ปลาช่อนออแรนติ

(เปลี่ยนทางจาก Channa aurantimaculata)
ปลาช่อนออแรนติ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Channidae
สกุล: Channa
สปีชีส์: C.  aurantimaculata
ชื่อทวินาม
Channa aurantimaculata
Musikasinthorn, 2000

ปลาช่อนออแรนติ หรือ ปลาช่อนทองลายบั้ง หรือ ปลาช่อนเจ็ดสียักษ์[1] (ชื่อวิทยาศาสตร์: Channa aurantimaculata; อังกฤษ: Orange-spotted snakehead) เป็นปลาช่อนในสกุล Channa ชนิดหนึ่ง มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับปลาช่อนบาร์กา (C. barca) แต่มีส่วนหัวโตและแบนกว่า สีพื้นของลำตัวและหัวเป็นสีเหลืองทอง แต่เกล็ดทั้งส่วนหัวและลำตัวมีจุดสีน้ำตาลเข้มขนาดใหญ่เกือบเต็มเม็ด ยกเว้นบริเวณข้างลำตัวที่เป็นลายแถบแนวขวางไม่เป็นระเบียบหรือเป็นแต้มกลมขนาดใหญ่ มีสีเหลืองทองเรียงกันในแนวยาว เกล็ดข้างลำตัวประมาณ 51-54 เกล็ด ใต้คางและท้องมีสีขาว มีจุดสีน้ำตาลเข้มกระจายอยู่ทั่ว ครีบหลังและครีบก้นมีสีเหลืองอ่อน ครีบหลังมีก้านครีบทั้งหมด 45-47 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบ 28-30 ก้าน ครีบอกสีส้มมีสีเหลืองทองมีลายเส้นขวาง 6-7 แถบ ปลาตัวผู้วัยโตเต็มที่จะมีครีบหลัง และครีบก้นขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย มีสีสันสดใสมากกว่ามากโดยเฉพาะสีเหลือบม่วงอมน้ำเงินบนหัวและครีบหลัง ขณะที่ปลาตัวเมียจะมีบั้งสีเหลืองเป็นหลัก เหลือบสีอื่น ๆ ไม่สดเท่าตัวผู้ เมื่อมองจากด้านบนตัวผู้จะมีลำตัวเพรียวยาว และส่วนหัวที่กว้างกว่าตัวเมีย สามารถเพาะขยายพันธุ์ในตู้กระจกได้แล้ว โดยปลาตัวผู้จะเป็นฝ่ายอมและฟักไข่ [1]

มีความยาวเต็มที่ประมาณ 45 เซนติเมตร โตเต็มที่ได้ถึง 60 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ในแม่น้ำรามบุตรา ซึ่งเป็นแควสาขาของแม่น้ำพรหมบุตร ในตอนเหนือรัฐอัสสัมและรัฐอรุณาจัลประเทศของประเทศอินเดีย โดยในตอนแรกมักถูกสับสนกับปลาช่อนบาร์กาเนื่องจากมีลักษณะใกล้เคียงกันมากและพบในแหล่งน้ำเดียวกัน แต่ได้ถูกอนุกรมวิธานจาก ดร.ปรัชญา มุสิกสินธร นักมีนวิทยาชาวไทย ที่ได้เข้าไปศึกษาปลาในประเทศอินเดียเมื่อปี ค.ศ. 2000

ในธรรมชาติจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำในเขตป่าดิบชื้นที่มีความชื้นสูง และมีอุณหภูมิสูงในช่วงฤดูร้อน โดยจะขุดโพรงตามโคนรากไม้ได้ลึกถึง 2 เมตร เพื่อหนีความแห้งแล้ง และความหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาว ก่อนและกลับขึ้นมาหากินอีกครั้งและสืบพันธุ์ดังเดิมในช่วงฤดูมรสุมและช่วงน้ำท่วมแหล่งที่อาศัยดังเดิม[1]

นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม มีราคาถูกกว่าปลาช่อนบาร์กามาก ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นบางครั้งยังคงอ้างอิงสับสนกับปลาช่อนบาร์กาอยู่ [2]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 หน้า 109, CHANNA CRAZY คนคลั่งช่อน, "Wild Ambition" โดย ชวิน ตันพิทยคุปต์ และชัยพัทธ์ งามบุษบงโสภิน. นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 4 ฉบับที่ 42: ธันวาคม 2013
  2. หน้า 49 นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 5 ปีที่ 1 โดย ชัยวุฒิ กรุดพันธุ์ ISSN 19069243

แหล่งข้อมูลอื่น แก้