กลยุทธ์ตีชิงตามไฟ

กลยุทธ์ตีชิงตามไฟ หรือ เชิ่นหว่อต่าเจี๋ย (อังกฤษ: Loot a burning house; จีน: 趁火打劫; พินอิน: Chèn huǒ dǎ jié) เป็นหนึ่งในกลศึกสามก๊ก กลยุทธ์ที่มีความหมายถึงการที่ศัตรูยังอยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนแอและย่ำแย่ ควรรีบฉกฉวยโอกาสนำทัพเข้าโจมตีเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ หรือมอบหมายให้แม่ทัพหรือทหารที่มีความเข้มแข็งนำทัพเข้าโจมตี ซึ่งเป็นการฉกฉวยเอาผลประโยชน์จากเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงและยุ่งเหยิง นำความดีความชอบมาเป็นของตน[1] ตัวอย่างการนำเอากลยุทธ์ตีชิงตามไฟไปใช้ได้แก่ตั๋งโต๊ะที่ฉกฉวยโอกาสยึดเอาเมืองหลวงและราชสำนักของพระเจ้าหองจูเปียนมาเป็นของตน และแต่งตั้งตนเองเป็นมหาอุปราชและเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าเหี้ยนเต้[2]

กลยุทธ์ตีชิงตามไฟ
ผู้วางกลศึกตั๋งโต๊ะ
ผู้ต้องกลศึกพระเจ้าหองจูเหียบ
ผู้ร่วมกลศึกลิโป้, ลิยู
ประเภทกลยุทธ์ชนะศึก
หลักการฉวยโอกาสซ้ำเติมศัตรูยามเสียเปรียบ
สาเหตุตั๋งโต๊ะซึ่งมีจิตใจหยาบช้าและเต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน มองเห็นโอกาสที่จะฉกฉวยแย่งชิงเอาราชสมบัติมาเป็นของตน
สถานที่วังหลวง
ผลลัพธ์ตั๋งโต๊ะเข้ายึดอำนาจมาเป็นของตน
กลศึกก่อนหน้ากลยุทธ์รอซ้ำยามเปลี้ย
กลศึกถัดไปกลยุทธ์ส่งเสียงบูรพาฝ่าตีประจิม

ตัวอย่างกลยุทธ์ แก้

เมื่อพระเจ้าฮั่นเลนเต้สวรรคต เกิดการแย่งชิงราชสมบัติและการสืบทอดรัชทายาทระหว่างหองจูเหียบและหองจูเปียน โฮจิ๋นซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระนางโฮเฮา พระมารดาของหองจูเปียน ได้คิดแต่งตั้งหองจูเปียนขึ้นเป็นองค์รัชทายาทสืบทอดราชสมบัติต่อจากพระเจ้าฮั่นเลนเต้ แต่เกิดการกบฏจากเหล่าสิบขันทีที่คิดจะแต่งตั้งหองจูเหียบขึ้นเป็นองค์รัชทายาทแทนและวางแผนลอบฆ่าโฮจิ๋น ราชสำนักเกิดความวุ่นวายจากเหล่าขันที บ้านเมืองโกลาหลระส่ำระสาย แผนการลอบฆ่าโฮจิ๋นเกิดการรั่วไหล โฮจิ๋นจึงนำกำลังทหารบุกเข้าวังหลวงเพื่อกำจัดเหล่าขันที

เหล่าขันทีทั้งสิบพากันหลบหนีไปพึ่งพระนางโฮเฮาให้ไว้ชีวิต ทำให้โฮจิ๋นไม่สามารถกำจัดขันทีได้สำเร็จและกลายเป็นเสี้ยนหนามอยู่ตลอดเวลา จึงวางแผนลอบส่งสาส์นไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ให้นำทัพมากำจัดขันทีทั้งสิบ ตั๋งโต๊ะซึ่งมีจิตใจหยาบช้าและเต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน มองเห็นโอกาสที่จะฉกฉวยแย่งชิงเอาราชสมบัติมาเป็นของตนจึงรีบนำทัพเข้าวังหลวง ขันทีทั้งสิบทราบแผนการของโฮจิ๋นจึงลวงเข้าวังหลวงเพื่อฆ่าทิ้ง อ้วนเสี้ยวและโจโฉซึ่งเป็นนายทหารของโฮจิ๋นพากันโกรธแค้นจึงนำทัพทหารบุกเข้าวังหลวงหวังฆ่าเหล่าขันทีทั้งสิบ เกิดเหตุการณ์วุ่นวายโกลาหลไปทั่ว ขันทีทั้งสิบต่างพากันหลบหนีเพื่อเอาชีวิตรอดโดยอุ้มพระราชบุตรทั้งสองลอบหนีออกจากวังหลวง

ระหว่างทางหลบหนีเข้าป่า เหล่าขันทีพบตั๋งโต๊ะตั้งทัพอยู่จึงเชิญเข้าวังหลวง ตั๋งโต๊ะรีบฉกฉวยโอกาสในขณะที่วังหลวงกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่วุ่นวาย นำกำลังทหารเข้ายึดครองอำนาจเป็นของตน สั่งถอดพระเจ้าหองจูเปียนจากตำแหน่งจักรพรรดิและสั่งประหารชีวิต ก่อนจะแต่งตั้งพระเจ้าหองจูเหียบขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน และแต่งตั้งตนเองเป็นมหาอุปราชและเป็นบิดาบุญธรรมของพระเจ้าหองจูเหียบ กลยุทธ์ตีชิงตามไฟหรือเชิ่นหว่อต่าเจี๋ยของตั๋งโต๊ะที่ฉกฉวยโอกาสที่ราชสำนักเกิดความวุ่นวายในการแย่งชิงอำนาจ ก็ประสบความสำเร็จในการเข้ายึดครองอำนาจและราชสำนักมาเป็นของตนเองไว้ได้อย่างงดงาม

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. ไฟไหม้ปล้นซ้ำ, 36 กลยุทธ์ผู้นำ, หวางซวนหมิง ผู้แต่ง, อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ ผู้แปล, พ.ศ. 2537, ISBN 974-602-172-9
  2. เชิ่นหว่อต่าเจี๋ย กลยุทธ์ตีชิงตามไฟ, 36 กลยุทธ์ในสามก๊ก-อินไซด์สามก๊ก, กัญจน์ดามาศ โกพล, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, พ.ศ. 2550, หน้า 216, ISBN 978-974-690-595-4

แหล่งข้อมูลอื่น แก้