การฉ้อโกงบัตรเครดิต

การฉ้อโกงบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (อังกฤษ: electronic card fraud) เป็นคำที่กินความหมายกว้าง โดยหมายถึงการลักทรัพย์และการฉ้อโกงที่กระทำโดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเครดิต หรือสิ่งอื่นใดซึ่งใช้ชำระหนี้ในทำนองเดียวกัน เป็นเครื่องมือให้ได้มาซึ่งเงินจากธุรกรรมหรือบัญชีของผู้อื่น หรือซึ่งสินค้าและบริการโดยไม่ต้องชำระค่าใช้จ่าย การฉ้อโกงบัตรอิเล็กทรอนิกส์นี้เป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมที่เรียกว่า "การขโมยเอกลักษณ์" (อังกฤษ: identity theft)

สมาคมการชำระหนี้แห่งสหราชอาณาจักร (อังกฤษ: UK Payments Association) รายงานว่า การฉ้อโกงบัตรอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าต่อปีสูงหลายพันล้านดอลลาร์ และใน พ.ศ. 2549 การฉ้อโกงทำนองนี้ในสหราชอาณาจักรแต่แห่งเดียวกินมูลค่าสี่ร้อยยี่สิบแปดล้านยูโร[1]

ประวัติ แก้

สันนิษฐานว่าการฉ้อโกงบัตรอิเล็กทรอนิกส์เริ่มขึ้นพร้อม ๆ กับอาชญากรรมการขโมยบัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นใบ ๆ และการนำข้อมูลที่ได้จากการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ระแวดระวังของผู้ถือบัตรไปใช้ในทางมิชอบ เช่น เสมียนแอบคัดลอกใบเสร็จของลูกค้าไปใช้ นอกจากนี้ ความที่การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์มีความสุ่มเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับอาชญากรไซเบอร์มากขึ้น และส่งผลให้การวางระบบรักษาความปลอดภัยให้แก่ข้อมูลดังกล่าวต้องเสียค่าใช้จ่ายหลายแสนหลายล้านก็มี[2] สำหรับการขโมยบัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นใบ ๆ นั้น ผู้ถือบัตรสามารถรายงานผู้เกี่ยวข้องได้ทันที แต่กรณีการนำข้อมูลที่ได้จากการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ระแวดระวังของผู้ถือบัตรไปใช้ในทางมิชอบนั้น คนร้ายอาจเก็บข้อมูลไว้หลายสัปดาห์หรือนานกว่านั้นแล้วจึงค่อยนำออกมาใช้ ทำให้การระบุแหล่งที่ข้อมูลรรั่วไหลออกไปกระทำได้ยาก นอกจากนี้ ผู้ถือบัตรยังอาจไม่รู้ตัวว่าข้อมูลถูกขโมยไปใช้ต่อเมื่อมีใบเสร็จเรียกเก็บค่าบริการส่งมาถึง

ประเทศไทย แก้

สำหรับประเทศไทย การฉ้อโกงบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไม่พบสถิติว่ามีมากน้อยเพียงไร และเริ่มมีเมื่อไรอย่างไร เพราะเป็นเรื่องใหม่มาก

โดยกรณีเด่น คือ เมื่อวันที่ 6-8 มีนาคม 2552 พ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดอวยชัย หมู่ 4 ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และพื้นที่ใกล้เคียง พากันไปกดเงินจากเครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (เอทีเอ็ม) ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แต่ปรากฏว่าเงินในบัญชีพวกตนสูญหายไปเหลือเพียงเศษสตางค์ไม่กี่บาท จึงเข้าแจ้งความต่อสถานีตำรวจภูธรหลังสวน เบื้องต้นมีเจ้าทุกข์ทั้งหมดยี่สิบราย รวมยอดเงินที่สูญหายกว่าสามล้านบาท ต่อมา ตำรวจนำภาพจากกล้องวงจรปิดในจุดเกิดเหตุมาตรวจสอบ พบรูปพรรณสัณฐานคนร้ายลักษณะเป็นชาวจีน แต่ไม่มีประวัติในแฟ้มอาชญากรชาวไทย จึงประสานตรวจสอบแฟ้มประวัติคนร้ายของประเทศเพื่อนบ้านพบว่ามีลักษณะคล้ายคนร้ายแก๊งหนึ่ง และจากการตรวจสอบทะเบียนรถเก๋งที่จอดใกล้ตู้เอทีเอ็มซึ่งกล้องวงจรปิดบันทึกภาพไว้ได้ พบว่าเป็นรถเช่าในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จึงประสานไปยังนายสาโรจน์ โหยบทรัพย์ อายุสี่สิบสองปี เจ้าของรถให้เช่า เบื้องต้นทราบว่ามีลูกค้ามาเช่ารถเมื่อต้นเดือนมีนาคม และกำหนดส่งคืนรถวันที่ 8 มีนาคม จึงนำกำลังติดตามไปจับกุมผู้ต้องหาไว้ได้ขณะนำรถมาส่งคืน

สอบสวนนายเตียว เก๊ก หลิง ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ร่วมกับนายโก ชิน เฮง เพื่อนร่วมแก๊งชาวมาเลเซียที่หลบหนีไปได้ นำอุปกรณ์เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่า "แจมมิ่ง" ซึ่งพัฒนาจาก "สกิมมิ่ง" (ดู การลอกข้อมูลบัตร) เดินทางจากประเทศมาเลเซียมาเช่ารถยนต์ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตระเวนไปก่อเหตุที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ตลอดจนจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดเพชรบุรี กระทำโดยใช้เครื่องลอกข้อมูลซึ่งมีความสามารถลอกข้อมูลจากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปเก็บไว้จัดทำเป็นบัตรปลอมออกใช้ต่อไป เสร็จแล้วจะตรวจสอบว่าเหยื่อมีเงินในบัญชีเท่าไร รายใดมีมากก็โอนเงินเข้าบัญชีที่จังหวัดสงขลา แล้วโอนต่อไปไว้ในบัญชีเพื่อนร่วมแก๊งที่ประเทศมาเลเซีย จึงค่อยกลับไปแบ่งเงินกัน ทำมาแล้วหลายครั้ง ได้เงินไปไม่ต่ำกว่าสี่สิบล้านบาท หลังก่อเหตุพาเพื่อนร่วมแก๊งกลับไปส่งที่มาเลเซียก่อนย้อนกลับมาส่งคืนรถเช่ากระทั่งถูกตำรวจรวบตัว

นอกจากนี้ พันตำรวจเองสุพจน์ บุญชูดวง ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหลังสวน ยังแถลงว่า สำหรับนายเตียว เก๊ก หลิง ผู้ต้องหา หลังถูกจับกุมพยายามยัดสินบนเป็นเงินสดหนึ่งล้านสองแสนบาทให้ตำรวจเพื่อแลกกับการปล่อยตัว โดยผู้ต้องหาได้ติดต่อไปยังเพื่อนร่วมแก๊งที่มาเลเซียโอนเงินสินบนดังกล่าวมาให้ ตำรวจจึงยึดไว้เป็นหลักฐาน แจ้งข้อหาร่วมกันมีเครื่องมือหรือวัตถุสำหรับปลอมหรือแปลงหรือสำหรับให้ได้ข้อมูลในการปลอมแปลงบัตรอิเล็กทรอนิกส์, ร่วมกันปลอมและใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม, ร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ, และให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่[3]

การขโมยบัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นใบ ๆ แก้

บัตรอิเล็กทรอนิกส์โดยมากแล้ว เมื่อหายหรือถูกขโมยก็ยังคงใช้การได้อยู่จนกว่าผู้ถือบัตรจะรายงานองค์กรที่ออกบัตรหรือผู้เกี่ยวข้อง เช่น บัตรกดเงินสดก็รายงานธนาคารที่ออกบัตรไม่ว่าสาขาไหนก็ได้ เป็นต้น องค์กรที่ออกบัตรอิเล็กทรอนิกส์มักมีบริการโทรศัพท์สายด่วนที่เปิดรับแจ้งเหตุดังกล่าวตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กระนั้น คนร้ายก็ยังสามารถใช้บัตรที่ขโมยมาได้จนกว่าบัตรจะถูกยกเลิกหรืออายัด เชื่อได้ว่าหากไม่มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยแล้ว ย่อมเป็นการง่ายที่คนร้ายจะใช้บัตรที่ขโมยไปซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้มากถึงหลายหมื่นหลายแสนบาท ก่อนที่ผู้ถือบัตรหรือองค์กรที่ออกบัตรจะสำเหนียกได้ว่าบัตรนั้นตกไปอยู่ในมือคนฉ้อฉลเสียแล้ว

การนำข้อมูลที่ได้จากการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ระแวดระวังของผู้ถือบัตรไปใช้ในทางมิชอบ แก้

การฉ้อโกงทางอินเทอร์เน็ต แก้

การเข้าครอบงำบัญชี แก้

การลอกข้อมูลบัตร แก้

การลอกข้อมูลบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (อังกฤษ: skimming) คือ การลอกข้อมูลจากบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการใช้ในธุรกรรมอันชอบด้วยกฎหมาย การฉ้อโกงประเภทนี้มักกระทำโดยลูกจ้างที่คิดไม่ซื่อต่อนายจ้างของตน

การแปลงข้อมูลบัตร แก้

ส่วนได้ ส่วนเสีย และโทษทัณฑ์ แก้

ส่วนเสีย แก้

บริษัทบัตรอิเล็กทรอนิกส์ แก้

ผู้ค้า แก้

อาชญากร แก้

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. The UK Payments Association. (2007). Fraud: the facts. [Online]. Available: <http://www.apacs.org.uk/resources_publications/documents/FraudtheFacts2007.pdf เก็บถาวร 2008-07-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (Accessed: 10 March 2009).
  2. Court filings double estimate of TJX breach. (2007). [Online]. Available: <http://www.securityfocus.com/news/11493 เก็บถาวร 2012-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (Accessed: 10 March 2008).
  3. ไทยรัฐ. (2552, 10 มีนาคม). โจรดูดเอทีเอ็ม เหิมยัดเงินตร. 1.2 ล้านแลกอิสระ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <http://www.thairath.co.th/offline.php?section=hotnews&content=127030>. (เข้าถึงเมื่อ: 10 มีนาคม 2552).

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

เว็บรายงานการฉ้อโกงบัตรเครดิต แก้

ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับการฉ้อโกง แก้