ไฟรเออร์
ไฟรเออร์[1] (อังกฤษ: Friar) เป็นนักบวชคาทอลิกประเภทหนึ่ง ซึ่งสังกัดคณะนักบวชภิกขาจาร คำว่า ไฟรเออร์ มาจากภาษาอังกฤษ Friar ซึ่งมาจากภาษาฝรั่งเศส frère และภาษาละติน frater แปลว่า ภราดา (พี่น้องชาย) เป็นคำที่คริสตชนยุคแรกใช้เรียกกันภายในกลุ่มเพื่อแสดงความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีจึงนำคำนี้มาใช้เป็นชื่อคณะนักบวชที่ตนเองก่อตั้งขึ้น ว่า Ordo Fratrum Minorum (ในประเทศไทยแปลกันว่า คณะภราดาน้อย) ต่อมาคำว่าไฟรเออร์จึงแพร่หลายไปใช้กับคณะนักบวชอื่น ๆ (เฉพาะบางคณะ)
ข้อแตกต่างระหว่างไฟรอาร์กับนักพรต
แก้ทั้งไฟรเออร์และนักพรต (monk) ต่างเป็นนักบวชคาทอลิก แต่มีวัตรปฏิบัติต่างกัน ไฟรเออร์เป็นนักบวชที่เน้นวัตรด้านเผยแพร่ศาสนา ในยุคแรก ๆ ไฟรเออร์ไม่มีที่พักประจำ แต่จะเร่ร่อนไปเรื่อย ๆ ดำรงชีวิตโดยขอปัจจัยยังชีพจากประชาชน ไฟรเออร์จึงมีความเป็นอยู่ใกล้ชิตกับสังคมมาก[2] ขณะที่นักพรตจะเน้นวัตรการอธิษฐาน (prayer) การเพ่งพินิจ (contemplation) มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งเรียกว่าอารามซึ่งแยกต่างหากจากสังคม ยังชีพด้วยการเกษตรเลี้ยงตนเองภายในอารามนั้น[3]
คณะนักบวชไฟรเออร์
แก้ตามสภาสังคายนาลียงครั้งที่สอง ระบุว่าคณะไฟรเออร์แบ่งเป็น 2 ชั้น คือคณะใหญ่ 4 คณะ [2] ได้แก่
- คณะนักเทศน์ หรือที่รู้จักในนามคณะดอมินิกัน ได้รับฉายาว่าไฟรเออร์ชุดดำ (Black Friars) เพราะสวมเสื้อคลุมยาวสีดำทับแฮบิต คณะนี้ก่อตั้งโดยนักบุญดอมินิกในปี ค.ศ. 1215
- คณะภราดาน้อย หรือที่รู้จักกันในนามคณะฟรันซิสกัน มีฉายาว่าไฟรเออร์ชุดเทา (Grey Friar) ก่อตั้งโดยนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี
- คณะคาร์เมไลท์ ได้รับฉายาว่าไฟรเออร์ชุดขาว (White Friars)
- คณะออกัสติเนียน เดิมเป็นกลุ่มฤๅษีที่ยึดถือวินัยของนักบุญออกัสตินแห่งฮิปโป ต่อมาจึงรวมกันเป็นคณะเดียว
คณะเล็กมี 10 คณะ [2] ได้แก่
- คณะทรินิแทเรียน ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1198
- คณะเมอร์ซีดาเรียน ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1218
- คณะผู้รับใช้ ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1240
- คณะมินิม ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1474
- คณะภราดาน้อยคอนเวนชวล ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1521
- คณะภราดาน้อยกาปูชิน ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1525
- คณะคาร์เมไลท์ไม่สวมรองเท้า ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1568
- คณะออกัสติเนียนรีคอลเลกต์ ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1598
- คณะทรินิแทเรียนไม่สวมรองเท้า ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1599
- คณะการชดใช้บาป ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1781