กลยุทธ์ล้อมเวยช่วยจ้าว

กลยุทธ์ล้อมเวยช่วยจ้าว หรือ เหวยเว่ยจิ้วจ้าว (อังกฤษ: Besiege Wèi to rescue Zhào; จีนตัวย่อ: 围魏救赵; จีนตัวเต็ม: 圍魏救趙; พินอิน: Wéi Wèi jiù Zhào) เป็นหนึ่งในกลศึกสามก๊ก กลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ศัตรูรวบรวมกำลังทหารและไพร่พลไว้เป็นจุดศูนย์กลาง ทำให้เกิดกำลังและความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น ควรที่จะใช้กลยุทธ์ในการดึงแยกศัตรูให้แตกออกจากกัน เพื่อให้กำลังไพร่พลทหารกระจัดกระจาย คอยระแวดระวังมีความห่วงหน้าพะวงหลังแล้วจึงบุกเข้าโจมตี ตามความหมายของตำราพิชัยสงครามคือ การบุกเข้าโจมตีในจุดที่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย โจมตีในจุดที่ศัตรูไม่ได้เตรียมการตั้งรับและคอยระวังป้องกัน ย่อมถือว่าได้เปรียบและได้รับชัยชนะมาแล้วครึ่งหนึ่ง

กลยุทธ์ล้อมเวยช่วยจ้าว
ผู้วางกลศึกซุนปิน
ผู้ต้องกลศึกผังเจวียน
ประเภทกลยุทธ์ชนะศึก
หลักการโจมตีในจุดที่ศัตรูต้องปัองกัน
สถานที่นครต้าเหลียน
ผลลัพธ์ทัพเว่ยถอนทัพที่ล้อมรัฐจ้าวกลับรัฐเว่ย

ในการทำศึกสงคราม การบุกเข้าโจมตีศัตรูจะบุกเข้าทางด้านหน้า ซึ่งเป็นเพียงกลอุบายหลอกล่อให้ศัตรูหลงทิศและนำกำลังบุกเข้าโจมตีทางด้านหลัง การแสร้งบุกโจมตีทางด้านตะวันออกแต่จริงแล้วบุกเข้าโจมตีทางด้านตะวันตก การทำให้ศัตรูคาดเดาแผนการรบไม่ถูก ทำให้เกิดความสับสนในการวางกำลังป้องกันฐานทัพ พึงหักเอาในขณะที่ศัตรูเป็นฝ่ายที่ไม่ได้เตรียมความพร้อม เข้าจู่โจมในยามที่ศัตรูไม่ได้คาดคิด ตำราพิชัยสงครามกล่าวไว้ว่า "เมื่อเห็นจุดอ่อนเปราะของศัตรู เราต้องใช้กลยุทธ์พิสดารโจมตี"[1] ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ล้อมเวยช่วยจ้าวไปใช้ได้แก่จูกัดเหลียงที่หลอกให้โจโฉนำทัพไปรบกับซุนกวน และบุกเข้ายึดฮันต๋งจากโจโฉได้สำเร็จ[2]

ตัวอย่างกลยุทธ์ แก้

เมื่อคราวที่โจโฉยกทัพไปตีฮันต๋งได้สำเร็จ กิตติศัพท์ความเก่งกาจสามารถของโจโฉก็เลื่องลือกระฉ่อนมาถึงเสฉวน ในขณะนั้นเล่าปี่พึ่งจะเข้ายึดครองเสฉวนได้ไม่นาน ราษฏรภายใต้การปกครองพากันหวาดกลัวโจโฉ เกรงจะต้องเสียเสฉวนให้แก่โจโฉสืบต่อไป บ้านเมืองยังไม่ปกติและมีความเข้มแข็ง เล่าปี่จึงปรึกษากับจูกัดเหลียงเพื่อหาทางแก้ไขความหวาดกลัวของราษฏร จูกัดเหลียงจึงวางกลอุบายไม่ให้โจโฉยกทัพมาตีเสฉวนและอธิบายให้เล่าปี่เข้าใจว่า "โจโฉนั้นยังกริ่งเกรงซุนกวนอยู่ จึงให้แฮหัวตุ้นกับเตียวเลี้ยวอยู่รักษาหับป๋า เมื่อโจโฉยกมาตีฮันต๋งก็เอาแฮหัวตุ้นมาด้วย ขอให้แต่งผู้มีสติปัญญาไปว่ากล่าวแก่ซุนกวนว่า ท่านจะให้กังแฮ เตียงสา ฮุยเอี๋ยง แล้วยุยงให้ซุนกวนยกมาตีหับป๋า โจโฉรู้ก็จะเป็นกังวลเลิกทัพกลับไป"[3]

เล่าปี่จึงมอบหมายให้อีเจี้ยไปเป็นทูตชี้แจงข้อเสนอต่อซุนกวน ซึ่งซุนกวนเห็นดีงามด้วยกับข้อเสนอของเล่าปี่ จึงนำทัพยกไปตีหับป๋า โจโฉเมื่อทราบเรื่องการบุกหับป๋าก็ตกใจรีบเลิกทัพจากฮันต๋งกลับไปเตรียมรับมือซุนกวนแทน เลิกล้มแผนการที่จะไปตีเสฉวนของเล่าปี่ ทัพของโจโฉและซุนกวนทำศึกสงครามอยู่นานก็ไม่สามารถเอาชนะกันได้ จนกระทั่งยอมเลิกทัพกันไปเอง เล่าปี่จึงมีโอกาสสะสมกำลังทหารของตนเองและยกทัพไปตีฮันต๋งในเวลาต่อมา กลยุทธ์ล้อมเวยช่วยจ้าวหรือเหวยเวยจิ้วจ้าวของจูกัดเหลียง ก็ประสบความสำเร็จในปกป้องเสฉวนของเล่าปี่และสามารถนำทัพไปตีฮันต๋งได้อย่างงดงาม

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. พิสดารเหนือความคาดหมาย, สงครามสามก๊ก กลยุทธ์พลิกสถานการณ์, ทองแถม นาถจำนง, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 13, ISBN 978-974-9761-34-2
  2. เหวยเวยจิ้วจ้าว กลยุทธ์ล้อมเวยช่วยเจ้า, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 213, ISBN 978-974-690-595-4
  3. จูกัดเหลียงออกอุบายรักษาเมืองเสฉวน,สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) , เจ้าพระยาพระคลัง (หน) , สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544

แหล่งข้อมูลอื่น แก้