ลิงซ์สเปน

(เปลี่ยนทางจาก Lynx pardinus)
ลิงซ์สเปน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Carnivora
วงศ์: Felidae
สกุล: Lynx
สปีชีส์: L.  pardinus
ชื่อทวินาม
Lynx pardinus
(Temminck, 1827)
การกระจายพันธุ์ ค.ศ. 1980
การกระจายพันธุ์ ค.ศ. 2003

ลิงซ์สเปน (อังกฤษ: Iberian lynx) เป็นลิงซ์ชนิดหนึ่งที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ถึงขั้นวิกฤต มีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรไอบีเรียในยุโรปใต้ เป็นหนึ่งในสัตว์จำพวกแมวที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุดในโลก[2] เดิมจัดเป็นชนิดย่อยของลิงซ์ยูเรเชีย (Lynx lynx) แต่ปัจจุบันถูกแยกออกมาเป็นชนิดต่างหาก เชื่อว่าวิวัฒนาการมาจาก Lynx issiodorensis[3] ลิงซ์สเปนมีน้ำหนัก 15-25 กิโลกรัม ตัวผู้มีน้ำหนักเฉลี่ย 12.8 กิโลกรัม ตัวเมีย 9.3 กิโลกรัม ซึ่งหนักใกล้เคียงกับลิงซ์แคนาดาและบอบแคตในทวีปอเมริกา[4]

ต้นกำเนิด แก้

ลิงซ์สเปนและลิงซ์ยุโรปเคยอาศัยอยู่ร่วมพื้นที่เดียวกันในยุโรปตอนกลางในยุคไพลโตซีน คาดว่าลิงซ์สองชนิดเริ่มแยกออกจากกันก่อนที่ลิงซ์ยุโรปกับลิงซ์แคนาดาจะแยกออกจากกันเป็นเวลานาน สันนิษฐานว่าลิงซ์ยุโรปและลิงซ์ไอบีเรียวิวัฒน์มาจากบรรพบุรษลิงซ์ที่ชื่อว่า Lynx issiodorensis แม้เขตกระจายพันธุ์ของลิงซ์สเปนกับลิงซ์ยุโรปในอดีตไม่ซ้อนทับกันมากนัก และในปัจจุบันก็ยังห่างกันมากขึ้น แต่ก็ยังมีพื้นที่ที่แมวสองชนิดนี้ใช้ร่วมกันอยู่ที่เทือกเขาพิเรนีสระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน

ถิ่นที่อยู่อาศัย แก้

ลิงซ์สเปนพบในป่าไม้ของแถบเมดิเตอเรเนียน ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นที่ที่มีไม้พุ่มหรือป่าละเมาะที่แน่นทึบสำหรับเป็นที่กำบังสลับกับพื้นที่เปิดสำหรับล่ากระต่าย ไม่ชอบพื้นที่เกษตรกรรม จากการติดตามด้วยวิทยุ พบว่าลิงซ์สเปนใช้เวลา 90 เปอร์เซ็นต์ตอนกลางวันในการหลบซ่อนตัวอยู่ในพุ่มไม้ทึบ

ลิงซ์สเปนมักพบที่ระดับความสูง 400-900 เมตร แต่อาจพบได้สูงถึง 1,600 เมตร

นับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ลิงซ์สเปนได้กลายเป็นสัตว์หายากมากในสเปนตอนเหนือ แม้จะยังยังพบได้มากในตอนกลางและตอนใต้ของประเทศ พอมาถึงทศวรรษที่ 1960 พื้นที่หากินถูกจำกัดอยู่เพียงทางตอนตะวันตกเฉียงใต้ของคาบสมุทรเท่านั้น พื้นที่นี้มีอาณาเขตประมาณ 57,000 ตารางกิโลเมตรและอาจยังต่อเนื่องกันอยู่ แต่ปัจจุบันพื้นที่หากินของลิงซ์ในสเปนเหลือเพียง 14,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีพื้นที่ผสมพันธุ์ประมาณ 11,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกินพื้นที่เพียง 2 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศเท่านั้น สำหรับเขตกระจายพันธุ์ของลิงซ์สเปนที่อยู่ในโปรตุเกสยังไม่มีข้อมูลมากนัก แต่ก็ลดลงไปมากนับตั้งแต่ทศวรรษ 1940 ปัจจุบันคาดว่าเหลืออยู่เพียงสามแห่งซึ่งมีพื้นที่รวมเพียง 700 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติเซอร์ราดามัลคาตา และเทือกเขาอัลการ์ฟทางตอนใต้สุดของประเทศ

จากการศึกษาลิงซ์สเปนในอุทยานแห่งชาติโกโตโดยานาด้วยวิทยุติดตามที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2526 พบว่า ในแหล่งที่อยู่อาศัยที่คุณภาพดี จะมีความหนาแน่นประชากรลิงซ์ (รวมลิงซ์วัยรุ่น) ประมาณ 16 ตัวต่อ 100 ตารางกิโลเมตร พื้นที่หากินของลิงซ์ตัวผู้กว้างเฉลี่ยประมาณ 18 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ในแต่ละเดือนประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร พื้นที่หากินของลิงซ์สเปนตัวเมียประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ต่อเดือนประมาณ 8 ตารางกิโลเมตร ลิงซ์เพศเดียวกันจะมีหากินแยกจากกัน ส่วนตัวผู้และตัวเมียจะมีพื้นที่ซ้อนเหลื่อมกัน

อุปนิสัย แก้

อาหารของลิงซ์สเปนในฤดูร้อนเป็นกระต่ายเสีย 93 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ในฤดูหนาว สัดส่วนของกระต่ายในอาหารลดน้อยลงไปพร้อมกับจำนวนประชากรในธรรมชาติในรอบปีก็ลดลงด้วย ในช่วงเวลานี้ลิงซ์สเปนจะจับลูกกวางแดง กวางฟาลโลว์ และลูกมูฟฟลอนไปแทน ส่วนในพื้นที่ชุ่มน้ำโกโตโดยานาที่อยู่ทางชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของสเปน เป็ดได้เป็นอาหารหลักสำคัญในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ ลิงซ์สเปนหนึ่งตัวต้องการเหยื่อขนาดกระต่ายหนึ่งตัวต่อวัน

จากการติดตามด้วยวิทยุที่อุทยานแห่งชาติโกโตโดยานาแสดงว่า ลิงซ์สเปนหากินตอนกลางคืนเป็นหลัก เริ่มออกหากินในโพล้เพล้ เดินทางวันหนึ่งเฉลี่ยราวเจ็ดกิโลเมตร ตัวผู้มักเดินทางไกลกว่าตัวเมีย และในฤดูหนาวจะหันหากินตอนกลางวันมากขึ้น

ชีววิทยา แก้

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม สูงสุดในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ แม่ลิงซ์ตั้งท้องนานประมาณสองเดือน ออกลูกในเดือนมีนาคม-เมษายน ออกลูกคราวละ 2-3 ตัว จำนวนอาจต่างกันมากตั้งแต่ 1-5 ตัว

เมื่ออายุได้ราว 7-10 เดือน ลูกลิงซ์ก็เป็นอิสระจากแม่ หลังจากที่เป็นอิสระแล้วจะยังคงหากินอยู่ในอาณาเขตบ้านเกิดเป็นระยะหนึ่งก่อนจนกระทั่งอายุราว 20 เดือน (8-28 เดือน) จึงออกไปหาที่อยู่ใหม่

ลิงซ์สาวจะพร้อมผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่ฤดูหนาวแรก แต่เวลาที่ตั้งท้องได้ครั้งแรกขึ้นอยู่กับปัจจัยทางประชากรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่นในอุทยานแห่งชาติโกโตโดยานาตัวเมียจะตั้งท้องครั้งแรกได้เมื่อได้ครอบครองพื้นที่หากินได้แล้ว ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของพื้นที่เดิมตายลงหรือถูกขับไล่ออกไป มีบันทึกว่าตัวเมียตัวหนึ่งกว่าจะตั้งท้องครั้งแรกต้องรอถึงอายุ 5 ปี ซึ่งเป็นเวลาหลังจากได้ครอบครองพื้นที่แทนแม่ที่ตายไป

ลิงซ์ตั้งท้องครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ 10 ปี ในธรรมชาติ ลิงซ์มีอายุขัยราว 13 ปี

ภัยที่คุกคาม แก้

การลดจำนวนของลิงซ์สเปนในช่วงทศวรรษ 1960 มีสาเหตุหลักมาจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และกระต่ายยุโรปซึ่งเป็นสัตว์เหยื่อหลักลดจำนวนลง โรคพอกซ์ไวรัสและมิกโซมาโตซีสที่นำมาจากอเมริกาใต้ในช่วงต้นทศวรรษ 1950 มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อกระต่ายยุโรปเพราะไม่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ

ในช่วงแรกที่มีการระบาด กระต่ายถึงกับเกือบหายไปจากหลายพื้นที่ หลังจากนั้นกระต่ายยุโรปจึงค่อยปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันโรคมิกโซมาโตซีสขึ้นมา ทำให้โรคนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อีกต่อไป แต่ภัยต่อกระต่ายยังไม่หมดสิ้น เพราะมีโรคใหม่เข้ามาในสเปนในปี พ.ศ. 2531 นั่นคือ ไวรัลแฮมมอร์ราจิกนิวโมเนีย ทำให้กระต่ายล้มตายไปเป็นจำนวนมาก พร้อมกับสภาพถิ่นที่อยู่อาศัยทั้งในสเปนและโปรตุเกสมีการเปลี่ยนสภาพจากทุ่งหญ้าสลับป่าละเมาะซึ่งเหมาะสำหรับกระต่ายไปเป็นทุ่งธัญพืชและป่าปลูกแทน

นอกจากภัยคุกคามด้านอาหารและพื้นที่ทำกินแล้ว ลิงซ์ก็ยังถูกล่าเพื่อเอาหนังด้วย และบางครั้งเมื่อลิงซ์ไปล่าสัตว์ของชาวบ้านก็ต้องถูกชาวบ้านฆ่ากลับด้วย

แม้สัตว์ชนิดนี้จะได้รับการคุ้มครองในเขตอนุรักษ์ตามกฎหมายแต่ยังมีการอนุญาตให้ล่านอกเขตอนุรักษ์อยู่

สัดส่วนเทียบเป็นร้อยละของสาเหตุการตายของลิงซ์สเปน แก้

(Rodrํguez and Delibes 1990) แก้

ระยะเวลา ถูกยิง กับดัก/แร้ว หมา ถูกรถชน อื่นๆ จำนวน
1958 21.2 67.0 3.5 -- 8.2 170
1958-1977 26.0 62.7 2.6 0.1 8.6 689
1978-1988 26.1 44.4 6.7 7.0 15.7 356
รวม 25.4 58.0 4.0 2.1 10.6 1,215

กับดักที่นายพรานทำไว้ดักกระต่ายก็นำความตายมาสู่ลิงซ์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะกำดักประเภทแร้วและกับดักชนิดเหยียบ แม้ปัจจุบันจะมีการใช้กับดักเหล่านี้น้อยลงก็ตาม ส่วนสาเหตุการตายอื่น ๆ เช่นบนท้องถนนมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับการตายจากสาเหตุอื่น

การที่จำนวนประชากรเหลือน้อยซ้ำยังพื้นที่ถูกซอยแยกจากกัน อาจทำให้ลิงซ์ขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม เค้าลางของปัญหานี้เริ่มปรากฏขึ้นในปี พ.ศ. 2536 เมื่อมีการสำรวจประชากรในโกโตโดยานาซึ่งมีลิงซ์อยู่ราว 40-50 ตัวแต่ถูกตัดขาดออกจากกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 พบว่าลิงซ์ที่นี่มีรูปแบบของลวดลายขนสามแบบ แต่ไม่พบแบบที่เป็นลายจุดละเอียดซึ่งเป็นแบบที่หายากกว่า

สถานภาพ แก้

จำนวนประชากรในธรรมชาติรวมวัยรุ่น ไม่รวมลูกแมว คาดว่าไม่เกิน 1,200 ตัว เป็นตัวเมียที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ประมาณ 350 ตัว จากการสำรวจอย่างละเอียดในสเปน พบว่าพื้นที่หากินแยกออกเป็นผืนเล็กผืนน้อยมากมายถึง 48 แห่ง และยังมีอีก 50 แห่งที่อาจมีอยู่แต่ไม่มีการยืนยัน พื้นที่แต่ละแห่งถูกตัดออกจากกันด้วยพื้นที่เกษตรกรรมและหมู่บ้าน

เทียบกับแมวในสกุลลิงซ์ทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกแล้ว สถานภาพของลิงซ์สเปนอยู่ในระดับร้ายแรงที่สุด ปัจจุบันลิงซ์สเปนหายากมากในคาบสมุทรไอบีเรียพบได้เฉพาะที่ป่าสงวนโกโตโดยานาทางตอนใต้ของสเปนและพื้นที่โดดเดี่ยวบางแห่งในโปรตุเกสเท่านั้น พื้นที่ตอนกลางของประเทศสเปนซึ่งประกอบด้วยเขตหากินสามเขตเป็นพื้นที่เดียวเท่านั้นที่มีศักยภาพในการรักษาเผ่าพันธุ์ลิงซ์ชนิดนี้ได้ ประชากรปัจจุบันคือประมาณ 800 ตัว ส่วนในพื้นที่อื่นคาดว่ามีอยู่ตั้งแต่ 13-63 ตัว จำนวนที่หลงเหลือเพียงน้อยนิดแสดงถึงการถูกคุกคามอย่างร้ายแรง ในจำนวนป่าที่มีพื้นที่น้อยกว่า 1,000 ตารางกิโลเมตรที่เคยมีลิงซ์อาศัยอยู่ก่อนปี 2503 มีถึง 91 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพื้นที่ที่ไม่มีลิงซ์อีกแล้ว

ชื่อลิงซ์สเปนอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของไซเตส ไอยูซีเอ็นจัดสถานภาพไว้ในระดับวิกฤต ลิงซ์ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐบาลสเปนและโปรตุเกส

ข้อมูลอ้างอิง แก้

  • http://dialspace.dial.pipex.com/agarman/spanlynx.htm
  • http://lynx.uio.no/catfolk/lynxib01.htm
  1. von Arx, M. & Breitenmoser-Wursten, C (2008). Lynx pardinus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 22 March 2009. (Database entry includes justification for why this species is critically endangered)
  2. Ward, Dan (2008). "LynxBrief" (PDF). สืบค้นเมื่อ July 2011. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help); ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |month= ถูกละเว้น (help)
  3. Björn Kurtén (1968). Pleistocene Mammals of Europe.
  4. ลิงซ์สเปน เก็บถาวร 2014-09-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เสือและแมวนักล่าผู้สง่างาม, โลกสีเขียว

แหล่งข้อมูลอื่น แก้