การยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

การยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เกิดขึ้นโดยพฤตินัยในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1806 เมื่อจักรพรรดิฟรันทซ์ที่ 2 จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค-ลอแรนสละราชสมบัติและปลดปล่อยรัฐทั้งหมดจากคำสัตย์และข้อผูกพันกับจักรวรรดิ นับตั้งแต่สมัยกลาง จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้รับการยอมรับจากยุโรปตะวันตกว่าเป็นจักรวรรดิที่สืบทอดจากจักรวรรดิโรมันอย่างชอบธรรม เนื่องจากปกครองโดยประมุขที่พระสันตะปาปาประกาศให้เป็นจักรพรรดิโรมัน[1] จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์สืบทอดแนวคิดที่จักรพรรดิโรมันมีอำนาจเหนือคริสตชนทั้งภายในและภายนอกจักรวรรดิ[2] ซึ่งต่อมาแนวคิดนี้ถูกคุกคามเมื่อมีการจัดตั้งรัฐเอกราชสมัยใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17[2]

การยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
คำประกาศสละราชสมบัติของจักรพรรดิฟรันทซ์ที่ 2 ฉบับพิมพ์
วันที่6 สิงหาคม 1806; 218 ปีก่อน (1806-08-06)
ที่ตั้ง จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
ผู้เข้าร่วม
ผล

จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถูกมองว่าเป็นราชาธิปไตยที่ "ผิดปกติ" และ "เสื่อมโทรม" ทั้งยังถูกมองว่ามีระบอบการปกครองที่ "แปลกประหลาด" จักรวรรดิขาดทั้งกองทัพประจำการและกองคลังกลาง นอกจากนี้จักรพรรดิที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถใช้อำนาจส่วนกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ[3] ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 จักรวรรดิเข้าร่วมสงครามปฏิวัติฝรั่งเศสและสงครามนโปเลียน ซึ่งแม้ช่วงแรกจักรวรรดิจะป้องกันตนเองได้ดี แต่ภายหลังการทำสงครามกับนโปเลียนกลับนำไปสู่จุดจบของจักรวรรดิ[4]

ปี ค.ศ. 1804 นโปเลียนสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิแห่งชาวฝรั่งเศส[5] จักรพรรดิฟรันทซ์ที่ 2 จึงตอบโต้ด้วยการสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิออสเตรีย โดยยังดำรงพระอิสริยยศเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์[6] ทั้งนี้เพื่อแสดงความเท่าเทียมกันระหว่างฝรั่งเศสกับออสเตรีย แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์สูงกว่าตำแหน่งทั้งสอง[6] อย่างไรก็ตาม ความพ่ายแพ้ของออสเตรียในยุทธการที่เอาสเทอร์ลิทซ์และการแยกตัวของรัฐในปกครองจำนวนมากเพื่อตั้งเป็นรัฐบริวารของฝรั่งเศสนาม สมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ ส่งผลให้จักรวรรดิล่มสลายลงในที่สุด[7] อนึ่ง การสละราชสมบัติร่วมกับการยุบสถาบันการเมืองดังกล่าวอาจเป็นการขจัดความเป็นไปได้ที่จักรพรรดินโปเลียนจะสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะลดฐานะของจักรพรรดิฟรันทซ์ที่ 2 ลงเป็นบริวารของจักรพรรดินโปเลียน[7]

ปฏิกิริยาต่อการยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มีตั้งแต่ไม่รู้สึกใด ๆ จนถึงสิ้นหวัง[8] ประชาชนในกรุงเวียนนา เมืองหลวงของจักรวรรดิฮาพส์บวร์คแสดงความหวาดกลัวต่อการสูญเสียจักรวรรดิ[9] บางส่วนตั้งคำถามถึงความชอบธรรมตามกฎหมายของประกาศดังกล่าว โดยส่วนใหญ่เห็นว่าการสละราชสมบัตินั้นถูกกฎหมาย แต่การยุบจักรวรรดิและปลดปล่อยรัฐทั้งหมดนั้นอยู่นอกเหนืออำนาจของจักรพรรดิ[10] ทำให้เจ้านครรัฐและประชาชนจำนวนมากไม่ยอมรับประกาศนี้[11] ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนบางส่วนยังเชื่อว่าการยุบจักรวรรดิเป็นข่าวลวงโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น[8] ในเยอรมนี การยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นหายนะครั้งใหญ่เหมือนการเสียกรุงทรอย[12] นอกจากนี้บางส่วนยังเชื่อว่าเป็นวันสิ้นโลก เนื่องจากมีตำนานสมัยกลางกล่าวถึงจักรพรรดิโรมันองค์สุดท้ายที่จะปรากฏตัวในวันโลกาวินาศ เพื่อสร้างโลกใหม่[13]

อ้างอิง

แก้
  1. James Bryce, 1st Viscount Bryce, The Holy Roman Empire, 1864, pp 62–64
  2. 2.0 2.1 Orford 2009, p. 981.
  3. Wilson 2009, p. 23.
  4. Wilson 2006, p. 712.
  5. Wilson 2006, p. 723.
  6. 6.0 6.1 Wilson 2009, p. 26.
  7. 7.0 7.1 Wilson 2009, p. 33.
  8. 8.0 8.1 Burgdorf 2012, p. 52.
  9. Burgdorf 2012, p. 58.
  10. Wilson 2006, p. 733.
  11. Gagliardo 1980, p. 281.
  12. Burgdorf 2012, pp. 60–61.
  13. Burgdorf 2012, p. 63.