ขี้เหล็ก
ขี้เหล็ก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Senna siamea (Lam.) Irwin & Barneby)[1] จัดเป็นพืชในวงศ์ Leguminosae นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน เช่น ขี้เหล็กแก่น (ราชบุรี) ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง) ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ) ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลางบางที่) ผักจี้ลี้ (ฉาน-แม่ฮ่องสอน) ยะหา (มลายู-ปัตตานี) และขี้เหล็กจิหรี่ (ภาคใต้) เป็นต้น ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นขี้เหล็กเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงปานกลาง ผลัดใบ สูงประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นมักคดงอเป็นปุ่มเปลือกสีเทาถึงสีน้ำตาลดำ ยอดอ่อนสีแดงเรื่อ ๆ ใบประกอบเป็นแบบขนนก เรียงสลับกัน มีใบย่อย 5-12 คู่ ปลายสุดมีใบเดียว ใบย่อยรูปขอบขนานด้านบนเกลี้ยง ดอกช่อสีเหลืองอยู่ตามปลายกิ่ง ดอกจะบานจากโคนช่อไปยังปลายช่อ กลีบเลี้ยงมี 3-4 กลีบ กลีบดอกมี 5 กลีบ เกสรตัวผู้10 อัน ผลเป็นฝักแบนยาวมีสีคล้ำ เมล็ดรูปไข่ยาวแบนสีน้ำตาลอ่อนเรียงตามขวางมี 20-30 เมล็ด เนื้อไม้มีสีน้ำตาลแก่เกือบดำ ส่วนของดอกและใบขี้เหล็กใช้เป็นอาหารในหลายประเทศ เช่น ไทย พม่า อินเดีย และมาเลเซีย เป็นต้น ในตำราการแพทย์แผนไทยได้มีการบันทึกประโยชน์ของขี้เหล็กในหลายด้าน เช่น ใช้แก้อาการท้องผูก ใช้แก้อาการนอนไม่หลับ ใช้ทำความสะอาดเส้นผม ทำให้ผมชุ่มชื่นเป็นเงางาม ไม่มีรังแค ช่วยเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี และบำรุงโลหิต เป็นต้น นอกจากนั้น ยังนิยมนำมาประกอบ อาหาร เช่น แกงขี้เหล็ก[2] เป็นการนำใบอ่อน ดอกและยอดของต้นขี้เหล็ก ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ขึ้นได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย มาปรุงเป็นอาหาร นอกจากจะรับประทานในครัวเรือน ยังนิยมปรุงเลี้ยงแขกเทศกาลงานต่างๆ เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานศพ ด้วยรสชาติของขี้เหล็กมีรสขม ก่อนปรุงจึงต้องนำมาต้มน้ำทิ้งก่อน ช่วย ลดสารที่เป็นพิษ และทำให้มีรสชาติดีขึ้นเมื่อนำมาปรุงเป็นอาหาร
ขี้เหล็ก | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | พืช Plantae |
เคลด: | พืชมีท่อลำเลียง Tracheophytes |
เคลด: | พืชดอก Angiosperms |
เคลด: | พืชใบเลี้ยงคู่แท้ Eudicots |
เคลด: | โรสิด Rosids |
อันดับ: | ถั่ว Fabales |
วงศ์: | ถั่ว Fabaceae |
วงศ์ย่อย: | วงศ์ย่อยราชพฤกษ์ Caesalpinioideae |
เผ่า: | Cassieae Cassieae |
สกุล: | Senna Senna (Lam.) Irwin et Barneby |
สปีชีส์: | Senna siamea |
ชื่อทวินาม | |
Senna siamea (Lam.) Irwin et Barneby | |
ชื่อพ้อง | |
|
ในปี พ.ศ. 2485 ศาสตราจารย์ นพ.อวย เกตุสิงห์ ได้ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของต้นขี้เหล็ก พบว่าใบและดอกขี้เหล็กทำให้เกิดอาการง่วงซึมและมีพิษน้อยกว่าสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ที่ได้ศึกษา ต่อมาจึงมีผู้ศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดใบขี้เหล็กอีกครั้งโดยใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลาย พบว่าสารสกัดนี้มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อเรียบ และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2513 คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอตทิงงัม ประเทศอังกฤษได้รายงานว่าสามารถสกัดสารชนิดใหม่จากใบขี้เหล็กได้ โดยตั้งชื่อว่าบาราคอล (barakol) ซึ่งมีฤทธิ์กล่อมประสาทและลดความกังวล แต่ภายหลังมีการพบว่ามีพิษต่อตับด้วยเช่นกัน[3]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Senna siamea
- ↑ "Thai food heritage › แกงขี้เหล็ก". www.thaifoodheritage.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-11. สืบค้นเมื่อ 2021-04-09.
- ↑ https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/12930029
- แกงขี้เหล็ก เก็บถาวร 2012-03-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ขี้เหล็ก แชมพูสมุนไพรแก้ไขปัญหาศีรษะล้าน เก็บถาวร 2012-02-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- FAO - Senna siamea (Lam.) Irwin & Barneby เก็บถาวร 2017-07-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน