การยาสูบแห่งประเทศไทย

การยาสูบแห่งประเทศไทย (อังกฤษ: Tobacco Authority of Thailand, TOAT) ชื่อย่อ ยสท. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายบุหรี่สำเร็จรูป ปัจจุบันผลิตบุหรี่ทั้งสิ้น 18 ตรา และเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐสูงเป็นลำดับที่ 6 ของรัฐวิสาหกิจไทย มูลค่ากว่า 8,927.00 ล้านบาท (พ.ศ. 2557) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 โดยการยกฐานะ โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง (Thailand Tobacco Monopoly) ชื่อย่อ รยส. (TTM) ขึ้นเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561[2]

การยาสูบแห่งประเทศไทย
Tobacco Authority of Thailand
ตราสัญลักษณ์ของการยาสูบแห่งประเทศไทย

โรงงานผลิตยาสูบ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ
ภาพรวมการ
ก่อตั้ง19 เมษายน พ.ศ. 2482; 85 ปีก่อน (2482-04-19)
การก่อนหน้า
  • โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2482 – พ.ศ. 2561)
ประเภทรัฐวิสาหกิจ
สำนักงานใหญ่184 ถนนพระรามที่ 4 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร 10110
บุคลากร2,235 คน (พ.ศ. 2566)[1]
งบประมาณต่อปี41,123,580,000 บาท
(พ.ศ. 2566)[1]
ฝ่ายบริหารการ
  • ธีรัชย์ อัตนวานิช, ประธานกรรมการ
  • ภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม, ผู้ว่าการ
  • ศุภมาส กระจ่างสด, รองผู้ว่าการ
  • รักษ์ศักดิ์ อินทร์ปราม, รองผู้ว่าการ
  • วีระเดช กิไพโรจน์, รองผู้ว่าการ
  • เอกรัตน์ ชะโนวรรณะ, รองผู้ว่าการ
  • อานนท์ โห้วงษ์, รองผู้ว่าการ
ต้นสังกัดการกระทรวงการคลัง
เว็บไซต์เว็บไซต์ของการ

ประวัติ

แก้

ยุคโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง

แก้

ในช่วง พ.ศ. 2482 รัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายที่จะดำเนินกิจการอุตสาหกรรมยาสูบ โดยพลตรี หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันท์) เริ่มดำเนินการซื้อโรงงานยาสูบไทยของ ห้างหุ้นส่วนบูรพายาสูบจำกัด ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสะพานเหลือง ถนนพระราม 4 มาดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2482 โดยใช้ชื่อว่า "โรงงานยาสูบไทย สะพานเหลือง" ต่อมาเปลื่ยนชื่อเป็น "โรงงานยาสูบสรรพสามิต 2" จากนั้นกิจการได้ขยายตัวมากขึ้น และได้ซื้อกิจการของบริษัท กวางฮก จำกัด บริษัท ฮอฟฟัน จำกัด และโรงงานผลิตบุหรี่ย่านถนนเจริญกรุง พร้อมกับกิจการเพาะใบยาสูบของบริษัท ยาสูบอังกฤษ - อเมริกัน (ไทย) จำกัด เข้ามาสมทบกับโรงงานยาสูบ และใช้ชื่อว่า "โรงงานยาสูบ กรมสรรพสามิต"

กิจการดำเนินมาจนกระทั่งในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา เกิดการกักตุนบุหรี่ และเหตุการณ์ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดโรงงานผลิตบุหรี่ย่านถนนเจริญกรุง ในช่วงปลาย พ.ศ. 2484 ทำให้กิจการของโรงงานยาสูบต้องหยุดดำเนินการในชั่วระยะหนึ่ง

ใน พ.ศ. 2485 ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมโรงงานอุตสาหกรรมในกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2485 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2485[3] ให้โอนกิจการโรงงานยาสูบ กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ไปสังกัดกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จนใน พ.ศ. 2486 จึงโอนมาสังกัดกรมสรรพสามิตเช่นเดิม และได้มีประกาศพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2485 ให้การประกอบกิจการอุตสาหกรรมซิกาแรต เป็นอุตสาหกรรมผูกขาดของรัฐ แต่ในขณะเดียวกันโรงงานก็ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเป็นอย่างมาก จนถึงใน พ.ศ. 2488 จึงต้องปิดโรงงานที่สะพานเหลืองและที่ถนนวิทยุ

ใน พ.ศ. 2491 จึงได้เปิดดำเนินการโรงงานที่สะพานเหลืองอีกครั้งหนึ่ง และได้ดำเนินกิจการก้าวหน้าเป็นลำดับ จนกระทั่งใน พ.ศ. 2497 จึงได้โอนจากสังกัดกรมสรรพสามิต มาสังกัดกระทรวงการคลังโดยตรง[4] ใน พ.ศ. 2560 ได้มีประกาศโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เรื่อง โครงสร้างและการจัดส่วนงานในการบริหารงาน และสถานที่ติดต่อเพื่อขอรับข้อมูลข่าวสารของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง[5]โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง มีผู้อำนวยการยาสูบเป็นผู้บริหารสูงสุด โดยให้มีคณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง จำมีจำนวนอย่างน้อยห้าคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน สำหรับประธานกรรมการ ให้รัฐมนตรีแต่งตั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้แต่งตั้งผู้อำนวยการยาสูบเป็นหัวหน้าบริหารงานโรงงานยาสูบ และให้มีรองผู้อำนวยการยาสูบ อีก 5 คน

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... ซึ่งมีสาระสำคัญคือให้ยกฐานะโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังขึ้นเป็นการยาสูบแห่งประเทศไทยหรือ ยสท. มีฐานะเป็นนิติบุคคล

กระทั่งในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 70/2560 วันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ที่ประชุมได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... ไว้พิจารณา[6] ด้วยคะแนนเห็นด้วย 142 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนน ไม่มี

ต่อมาในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภาครั้งที่ 11/2561 วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. ... ในวาระที่ 2 และ 3[7] ผลปรากฏว่าสมาชิกให้ความเห็นชอบประกาศใช้เป็นกฎหมายด้วยคะแนนเห็นด้วย 192 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 4 เสียงพร้อมกับส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้กลับไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้า ฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย

ยุคการยาสูบแห่งประเทศไทย

แก้

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ "พระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561" มีผลใช้บังคับในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ระบุเหตุผลในการประกาศใช้ว่า "โดยที่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ แต่ไม่เป็นนิติบุคคล ทำให้มีข้อจำกัดบางประการในการดำเนินกิจการ ประกอบกับการผลิตบุหรี่ซิกาแรตเป็นกิจการผูกขาดของรัฐ สมควรดำเนินการโดยนิติบุคคล ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเฉพาะ และกำหนดให้มีคณะกรรมการการยาสูบแห่งประเทศไทยซึ่งแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่และมีอำนาจวางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการอันจะส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพในเชิงอุตสาหกรรมและขจัดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนา การปรับปรุงและควบคุมมาตรฐานการผลิต โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้"[8]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 รายงานประจำปี 2566 (Annual Report 2023) ของการยาสูบแห่งประเทศไทย
  2. พระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2561 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 33ก วันที่ 13 พฤษภาคม 2561
  3. พระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมโรงงานอุตสาหกรรมในกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2485ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 59 ตอนที่ 37 วันที่ 2 มิถุนายน 2485
  4. "ประวัติโรงงานยาสูบ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-07-20.
  5. โครงสร้างและการจัดส่วนงานในการบริหารงาน
  6. บันทึกการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 70/2560
  7. บันทึกการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2561
  8. พระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๑