กลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเล

กลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเล หรือ หมานเทียนกว้อไห่ (อังกฤษ: Deceive the heavens to cross the ocean; จีนตัวย่อ: 瞒天过海; จีนตัวเต็ม: 瞞天過海; พินอิน: Mán tiān guò hǎi) เป็นหนึ่งในกลศึกสามก๊ก กลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่คิดหรือมองข้ามสิ่งใด ๆ ก็ตาม ที่คิดว่าตนเองนั้นได้ตระเตรียมการไว้พร้อมสรรพแล้ว ก็มักจะมีความประมาทเลินเล่อและมองข้ามศัตรูไปอย่างง่ายดาย พบเห็นสิ่งใดที่มองเห็นเสมอในยามปกติก็ไม่บังเกิดความสงสัยหรือติดใจในสิ่งนั้น เกิดความชะล่าใจในตนเอง การบุกเข้าโจมตีศัตรูโดยที่ศัตรูไม่ทันรู้ตัวและตั้งระวังทัพได้ทันนับว่าเป็นการได้ชัยชนะในการต่อสู้มาแล้วครึ่งหนึ่ง สามารถเอาชนะได้อย่างง่ายดาย การปกปิดอำพรางซ่อนเร้น จึงเป็นกลยุทธ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดในการทำศึกสงคราม[1]

กลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเล
ผู้วางกลศึกลิบอง, ลกซุน
ผู้ต้องกลศึกกวนอู
ผู้ร่วมกลศึกซุนกวน
ประเภทกลยุทธ์ชนะศึก
หลักการล่อหลอกศัตรูให้ตายใจ ชิงมาให้ได้ซึ่งชัยชนะ
สาเหตุซุนกวนเมื่อเสียเกงจิ๋วและเสียรู้ให้แก่จูกัดเหลียงก็โกรธแค้น จึงส่งกองทัพมาหมายจะยึดเอาเกงจิ๋วคืนเป็นของตน
สถานที่ด่านลกเค้าถึงเกงจิ๋ว
ผลลัพธ์กวนอูเสียเกงจิ๋วให้แก่ซุนกวน
กลศึกถัดไปกลยุทธ์ล้อมเวยช่วยจ้าว

มรรควิถีแห่งการใช้ยุทธวิธีในการต่อสู้กับศัตรูที่แข็งแกร่งกว่า เมื่อเผชิญหน้ากับศัตรูที่เข้มแข็งกว่าควรใช้วิธี "นบน้อมถ่อมตน" ปฏิบัติตนอย่างนอบน้อมทำให้ศัตรูเกิดความเหลิงลำพอง หย่อนคลายความระมัดระวัง แล้วจงรอคอยจนกระทั่งได้จังหวะและโอกาสเหมาะสมจึงรุกเข้าโจมตีให้พินาศย่อยยับ ตำราพิชัยสงครามซุนวูกล่าวไว้ว่า "พึงถ่อมตัวพินอบพิเทาเสริมให้ศัตรูโอหังได้ใจ"[2] ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเลไปใช้ได้แก่ลิบองที่ปลอมตนเป็นพ่อค้าเดินเรือสำเภา ลอบบุกเข้าโจมตีเกงจิ๋วโดยที่กวนอูไม่รู้ตัวแม้แต่น้อย[3]

ตัวอย่างกลยุทธ์

แก้

เมื่อคราวที่จูกัดเหลียงวางกลอุบายยึดเอาเกงจิ๋วจากซุนกวนมาให้เล่าปี่ ได้มอบหมายให้กวนอูเป็นผู้รักษาเมือง มีหน้าที่คอยสอดส่องตรวจตราดูแลและรักษาเกงจิ๋วไว้ ซุนกวนเมื่อเสียเกงจิ๋วและเสียรู้ให้แก่จูกัดเหลียงก็โกรธแค้น จึงส่งกองทัพมาหมายจะยึดเอาเกงจิ๋วคืนเป็นของตนโดยมอบหมายให้ลิบองเป็นแม่ทัพ คุมทหารพันนายจากกังตั๋งไปเผชิญหน้ากับกวนอูที่ลกเค้าซึ่งเป็นเขตแดนติดต่อกัน ขณะนั้นกวนอูนำทัพยกไปตีซงหยงได้สำเร็จก็เกิดความระแวงลิบองที่ตั้งทัพเผชิญหน้ากัน เกรงลิบองจะนำกำลังทหารเข้ายึดเกงจิ๋วคืน จึงสั่งการให้ทหารปลูกร้านเพลิงเรียงรายตามริมฝั่งแม่น้ำเริ่มจากด่านลกเค้าเรื่อยมาจนถึงเกงจิ๋ว ระยะทางให้มีความห่างไกลกันประมาณสองร้อยถึงสามร้อยเส้น พร้อมสั่งให้คนอยู่ดูแลรักษามิได้ขาด[4]

กวนอูสั่งการให้ทหารอยู่ประจำจุดรักษาร้านเพลิงจุดละห้าสิบคน ถ้าแม้นลิบองนำทัพเข้ายึดเกงจิ๋วในตอนกลางคืนให้จุดเพลิงให้สว่าง ถ้าแม้นนำทัพมาตอนกลางวันให้สุมจนเกิดควันขึ้น ควันจากเพลิงจะเป็นสัญญาณให้กวนอูนำทัพกลับมาช่วยได้ทัน กวนอูคุมหารบุกตีฝ่าไปจนถึงอ้วนเสียและฆ่าบังเต๊กนายทหารของโจโฉตาย สุมาอี้จึงออกกลอุบายในการศึกแก่ซุนกวนให้นำทัพไปเพื่อยึดตีเกงจิ๋วคืน ลิบองที่ตั้งทัพเผชิญหน้ากวนอูรู้ถึงการที่กวนอูจัดตั้งทัพระวังเมืองอย่างรัดกุมและเข้มแข็ง จึงหาโอกาสบุกเข้ายึดเกงจิ๋วคืนโดยวางกลอุบายแสร้งทำเป็นป่วยไข้อย่างหนักจนไม่สามารถนำทัพได้

ซุนกวนทราบข่าวลิบองล้มป่วยก็ไม่สบายใจ ลกซุนจึงกล่าวแก่ซุนกวนว่า "ซึ่งลิบองป่วยนั้นเป็นอุบาย เห็นหาป่วยจริงไม่"[5] ซุนกวนจึงให้ลกซุนทำทีไปเยี่ยมดูอาการป่วยของลิบองเพื่อให้รู้แน่นอนว่าเป็นกลอุบาย ครั้นรู้แจ้งว่าลิบองแกล้งป่วยจากการที่กวนอูตระเตรียมทหาร ปลูกร้านเพลิงรายตามแม่น้ำ ป้องกันบ้านเมืองเป็นมั่นคง ลกซุนก็แสร้งหัวเราะพร้อมกับออกอุบายให้แก่ลิบองในการยึดครองเกงจิ๋วว่า "ซึ่งเมืองเกงจิ๋วตระเตรียมทหารแลจัดแจงเมืองไว้ทั้งนี้ เพราะกวนอูคิดวิตกอยู่ด้วยท่านมาตั้งอยู่ที่นี่จึงไม่ไว้ใจ ถ้าท่านรู้อุบายทำเป็นป่วยไปเสียจากที่นี้แลจัดแจงให้ผู้อื่นมาอยู่แทน แล้วให้พูดสรรเสริญกวนอู กวนอูก็จะทะนงใจจะอยู่รบเอาเมืองอ้วนเซียให้ได้ ไม่คิดระวังหลัง เราจึงคิดวกไปตีเอาเมืองเกงจิ๋วก็จะได้โดยง่าย"[6] ลิบองได้ยินกลอุบายของลกซุนก็ดีใจ จึงแสร้งทำป่วยต่อไปและขอให้ซุนกวนแต่งตั้งลกซุนเป็นแม่ทัพดูแลกองทัพแทนตน

เมื่อลกซุนที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่ทัพแทนลิบองเดินทางมาถึงกองทัพ ก็มอบหมายให้ม้าใช้ถือหนังสือและแต่งเครื่องบรรณาการไปขอผูกมิตรไมตรีต่อกวนอูความว่า "บัดนี้ซุนกวนให้ข้าพเจ้าออกมารักษาค่ายลกเค้าแทนลิบอง ข้าพเจ้าขัดมิได้ก็ออกมาอยู่ ขอท่านจงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพเจ้าด้วย"[7] กวนอูเห็นลกซุนได้รับแต่งตั้งเป็นแม่ทัพแทนลิบอง จึงถามผู้ถือหนังสือว่า "ลิบองซึ่งรักษาอยู่ก่อนนั้นไปไหนเล่า" ผู้ถือหนังสือจึงตอบว่า "ลิบองนั้นป่วยอยู่ จึงให้ลกซุนออกมารักษาแทน" กวนอูจึงกล่าวแก่ผู้ถือหนังสือว่า "ซุนกวนนี้ก็เป็นคนดี เหตุไฉนจึงใช้ให้ลูกเด็กออกมาอยู่ดังนี้" ผู้ถือหนังสือจึงว่า "ลกซุนให้ข้าพเจ้าถือหนังสือกับสิ่งของทั้งปวงมาคำนับท่าน จะให้ท่านทั้งสองฝ่ายเป็นไมตรีแก่กัน ขอท่านได้รับเอาสิ่งของทั้งนี้ไว้ด้วยเถิด"[7]

กวนอูนั้นเป็นผู้ที่หยิ่งต่อผู้ที่เข้มแข็งกว่าตนเอง รวมทั้งไม่ทำร้ายผู้ที่อ่อนแอกว่า เห็นว่าลกซุนอายุยังน้อยรวมทั้งมีความอ่อนน้อมถ่อม มีสัมมาคาราวะในตนก็นึกประมาท ไม่ติดใจสงสัยในตัวลกซุนที่แต่งเครื่องบรรณาการมาขอผูกมิตรไมตรีรวมทั้งเลิกระแวงทหารจากกังตั๋งที่จะบุกเข้ายึดเกงจิ๋ว ทำให้การป้องกันรักษาเกงจิ๋วที่รัดกุมและแข็งแกร่งเกิดการหละหลวม ลิบองที่แสร้งป่วยจนไม่สามารถนำทัพได้สบโอกาสยึดเกงจิ๋วคืน จึงจัดแจงนำกำลังทหารสามหมื่นลงซุ่มไว้ในเรือแปดสิบลำ ให้ทหารซึ่งชำนาญในการเรือใส่เสื้อขาว ทำเป็นเพศลูกค้าสำหรับแจวเรือ จึงให้ฮันต๋ง จิวท่าย เจียวขิม จูเหียน พัวเจี้ยง ชีเซ่งและเตงฮองเป็นนายทหารเจ็ดคน ตนเองปลอมตัวเป็นพ่อค้าและนำทัพเข้ายึดร้านเพลิงทีละแห่ง จากด่านลกเค้าจนถึงเกงจิ๋วโดยที่ไม่มีผู้ใดรู้ตัวแม้แต่คนเดียว[8]

ทหารลิบองแสร้งทำเป็นลูกค้าเรือสำเภาถูกพายุซัดเข้ามา ทำทีขออาศัยร้านเพลิงเพื่อหลบพัก ทหารซึ่งรักษาร้านเพลิงก็หลงเชื่อจึงให้จอดเรืออาศัย ครั้นถึงเวลาประมาณทุ่มเทษ ลิบองจึงสั่งการให้ทหารในเรือสำเภาล้อมจับทหารซึ่งรักษาร้านเพลิงลงเรือสิ้นทุกร้าน และปลอบเอาใจทหารกวนอูซึ่งจับมาแต่ร้านเพลิงนั่นว่า "ท่านจงอยู่ทำราชการศึกด้วยเราเถิด เราจะปูนบำเหน็จแก่ท่านให้ถึงขนาด"[9] ลิบองออกอุบายเกลี้ยกล่อมทหารกวนอูที่ถูกควบคุมตัวเป็นเชลยให้ร้องเรียกเพื่อนทหารที่อยู่ภายในเกงจิ๋วเพื่อเปิดประตูให้ ทหารกวนอูไม่ทันระวังและไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะกลายเป็นทหารของศัตรูจึงยอมเปิดประตูรับ ลิบองจึงนำทัพเข้ายึดเกงจิ๋วคืนอย่างง่ายดาย ทำให้กวนอูต้องกลอุบายของลิบองและลกซุนจนเสียเกงจิ๋วให้แก่ลิบองด้วยความประมาทและชะล่าใจในการป้องกันรักษาเมือง กลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเลหรือหมานเทียนกว้อไห่ของลิบอง ก็ประสบความสำเร็จในการยึดเอาเกงจิ๋วคืนให้แก่ซุนกวนและเอาชนะกวนอูได้อย่างงดงาม

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. บังฟ้าข้ามสมุทร, 36 กลยุทธ์ผู้นำ, หวางซวนหมิง ผู้แต่ง, อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ ผู้แปล, พ.ศ. 2537, ISBN 974-602-172-9
  2. ยกยอให้เย่อหยิ่ง, สงครามสามก๊ก กลยุทธ์พลิกสถานการณ์, ทองแถม นาถจำนง, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 85, ISBN 978-974-9761-34-2
  3. หมานเทียนกว้อไห่ กลยุทธ์ปิดฟ้าข้ามทะเล, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 212, ISBN 978-974-690-595-4
  4. โจโฉยุให้ซุนกวนตีเมืองเกงจิ๋ว, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 294
  5. ลกซุนเท่าทันกลอุบายแสร้งป่วยของลิบอง, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 295
  6. ลกซุนวางแผนการยึดครองเกงจิ๋ว, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 295
  7. 7.0 7.1 ลกซุนแต่งหนังสือและเครื่องบรรณาการถึงกวนอู, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 296
  8. กวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ, สามก๊ก ฉบับวณิพก, ยาขอบ, สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา, พ.ศ. 2529, หน้า 402
  9. ลิบองยึดร้านเพลิงและเกงจิ๋ว, สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เล่ม 2, เจ้าพระยาพระคลัง (หน), สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร, พ.ศ. 2544, หน้า 298

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้