แม่น้ำวอลกา

(เปลี่ยนทางจาก แม่น้ำโวลกา)

แม่น้ำวอลกา (รัสเซีย: Волга; อังกฤษ: Volga) เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดของทวีปยุโรป มีความยาวทั้งสิ้น 3,690 กิโลเมตร และถือกันโดยทั่วไปว่าเป็นแม่น้ำประจำชาติรัสเซีย ไหลผ่านทางด้านตะวันตกของประเทศ และเป็นแกนหลักของระบบแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป[ต้องการอ้างอิง] แหล่งเก็บกักน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกบางแห่ง ก็อยู่ตามแนวลำน้ำสายนี้ หากรวมความยาวของแม่น้ำสายย่อย และคูคลองต่าง ๆ ทั้งหมดที่มีทั้งสิ้น 151,000 สาย แม่น้ำจะยาวถึง 574,000 กิโลเมตร และหากรวมพื้นที่ของลำน้ำทั้งหมด จะเทียบเท่ากับ 1 ใน 3 ของอาณาเขตฝั่งยุโรปของรัสเซีย วอลกาแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ คือวอลกาตอนบน วอลกาตอนกลาง และวอลกาตอนล่าง[ต้องการอ้างอิง]

แม่น้ำวอลกาในเมืองยาโรสลัฟล์ ยามเช้าในฤดูใบไม้ร่วง

เรื่องที่มาของชื่อวอลกายังเป็นที่ถกเถียงกัน บางฝ่ายเชื่อว่าชื่อแม่น้ำน่าจะมีรากมาจากภาษาฟินแลนด์ ขณะที่บางคนก็บอกว่า ชื่อนี้คล้ายกับคำในภาษาสลาฟ ที่แปลว่า เปียกหรือชื้น นอกจากชื่อวอลกาแล้ว คนหลายเชื้อชาติยังเรียกชื่อแม่น้ำนี้แตกต่างกันไป ทอเลมีเรียกว่า "รา" ขณะที่ในยุคกลางเรียกว่า "อิทิล" หรือ "เอเทล"

การเดินทาง

แก้

ต้นน้ำของแม่น้ำอยู่ที่เนินเขาวัลได ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 225 เมตร ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมอสโก และห่างจากเซนต์ปีเตอส์เบิร์กไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 320 กิโลเมตร แม่น้ำไหลมาทางตะวันออกจนมาถึงเมืองคาซัน จากที่นี่มันได้วกลงใต้ และออกสู่ทะเลแคสเปียนที่เมืองอัสตราคัน ซึ่งต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 28 เมตร

แม่น้ำสายย่อย

แก้
 

วอลกามีระบบแม่น้ำสายย่อยมากมาย ที่สำคัญก็อย่างเช่นแม่น้ำกามา โอกา เว็ตลูกา และซูรา แม่น้ำวอลกา และแม่น้ำสายย่อยของมันถูกเรียกรวมกันว่า ระบบแม่น้ำวอลกา ที่ให้ความชุ่มชื้นกับพื้นที่ 1.35 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่นที่สุดของรัสเซีย บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำวอลกามีความยาวราว 160 กิโลเมตร โดยประกอบด้วยแม่น้ำสายเล็ก ๆ และคลองมากถึง 500 สาย และเป็นบริเวณเดียวในรัสเซียที่เราสามารถพบดอกบัว นกกระทุง และนกฟลามิงโกได้ ในช่วง 3 เดือนของฤดูหนาว แม่น้ำจะถูกปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งเกือบตลอดความยาวลำน้ำ

แหล่งความมั่งคั่ง

แก้

ตามแนวลำน้ำ มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ถึง 9 แห่ง และเขื่อนใหญ่อีกหลายแห่ง ก่อให้เกิดเป็นแหล่งเก็บกักน้ำหลังเขื่อนขนาดใหญ่มากมาย

วอลกามีความสำคัญต่อระบบการขนส่งและการเดินเรือภายในประเทศอย่างมาก เขื่อนทุกแห่งตามแนวลำน้ำมีระบบชิปล็อกขนาดใหญ่ ที่จะทำให้เรือขนาดใหญ่ สามารถเดินทางจากปลายสุดของแม่น้ำขึ้นไปจนเกือบถึงบริเวณต้นน้ำได้ ระบบคลองมอสโก ทำหน้าที่เชื่อมต่อแม่น้ำวอลกากับแม่น้ำมัสควา คลองวอลกา-ดอน เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำดอนกับทะเลดำ ส่วนเส้นทางน้ำวอลกา-บอลติก เชื่อมต่อทะเลสาบทางเหนือ เมืองเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก และทะเลบอลติก ระบบสาธารณูปโภคทางน้ำเหล่านี้ ถูกออกแบบมาให้รองรับเรือขนาดใหญ่ได้ อย่างระบบชิพล็อกในแม่น้ำวอลกามีขนาดถึง 290 x 30 เมตร ส่วนในแม่น้ำ หรือคลองสายอื่นๆของวอลกา อาจจะเล็กลงกว่านี้เล็กน้อย

มีเรือต่างชาติจำนวนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาวิ่งในเส้นทางสัญจรเหล่านี้ได้ แต่หลังจากที่รัสเซียมีการคบค้าสมาคมกับโลกภายนอกมากขึ้น คาดว่าในเร็ว ๆ นี้นโยบายดังกล่าวอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง

วอลกาให้ความชุ่มชื้นกับเขตตะวันตกของรัสเซียส่วนใหญ่ ดินที่อุดมสมบูรณ์ตามแนวชายฝั่งแม่น้ำ ทำให้ดินแดนแถบนี้เป็นแหล่งผลิตพืชธัญญาหารสำคัญ นอกจากนั้นแถวนี้ยังมีแร่ธาตุสำคัญมากมาย อุตสาหกรรมปิโตรเลียมจำนวนไม่น้อยมีศูนย์กลางอยู่ในเขตลำน้ำนี้ นอกจากนั้น แถบนี้ก็ยังพบก๊าซธรรมชาติ เกลือ และโพแทช บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำวอลกา และ ทะเลแคสเปียนที่อยู่ใกล้ๆกัน เป็นแหล่งสัตว์น้ำที่ชุกชม โดยเมืองอัสตราคาน ถือเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไข่ปลาคาเวียร์

การที่อุตสาหกรรม และการเกษตรที่มีการใช้สารเคมีจำนวนมากไปกระจุกอยู่ตามแนวลำน้ำ ปัจจุบันจึงมีความวิตกเรื่องปัญหาสภาวะแวดล้อมของแม่น้ำ