คตินิยมศิลปะญี่ปุ่น
คตินิยมศิลปะญี่ปุ่น (อังกฤษ: Japonism หรือ Japonisme) เดิมมาจากภาษาฝรั่งเศสที่ใช้ในภาษาอังกฤษด้วย เป็นคำที่หมายถึงศิลปะตะวันตกที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะของญี่ปุ่น คำนี้ใช้เป็นครั้งแรกโดยชูลส์ แคลตีในหนังสือ L'Art Français en 1872 (ศิลปะฝรั่งเศสของปี ค.ศ. 1872) ที่ตีพิมพ์ในปีเดียวกัน[1] งานที่ถ่ายทอดจากพื้นฐานของศิลปะญี่ปุ่นโดยตรงในศิลปะตะวันตกโดยเฉพาะงานที่สร้างโดยศิลปินชาวฝรั่งเศสเรียกว่า "japonesque" ("แบบญี่ปุ่น")
ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1860 ภาพพิมพ์แกะไม้ภาพอุกิโยะ (ukiyo-e) ของญี่ปุ่นกลายเป็นแหล่งของแรงบันดาลใจสำหรับจิตรกรสมัยอิมเพรสชันนิสม์ชาวยุโรปในฝรั่งเศสและในประเทศตะวันตกและในที่สุดก็รวมไปถึงจิตรกรนวศิลป์และบาศกนิยม (cubism) ต่อมา สิ่งที่กระทบความรู้สึกของศิลปินของศิลปะญี่ปุ่นคือการละการใช้ทัศนมิติและเงา, การใช้สีจัดในบริเวณภาพที่ราบ, เสรีภาพในการจัดองค์ประกอบในการวางหัวเรื่องของภาพจากศูนย์กลางของภาพ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในมุมทแยงด้านต่ำจากฉากหลัง
ประวัติ
แก้ระหว่างสมัยKaei era (ค.ศ. 1848 - ค.ศ. 1854) เรือของพ่อค้าชาวต่างประเทศเริ่มเข้ามาค้าขายในญี่ปุ่น หลังจากการการฟื้นฟูราชวงศ์เมจิ ในปี ค.ศ. 1868 แล้วญี่ปุ่นก็เริ่มการเปิดประเทศรับสิ่งต่างๆ จากตะวันตกที่รวมทั้งภาพถ่าย และเทคนิคการพิมพ์ ขณะเดียวกับที่ภาพพิมพ์แกะไม้และงานเซรามิคภาพอุกิโยะ ที่ตามด้วยผ้าทอ งานสัมริด เอ็นนาเมลคลัวซอนเน (cloisonné enamel) และศิลปะสาขาอื่นของญี่ปุ่นเข้าไปเป็นที่นิยมกันในยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ผู้นิยมญี่ปุ่นก็เริ่มสะสมงานศิลปะของญี่ปุ่นกันอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะงานพิมพ์ศิลปะภาพอุกิโยะ ที่จะเห็นได้จากตัวอย่างแรกๆ ในปารีส ราว ค.ศ. 1856 ศิลปินชาวฝรั่งเศสเฟลีซ บราเคอมงด์ (Félix Bracquemond) พบงานก็อปปีของภาพร่างเป็นครั้งแรกของหนังสือ งานร่างของโฮะกุไซ (Hokusai Manga) ในห้องพิมพ์ของช่างพิมพ์ของตนเอง ซึ่งเป็นกระดาษที่ใช้ห่อสินค้าพอร์ซีเลน ในปี ค.ศ. 1860 และ ค.ศ. 1861 ก็เริ่มมีการพิมพ์งานขาวดำของภาพอุกิโยะในหนังสือเกี่ยวกับญี่ปุ่น
ชาร์ลส์ โบเดอแลร์ (Charles Baudelaire) เขียนในจดหมายในปี ค.ศ. 1861 ว่า "สักชั่วระยะเวลาหนึ่ง ผมได้รับห่อ "ของญี่ปุ่น" (japonneries) ผมก็เลยแบ่งกับเพื่อน...." และปีต่อมา "La Porte Chinoise" ร้านขายสินค้าจากญี่ปุ่นก็ขายสินค้าที่รวมทั้งภาพพิมพ์ก็เปิดขึ้นที่ถนนริโวลีในปารีสซึ่งเป็นถนนสายที่เป็นที่นิยมสำหรับการซื้อของ[1] ในปี ค.ศ. 1871 ชาร์ล กามีย์ แซง-ซองส์ก็เขียนอุปรากรองค์เดียวชื่อ La princesse jaune โดยมีหลุยส์ กาเลต์เป็นผู้เขียนบทร้อง ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กหญิงชาวดัตช์ผู้อิจฉาเพื่อนศิลปินผู้มีหลงงานภาพพิมพ์แกะไม้ภาพอุกิโยะอย่างหัวปักหัวปำ
ในระยะแรกแม้ว่าบราเคอมงด์จะติดต่อหางานพิมพ์ด้วยตนเอง แต่งานพิมพ์แกะไม้ส่วนใหญ่ที่เข้ามาทางตะวันตกเป็นงานของจิตรกรญี่ปุ่นร่วมสมัยของระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1860 ถึง 1870 จากนั้นก็เป็นเวลานานกว่าที่ทางตะวันตกจะได้เริ่มเห็นงานคลาสสิกของศิลปินชั้นครูรุ่นก่อนหน้านั้น
ขณะเดียวกันกลุ่มปัญญาชนอเมริกันก็ยังยืนกรานว่างานพิมพ์เอะโดะเป็นศิลปะที่หยาบ (vulgar art) ที่มีเอกลักษณ์ของสมัยที่แตกต่างจากงานที่มีลักษณะที่งดงาม เอียงไปทางศาสนา และ มีลักษณะของความเป็นญี่ปุ่นที่เรียกว่ายามาโตะ (大和絵) ภาพจากสมัยยามาโตะก็ได้แก่ภาพเขียนโดยศิลปินเซนชั้นครูเช่น Sesshū Tōyō และ Tenshō Shūbun
นักสะสมศิลปะ นักเขียน และนักวิพากษ์ศิลป์ชาวฝรั่งเศสต่างก็เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1860 ถึง 1880 ที่นำไปสู่การพิมพ์บทความต่างๆ เกี่ยวกับความงามของศิลปะญี่ปุ่นและการเผยแพร่งานภาพพิมพ์จากยุคเอะโดะมากขึ้นในยุโรป โดยเฉพาะในฝรั่งเศส ในบรรดาผู้เดินทางไปญี่ปุ่นก็ได้แก่นักเศรษฐศาสตร์ Henri Cernuschi นักวิพากษ์ศิลป์ ทีโอดอร์ ดูเรต์ และนักสะสมศิลปะชาวอังกฤษวิลเลียม แอนเดอร์สันผู้ใช้เวลาอยู่หลายปีในเอะโดะและสอนการแพทย์ (งานสะสมของแอนเดอร์สันต่อมาซื้อโดยพิพิธภัณฑ์บริติช) นักค้าศิลปะญี่ปุ่นหลายคนต่อมาก็มาตั้งหลักแหล่งอยู่ในปารีสปารีส เช่นTadamasa Hayashi และ Iijima Hanjuro นอกจากนั้นระหว่างงานนิทรรศการนานาชาติ ค.ศ. 1878 (Exposition Universelle) ที่จัดขึ้นที่ปารีสก็มีการแสดงงานจากญี่ปุ่นหลายชิ้น
ศิลปินและขบวนการ
แก้ศิลปินญี่ปุ่นผู้มีอิทธิพลก็ได้แก่อุตามาโระ (Utamaro) และโฮะกุไซ แต่สิ่งที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นคือขณะที่ศิลปะญี่ปุ่นไปมีอิทธิพลต่อศิลปินตะวันตก แต่ในญี่ปุ่น bunmeikaika (文明開化, "ความเป็นตะวันตก") ก็นำไปสู่การลดความนิยมการสร้างงานพิมพ์ภาพในญี่ปุ่นเอง
ศิลปินผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะญี่ปุ่นก็รวมทั้งอาร์เธอร์ เวสลีย์ ดาว (Arthur Wesley Dow), ปีแยร์ บอนาร์, อ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็ก, แมรี คัสซาตต์, แอดการ์ เดอกา, ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์, เจมส์ แม็คนีลล์ วิสต์เลอร์, โกลด มอแน, ฟินเซนต์ ฟัน โคค, กามีย์ ปีซาโร, ปอล โกแก็ง, เบอร์ธา ลัม (Bertha Lum), วิลล์ เบรดลีย์ (Will Bradley), ออบรีย์ เบียร์ดสลีย์ (Aubrey Beardsley), อัลฟอนส์ มูคา (Alphons Mucha), กุสตาฟ คลิมต์ และรวมทั้งสถาปนิก แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์, ชาร์ลส์ เรนนี แม็คคินทอช (Charles Rennie Mackintosh) และสแตนฟอร์ด ไวต์ (Stanford White) ศิลปินบางคนถึงกับย้ายไปตั้งหลักแหล่งในญี่ปุ่นเช่นฌอร์ฌ แฟร์ดีน็อง บีโก (Georges Ferdinand Bigot)
แม้ว่างานศิลปะสาขาต่างๆ จะได้รับอิทธิพลญี่ปุ่น งานพิมพ์เป็นงานที่นิยมกันมากที่สุด งานพิมพ์และงานโปสเตอร์ของอ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็กแทบจะไม่อาจจะเป็นงานที่สร้างขึ้นมาได้โดยปราศจากอิทธิพลของศิลปะญี่ปุ่น แต่งานภาพพิมพ์แกะไม้ก็มิได้มีการทำกันมาจนกระทั่งถึงเฟลิกซ์ วาลอตง (Félix Vallotton) และปอล โกแก็ง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นภาพขาวดำ
วิสต์เลอร์มีบทบาทสำคัญในการนำศิลปะญี่ปุ่นเข้ามาในอังกฤษ ปารีสเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นศูนย์กลางของงานศิลปะญี่ปุ่น วิสต์เลอร์ก็สะสมงานเป็นจำนวนมากเมื่อพักอยู่ที่นั่น
งานของฟัน โคคหลายชิ้นก็เป็นงานที่เลียนแบบลักษณะและการวางองค์ประกอบของศิลปะ ภาพอุกิโยะ เช่นภาพ Le Père Tanguy ซึ่งเป็นภาพเหมือนของเจ้าของร้านขายอุปกรณ์ศิลปะ เป็นภาพที่มีงานภาพอุกิโยะหกชิ้นในฉากหลัง ฟัน โคคเขียน "La courtisane" ในปี ค.ศ. 1887 1887 หลังจากที่ได้เห็นงานภาพอุกิโยะโดย Kesai Eisen บนหน้าปกนิตยสาร Paris Illustré ในปี ค.ศ. 1886 ในขณะนั้นที่แอนต์เวิร์ป ฟัน โคคก็เริ่มสะสมภาพพิมพ์ญี่ปุ่นแล้ว
ในด้านดนตรีก็กล่าวได้ว่าจาโกโม ปุชชีนีได้รับอิทธิพลญี่ปุ่นในการเขียนอุปรากร Madama Butterfly กิลเบิร์ตและซัลลิแวนเขียนจุลอุปรากร The Mikado ที่ได้รับอิทธิพลจากงานแสดงนิทรรศการ "Japanese village" ในลอนดอน[2]
ลักษณะของศิลปะญี่ปุ่นที่มีอิทธิพลต่อศิลปินตะวันตก ก็ได้แก่ความไม่สมมาตร การจัดวางองค์ประกอบของหัวใจของภาพจะไม่อยู่ที่ศูนย์กลาง (off center) และการไม่ใช้ทัศนมิติ การใช้แสงที่ไม่มีเงา และการใช้สีที่สดใส ลักษณะที่ว่านี้ตรงกันข้ามกับศิลปะโรมัน-กรีกที่นิยมกันในบรรดาศิลปินในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้เชื่อว่าตนเองสามารถปลดปล่อยศิลปะให้เป็นอิสระจากศิลปะสถาบัน
การใช้เส้นโค้ง พื้นผิวที่เป็นลาย และความตัดกันของช่องว่าง และความราบของภาพก็มีอิทธิพลต่อนวศิลป์ เส้นและลายเหล่านี้กลายมาเป็นเส้นและลายของงานกราฟิกที่พบในงานของศิลปินทั่วโลก ลักษณะรูปทรง ราบ และสีกลายมาเป็นสิ่งที่ต่อมาเป็นศิลปะนามธรรมของศิลปะสมัยใหม่
ลักษณะของศิลปะญี่ปุ่นมีอิทธิพลต่อศิลปะประยุกต์ที่รวมทั้งเครื่องเรือน ผ้าทอ เครื่องประดับ และการออกแบบกราฟิก
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 Colta F. Ives, "The Great Wave: The Influence of Japanese Woodcuts on French Prints", 1974, The Metropolitan Museum of Art, ISBN 0-87099-098-5
- ↑ Toshio Yokoyama, Japan in the Victorian mind: a study of stereotyped images of a nation, 1850-80 1987, p. xix
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ คตินิยมศิลปะญี่ปุ่น