โรงแรมอัลกอนควิน

40°45′20″N 73°58′55″W / 40.75553°N 73.98190°W / 40.75553; -73.98190

ภาพถ่ายด้านหน้าของโรงแรมอัลกอนควิน ในเวลากลางคืน

โรงแรมอัลกอนควิน (อังกฤษ : Algonquin Hotel) เป็นโรงแรมสำคัญในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่บนถนน 59 เวสต์ ที่ 44 ในแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก เปิดให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445) มีจำนวนห้องทั้งสิ้น 174 ห้อง ตัวโรงแรมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหลักเขตทางประวัติศาสต์ของนครนิวยอร์ก

โรงแรมแห่งนี้ประกอบด้วยประเพณีเฉพาะมากมาย ที่คิดขึ้นมาโดย แฟรงก์ เคส เจ้าของและผู้จัดการโรงแรมคนแรก โดยประเพณีที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ โต๊ะกลมอัลกอนควิน (Algonquin Round Table) ซึ่งเป็นประเพณีที่ผู้มีชื่อเสียงในวงการวรรณกรรม การละคร และภาพยนตร์ ต่าง ๆ มารวมกลุ่มเพื่อพบปะสังสรรค์กัน

ประวัติโรงแรม แก้

 
ป้ายชื่อของโรงแรม

แต่เดิม โรงแรมอัลกอนควินถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นอพาร์ตเมนต์แบบให้เช่า[1] แต่เนื่องจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นขายสัญญาเช่าได้น้อย เขาจึงยุติกิจการอพาร์ตเมนต์ไปแล้วหันมาประกอบธุรกิจโรงแรมแทน โดยใช้ชื่อโรงแรมว่า เดอะพูริแทน (The Puritan) ซึ่งต่อมา แฟรงก์ เคส เจ้าของโรงแรมคนถัดมา ได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า ดิอัลกอนควิน (The Algonquin) ตามชื่อของชนเผ่าอัลกอนควิน ซึ่งเป็นชนเผ่าแรกที่เคยมาตั้งรกรากบนพื้นที่ที่โรงแรมตั้งอยู่ในปัจจุบัน[2][3]

เคสซื้อกิจการของโรงแรมนี้ ด้วยการซื้อสัญญาเช่าทั้งหมดของโรงแรมในปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450)[4] และซื้อทรัพย์สินทั้งหมดรวมถึงตัวอาคารเป็นจำนวนเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 1927 (พ.ศ. 2470)[5] เคสดำรงตำแหน่งเจ้าของและผู้จัดการโรงแรมแห่งนี้จนเขาถึงแก่กรรมในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1946 (พ.ศ. 2489) ซึ่งผู้ที่ซื้อกิจการต่อจากเขาคือ เบน บอดน์ แห่งชารลส์ตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา โดยซื้อไปในราคาเกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[6] และดำเนินการฟื้นฟูปฏิสังขรณ์โรงแรมให้ใหม่[7] หลังจากนั้น ตั้งแต่บอดน์ขายกิจการนี้ให้กับกลุ่มนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) โรงแรมแห่งนี้ก็เปลี่ยนผู้ถือครองกรรมสิทธิ์อยู่หลายหน โดยมาสิ้นสุดที่มิลเลอร์ โกลบอล พร็อปเพอร์ตีส์ ในปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) และหลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็ถูกขายต่อให้กับ เอชอีไอ ฮอสพิทอลิตี[8]

ประเพณีของโรงแรม แก้

การเลี้ยงแมว แก้

โรงแรมแห่งนี้มีประเพณีการเลี้ยงแมวประจำโรงแรม ที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1930 โดยแมวตัวแรกเป็นแมวจรจัดที่แฟรงก์ เคส เก็บได้และนำมาเลี้ยงไว้ ต่อมา จอห์น แบร์รีมอร์ นักแสดงชาวอเมริกัน เห็นว่าควรจะตั้งชื่อแมวตัวดังกล่าวให้เกี่ยวกับวงการการแสดง เขาจึงตั้งชื่อให้มันว่า แฮมเลต (Hamlet) ซึ่งชื่อนี้ยังถูกนำมาใช้กับแมวเพศผู้ตัวอื่น ๆ ที่ถูกนำเลี้ยงไว้ที่นี่ด้วย ส่วนแมวที่เป็นเพศเมียจะใช้ชื่อว่า แมทิลดา (Matilda) สำหรับแมวประจำโรงแรมตัวปัจจุบัน เป็นแมวพันธุ์แร็กดอลล์เพศเมีย ที่เคยได้รับการเสนอชื่อให้เป็นแมวแห่งปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) ในงานแสดงแมวเวสต์เชสเตอร์ (นครนิวยอร์ก) โดยมันมีอีเมลประจำตัวด้วย ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ตอบอีเมลแทนมันคือผู้ช่วยผู้จักการทั่วไปของโรงแรม[9]

ค๊อกเทล แก้

แม้ว่าแฟรงก์ เคส จะเคยปิดบริการบาร์เหล้าของโรงแรมเมื่อปี ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460)[10] และประกาศให้โรงแรมเป็นเขตปลอดเครื่องดื่มมึนเมามาแล้วครั้งหนึ่ง ปัจจุบันโรงแรมอัลกอนควินก็มีรายการค๊อกเทลที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยมีส่วนผสมของวิสกี้ข้าวไรย์ นอยล์ลีแพรต และน้ำสับปะรด[11]

ปัจจุบัน ทางโรงแรมยังมีเครื่องดื่มรายการใหม่ชื่อว่า มาร์ทินีออนเดอะร็อค (Martini on the Rock) ที่ให้ลูกค้าเลือกชนิดของมาร์ทินีได้ตามใจ โดยจะเซิร์ฟพร้อมแก้วที่บรรจุน้ำแข็งที่เรียกกันว่า "เพชร" เอาไว้ก้อนหนึ่ง[12]

โต๊ะกลมอัลกอนควิน แก้

กลุ่ม โต๊ะกลมอัลกอนควิน หรืออีกชื่อหนึ่งว่า วงดุร้าย (Vicious Circle) ถือเป็นกิจกรรมประเพณีที่มีชื่อเสียงที่สุดสำหรับโรงแรมอัลกอนควิน กลุ่มนี้เริ่มก่อตั้งครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1919 (พ.ศ. 2462) โดยการรวมตัวกันของกลุ่มนักวารสาร นักประพันธ์ นักประชาสัมพันธ์ และนักแสดง เพื่อมาแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาซึ่งกันและกัน พร้อมกับการรับประทานอาหารกลางวันที่ห้องอาหารหลักของโรงแรม กลุ่มนี้พบปะสังสรรค์กันเกือบทุกวันเป็นเวลาถึง 10 ปี โดยมีสมาชิกหลัก ได้แก่[13]

 
ภาพวาดล้อเลียนกิจกรรม โต๊ะกลมอัลกอนควิน วาดโดย อัล เฮิร์ชเฟลด์

และสมาชิกขาจร ได้แก่[14]

การสงเคราะห์นักประพันธ์ แก้

ในช่วงที่แฟรงก์ เคส เป็นเจ้าของและผู้จัดการของโรงแรม เขาได้สร้างประเพณีการสงเคราะห์นักประพันธ์ที่ตกยากขึ้นมา ด้วยการจัดส่งขนมและผักขึ้นฉ่ายให้กับสมาชิกของโต๊ะกลมอัลกอนควินที่ยากจน ซึ่งปัจจุบัน ประเพณีนี้ได้รับการเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติจากการมอบขนมและผัก เป็นการมอบสิทธิในการรับประทานอาหารกลางวันของโรงแรมในราคาพิเศษให้กับนักประพันธ์ที่ต่อสู้ ดิ้นรนในการใช้ชีวิต[15]

นอกจากนั้น ทางโรงแรมยังเคยเปิดให้นักประพันธ์ที่อยู่ระหว่างการท่องเที่ยวเข้ามาพักในโรงแรมได้ฟรี 1 คืน โดยแลกกับหนังสือของพวกเขาพร้อมลายเซ็น[16] ซึ่งแบบแผนการปฏิบัติเช่นนี้ได้ยกเลิกไปแล้วในปัจจุบัน

ความเป็นหลักเขตทางประวัติศาสตร์ แก้

โรงแรมอัลกอนควินได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหลักเขตทางประวัติศาสตร์ประจำนครนิวยอร์ก (New York City History Landmark) ในปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530)[17] และหลักเขตด้านวรรณกรรมแห่งชาติ (National Literary Landmark) ในปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539)[18] โดยเฟรนด์สออฟไลบรารีส์ยูเอสเอ ซึ่งเหตุที่โรงแรมได้รับสถานะเหล่านี้เป็นผลมาจากประเพณีโต๊ะกลมอัลกอนควินที่รวบรวมผู้มีเกียติทางด้านวรรณกรรมและการละครของสหรัฐอเมริกาเอาไว้มากมาย

อ้างอิง แก้

  1. Frank Case. Tales of a Wayward Inn (New York: Garden City Publishing Co, 1938.) P. 39. (อังกฤษ)
  2. Ibid. P. 26-27.
  3. Dorothy Herrmann. With Malice Toward All: The Quips, Lives and Loves of Some Celebrated 20th-Century American Wits (New York: G. P. Putnam's Sons, 1982.) P. 19. (อังกฤษ)
  4. Frank Case. Tales of a Wayward Inn. P. 37. (อังกฤษ)
  5. Ibid. P. 189. (อังกฤษ)
  6. "Sale of a Wayward Inn เก็บถาวร 2013-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," www.time.com (เรียกข้อมูล 26 มิ.ย. 2551.) (อังกฤษ)
  7. Robert Dana. "Algonquin is Rich in Tradition," www.tipsontables.com (เรียกข้อมูล 26 มิ.ย. 2551.) (อังกฤษ)
  8. Cushman & Wakefield. "The Historic Algonquin Hotel Sold," www.cushwake.com (เรียกข้อมูล 26 มิ.ย. 2551.) (อังกฤษ)
  9. Jeff Lunden. "The Algonquin Hotel's Feline Celebrity," www.npr.org (เรียกข้อมูล 27 มิ.ย. 2551.) (อังกฤษ)
  10. Frank Case. Tales of a Wayward Inn. P. 172. (อังกฤษ)
  11. Anthony Rose. "101 cocktails that shook the world #17: The Algonquin," findarticles.com (เรียกข้อมูล 28 มิ.ย. 2551.) (อังกฤษ)
  12. John Ridley. "A $10,000 Martini at the Algonquin Hotel," www.npr.org (เรียกข้อมูล 28 มิ.ย. 2551.) (อังกฤษ)
  13. Marion Meade. Dorothy Parker: What Fresh Hell is This? (New York: Penguin Books, 1987.) P. 75. (อังกฤษ)
  14. Billy Altman. Laughter's Gentle Soul: The Life of Robert Benchley (New York: W. W. Norton & Company, 1997.) P. 167 - 168. (อังกฤษ)
  15. Jennifer Bleyer. "A Child of the Algonquin Looks for a New Generation of Wits เก็บถาวร 2008-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," www.mcsweeneys.net (เรียกข้อมูล 28 มิ.ย. 2551.) (อังกฤษ)
  16. Julie V. Iovine. "Algonquin, at Wits' End, Retrofits," query.nytimes.com (เรียกข้อมูล 28 มิ.ย. 2551.) (อังกฤษ)
  17. Susan Heller Anderson. "City Makes It Official: Algonquin Is Landmark," query.nytimes.com (เรียกข้อมูล 28 มิ.ย. 2551.) (อังกฤษ)
  18. "Landmarks by Year: 1996 เก็บถาวร 2008-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน," www.folusa.org (เรียกข้อมูล 28 มิ.ย. 2551.) (อังกฤษ)

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  • www.algonquinhotel.com - เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโรงแรมอัลกอนควิน (อังกฤษ)
  • algonquinroundtable.org - เว็บไซต์โต๊ะกลมอัลกอนควิน (อังกฤษ)