ปัญหาเยอรมัน
คำถามเยอรมัน (เยอรมัน: Deutsche Frage; อังกฤษ: German Question) คือประเด็นการอภิปรายในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในช่วงการปฏิวัติ พ.ศ. 2391 ถึงวิธีการที่ดีที่สุดในการรวมชาติเยอรมัน (Unification of Germany)[1] โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2358 ถึง พ.ศ. 2409 รัฐอิสระซึ่งใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาพูดภายในสมาพันธรัฐเยอรมันได้ถกเถียงกันในประเด็นดังกล่าว และเสนอวิธีแก้ไขออกเป็นสองแนวทางคือ
- มหาประเทศเยอรมัน (Großdeutsche Lösung) เสนอให้รวมเอาประชาชนผู้ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาพูดไว้ภายใต้รัฐเดียว (รวมประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาพูดเป็นประเทศอันหนึ่งอันเดียว) ซึ่งแนวทางนี้ได้รับการสนับสนุนโดยจักรวรรดิออสเตรียและกลุ่มผู้สนับสนุนของออสเตรีย
- อนุประเทศเยอรมัน (Kleindeutsche Lösung) เสนอให้รวมเพียงรัฐเยอรมันทางเหนือและไม่รวมออสเตรียเข้ามาด้วย ซึ่งแนวทางนี้ได้รับการสนับสนุนโดยราชอาณาจักรปรัสเซีย
แนวทางแก้ไขดังกล่าวยังถูกอ้างถึงในชื่อรัฐที่แนวทางนั้นเสนอให้ตั้งขึ้นคือ เยอรมนีใหญ่ หรือ กรอสส์ดอยท์ชลันด์ (Großdeutschland) และ เยอรมนีน้อย หรือ ไคลน์ดอยท์ชลันด์ (Kleindeutschland) ซึ่งทั้งสองแนวทางคือส่วนหนึ่งของกระแสชาตินิยมเยอรมันที่กำลังเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังรวมเอาขบวนการเคลื่อนไหวร่วมสมัยในลักษณะเดียวกันเข้ามาด้วย เช่น การรวมชาติอิตาลีโดยราชวงศ์ซาวอย และการปฏิวัติเซอร์เบียเพื่อเอกราช ที่ต้องการจะก่อตั้งรัฐชาติซึ่งรวบรวมผู้คนที่มีเชื้อชาติและภาษาร่วมกันเข้าไว้ด้วยกัน
พื้นเพ
แก้ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ไม่มีประเทศเยอรมนีที่จะกล่าวถึงได้อย่างเหมาะสมและชัดเจน ด้วยเหตุที่ชาวเยอรมันตั้งรกรากอยู่ในราชอาณาจักร แกรนด์ดัชชี ดัชชี และราชรัฐจำนวนมากมาย ซึ่งแต่ละแห่งก็มีอำนาจอธิปไตยและกลไกการปกครองของรัฐที่แยกเป็นอิสระจากกัน ดังนั้นจึงมีกระแสความรู้สึกของความเป็นชาติเปรียบเสมือนกับคลื่นใต้น้ำที่ต้องการจะรวมชาวเยอรมันทั้งมวลไว้ภายใต้รัฐอันหนึ่งเดียวและปกครองโดยประมุขของชาติเพียงองค์เดียว
— นิวยอร์กไทมส์ วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2409[2]
ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2349 จักรพรรดิฟรันซ์ที่ 2 แห่งฮับส์บูร์ก สละราชสมบัติและยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จากความพ่ายแพ้ต่อจักรวรรดิฝรั่งเศสที่หนึ่งในสงครามนโปเลียน จึงเท่ากับเป็นการสิ้นสุดลงของจักรวรรดิแบบหลวม ๆ ซึ่งรวมดินแดนเยอรมนีให้เป็นปึกแผ่นมาหลายร้อยปี จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไม่เคยมีสถานะเป็นรัฐชาติโดยแท้จริง แม้ว่าชื่อที่่ใช้เรียกขานในภายหลังจะเพิ่มคำว่า แห่งชาติเยอรมัน เข้าไปด้วยก็ตาม ทั้งนี้ผู้ปกครองของจักรวรรดิต้องเผชิญกับปัญหาการสูญเสียพระราชอำนาจการปกครองให้แก่รัฐของจักรวรรดิตลอดช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ผลของสงครามสามสิบปียังส่งผลต่อพระราชอำนาจของจักรพรรดิอย่างร้ายแรง ทั้งยังส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างรัฐทรงอำนาจในยุโรปสองรัฐคือ ราชอาณาจักรฮับส์บูร์ก (ในฐานะรัฐที่ทรงอำนาจมากที่สุดในจักรวรรดิ) และบรันเดินบวร์ค-ปรัสเซีย ซึ่งขยายอาณาเขตของตนเกิดกว่าอาณาเขตของจักรวรรดิ ในขณะเดียวกันนั้นเองนครรัฐขนาดเล็กจำนวนมากภายในจักรวรรดิก็กระจัดกระจายกันออกไป จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงมีนครรัฐขนาดเล็กมากกว่า 1,800 แห่ง และแต่ละแห่งปกครองแยกจากกันอย่างอิสระ
ปรากฏการณ์ซึ่งแบ่งแยกเยอรมนีออกเป็นสองส่วนนี้ถึงจุดสูงสุดครั้งแรกเมื่อสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรียปะทุขึ้น และดำเนินเรื่อยมายาวนานกว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสและการรุกรานยุโรปของนโปเลียน โดยหลังจากที่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ล่มสลายลง ราชวงศ์ฮับส์บูร์กจึงได้สถาปนาจักรวรรดิออสเตรียขึ้นบนดินแดนของราชอาณาจักรฮับส์บูร์เดิมและยังคงสถานะจักรวรรดิเอาไว้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2358 พฤติการณ์สุดท้าย (the Final Act) ของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาได้สถาปนาสมาพันธรัฐเยอรมันขึ้น ซึ่งไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐชาติ แต่เป็นสมาคมของรัฐอธิปไตยในดินแดนของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เดิม
ในการถกเถียงถึงปัญหานี้ มีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อความเห็นชอบของแต่ละแนวทาง แต่ปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดก็คือศาสนา ทั้งนี้ด้วยเหตุที่แนวทางมหาประเทศเยอรมันจะเสริมสร้างสถานะอันโดดเด่นและสำคัญแก่ออสเตรีย ซึ่งเป็นประเทศคาทอลิกและเป็นรัฐเยอรมันที่ทรงอำนาจมากที่สุดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ส่งผลให้ชาวคริสต์ฝ่ายโรมันคาทอลิกและรัฐซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับออสเตรียมักจะสนับสนุนแนวทางนี้ ในขณะที่การรวมเยอรมนีให้เป็นปึกแผ่นโดยปรัสเซียภายใต้ราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น เป็นตัวเลือกที่รัฐเยอรมันทางตอนเหนือซึ่งเป็นฝ่ายโปรเตสแตนต์พึงพอใจกว่า นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยที่มีความซับซ้อนก็คือการที่จักรวรรดิออสเตรียรวมเอาชนชาติอื่น (ซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาพูด) ไว้ภายใต้การปกครองของตนจำนวนมาก เช่น ชาวฮังการี ชาวโรมาเนีย ชาวโครแอต และชาวเช็ก ส่งผลให้ออสเตรียไม่เต็มใจที่จะเข้าร่วมเป็นประเทศเยอรมนีอันหนึ่งอันเดียว หากตนต้องสละดินแดนที่ไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาพูดเหล่านี้ไป
การปฏิวัติเดือนมีนาคม
แก้ในปี พ.ศ. 2381 นักเสรีนิยมและนักชาตินิยมชาวเยอรมันรวมตัวกันในการปฏิวัติและได้สถาปนารัฐสภาแฟรงเฟิร์ตขึ้น ซึ่งภายในสมัชชาดังกล่าวมีแนวร่วมเคลื่อนไหวที่สนับสนุนแนวทางมหาประเทศเยอรมัน เรียกร้องให้รวมดินแดนที่ชาวเยอรมันอาศัยอยู่ก่อตั้งเป็นรัฐชาติอันหนึ่งอันเดียวขึ้น โดยทั่วไปแล้วฝ่ายซ้ายในสมัชชาสนับสนุนแนวทางมหาประเทศซึ่งปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ ในขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมกลางสนับสนุนแนวทางอนุประเทศ ซึ่งปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ฝ่ายมหาประเทศให้เหตุผลว่าออสเตรียเหมาะสมที่สุดที่จะเป็นประเทศผู้นำในการรวมชาติเนื่องจากราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (ออสเตรีย) ปกครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มาเป็นระยะเวลากว่า 400 ปี อย่างไรก็ตามอาจมีประเด็นปัญหาที่ตามมากับข้อเสนอนี้ เนื่องจากดินแดนที่ออสเตรียปกครองอยู่นั้นส่วนมากเป็นดินแดนของชนชาติซึ่งไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษาหลัก เช่น ราชอาณาจักรฮังการี ซึ่งมีอาณาเขตใหญ่ที่สุดและมีประชากรชาวสโลวัก ชาวโรมาเนีย และชาวโครแอตอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีดินแดนอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ราชอาณาจักรโบฮีเมียของชาวเช็ก จังหวัดกาลิเซียนของชาวโปแลนด์ ชาวรูซินซ์ และชาวยูเครน ดัชชีคาร์นิโอลาของชาวสโลวีน เช่นเดียวกับราชอาณาจักรลอมบาร์ดี-เวนีเชียและเตรนโตของชาวอิตาลี ที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเขตปกครองในพระมหากษัตริย์ทีโรลีน (เคาน์ตีทีโรล) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้รวมกันเป็นดินแดนส่วนมากของจักรวรรดิออสเตรีย ทั้งนี้ดินแดนดังกล่าว (ยกเว้นโบฮีเมีย คาร์นิโอลา และเตรนโต) ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐเยอรมัน เนื่องจากไม่เคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศิกดิ์สิทธิ์มาก่อน อีกทั้งยังไม่มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติเยอรมันอีกด้วย เห็นได้จากการที่นักการเมืองชาวเช็ก ฟรันจีเช็ก ปารักสกี ปฏิเสธขอเสนอการอยู่ใต้อาณัติของรัฐสภาแฟรงเฟิร์ตอย่างโจ่งแจ้ง โดยกล่าวว่าดินแดนของชาวสลาฟภายใต้จักรวรรดิฮับส์บูร์กนั้นไม่ได้อยู่ในขอบข่ายการอภิปรายของปัญหาเยอรมัน ในทางกลับกันนายกรัฐมนตรีออสเตรีย เจ้าชายเฟลิกซ์แห่งชวาร์เซินแบร์ก ตรัสว่าการรวมชาติในฐานะจักรวรรดิฮับส์บูร์กอันหนึ่งอันเดียวเท่านั้นคือแนวทางที่ยอมรับได้ เนื่องจากออสเตรียไม่ประสงค์ที่จะสละดินแดน (ที่ประชากรไม่ได้ใช้ภาษาเยอรมัน) ในครอบครองของตน หรือแบ่งแยกดินแดนที่มีอยู่เดิมเพื่อไปรวมกับจักรวรรดิทีมีแต่ชาวเยอรมันเท่านั้น
ดังนั้นสมาชิกส่วนหนึ่งของสมัชชา เช่น ปรัสเซียจึงสนับสนุนแนวทางอนุประเทศ ซึ่งไม่ได้รวมเอาจักรวรรดิออสเตรียและดินแดนใต้ปกครองอื่นเข้ามา โดยให้เหตุผลว่าปรัสเซียควรเป็นประเทศผู้นำในการรวมชาติเนื่องจากเป็นมหาอำนาจเดียวที่มีประชากรหลักในประเทศเป็นชาวเยอรมัน อย่างไรก็ดีร่างรัฐธรรมนูญของประเทศใหม่ยังคงเปิดทางให้ออสเตรียสามารถเข้ามาร่วมได้ในภายหลัง โดยที่ไม่สามารถนำเอาดินแดนของชนชาติอื่นที่ไม่ใช่ของชาวเยอรมันภายใต้การปกครองของตนมาร่วมด้วยได้ ในวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2392 รัฐสภาแฟรงเฟิร์ตจึงได้ทูลเชิญพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 4 แห่งปรัสเซีย ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเยอรมัน แต่ทรงปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว ส่งผลให้การปฏิวัติประสบความล้มเหลว ในขณะที่ความพยายามหลายครั้งโดยเจ้าชายแห่งชวาร์เซินแบร์กในภายหลังก็ไม่สัมฤทธิ์ผลแต่ประการใด
สงครามกับออสเตรียและฝรั่งเศส
แก้ความพยายามทั้งหมดนี้จบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายของออสเตรียในสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย พ.ศ. 2409 และหลังจากลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพปราก นายกรัฐมนตรีปรัสเซีย ออทโท ฟอน บิสมาร์ค (ในขณะนั้นเป็นผู้มีอิทธิพลสำคัญในแวดวงการเมืองเยอรมัน) ได้ดำเนินการขับไล่ออสเตรียและรวบรวมบรรดารัฐเยอรมันต่าง ๆ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวภายใต้การนำของปรัสเซีย ในขณะที่อาณาเขตของราชวงศ์ฮับส์บูร์กก็เริ่มสั่นคลอนเนื่องจากเกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติจากกลุ่มนักชาตินิยม ซึ่งออสเตรียแก้ไขปัญหานี้แบบผิวเผินด้วยข้อตกลงการประนีประนอมระหว่างออสเตรีย-ฮังการี พ.ศ. 2410
ในช่วงเดียวกัน บิสมาร์คได้จัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือขึ้นมากีดกันออสเตรียและราชอาณาจักรบาวาเรียทางใต้ที่เป็นพวกโรมันคาทอลิกไม่ให้มีบทบาทโดดเด่นในเยอรมนีที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นโปรเตสแตนต์และมีเชื้อสายปรัสเซีย นอกจากนี้บิสมาร์คยังประสบความสำเร็จในการใช้สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียโน้มน้าวบรรดารัฐเยอรมันต่าง ๆ รวมถึงราชอาณาจักรบาวาเรียให้มาเข้าร่วมกับปรัสเซียในการต่อต้านจักรวรรดิฝรั่งเศสที่สอง อย่างไรก็ตามออสเตรีย-ฮังการีไม่ได้เข้าร่วมสงครามครั้งนี้แต่อย่างใด หลังจากนั้นปรัสเซียได้รับชัยชนะภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จนในที่สุดข้อถกเถียงถึงคำถามเยอรมันนี้ก็ได้ข้อยุติว่าแนวทาง อนุประเทศเยอรมัน ผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่ายในปี พ.ศ. 2414 บิสมาร์คยังได้ใช้อภิสิทธิ์ที่ปรัสเซียรบชนะในสงครามเป็นตัวช่วยให้คงความเป็นพันธมิตรกับบาวาเรียต่อไป และได้ประกาศสถาปนาจักรวรรดิเยอรมันขึ้นในที่สุด ซึ่งในรัฐใหม่นี้ปรัสเซียที่เป็นโปรเตสแตนท์ถือว่ามีอิทธิพลและบทบาทมากที่สุด ส่วนออสเตรีย-ฮังการีถูกกันออกไปแยกเป็นรัฐของตัวเองต่างหากจากจักรวรรดิเยอรมัน จึงสรุปได้ว่าประเทศเยอรมนีน้อยเป็นแนวทางที่ได้รับชัยชนะในข้อถกเถียงครั้งนี้
อิทธิพลในภายหลัง
แก้แนวคิดที่ต้องการรวมเอาดินแดนของออสเตรีย (เฉพาะส่วนที่มีประชากรผู้พูดภาษาเยอรมันเป็นภาษาแม่) เข้ากับเยอรมนีเป็น เยอรมนีใหญ่ ยังคงปรากฎอยู่ในหมู่ประชาชนบางกลุ่มของทั้งสองประเทศ และได้รับการสนับสนุนขึ้นมาอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง และจากการล่มสลายของระบอบราชาธิปไตยในออสเตรีย-ฮังการีในปี พ.ศ. 2461 ที่ได้สถาปนารัฐหลงเหลือ (rump state) นามว่าสาธารณรัฐเยอรมันออสเตรียขึ้นมา ผู้สนับสนุนพยายามผลักดันเยอรมันออสเตรียให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐไวมาร์ อย่างไรก็ตามความพยายามนี้ถูกยับยั้งไว้ด้วยเงื่อนไขทั้งในสนธิสัญญาแซ็ง-แฌร์แม็ง-อ็อง-แล และสนธิสัญญาแวร์ซาย แม้พรรคการเมืองหลักของออสเตรียอย่างพรรคมหาประชาชนเยอรมัน (Greater German People's Party) และพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democrats Party) จะสนับสนุนแนวคิดนี้ก็ตาม
ต่อมาระบอบ เอาสโทรฟาสชิสมุส (Austrofaschismus; ฟาสซิสต์ออสเตรีย) ของออสเตรียระหว่างปี พ.ศ. 2477 - พ.ศ. 2481 ได้มุ่งเน้นไปที่ประวัติศาสตร์ของออสเตรียและต่อต้านการรวมออสเตรียเข้ากับจักรวรรดิไรช์ที่สาม เนื่องจากความเชื่อที่ว่าชาวออสเตรียคือ "ชาวเยอรมันผู้ดีกว่า"[3] นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีออสเตรีย คูร์ท ชุชนิจก์ ยังเรียกออสเตรียว่าเป็น "รัฐเยอรมันที่ดีกว่า" อีกด้วย แต่ชุชนิจก์กลับต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อให้ออสเตรียสามารถดำรงเอกราชของตนไว้ได้ อย่างไรก็ตามนักชาตินิยมเยอรมันยังคงปรารถนาที่จะรวมชาวเยอรมันทั้งหมดไว้ภายใต้รัฐหนึ่งเดียวตามแนวทางมหาประเทศ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งเป็นชาวเยอรมันเชื้อสายออสเตรียแต่กำเนิด ประสบความสำเร็จในการรวมออสเตรียอันเป็นแผ่นดินเกิดเข้ากับเยอรมนีได้สำเร็จใน อันชลุสส์ ซึ่งเป็นความปรารถนาส่วนตัวของเขามาอย่างยาวนาน แต่การกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดเงื่อนไขข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย แม้ว่าชาวเยอรมันและชาวออสเตรียต่างพากันสนับสนุนอย่างล้นหลามก็ตาม ทั้งนี้สถานการณ์ทางการเมืองในออสเตรียแตกต่างจากช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ค่อนข้างมาก โดยในช่วงปี พ.ศ. 2481 ออสเตรียตกอยู่ในเงามืดของความเป็นชาติมหาอำนาจในอดีตและมีสถานะด้อยกว่าเยอรมนีอย่างมาก ทั้งนี้หากกล่าวถึงแนวทางมหาประเทศเยอรมันในบริบทช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จะเรียกรัฐที่รวมกันใหม่นี้ว่า กรอสส์ดอยท์เชสไรซ์ (Großdeutsches Reich; มหาจักรวรรดิไรซ์เยอรมัน) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กรอสส์ดอยท์ชลันด์ (Großdeutschland; เยอรมนีใหญ่) ซึ่งในครั้งแรกเป็นชื่อที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการ แต่ต่อมาถูกใช้เป็นชื่อทางการในปี พ.ศ. 2486 และเช่นเดียวกับเยอรมนี (ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง) ออสเตรีย และอาลซัส-ลอแรน มหาจักรวรรดิไรซ์ได้ผนวกรวมแกรนดัชชีลักเซมเบิร์ก ซูเดเทินลันด์ โบฮีเมียและโมราเวีย ดินแดนมีเมิล ดินแดนโปแลนด์ที่ถูกผนวกรวมเข้ากับนาซีเยอรมนี เสรีรัฐดันซิก และดินแดนของ "รัฐบาลทั่วไป" (ดินแดนโปแลนด์ที่ถูกกองทัพเยอรมันยึดครอง) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ
หลังสงครามโลกครั้งที่สองและการรวมประเทศ
แก้การรวมประเทศกันระหว่างออสเตรียและเยอรมนีสิ้นสุดลงพร้อมกับสงครามโลกครั้งที่สองและความพ่ายแพ้ของฝ่ายนาซีเยอรมนีในปี พ.ศ. 2488 ส่งผลให้ เยอรมนีใหญ่ ถูกแยกออกเป็นสามประเทศคือ เยอรมนีตะวันตก เยอรมนีตะวันออก และออสเตรีย โดยฝ่ายสัมพันธมิตร นอกจากนี้เยอรมนียังสูญเสียอาณาเขตจำนวนมากหลังสงครามสิ้นสุดลง เช่น อาณาเขตส่วนมากของปรัสเซียในอดีต ซึ่งถูกผนวกคืนแก่โปแลนด์และบางส่วนถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ในขณะที่ลักเซมเบิร์ก ดินแดนของชาวเช็ก (เช็กโกสโลวาเกีย) และดินแดนของชาวสโลวีเนีย (ยูโกสลาเวีย) ได้รับเอกราชคืนจากเยอรมนีในท้ายที่สุด[4]
ในช่วงแรกฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มแบ่งแยกเยอรมนีออกเป็นเขตยึดครองสี่ส่วน ตามมาด้วยการสถาปนารัฐชาติเยอรมันขึ้นมาสองรัฐ (เยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออก) ซึ่งทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็นที่มีการสร้างกำแพงเบอร์ลินขึ้นมาในปี พ.ศ. 2504 ก่อนที่ท้ายที่สุดจะถูกทำลายลงในช่วงปี พ.ศ. 2532/2533 โดยหลังจากการก่อการกำเริบในเยอรมนีตะวันออก ค.ศ. 1953 วันหยุดราชการในสหพันธรัฐเยอรมนีถูกกำหนดไว้วันที่ 17 มิถุนายน และถูกตั้งชื่อว่า วันเอกภาพเยอรมัน (Day of German Unity) เพื่อย้ำเตือนชาวเยอรมันทุกคนว่า คำถามเยอรมันยังไม่ถูกตอบ (die offene Deutsche Frage) และเพื่อเรียกร้องให้มีการรวมประเทศขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
อาณาเขตในปัจจุบันของประเทศเยอรมนีหลังการรวมประเทศระหว่างเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกในปี พ.ศ. 2533 คือบทสรุปที่เทียบเคียงได้กับ แนวทางอนุประเทศ มากกว่า แนวทางมหาประเทศ โดยที่ออสเตรียมีสถานะเป็นรัฐเอกราชแยกจากกันต่างหาก ทั้งนี้ในปัจจุบันไม่ปรากฎแนวคิดที่ต้องการรวมประเทศเป็น เยอรมนีใหญ่ ขึ้นมาอีกครั้งในกลุ่มการเมืองกระแสหลักของทั้งในออสเตรียและเยอรมนี เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวเชื่อมโยงอย่างมากกับจักรวรรดิไรซ์ที่สาม ซึ่งกลุ่มที่ยังคงมีแนวคิดเช่นนี้มักจะถูกเรียกว่าเป็นพวกนิยมฟาสซิสต์หรือพวกนีโอนาซี
อ้างอิง
แก้- ↑ Metternich and the German Question: States' Rights and Federal Duties, 1820-1834
- ↑ The Situation of Germany. (PDF) - The New York Times, July 1, 1866
- ↑ Birgit Ryschka (2008). "Constructing and Deconstructing National Identity: Dramatic Discourse in Tom Murphy's The Patriot Game and Felix Mitterer's In Der Löwengrube". Peter Lang. ISBN 9783631581117. สืบค้นเมื่อ 27 June 2014.
- ↑ Albert Einstein