โฮลี

เทศกาลสาดสี
(เปลี่ยนทางจาก Holi)

โฮลี (อังกฤษ: Holi; ฮินดี: होली; เนปาล: होली; ปัญจาบ: ਹੋਲੀ; สินธ์: هولي) คำว่า "โฮลี" หมายถึง "การส่งท้ายปีเก่า" เป็นเทศกาลฉลองรื่นเริงที่มีพื้นเพมาจากความเชื่อในศาสนาฮินดูในช่วงฤดูใบไม้ผลิ โดยชาวฮินดูจะออกมาเล่นสาดสีใส่กัน[1]

ผู้เข้าร่วมเทศกาลในสหรัฐ
ผงสี

โฮลีจัดขึ้น 2 วันในช่วงเดือนมีนาคม (แรม 1 ค่ำ เดือน 4) เทศกาลนี้เรียกอีกอย่างว่า "เทศกาลแห่งสีสัน" เนื่องจากผู้คนจะออกมาเฉลิมฉลองด้วยการสาดสีหรือป้ายสี ซึ่งเป็นฝุ่นผงใส่กัน ด้วยสีสันต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน ซึ่งการสาดสีใส่กันนี้สันนิษฐานว่า เป็นพื้นเพที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับมา และปรับเปลี่ยนเป็นการสาดน้ำใส่กันแทน คือ สงกรานต์[1]

ฝุ่นผงสีที่ใช้สาดกันนั้นจะทำมาจากธรรมชาติ เช่น ดอกทองกวาว, บีทรูท, ขมิ้น อันเป็นนัยที่บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ มีขนมที่ทำเพื่อรับประทานโดยเฉพาะในเทศกาลนี้ ที่ทำมาจากนมและนมเปรี้ยวเป็นหลัก เชื่อกันว่าหากได้รับประทานขนมด้วยจิตใจเบิกบานจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีของการเริ่มต้นปีใหม่

การสาดสีใส่กันนั้น เชื่อว่า เป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย มีปกรณัมมากมายเกี่ยวกับที่มาของเทศกาลนี้ แต่ที่เชื่อกันมากที่สุด คือ การเฉลิมฉลองที่พระวิษณุ หนึ่งในตรีมูรติ เอาชนะนางมารโหลิกา ซึ่งเป็นน้องสาวของหิรัณยกศิปุ ที่ดูหมิ่นผู้ที่นับถือพระองค์ ทำให้นางมารถูกไฟแผดเผาจนมอดไหม้ วันก่อนการสาดสีจะมีการก่อกองไฟเพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีไปจากจิตใจ[1][2]

การสาดสีจะเล่นกันเฉพาะช่วงเช้าจนถึงเที่ยงวันเท่านั้น จากนั้น ผู้คนก็จะแยกย้ายไปพักผ่อน เมื่อตกเย็นจะออกมาพบปะสังสรรค์กัน แจกขนมหวานและสวมกอดกัน เทศกาลโฮลี่จึงถือเป็นเทศกาลแห่งมิตรภาพ มิตรสหายได้แสดงไมตรีเข้าสวมกอดกัน ผู้ที่เคยขัดแย้งกันก็จะได้ปรับความเข้าใจกัน[2]

โฮลีมักจัดในประเทศอินเดียและเนปาลเป็นหลัก แต่ยังมีการเฉลิมฉลองโดยชาวฮินดูกลุ่มน้อยในบังกลาเทศและปากีสถานด้วย เช่นเดียวกับประเทศที่มีประชากรเชื้อสายอินเดียพลัดถิ่นขนาดใหญ่ที่นับถือศาสนาฮินดู เช่น ซูรินาม มาเลเซีย กายอานา แอฟริกาใต้ ตรินิแดดและโตเบโก สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา มอริเชียส ฟิจิ และไทย[1][3][4][5]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "เทศกาลโฮลีสาดสีของอินเดีย". ร่วมรากเดียวกัน. 22 March 2014. สืบค้นเมื่อ 12 April 2014.
  2. 2.0 2.1 "เทศกาลโฮลี Holi เทศกาลแห่งสีสันที่อินเดีย". travel.truelife. 25 March 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-13. สืบค้นเมื่อ 12 April 2014.
  3. A Spring Celebration of Love Moves to the Fall — and Turns Into a Fight Gabriele Steinhauser, The Wall Street Journal (October 3, 2013)
  4. Holi Festivals Spread Far From India The Wall Street Journal (2013)
  5. Holi Festival of Colours Visit Berlin, Germany (2012)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้