, มีนาคม). "ผู้พิพากษา". พจนานุกรมกฎหมาย. กรุงเทพฯ : วิญญูชน. หน้า 221-223.
  11. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2549, 23 มิถุนายน). พระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.krisdika.go.th/lawHeadPDF.jsp?formatFile=pdf&hID=0[ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 18 กันยายน 2551).