ปลาหมอเฟอร์ซิเฟอร์

(เปลี่ยนทางจาก Cyathopharynx)
ปลาหมอเฟอร์ซิเฟอร์
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Cichlidae
วงศ์ย่อย: Pseudocrenilabrinae
เผ่า: Ectodini
สกุล: Cyathopharynx
Regan, 1906
สปีชีส์: C.  furcifer
ชื่อทวินาม
Cyathopharynx furcifer
(Boulenger, 1898)
ชื่อพ้อง[2]
  • Paratilapia furcifer Boulenger, 1898
  • Cyathopharynx furcifera (Boulenger, 1898)
  • Tilapia grandoculis Boulenger, 1899
  • Cyathopharynx grandoculis (Boulenger, 1899)
  • Ectodus foae Vaillant, 1899
  • Ophthalmotilapia foae (Vaillant, 1899)

ปลาหมอเฟอร์ซิเฟอร์ (อังกฤษ: Featherfin cichlid; ชื่อวิทยาศาสตร์: Cyathopharynx furcifer) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) จัดเป็นปลาเพียงชนิดเดีัยวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Cyathopharynx[3] (ขณะที่บางข้อมูลระบุว่าแบ่งออกเป็น 2 ซึ่งอีกชนิดหนึ่งนั้นคือ C. foai ซึ่งชนิดหลังนี้จะพบในระดับน้ำที่ลึกกว่าและมีความเข้มของสีลำตัวมากกว่า โดยสีจะออกไปทางโทนเข้มและจัดจ้าน บางแหล่งมีแก้มสีเหลือง โดยทั้ง 2 ชนิดนี้พบได้ในแหล่งน้ำเดียวกัน[4])

ปลาหมอเฟอร์ซิเฟอร์ เป็นปลาที่พบได้เฉพาะในทะเลสาบแทนกันยีกา เพียงที่เดียวเท่านั้น โดยตัวผู้สามารถเติบโตได้ยาวถึง 22 เซนติเมตร และตัวเมียมีขนาดประมาณ 13-14 เซนติเมตร ส่วนปลาที่ยังมีขนาดเล็ก เช่นขนาด 1-2 นิ้ว จะยังไม่ปรากฏสีสัน มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลาหมอสีในสกุล Ophthalmotilapia จนแทบจะแยกกันไม่ออก ปลาตัวผู้เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ (ขนาด 2.5-4 นิ้ว อายุประมาณ 10 เดือนขึ้นไป) จะมีสีสันสวยงาม ครีบต่าง ๆ จะยาวแลดูงามสง่า ในขณะที่ตัวเ้มียมีสีออกขาวออกเงิน ปลายครีบมนกลมไม่แหลมยาวเหมือนตัวผู้

โดยปกติในธรรมชาติ จะอาศัยอยู่ในระดับความลึกประมาณ 3-50 เมตร โดยแหล่งที่อยู่อาศัยจะครอบคลุมพื้นทรายกับก้อนหิน และก้อนกรวด อันเป็นแหล่งที่มีอาหารอยู่มากที่สุด จึงอาศัยอยู่ร่วมกับปลาหมอสีชนิดและสกุลอื่น ๆ ด้วย

เมื่อจะขยายพันธุ์ ตัวผู้จะทำการขุดรังเป็นปล่องคล้ายภูเขาไฟ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ฟุต พฤติกรรมจะไม่ก้าวร้าวมากนัก แต่จะมักไล่ปลาอื่นที่เข้ัามารบกวนบริเวณรัง ปลาตัวผู้ที่พร้อมจะผสมพันธุ์จะมีสีสันสวยงาม ครีบต่าง ๆ จะยาวสลวย จะว่ายน้ำสะบัดตัวเชิญชวนตัวเมียให้เข้ามาวางไข่ที่ปล่อง การผสมพันธุ์จะกระทำกันในปล่อง ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง ตัวผู้จะว่ายวนรอบตัวเมียเพื่อฉีดน้ำเชื้อให้ตัวเมียรับไปผสมกับไข่ในปาก เมื่อผสมพันธุ์เสร็จแล้ว ตัวเมียจะเป็นผู้ดูแลไข่ โดยเก็บรักษาไข่ไว้ในปากโดยไม่กินอาหารเลย ไข่ใช้เวลาฟักประมาณ 20-25 วัน จำนวนไข่มีประมาณ 10-60 ฟอง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแม่ปลา

นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม โดยสามารถที่จะเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้ ซึ่งการขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงนั้น ผู้เลี้ยงสามารถที่จะง้างปากแม่ปลาเพื่อนำไข่ออกมาอนุบาลเองได้ เมื่อเข้าสู่วันที่ 8 ของการอมไข่ เพื่อให้อัตราการรอดของลููกปลามีจำนวนมากขึ้น[4]

อ้างอิง แก้

  1. จาก IUCN
  2. จาก fishbase.org
  3. จาก itis.gov
  4. 4.0 4.1 หน้า 108-115, Cyathopharynx อัญมณีสายรุ้งแห่งแทนแกนยิกา โดย ปลาบ้านโรม คอลัมน์ Cichild Corner. นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 34 ปีที่ 3: เมษายน 2013

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Cyathopharynx furcifer ที่วิกิสปีชีส์