แดวู ลาโนส
แดวู ลาโนส (อังกฤษ: Daewoo Lanos) เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก (Subcompact Car) ที่ผลิตโดย แดวู ผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศเกาหลีใต้ เริ่มผลิตในปี พ.ศ. 2540 โดยออกมาเพื่อทดแทนรุ่นเก่าอย่าง แดวู เซียโล (อังกฤษ: Daewoo Cielo) ออกแบบโดย จอร์เจ็ตโต้ จูจาโร่ (อังกฤษ: Giorgetto Giugiaro) มีฐานการประกอบอยู่ที่ประเทศเกาหลีใต้ ,รัสเซีย ,อียิปต์ ,ยูเครน ,โปแลนด์และเวียดนาม มีตัวถังคอนเวอร์เทเบิล 2 ประตู แฮทช์แบค 3 ประตู แฮทช์แบค 5 ประตู ซีดาน 4 ประตูและรถตู้ 2 ประตู มีเครื่องยนต์ 1.3 ,1.4 ,1.5 และ 1.6 ลิตร ใช้เกียร์ธรรมดา 5 สปีดและเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด ระยะฐานล้อ 2,520 มม. ความยาวรุ่นแฮทช์แบค 4,074 มม. ซีดาน 4,235 มม. รถตู้ 4,247 มม. ความกว้าง 1,678 มม. ความสูง 1,432 มม. รุ่นรถตู้ 1,908 มม.
แดวู ลาโนส | |
---|---|
ภาพรวม | |
บริษัทผู้ผลิต | แดวู |
เริ่มผลิตเมื่อ | พ.ศ. 2540 - 2545 (Daewoo) พ.ศ. 2540 – 2563 (CKD and license-built models) |
ตัวถังและช่วงล่าง | |
ประเภท | รถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก (Subcompact Car) |
รูปแบบตัวถัง | คอนเวอร์เทเบิล 2 ประตู แฮทช์แบค 3 ประตู แฮทช์แบค 5 ประตู ซีดาน 4 ประตู รถตู้ 2 ประตู |
รุ่นที่คล้ายกัน | โตโยต้า สตาร์เล็ต/เทอร์เซล/ยาริส/วีออส ฮอนด้า แจ๊ซ/ซิตี้ นิสสัน มาร์ช/อัลเมร่า มิตซูบิชิ โคลท์/มิราจ มาสด้า 2 เชฟโรเลต อาวีโอ ฟอร์ด เฟสติวา/เฟียสตา ซูซูกิ คัลตัส/สวิฟท์ ฮุนได โพนี่/เอ็กเซล/แอคเซนท์ เกีย ไรโอ โปรตอน เซฟวี่/ซากา โฟล์กสวาเกน โปโล เฌอรี่ A1 โอเปิล คอร์ซา ไดฮัทสุ ชาเรด ซีตรอง AX/C3/DS3 เปอโยต์ 207/208 เฟียต พุนโต |
ระยะเหตุการณ์ | |
รุ่นก่อนหน้า | แดวู เซียโล |
รุ่นต่อไป | เชฟโรเลต อาวีโอ / แดวู คาลอส |
ที่มาของการพัฒนาแดวู ลาโนส มีดังนี้
แดวู มอเตอร์ส เคยร่วมเป็นพันธมิตรกับเจนเนอรัล มอเตอร์สตั้งแต่ในยุค 1970 จนถึงปี พ.ศ. 2535 แดวู มอเตอร์ส ก็ได้ประกาศยุติความร่วมมือกับ GM ดังนั้นแดวู มอเตอร์สจึงต้องเริ่มต้นพัฒนารถยนต์ด้วยตนเอง โดยพัฒนาออกมาทั้งหมด 3 รุ่นคือ แดวู ลาโนส สำหรับตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็กมาก (Subcompact Car) แดวู นิวบีรา สำหรับตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Compact Car) และ แดวู เลกันซา สำหรับตลาดรถยนต์นั่งขนาดกลาง (Mid-Size Car) สำหรับโครงการพัฒนาลาโนสเริ่มขึ้นเมื่อฤดูใบไม้ร่วง ปี พ.ศ. 2536 เพื่อทำตลาดแทน แดวู เซียโล (อังกฤษ: Daewoo Cielo) และแข่งขันกับรถยนต์ในตลาด B-Segment กว่า 20 รุ่น โดยเฉพาะคู่แข่งจากยุโรปและญี่ปุ่น เช่น โฟล์กสวาเกน กอล์ฟ ,โอเปิล แอสตร้าและโตโยต้า เทอร์เซล เป็นต้น โดยการออกแบบมีการแข่งขันระหว่าง Studio 4 แห่ง ปรากฏว่าผลงานของสตูดิโอ ITal Design ซึ่งเป็นผลงานของจิโอเจตโต จิวเจียโรได้ถูกนำมาผลิตออกขายจริง ในที่สุด ผ่านไป 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่งหลังจากการทดสอบในสภาพถนนและอากาศทั่วโลก ลาโนสภายใต้รหัสโครงการ T100 ก็ออกสู่ตลาดในปี พ.ศ. 2540 และลูกค้าทั่วโลกโดยเฉพาะแถบยุโรปที่มองหารถยนต์ราคาถูกแต่คุ้มค่า ให้การต้อนรับอย่างดีจนประสบความสำเร็จ จนบริษัท FSO และ AutoVAZ ได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตในโปแลนด์ ภายใต้แบรนด์ของเขาในช่วงปีเดียวกันกับที่ลาโนสออกจำหน่าย มีเครื่องยนต์ให้เลือก 4 ขนาด ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเครื่องยนต์ 1.4 และ 1.6 ลิตร (GM Family 1 E-TEC)
ในประเทศไทย ทางบริษัท ไทยแดวูมอเตอร์เซลส์ จำกัด (ที่ตั้งเดียวกับสำนักงานเก่าของ Renault Thailand บนถนนพระราม 9) เคยนำเข้าแดวู ลาโนสเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 ซึ่งแดวู ลาโนส เป็น 1 ใน 3 ของรถยนต์ที่ไทยแดวูมอเตอร์เซลส์มีแผนจะนำเข้ามาจำหน่าย ซึ่งอีก 2 รุ่นก็คือ แดวู นิวบีรา และแดวู เลกันซา แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น ยังไม่ทันได้เปิดตัวก็ต้องพับแผนไปก่อน ทำให้ไม่ได้นำมาขาย และทำให้แดวู ลาโนสเป็นรถยนต์รุ่นสุดท้ายของแดวูในไทย โดยลาโนสเวอร์ชันไทยมีทั้งตัวถังซีดานและแฮทช์แบค ชูจุดขายที่การเป็นรถเกาหลีสไตล์ยุโรป เลิกจำหน่ายไปในปี พ.ศ. 2542 เนื่องจากการปิดกิจการรถยนต์แดวูในประเทศไทยทำให้ลาโนสต้องเลิกขายไปด้วย สาเหตุเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น ทำให้รถจากเกาหลีที่เข้ามาขายในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2540-2545 โดยเฉพาะฮุนไดและแดวูต้องปิดกิจการ (ฮุนไดกลับมาขายอีกครั้งปี พ.ศ. 2550) ส่วนเกียถึงแม้ว่าจะขาดทุนหนักเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจเช่นเดียวกันแต่ยนตรกิจ คอร์เปอเรชั่นได้เข้ามาสานต่อในปี พ.ศ. 2542
ในตลาดต่างประเทศสถานการณ์ก็ไม่ต่างจากในเมืองไทยมากนัก ถึงแม้จะประสบความสำเร็จในยุโรป เนื่องจากเป็นรถสไตล์ยุโรปที่คุ้มค่าคุ้มราคา แต่ในสหรัฐอเมริกา กลับไม่ประสบความสำเร็จ แถมยังผีซ้ำด้ำพลอยตรงที่ว่าในช่วงที่รถเปิดตัว เกาหลีใต้ ไทยและเอเชียกำลังประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา