การยึดครองพม่าของญี่ปุ่น

การยึดครองพม่าของญี่ปุ่น (พม่า: မြန်မာနိုင်ငံဂျပန်သိမ်းပိုက်မှုကာလ; อังกฤษ: Japanese occupation of Burma; ญี่ปุ่น: 日本占領時期のビルマโรมาจิNihon senryō jiki no Biruma) เป็นช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2485 – 2488 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อพม่าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่น ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งกองทัพพม่าอิสระและฝึกอบรมกลุ่มทะขิ่น 30 คนซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกองทัพพม่าสมัยใหม่ พม่าหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นให้ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ใน พ.ศ. 2485 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นรุกรานเข้าสู่พม่าและประกาศเอกราชของพม่าในนามรัฐพม่าเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2486 และ ดร.บามอว์ขึ้นเป็นหัวหน้ารัฐบาล อย่างไรก็ตาม พม่ารู้สึกว่าญี่ปุ่นไม่ได้จริงใจต่อพม่า อองซานจึงได้ประกาศตั้งสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์ และไปเป็นพันธมิตรกับอังกฤษเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น จนกระทั่งฝ่ายสัมพันธมิตรขับไล่ญี่ปุ่นออกไปได้เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2488 หลังจากนั้นมีการเจรจาระหว่างพม่าและอังกฤษเกี่ยวกับเอกราชของพม่า การยึดครองพม่าของญี่ปุ่นนี้ เป็นที่โต้เถียงกันว่าอาจเป็นสาเหตุของทุพภิกขภัยในเบงกอล พ.ศ. 2486 เพราะเป็นการตัดแหล่งอาหารของบริเวณนั้น

ทหารญี่ปุ่นในพม่า ณ วัดพระนอนชเวตาลย่อง

ภูมิหลัง แก้

นักชาตินิยมพม่าเห็นว่าการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นโอกาสของขบวนการต่อต้านอังกฤษ เช่น ชบวนการทะขิ่น อองซานร่วมมือกับทะขิ่นอื่นๆก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์พม่าในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2482[1] และอองซานยังได้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิวัติที่เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคสังคมนิยมหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากสมาคมเราชาวพม่าได้เรียกร้องให้มีการลุกฮือขึ้นทั่วประเทศ ทำให้มีการจับกุมแกนนำ ทำให้แกนนำต้องหนีออกนอกประเทศรวมทั้งอองซาน ที่หนีไปจีน แต่ถูกญี่ปุ่นจับตัวได้ อองซานตกลงร่วมมือกับญี่ปุ่น เขาได้ลอบเข้ามาในพม่า และชักชวนคนหนุ่มอีก 29 คนไปฝึกทหารที่เกาะไหหลำ ประเทศจีน เมื่อญี่ปุ่นบุกเข้ากรุงเทพฯในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 อองซานได้ประกาศจัดตั้งกองทัพพม่าอิสระเพ่อร่วมมือกับญี่ปุ่นในการเข้ายึดครองพม่าใน พ.ศ. 2485

การยึดครอง แก้

 
ธงชาติของรัฐพม่า พ.ศ. 2486 - 2488

กองทัพพม่าอิสระได้จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลในบางพื้นที่ของประเทศใน พ.ศ. 2485 แต่นโยบายของญี่ปุ่นต่อพม่ามีความแตกต่างกัน นายพลซูซูกิ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล แต่ผู้นำระดับสูงของกองทัพญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยและสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลของ ดร.บามอว์ ระหว่างสงครามใน พ.ศ. 2485 กองทัพพม่าอิสระได้เติบโตขึ้นโดยไม่มีการควบคุม ต่อมา ญี่ปุ่นได้ให้กองทัพนี้จัดตั้งเป็นองค์กรใหม่ในชื่อกองทัพป้องกันพม่าโดยมีอองซานเป็นผู้นำ กองทัพใหม่นี้ได้รับการฝึกฝนจากญี่ปุ่น เมื่อ ดร.บามอว์ประกาศตั้งรัฐบาลอองซานได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม หลังจากประกาศเอกราชในนามรัฐพม่า กองทัพป้องกันพม่าได้เปลี่ยนชื่อเป็นกองทพแห่งชาติพม่า[1]

ในช่วงที่กระแสของสงครามเริ่มเปลี่ยนแปลง ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้มากขึ้น อองซานได้หารือกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ ทะขิ่นทันตุนและทะขิ่นโส และกลุ่มผู้นำพรรคสังคมนิยมคือบะส่วยและจอเย่งในการจัดตั้งองค์กรต่อต้านฟาสซิสต์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2487 ในการประชุมลับระว่างผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์พม่า พรรคประชาชนปฏิวัติและกองทัพแห่งชาติพม่าที่พะโค ต่อมาองค์กรนี้เปลี่ยนชื่อเป็นสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น[2]

การสังหารหมู่ระหว่างการยึดครอง แก้

ทหารญี่ปุ่นได้เข้าสู่หมู่บ้านกาลากงและพื้นที่โดยรอบและได้สังหารชาวพม่าไปราว 600 คน เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักในชื่อการสังหารหมู่ที่กาลากง

สิ้นสุดการยึดครอง แก้

มีการติอต่อกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างสันนิบาตเสรีชนกับฝ่ายสัมพันธมิตรระหว่าง พ.ศ. 2487 – 2488 ผ่านกองทหารอังกฤษ 136 ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2488 กองทัพแห่งชาติพม่าได้สนับสนุนการก่อกบฏต่อต้านญี่ปุ่นทั่วประเทศ ทำให้วันที่ 27 มีนาคมกลายเป็นวันต่อต้านก่อนจะกลายเป็นวันกองทัพในเวลาต่อมา อองซานได้ไปเจรจากับนายพลเมาท์แบตแทนเพื่อเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ญี่ปุ่นได้ถอนกำลังออกจากพม่าส่วนใหญ่ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2485

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 Martin Smith (1991). Burma - Insurgency and the Politics of Ethnicity. London and New Jersey: Zed Books. pp. 49, 91, 50, 53, 54, 56, 57, 58–59, 60, 61, 60, 66, 65, 68, 69, 77, 78, 64, 70, 103, 92, 120, 176, 168–169, 177, 178, 180, 186, 195–197, 193, , 202, 204, 199, 200, 270, 269, 275–276, 292–3, 318–320, 25, 24, 1, 4–16, 365, 375–377, 414.
  2. Robert H. Taylor (1987). The state in Burma. C. Hurst & Co. Publishers. p. 284.

ดูเพิ่ม แก้