การลอบสังหารขัตติยะ สวัสดิผล

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ได้เกิดการลอบสังหารพลตรีขัตติยะ สวัสดิผลด้วยอาวุธปืนสไนเปอร์แรงสูง ขณะที่ขัตติยะ สวัสดิผลกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศบริเวณแยกศาลาแดง ภายหลังปฏิบัติการกระชับพื้นที่ของรัฐบาล[1][2] หลังจากนั้น พลตรีขัตติยะ ได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียวและโรงพยาบาลวชิรพยาบาลตามลำดับ อย่างไรก็ตาม พลตรีขัตติยะ ได้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การลอบสังหารพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล
พลตรี ฃขัตติยะ สวัสดิผลถูกยิงที่ศีรษะได้รับบาดเจ็บสาหัส
สถานที่แยกศาลาแดง กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°43′45″N 100°32′16″E / 13.72917°N 100.53778°E / 13.72917; 100.53778
วันที่13 พฤษภาคม 2553 (2553-05-13)
19:00 น. (UTC+7)
เป้าหมายขัตติยะ สวัสดิผล
ประเภทการลอบสังหาร
อาวุธปืนไรเฟิลซุ่มยิงสไนเปอร์
ตาย1 พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล

การลอบยิงและนำส่งโรงพยาบาล แก้

การลอบยิงเกิดขึ้นบริเวณทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีสีลม ฝั่งสวนลุมพินี บริเวณแยกศาลาแดง เมื่อเวลาประมาณ 19.20 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 โดยได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงด้วยกระสุนจากพลซุ่มยิงมุมสูงเข้าที่ศีรษะท้ายทอยด้านขวาและทะลุท้ายทอยด้านซ้าย กลุ่มคนเสื้อแดงได้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว[3] หลังจากนั้นทางญาติจึงตัดสินใจย้ายไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลในกลางดึกของวันเดียวกัน โดยทางแพทย์ผู้ให้การรักษาได้ให้เหตุผลว่าทางวชิรพยาบาลมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพียบพร้อมกว่า[4] อาการของ พลตรีขัตติยะ อยู่ในสภาพทรงตัวมาตลอดจนกระทั่งเสียชีวิตด้วยภาวะไตวายเฉียบพลันเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลา 09.20 น.[5] โดยมีกำหนดการพระราชทานเพลิงศพ พลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่วัดโสมนัสราชวรวิหาร ในวันที่ 22 มิถุนายน 2553 เวลา 17.00 น.

การวิเคราะห์ผู้บงการ แก้

หนังสือพิมพ์มติชนได้วิเคราะห์ "6 โจทก์" ซึ่งอาจเป็นผู้บงการการลอบสังหาร ได้แก่[6]

  1. เหตุพิพาทกับ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อครั้งที่ พลตรีขัตติยะ ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ พลตรีอ.สันต์ ถึงนโยบายการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าทำให้ภาคใต้ "ลุกเป็นไฟ" และเป็นที่มาของการฆ่าตัดตอน พลตรีอ.สันต์ ถึงกับประกาศเป็นศัตรูกัน
  2. ความขัดแย้งกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กรณีการยิงเอ็ม 79 เข้าใส่กลุ่มคนเสื้อเหลืองหลายครั้งระหว่างการชุมนุมเมื่อปี พ.ศ. 2551 ซึ่งเชื่อกันว่า เสธ.แดง อยู่เบื้องหลัง
  3. ความขัดแย้งกับกองทัพ ในกรณีที่ พลตรีขัตติยะใช้คำพูดหยามศักดิ์ศรี เรื่องความเป็นตุ๊ดเป็นแต๋วของนายทหารระดับนายพลในกองทัพ รวมไปถึงกรณีการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เนื่องจากถูกกระสุนที่ศีรษะ ซึ่งคาดว่าเป็นการกระทำของ "คนชุดดำ"
  4. ความขัดแย้งภายในกลุ่มคนเสื้อแดง ระหว่างกลุ่มเคลื่อนไหวที่มีวีระ มุสิกพงศ์เป็นผู้นำ กับกลุ่ม "ฮาร์ดคอร์" ที่มีเสธ.แดง เป็นผู้นำ โดย พลตรีขัตติยะ ได้ประกาศว่าจะแต่งตั้ง อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เป็นแกนนำทันทีถ้ากลุ่มของ วีระ มุสิกพงศ์เลิกการชุมนุมโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยังไม่ยุบสภาหรือลาออก ซึ่งถือว่าผิดวัตถุประสงค์ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นของการชุมนุม
  5. กลุ่มนายทหาร จปร.ที่ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งต้องการใช้เสธ.แดง เป็นชนวนสงครามการเมือง เพราะเชื่อว่า หาก เสธ.แดง เสียชีวิต จะมีการโยนความผิดไปให้รัฐบาลและกองทัพ อีกทั้งยังเป็นการปลุกระดมกลุ่มคนเสื้อแดงให้ต่อสู้ต่อไป
  6. กลุ่มการเมืองที่จะได้ประโยชน์จากสถานการณ์แห่งความขัดแย้งเพราะการยิง "เสธ.แดง" โดยเชื่อว่าการเสียชีวิตของ เสธ.แดง จะนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงกับรัฐบาล

นอกเหนือจาก 6 โจทก์ที่น่าจะเป็นมูลเหตุทำให้เสธ.แดงถูกลอบยิงแล้ว ยังมีมูลเหตุอีก ดังนี้

  1. หน่วยงานที่ควบคุมสถานการณ์ขณะนั้น คือ ศูนย์อำนวยการและแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งอาจจะมองแบบยุทธวิธีว่า เสธ.แดงคือแม่ทัพของกลุ่มเสื้อแดง ถ้าเสื้อแดงไม่มีแม่ทัพแล้วจะทำให้ฝ่าย ศูนย์อำนวยการและแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต่อทางยุทธวิธี และการตายของเสธ.แดง อาจจะทำให้สลายผู้ชุมนุมง่ายขึ้น
  2. เหตุ ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า[7] "ผมว่าปล่อย เสธ.แดงปลุกระดมคนไปเรื่อยๆ เหตุการณ์จะรุนแรงกว่านี้ ผมว่าวิธีที่จะตัดไฟแต่ต้นลม คือจัดการ เสธ.แดงไปซะ" ทั้งนี้ ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล สมัยเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้เคยเป็นลูกศิษย์ของเสธ.แดงมาก่อน แต่ด้วยความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันจึงทำให้ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน
  3. เหตุพิพาทกับ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เรื่องคดีบ่อนประตูน้ำ ที่เสธ.แดงเข้าไปช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดี จึงเป็นเหตุให้ตอบโต้ผ่านสื่อจนสุดท้ายการเป็นคดีฟ้องร้องหมื่นประมาทกันในศาล

วิเคราะห์จุดที่ใช้ปืนซุ่มยิง แก้

  1. อาคาร ภปร. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์[8]

ประเด็นการใช้ปืนซุ่มยิง แก้

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงว่า สำหรับความคืบหน้าในการสอบสวนคดีการเสียชีวิตของพลตรีขัตติยะ นั้นเบื้องต้นดีเอสไอพบว่าพลตรีขัตติยะ ถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง ซึ่งมักใช้กับอาวุธที่ใช้กันในกลุ่มของเจ้าหน้าที่รัฐ และในวันที่เกิดเหตุมีข้อมูลเป็นเอกสารคำสั่งอย่างชัดเจนว่าศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการณ์เข้าดูแลพื้นที่โดยรอบการชุมนุมและบริเวณตึกสูงโดยรอบที่เกิดเหตุทั้งหมด และดีเอสไอมีรายชื่อเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการณ์ในส่วนของเจ้าหน้าที่ทหารจากกองบัญชาการทหารอากาศ แต่ในส่วนของกองทัพบก กองทัพเรือและตำรวจ ที่ได้ขอความร่วมมือไปแล้วตั้งแต่ปี 2554 แต่ยังใม่ได้รับการแจ้งข้อมูลกลับมา[8]

ความเห็นจากบุคคลอื่น แก้

ในช่วงค่ำ วันที่ 17 มี.ค. 2554 นาย วิเชียร ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า "การตายของพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกนั้น คนบงการสั่งฆ่าไม่ใช่ธรรมดา มันเป็นขบวนการ ตนบอกได้เลยว่าทหารเป็นคนยิง จากหน่วย ฉก. 90 ลพบุรี มือสไนเปอร์ ยศสิบเอก ชื่อ พ. นามสกุล ป. ไปไล่สอบกันได้เลย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม เช่นเรื่องคนชุดดำ การก่อการร้ายนั้น นายสุเทพเป็นคนสร้างสถานการณ์ เพื่อใส่ร้ายคนเสื้อแดง เป็นเงื่อนไขสลายการชุมนุม และรักษาอำนาจตัวเองต่อไป"[9]

อ้างอิง แก้

  1. เสธแดงถูกยิง[ลิงก์เสีย]
  2. เสธ.แดงถูกยิงเข้าศีรษะอาการสาหัส.html
  3. หาม"เสธ.แดง"ส่งร.พ. เก็บถาวร 2011-11-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (13 พฤษภาคม 2553). สืบค้นวันที่ 13 พฤษภาคม 2553
  4. ย้ายเสธ.แดงมารักษาตัวที่วชิรพยาบาล. เก็บถาวร 2010-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (13 พฤษภาคม 2553). สืบค้นวันที่ 13 พฤษภาคม 2553
  5. ปิดตำนาน เสธ.แดง เสียชีวิตอย่างสงบ. ไทยรัฐออนไลน์ (17 พฤษภาคม 2553). สืบค้นวันที่ 17 พฤษภาคม 2553
  6. มติชนออนไลน์. (14 พฤษภาคม 2553). วิเคราะห์ ใครบงการสั่งฆ่า"เสธ.แดง" 6 โจทก์ 6 ประเด็น ที่ไม่ควรมองข้าม[ลิงก์เสีย]. สืบค้น 18 กรกฎาคม 2553
  7. ผู้กองปูเค็ม หาญกล้าต่อกร เสธ.แดง. (15 พฤษภาคม 2553). ผมว่าปล่อย เสธ.แดงปลุกระดมคนไปเรื่อยๆ เหตุการณ์จะรุนแรงกว่านี้ ผมว่าวิธีที่จะตัดไฟแต่ต้นลม คือจัดการ เสธ.แดงไปซะ เก็บถาวร 2012-02-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. 8.0 8.1 เผยภาพวิถีกระสุนยิง เสธ.แดง มาจากตึกที่ รพ.จุฬาฯ. (19 มี.ค. 56). เผยภาพวิถีกระสุนยิง เสธ.แดง มาจากตึกที่ รพ.จุฬาฯ
  9. ส.ส.เพื่อไทยปูดมือยิง เสธ.แดง เป็นทหารชื่อ พ. นามสกุล ป. เก็บถาวร 2011-03-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนผู้จัดการออนไลน์