โยห์น ราเบอ (เยอรมัน: John Rabe; 23 พฤศจิกายน 1882 — 5 มกราคม 1950) เป็นนักธุรกิจชาวเยอรมันผู้เป็นที่รู้จักกันในความพยายามที่จะหยุดยั้งการสังหารหมู่นานกิงของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นระหว่างการยึดครองนานกิง และการทำงานของเขาในการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนจีนในช่วงเหตุการณ์การสังหารหมู่นานกิง เขตปลอดภัยนานกิงที่เขาช่วยสร้างขึ้นนั้น ได้กลายมาเป็นที่พำนักและช่วยให้ชาวจีนประมาณ 200,000 คน รอดจากการสังหารหมู่

โยห์น ราเบอ
เกิด23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1882(1882-11-23)
ฮัมบวร์ค จักรวรรดิเยอรมัน
เสียชีวิต5 มกราคม ค.ศ. 1950(1950-01-05) (67 ปี)
สัญชาติเยอรมัน
อาชีพนักธุรกิจ สมาชิกพรรคนาซี
นายจ้างบริษัทซีเมนส์
มีชื่อเสียงจากผู้สร้างเขตปลอดภัยนานกิงขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนจีนจากการสังหารหมู่นานกิง
พรรคการเมือง พรรคนาซี

ประวัติช่วงแรกและงาน แก้

ราเบอเกิดในฮัมบวร์ค เยอรมนี ประกอบอาชีพในแวดวงธุรกิจและเดินทางไปทวีปแอฟริกาเป็นเวลาหลายปี ใน ค.ศ. 1908 เขาได้ออกเดินทางไปยังประเทศจีน และระหว่าง ค.ศ. 1910 และ 1938 เขาทำงานให้กับบริษัทซีเมนส์ ในเฉิ่นหยาง ปักกิ่ง เทียนจิน ก่อนจะย้ายมายังนานกิง[1]

การก่อตั้งเขตปลอดภัยนานกิง แก้

มีชาวตะวันตกจำนวนมากอาศัยอยู่ในนานกิงระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายหรือเป็นคณะเผยแผ่ศาสนา เมื่อกองทัพญี่ปุ่นมาถึงนานกิงและเริ่มต้นการทิ้งระเบิดถล่มเมือง ชาวต่างชาติเกือบทั้งหมดได้หลบหนีออกจากเมือง เหลือเพียง 22 คน ร่วมกับมิชชันนารีและนักธุรกิจชาวอเมริกันและชาวยุโรปจำนวน 15 คนได้ก่อตั้งกลุ่มขึ้น[2] วันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1937 เมื่อกองทัพญี่ปุ่นรุกคืบมายังนานกิง ราเบอร่วมกับชาวตะวันตกคนอื่น ๆ ได้จัดตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยเขตปลอดภัยนานกิง และก่อตั้งเขตปลอดภัยนานกิงเพื่อให้ที่พักและอาหารแก่ผู้ลี้ภัยชาวจีนจากการสังหารของทหารญี่ปุ่นอันจะเกิดขึ้นในไม่ช้า เขาได้อธิบายเหตุผลไว้ว่า:

"... นี่เป็นคำถามเกี่ยวกับศีลธรรม ... ผมไม่สามารถนำตัวเองให้ทรยศต่อความศรัทธาที่ผู้คนเหล่านี้มีต่อผมได้ และมันน่าซาบซึ้งที่เห็นพวกเขาเชื่อมั่นในตัวผม"[3]

เขตปลอดภัยถูกก่อตั้งขึ้นในสถานทูตต่างประเทศทั้งหมดและที่มหาวิทยาลัยนานกิง

ราเบอได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าคณะกรรมการระหว่างประเทศ ส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานภาพที่เป็นสมาชิกพรรคนาซีของเขาและการมีอยู่ของสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากลสองฝ่ายระหว่างเยอรมนีและญี่ปุ่น คณะกรรมการดังกล่าวได้ก่อตั้งเขตปลอดภัยนานกิงขึ้นทางส่วนตะวันตกของเมือง รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตกลงที่จะไม่โจมตีส่วนของเมืองที่ไม่มีทหารจีนประจำอยู่ และสมาชิกของคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยเขตปลอดภัยนานกิงได้เกลี้ยกล่อมให้รัฐบาลจีนถอนทหารทั้งหมดจากพื้นที่ดังกล่าว

วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1937 นายกเทศมนตรีนานกิง มา เชา-ชุน สั่งให้พลเมืองที่ยังหลงเหลืออยู่ในนานกิงย้ายเข้าไปในเขตปลอดภัยและได้หลบหนีไปหลังจากนั้น

ราเบอยังได้ให้ที่ดินของเขาเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวจีนเพิ่มอีก 650 คน

การสังหารหมู่นานกิง แก้

การสังหารหมู่นานกิงได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับล้านคน ขณะที่ราเบอและผู้บริหารเขตปลอดภัยนานกิงพยายามอย่างกระวนกระวายเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น เขาได้ใช้สถานภาพสมาชิกพรรคนาซีเพื่อรับรอง แต่ก็ทำได้แค่เพียงชะลอเหตุการณ์ออกไปเท่านั้น ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยหลายพันคนหลบหนีไปได้ สารคดี "นานกิง" ได้ยกย่องเขาว่าได้ช่วยชีวิตพลเรือนชาวจีนกว่า 250,000 คน และกล่าวกันว่าราเบอได้ช่วยเหลือชาวจีนระหว่าง 200,000-250,000 คน[4]

เดินทางกลับเยอรมนี แก้

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ราเบอเดินทางออกจากนานกิงตามคำสั่งเพื่อรักษาสัมพันธภาพระหว่างเยอรมนีและญี่ปุ่นในเวลานั้น เขาได้เดินทางไปยังเซี่ยงไฮ้ก่อนจะกลับเยอรมนี โดยได้นำเอาหลักฐานบันทึกความรุนแรงที่กระทำโดยกองทัพญี่ปุ่นในนานกิงจำนวนมากกลับไปด้วย

ราเบอได้แสดงภาพเคลื่อนไหวและภาพถ่ายของความรุนแรงของญี่ปุ่นในการบรรยายนำเสนอในเบอร์ลิน และเขียนถึงฮิตเลอร์ให้เขาใช้อิทธิพลเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ญี่ปุ่นยุติความรุนแรงขาดมนุษยธรรมเพิ่มอีก ผลคือ ราเบอถูกจับกุมตัวและได้รับการสอบสวนโดยเกสตาโป จดหมายของเขาไม่เคยส่งถึงฮิตเลอร์ เนื่องจากการเข้าแทรกแซงของซีเมนส์ เขาจึงได้รับการปล่อยตัว เขาได้รับอนุญาตให้เก็บหลักฐานของการสังหารหมู่ได้ ยกเว้นภาพเคลื่อนไหว แต่ไม่อนุญาตให้บรรยายหรือเขียนเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ราเบอทำงานให้กับซีเมนส์ต่อไป เขาถูกส่งตัวไปทำงานอย่างปลอดภัยในอัฟกานิสถาน ก่อนที่ราเบอจะย้ายกลับมาทำงานในสำนักงานใหญ่ซีเมนส์ในกรุงเบอร์ลินจนกระทั่งสงครามยุติ

หลังสงคราม แก้

หลังสงคราม ราเบอถูกประณามว่าเป็นสมาชิกพรรคนาซี และถูกจับกุมโดยทางการโซเวียต และทางการอังกฤษตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การสืบสวนสอบสวนไม่พบว่าเขาได้ประทำความผิดแต่อย่างใด เขาได้รับการประกาศว่า "ไม่ใช่นาซี" โดยฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1946 และได้ย้ายไปอาศัยอยู่กับญาติ ครอบครัวของเขาอดอาหารอย่างแท้จริงจนกระทั่งราเบอได้รับการสนับสนุนอาหารและพัสดุเงินบางส่วนซึ่งรัฐบาลจีนส่งให้เขาเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการกระทำของเขาระหว่างการสังหารหมู่นานกิง[4]

 
อนุสรณ์สถานโยห์น ราเบอที่เมืองนานกิง

เสียชีวิตและมรดก แก้

วันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1950 ราเบอเสียชีวิตด้วยโรคลมปัจจุบัน ค.ศ. 1997 โลงศพของเขาถูกย้ายจากเบอร์ลินไปยังนานกิงที่ซึ่งถูกฝังไว้เป็นเกียรติในแหล่งอนุสรณ์สถานรำลึกถึงการสังหารหมู่

อ้างอิง แก้

  1. "John Rabe Homepage: Curriculum Vitae". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-10. สืบค้นเมื่อ 2010-12-10.
  2. Ralph Kinney Bennett, They Will Not Be Forgotten, p. 53, Reader's Digest, October 1998
  3. "John Rabe's letter to Hitler, from Rabe's diary" เก็บถาวร 2010-12-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Population of Nanking, Jiyuu-shikan.org
  4. 4.0 4.1 John Rabe เก็บถาวร 2013-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, moreorless