กระดูกฮาเมต
กระดูกฮาเมต (อังกฤษ: hamate bone or unciform bone) เป็นกระดูกที่อยู่ในข้อมือของมนุษย์ซึ่งมีลักษณะเด่นคือมีรูปร่างคล้ายลิ่ม และทีส่วนยื่นของกระดูกที่มีรูปร่างคล้ายตะขอออกมาจากพื้นผิวด้านฝ่ามือ กระดูกนี้เป็นกระดูกข้อมือ (carpus) ในแถวหลังที่วางตัวอยู่ทางด้านใกล้กลาง (ด้านนิ้วก้อย) ซึ่งมีฐานอยู่ด้านล่างติดกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 4 และ 5 ส่วนยอดชี้ขึ้นด้านบนและไปทางด้านข้างลำตัว
กระดูกฮาเมต (Hamate bone) | |
---|---|
กระดูกข้อมือ แถวต้น: A=สแคฟฟอยด์, B=ลูเนท, C=ไตรกีตรัล, D=พิสิฟอร์ม แถวปลาย: E=ทราพีเซียม, F=ทราพีซอยด์, G=แคปปิเตต, H=ฮาเมต | |
กระดูกฮาเมตจากข้อมือซ้าย | |
รายละเอียด | |
ข้อต่อ | มีข้อต่อกับกระดูก 5 ชิ้น ได้แก่ ด้านต้นกับกระดูกลูเนท ด้านปลายกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 4 และ 5 ด้านใกล้กลางกับกระดูกไตรกีตรัล ด้านข้างกับกระดูกแคปปิเตต |
ตัวระบุ | |
ภาษาละติน | os hamatum |
MeSH | D051225 |
TA98 | A02.4.08.012 |
TA2 | 1259 |
FMA | 23730 |
ศัพท์ทางกายวิภาคของกระดูก |
รากศัพท์ของชื่อกระดูกมาจากภาษาละติน hamus แปลว่า ตะขอ
พื้นผิว
แก้พื้นผิวด้านบน (superior surface) ซึ่งเป็นยอดของลิ่ม มีลักษณะแคบ นูน เรียบ และเกิดเป็นข้อต่อกับกระดูกลูเนท (lunate)
พื้นผิวด้านล่าง (inferior surface) เป็นหน้าประกบเว้า แบ่งเป็นหน้าประกบ 2 อันโดยสันนูน ซึ่งเกิดเป็นข้อต่อกับกระดูกฝ่ามือชิ้นที่ 4 และ 5
พื้นผิวด้านหลัง (dorsal surface) เป็นรูปสามเหลี่ยมที่ขรุขระ สำหรับเป็นจุดเกาะของเอ็นต่างๆ
พื้นผิวด้านฝ่ามือ (volar surface) ด้านล่างและด้านอัลนา (ด้านนิ้วก้อย) มีลักษณะโค้งและมีส่วนยื่นคล้ายตะขอ เรียกว่า ฮามิวลัส (hamulus) ซึ่งชี้ไปทางด้านหน้าและด้านข้าง
พื้นผิวด้านใกล้กลาง (medial surface) เกิดเป็นข้อต่อกับกระดูกไตรกีตรัล (triangular bone) โดยหน้าประกบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วิ่งเฉียงในจากด้านบนลงมาด้านล่างและด้านใกล้กลาง
พื้นผิวด้านข้าง (lateral surface) ส่วนด้านบนและด้านหลังเกิดข้อต่อกับกระดูกแคปปิเตต (capitate) ส่วนที่เหลือขรุขระสำหรับเป็นจุดเกาะของเอ็น
ความสำคัญทางคลินิก
แก้เนื่องจากลักษณะการวางตัวที่ค่อนข้างอยู่ทางด้านนอกของข้อมือ กระดูกฮาเมตจึงจัดว่าเป็นกระดูกที่หักได้ง่ายที่สุดในบรรดากระดูกข้อมือ โดยเฉพาะเมื่อนักกอล์ฟหวดไม้กอล์ฟลงบนพื้นแข็งๆ รอยแตกของกระดูกนี้เป็นรอยแตกแบบ hairline fracture ซึ่งมักจะมองไม่เห็นในภาพเอกซ์เรย์ทั่วไป
อาการจะสังเกตได้จากการกดเจ็บเหนือกระดูกชิ้นนี้ และอาจรู้สึกเจ็บเมื่อกำมือ นอกจากนี้เนื่องจากกระดูกฮาเมตวางตัวอยู่ใกล้กับเส้นประสาทอัลนา (Ulnar nerve) จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสียหายกับเส้นประสาท ทำให้กล้ามเนื้อของมืออ่อนแรง และเสียความรู้สึกของฝ่ามือในบริเวณนิ้วนางและนิ้วก้อย
ภาพอื่นๆ
แก้-
กระดูกของมือข้างซ้าย มุมมองด้านฝ่ามือ
-
กระดูกของมือข้างซ้าย มุมมองด้านหลังมือ
-
ภาคตัดขวางผ่านข้อมือและนิ้วมือ