ยุคมืดของกรีซ
ยุคมืดของกรีซ เป็นช่วงเวลาในประวัติศาสตร์กรีซนับตั้งแต่สิ้นอารยธรรมไมซีนีประมาณ 1100 ปีก่อนคริสตกาลจนถึงเริ่มยุคอาร์เคอิกราว 750 ปีก่อนคริสตกาล[1]
ภูมิภาค | กรีซแผ่นดินใหญ่และทะเลอีเจียน |
---|---|
สมัย | กรีซโบราณ |
ช่วงเวลา | ป. 1100 – 750 ปีก่อนคริสตกาล |
ลักษณะเด่น | ชุมชนถูกทำลายและระบบเศรษฐกิจสังคมล่มสลาย |
ก่อนหน้า | อารยธรรมไมซีนี, อารยธรรมไมนอส |
ถัดไป | กรีซยุคอาร์เคอิก |
หลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่าการล่มสลายปลายยุคสัมฤทธิ์ที่ส่งผลต่อภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกในวงกว้างเป็นจุดเริ่มต้นของยุคนี้[2] นครและพระราชวังหลายแห่งของไมซีนีถูกทำลายหรือถูกทิ้งร้าง อารยธรรมฮิตไทต์ในช่วงเวลาเดียวกันประสบกับความวุ่นวายครั้งใหญ่ หลายเมืองตั้งแต่ทรอยถึงกาซาถูกทำลาย ขณะที่จักรวรรดิอียิปต์ระส่ำระสายจนนำไปสู่สมัยกลางที่สาม[3]
มีการตั้งนิคมขนาดเล็กกว่าเดิมหลังการล่มสลาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะอดอยากและการลดลงของประชากรอย่างสำคัญ[4] อักษรลิเนียร์บีที่ชาวไมซีนีใช้เขียนภาษากรีกสูญหายและภายหลังมีการพัฒนาชุดตัวอักษรกรีกเมื่อล่วงเข้ายุคอาร์เคอิก เครื่องปั้นดินเผากรีกหลัง 1100 ปีก่อนคริสตกาลขาดการตกแต่งแบบไมซีนีและกลายเป็นรูปแบบเรขาคณิตที่เรียบง่าย (1000–700 ปีก่อนคริสตกาล)
เดิมเชื่อว่ายุคนี้เป็นยุคที่การติดต่อระหว่างกรีซแผ่นดินใหญ่กับภูมิภาคอื่น ๆ สูญหาย ส่งผลให้ความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่อเล็กซ์ โนเดล นักโบราณคดีเสนอว่าโบราณวัตถุที่พบในเลฟกานดีบนเกาะยูบีอาในคริสต์ทศวรรษ 1980 "เผยให้เห็นว่าบางส่วนของกรีซมั่งคั่งกว่าเดิมและมีการติดต่อกับโลกภายนอกมากกว่าที่คิด เห็นได้จากอาคารอนุสรณ์และสุสานที่แสดงความเกี่ยวโยงกับไซปรัส อียิปต์และลิแวนต์ เป็นสัญลักษณ์ถึงชนชั้นสูงและอำนาจเช่นเดียวกับในยุคก่อน"[5] นอกจากนี้มีการพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวกรีกในไซปรัสและอัล-มีนาทางเหนือของซีเรีย
อ้างอิง
แก้- ↑ Martin, Thomas R., (October 3, 2019). "The Dark Ages of Ancient Greece": "...The Near East recovered its strength much sooner than did Greece, ending its Dark Age by around 900 B.C...The end of the Greek Dark Age is traditionally placed some 150 years after that, at about 750 B.C..." Retrieved October 24, 2020
- ↑ Mark, Joshua J. (September 20, 2019). "Bronze Age Collapse". World History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ February 21, 2022.
- ↑ For Syria, see M. Liverani, "The collapse of the Near Eastern regional system at the end of the Bronze Age: the case of Syria" in Centre and Periphery in the Ancient World, M. Rowlands, M.T. Larsen, K. Kristiansen, eds. (Cambridge University Press) 1987.
- ↑ Violatti, Cristian (January 30, 2015). "Greek Dark Age". World History Encyclopedia. สืบค้นเมื่อ February 21, 2022.
- ↑ Knodell, Alex, (2021). Societies in Transition in Early Greece: An Archaeological History , University of California Press, Oakland, p. 11.