กรมประชาธิปไตย (เขมร: ក្រុមប្រជាធិបតេយ្យ กฺรุมบฺรชาธิบเตยฺย; อังกฤษ: Democratic Party) เป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในกัมพูชาช่วงก่อนได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2489 โดยพระสีสุวัตถิ์ ยุทธวงศ์ ที่เคยเป็นสมาชิกของสมาคมกรรกรนานาชาติสาขาฝรั่งเศส คำขวัญของพรรคคือ "สันติภาพ เอกราช ความมีวินัย และกล้าหาญ" สัญลักษณ์ของพรรคเป็นรูปหัวช้างและดอกบัวสามดอก[1] พรรคนี้เป็นคนละพรรคกับพรรคประชาธิปไตยเขมรที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2541

ในยุคอาณานิคม

แก้

การเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส เกิดขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2489 กรมประชาธิปไตยได้ 50 จาก 67 ที่นั่ง และเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมต่อมาในกัมพูชาอีกหลายปี แม้ว่าเจ้ายุทธวงศ์จะสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2490 กรมประชาธิปไตยซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพรรคเสรีภาพของพระนโรดม นรินทเดช และกรมประชาธิปไตยก้าวหน้าของพระนโรดม มนตนะ ได้เรียกร้องเอกราชโดยจะใช้ประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส ทั้งนี้ พรรคนี้ยังกล่าวว่ากลุ่มเขมรอิสระที่ไทยสนับสนุนเป็นกลุ่มผู้รักชาติ ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจ[2]

ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2490 พรรคนี้มีสมาชิกใหม่ เช่น ลต ซอ (ต่อมาคือพล พต) เอียง ซารี อิน ตัม และฮู นิม การลาออกไปของ เยม ซัมบัวร์ และส.ส. อีกหลายคนเพื่อไปร่วมกับพรรคเสรีภาพใน พ.ศ. 2491 และการลอบฆ่าหัวหน้ากรมประชาธิปไตย เอียว โกเอียสใน พ.ศ. 2493 ทำให้เกิดความแตกแยกในพรรค แต่ในพรรคก็ยังมีบุคคลที่จะมีบทบาทในการเมืองกัมพูชาต่อมาอีกหลายคน เซิง งอกทัญ อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ถูกญี่ปุ่นยึดครองเข้าร่วมกับกรมประชาธิปไตยระหว่าง พ.ศ. 2494 – 2495 จากนั้นจึงหนีเข้าป่าไปสู่ภาคเหนือของกัมพูชาเพื่อก่อตั้งขบวนการเรียกร้องเอกราชของตนเอง

หลังได้รับเอกราช

แก้

ระหว่าง พ.ศ. 2497 พรรคได้ดำเนินนโยบายเอียงซ้ายภายใต้การนำของนักการเมืองที่สำเร็จการศึกษาจากฝรั่งเศส ผู้นำพรรคคือ เกง วันสัก ส่วนพระนโรดม ภูริสสระเป็นเลขาธิการทั่วไป พวกเขาให้ความสำคัญกับการประชุมเจนีวา พ.ศ. 2497 ซึ่งรับรองเอกราชของกัมพูชา และยอมรับความช่วยเหลือของสหรัฐ พรรคนี้เข้าร่วมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2498 หลังจากที่พระนโรดม สีหนุก่อตั้งขบวนการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของพระองค์เอง คือพรรคสังคมราษฎร์นิยมเพื่อเข้าร่วมในการเลือกตั้ง สมาชิกกรมประชาธิปไตยบางคนออกจากพรรคไปเข้าร่วมกับสีหนุ เกง วันสักหัวหน้าพรรคถูกจับขังคุกระหว่างการเลือกตั้ง และที่ทำการพรรคในพระตะบองถูกรื้อค้น[3] กรมประชาธิปไตยได้คะแนนเสียง 12% ส่วนพรรคสังคมได้ 82% และได้ที่นั่งในสภาไปทั้งหมด

ต่อมา ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2500 กรมประชาธิปไตยสลายตัว ซึ่งสมเด็จกรมพระสีสุวัตถิ์ มุนีเรศ ได้บันทึกไว้ว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นหลังจากผู้นำที่เหลืออยู่ถูกเรียกให้ไปเข้าร่วมประชุมอย่างเป็นมิตรกับสีหนุ และถูกจับโดยลน นล เมื่อกลับออกมา[4]

การก่อตั้งใหม่โดยอินตัม

แก้

หลังจากลน นลโค่นล้มสีหนุในการรัฐประหาร พ.ศ. 2513 และก่อตั้งสาธารณรัฐเขมร กรมประชาธิปไตยถูกก่อตั้งขึ้นอีกครั้งโดยอิน ตัม ซึ่งเข้าร่วมในรัฐประหารครั้งนี้ด้วย แต่พรรคปฏิเสธเข้าร่วมการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2515 ต่อมาอิน ตัมเลิกเล่นการเมือง เชา เซาขึ้นมาเป็นผู้นำพรรค อย่างไรก็ตาม พรรคนี้ไม่มีบทบาททางการเมืองใด ๆ ในสาธารณรัฐเขมร จนกระทั่งถูกล้มล้างโดยเขมรแดงใน พ.ศ. 2518 ต่อมา อิน ตัม เข้าร่วมกับกลุ่มที่จงรักภักดีกับสีหนุและตั้งกรมประชาธิปไตยขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2534 แต่ไม่ได้รับเลือกในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2536

อ้างอิง

แก้
  1. Martin, M. A. Cambodia: a shattered society, Univ. of California Press, p. 51
  2. Dommen, A. The Indochinese experience of the French and the Americans, IUP, 2001, p.196
  3. Kiernan, B. How Pol Pot Came to Power, Yale UP, 2004, p.57
  4. Kiernan, 2004, p.57