กลีบเลี้ยง
กลีบเลี้ยง (อังกฤษ: sepal) เป็นส่วนหนึ่งของดอก กลีบเลี้ยงทำหน้าที่ปกป้องดอกขณะที่ยังตูม และประคองกลีบดอกเมื่อดอกบาน[1] คำว่า sepal ใช้ครั้งแรกโดยนอแอล มาร์แต็ง โฌแซ็ฟ เดอ เน็กเกอร์ แพทย์และนักพฤกษศาสตร์ชาวเบลเยียมในปี ค.ศ. 1790 โดยมาจากคำภาษากรีก σκέπη (skepē) แปลว่า ห่อหุ้ม[2] เมื่อกลีบเลี้ยงอยู่รวมกันจะเรียกว่า วงกลีบเลี้ยง (calyx)[3]
ในทางสัณฐานวิทยา กลีบเลี้ยงเจริญมาจากใบที่เปลี่ยนรูป กลีบเลี้ยงเป็นส่วนที่อยู่นอกสุดของวงดอก ส่วนใหญ่มีสีเขียว มีส่วนช่วยในการสังเคราะห์ด้วยแสง[4] หลังออกดอกกลีบเลี้ยงมักโรยหรือแห้ง แต่พืชบางชนิด เช่น สกุล Acaena, โทมาทิลโล (Physalis philadelphica) และกระจับเขาควาย (Trapa natans) มีกลีบเลี้ยงเป็นหนามไว้ปกป้องผล โทงเทงฝรั่ง (Physalis peruviana) และ Hibiscus trionum พัฒนากลีบเลี้ยงเป็นถุงครอบป้องกันผลจากแมลงและนก ขณะที่กลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบเปรี้ยว (Hibiscus sabdariffa) เจริญไปเป็นผลวิสามัญหลังออกดอก
กลีบเลี้ยงมีหลายรูปแบบ กลีบเลี้ยงทั่วไปมีลักษณะแยก พืชใบเลี้ยงคู่แท้จะมีกลีบเลี้ยง 4–5 กลีบ ส่วนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ พืชวงศ์ตะแบกและวงศ์ถั่วมีกลีบเลี้ยงที่โคนติดกันเป็นหลอด[5][6] ขณะที่พืชในอันดับกุหลาบและอันดับชมพู่ ฐานวงกลีบเลี้ยง วงกลีบดอกและเกสรตัวผู้จะก่อตัวร่วมกันเป็นฐานดอกรูปถ้วย[7][8]
ในบางกรณี มีการใช้คำว่ากลีบรวม (tepal) เพื่ออธิบายดอกที่ยากต่อการจำแนกส่วน[9] เช่น กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีสีเดียวกัน หรือไม่มีกลีบดอกแต่กลีบเลี้ยงมีสีสัน เมื่อกลีบรวมอยู่รวมกันจะเรียกว่า วงกลีบรวม (perianth)[10]
อ้างอิง
แก้- ↑ Beentje, Henk (2010). The Kew Plant Glossary. Richmond, Surrey: Royal Botanic Gardens, Kew. ISBN 978-1-84246-422-9., p. 106
- ↑ Stearn, William T. (2000). Botanical Latin, 4th ed.: 38-39. ISBN 0-88192-321-4
- ↑ Shorter Oxford English dictionary, 6th ed. United Kingdom: Oxford University Press. 2007. p. 3804. ISBN 978-0199206872.
- ↑ "โครงสร้างของดอกไม้ อวัยวะสำคัญในการสืบพันธุ์ของพืชดอก". NGThai.com. November 21, 2018. สืบค้นเมื่อ January 20, 2021.
- ↑ "Lythraceae - Plants of the World Online". Kew Science. สืบค้นเมื่อ January 20, 2021.
- ↑ "Fabaceae - Plants of the World Online". Kew Science. สืบค้นเมื่อ January 20, 2021.
- ↑ "Myrtales". Britannica. สืบค้นเมื่อ January 20, 2021.
- ↑ "Rosales". Britannica. สืบค้นเมื่อ January 20, 2021.
- ↑ Beentje 2010, p. 119
- ↑ Davis, P.H.; Cullen, J. (1979). The identification of flowering plant families, including a key to those native and cultivated in north temperate regions. Cambridge: Cambridge University Press. p. 106. ISBN 0-521-29359-6.