วงศ์ปลากดทะเล

(เปลี่ยนทางจาก Ariinae)

วงศ์ปลากดทะเล หรือ วงศ์ปลาอุก (อังกฤษ: Sea catfishes, Crucifix catfishes, Fork-tailed catfishes) จัดอยู่ในกลุ่มปลาที่มีก้านครีบ ในอันดับปลาหนัง ซึ่งเป็นปลาที่หากินตามพื้นน้ำ โดยมากจะไม่มีเกล็ด มีครีบแข็งที่ก้านครีบอก มีหนวด โดยมากเป็นปลากินซาก ทั้งซากพืช ซากสัตว์ พบทั้งน้ำจืด, น้ำเค็ม และน้ำกร่อย ทั่วเขตอบอุ่นของโลก ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ariidae (/อา-รี-อาย-ดี้/)

สำหรับปลาในวงศ์นี้ เป็นปลาที่อาศัยในบริเวณน้ำกร่อย เช่น ปากแม่น้ำ และในทะเล ส่วนมากมีรูปร่างคล้ายปลาสวายแต่มีส่วนหัวที่โตกว่าและแบนราบเล็กน้อย ครีบหลังยกสูงมีก้านแข็งคมเช่นเดียวกับครีบอก ครีบไขมันใหญ่ ครีบก้นสั้น ครีบหางเว้าลึก มีหนวด 1-3 คู่รอบปาก บนเพดานมีฟันเป็นแถบแข็งรูปกลมรี

โดยการแพร่พันธุ์ ตัวผู้จะอมไข่ไว้ในปาก รอจนกว่าไข่จะฟักเป็นตัว โดยหลังจากการผสมพันธุ์ภายนอกแล้วตัวเมียจะใช้ครีบก้นที่มีขนาดใหญ่และหนากว่าตัวผู้อุ้มไข่ไว้แล้วให้ตัวผู้มารับไป ไข่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 0.5-1 เซนติเมตร แล้วแต่ชนิด

กระจายพันธุ์ทั่วเขตร้อนของโลก พบในประเทศไทยประมาณ 20 ชนิด เช่น ปลาริวกิว หรือปลาลู่ทู (Arius thalassinus) และพบในน้ำจืดราว 10 ชนิด เช่น ปลากดหัวโต (Ketengus typus), ปลาอุก (Cephalocassis borneensis), ปลาอุกจุดดำ (Arius maculatus), ปลาอุกหัวกบ (Batrachocephalus mino) และ ปลากดหัวผาน (Hemiarius verrucosus) เป็นต้น

จินตภาพของกะโหลกปลากดทะเล (ขวา) ที่มองเห็นเป็นรูปพระเยซูตรึงกางเขน (ซ้าย)

โดยมากปลาในวงศ์นี้ จะถูกเรียกรวมกันว่า "อุก" เนื่องจากเมื่อถูกจับพ้นน้ำได้แล้วจะส่งเสียงร้องได้ โดยส่งเสียงว่า "อุก อุก"[1]

นอกจากนี้แล้ว ในมุมมองของชาวตะวันตก เมื่อมองกะโหลกของปลาในวงศ์นี้ซึ่งเป็นกระดูกแข็ง ก่อให้เกิดเป็นจินตภาพเห็นภาพมีคนหรือพระเยซูตรึงกางเขนอยู่ อันเป็นที่มาของชื่อสามัญในภาษาอังกฤษที่ว่า "Crucifix catfish"[2]

อ้างอิง

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้