เอลีซาแบ็ต-หลุยส์ วีเฌ-เลอเบริง

จิตรกรหญิงชาวฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 (ค.ศ. 1755–1842)

เอลีซาแบ็ต-หลุยส์ วีเฌ-เลอเบริง (ฝรั่งเศส: Élisabeth-Louise Vigée-Le Brun) หรือ มารี เอลีซาแบ็ต-หลุยส์ วีเฌ (Marie Élisabeth-Louise Vigée; 16 เมษายน ค.ศ. 1755 - 30 มีนาคม ค.ศ. 1842) เป็นจิตรกรสมัยโรโคโคชาวฝรั่งเศสของคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 ผู้มีชื่อเสียงในการเขียนจิตรกรรมภาพเหมือน เอลีซาแบ็ตแสดงความสนใจในศิลปะฟื้นฟูคลาสสิกแต่ไม่ได้จัดอยู่ในจิตรกรกลุ่มนี้เพราะความสนใจของเอลีซาแบ็ตจำกัดอยู่แต่เพียงการแต่งตัวของแบบที่เขียนให้เป็นคลาสสิก มิใช่ความสนใจในการสร้างจิตรกรรมประวัติศาสตร์แบบคลาสสิก

หลุยส์ วีเฌ-เลอเบริง
เกิดเอลีซาแบ็ต-หลุยส์ วีเฌ
16 เมษายน ค.ศ. 1755(1755-04-16)
ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เสียชีวิต30 มีนาคม ค.ศ. 1842(1842-03-30) (86 ปี)
ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ผลงานเด่น
ขบวนการไฮโรโกโก
คลาสสิกใหม่
คู่สมรสฌ็อง-บาติสต์-ปีแยร์ เลอเบริง
บุตร2 คน รวมถึงจูลี
บิดามารดา
ลายมือชื่อ

ชีวิตเบื้องต้น

แก้

เอลีซาแบ็ต-หลุยส์ วีเฌ-เลอเบริงเกิดเมื่อวันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1755 ที่เมืองปารีสในประเทศฝรั่งเศส โดยมีชื่อเมื่อแรกเกิดว่า มารี เอลีซาแบ็ต-หลุยส์ วีเฌ ลูกสาวของจิตรกรภาพเหมือนและภาพบนพัด หลุยส์ วีเฌ ผู้ที่เอลีซาแบ็ตได้รับการศึกษาทางศิลปะเมื่อเริ่มแรก มารดาของเอลีซาแบ็ตเป็นช่างแต่งผม[1] เอลีซาแบ็ตถูกส่งไปอยู่กับญาติในเอเปร์นอง (Epernon) จนอายุ 6 ปีเมื่อเอลีซาแบ็ตเข้าคอนแวนต์และอยู่ที่นั่นอีก 5 ปี พ่อของเอลีซาแบ็ตเสียชีวิตเมื่อเอลีซาแบ็ตอายุได้ 12 ปี ในปี ค.ศ. 1768 แม่ของเอลีซาแบ็ตแต่งงานกับช่างอัญมณี, ฌาคส์ ฟรองซัวส์ เลอ เซเวร์ หลังจากนั้นครอบครัวก็ย้ายไปถนนแซงต์โอเนอร์ไม่ไกลจากพระราชวังปาแล-รัวยาล ระหว่างนี้เอลีซาแบ็ตก็ได้รับการศึกษาแนะนำจากกาเบรียล ฟร็องซัว ดัวย็อง (Gabriel François Doyen), ฌ็อง-บาติสต์ เกริซ (Jean-Baptiste Greuze) และโฌแซ็ฟ แวร์แน (Joseph Vernet) และจิตรกรสำคัญคนอื่น ๆ ในยุคนั้น

เมื่ออยู่ในวัยรุ่น เอลีซาแบ็ตก็เริ่มเขียนภาพเหมือนเป็นอาชีพ หลังจากห้องเขียนภาพถูกปิดเพราะไม่มีใบอนุญาต เอลีซาแบ็ตก็สมัครเป็นสมาชิกของสถาบันเซนต์ลูคที่ไม่เต็มใจแสดงภาพเขียนของเอลีซาแบ็ตในห้องแสดงภาพของสถาบัน แต่เอลีซาแบ็ตก็ได้รับเข้าเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1774

มารี อองตัวเนต

แก้
 
“ภาพเหมือนของมารี อองตัวเนต”, ค.ศ. 1783 ที่บ่งว่าเขียนโดยเอลีซาแบ็ต-หลุยส์ วีเฌ-เลอเบริง

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1775 เอลีซาแบ็ตแต่งงานกับฌ็อง-บาติสต์-ปีแยร์ เลอเบริง จิตรกรและผู้ค้าขายศิลปะ เอลีซาแบ็ตเขียนภาพเหมือนของเจ้านายคนสำคัญ ๆ ของสมัยนั้นหลายพระองค์และเมื่อมีชื่อเสียงมากขึ้น เอลีซาแบ็ตก็ได้รับเชิญจากสำนักพระราชวังแวร์ซายส์ให้เขียนภาพมารี อองตัวเนต สมเด็จพระราชินีแห่งฝรั่งเศส

มารี อองตัวเนตทรงพอพระทัยในฝีมือจนทรงให้เอลีซาแบ็ตเขียนภาพเหมือนของพระองค์และพระราชโอรสธิดาของพระองค์และพระญาติพระวงศ์ต่อมาอีกหลายปี เอลีซาแบ็ตคลอดลูกสาวเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1780 ชื่อฌานน์ ฌูลี หลุยส์ ผู้ที่เอลีซาแบ็ตเรียกว่า “ฌูลี”

 
“ชาร์ลส์ อเล็กซานเดอร์ เดอ คาลอง” โดยเอลีซาแบ็ต-หลุยส์ วีเฌ-เลอเบริง

ในปี ค.ศ. 1781 เอลีซาแบ็ตและสามีก็ไปเดินทางไปเที่ยวบริเวณฟลานเดอร์สและเนเธอร์แลนด์ที่เอลีซาแบ็ตได้เห็นงานเขียนต่าง ๆ ของจิตรกรเฟล็มมิชคนสำคัญ ๆ ที่ทำให้ได้รับแรงบันดาลใจในการทดลองการเขียนวิธีใหม่ ระหว่างการเดินทางเอลีซาแบ็ตก็มีโอกาสเขียนภาพเหมือนของเจ้านายที่นั่นรวมทั้งเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1783 เอลีซาแบ็ตก็ได้รับเข้าเป็นสมาชิกของ “ราชสถาบันแห่งจิตรกรรมและประติมากรรม” ในฐานะจิตรกรภาพอุปมานิทัศน์ประวัติศาสตร์ อาเดลาอีด ลาบีย์-กียาร์ (Adélaïde Labille-Guiard) ก็ได้รับเข้าเป็นสมาชิกในวันเดียวกัน

การยอมรับของเอลีซาแบ็ตเข้าเป็นสมาชิกได้รับการต่อต้านเพราะสามีเป็นผู้ค้าศิลปะ แต่ในที่สุดมติของสมาคมก็ถูกเปลี่ยนโดยพระราชโองการของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 โดยมีมารี อองตัวเนตหนุนหลังพระสวามีในนามของเอลีซาแบ็ต การยอมรับสตรีสองคนเข้าเป็นสมาชิกของสถาบันในวันเดียวกันเป็นการเปรียบเทียบงานของสตรีสองคนแทนที่จะเปรียบคุณค่าของงานของเอลีซาแบ็ตกับงานของสมาชิกของสมาคมที่มีอยู่แล้วซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด

ในปี ค.ศ. 1789 อเล็กซานเดอร์ คูชาสกี (Alexander Kucharsky) ก็ได้เป็นช่างเขียนประจำราชสำนักต่อจากเอลีซาแบ็ต

การปฏิวัติฝรั่งเศส

แก้

หลังจากที่พระราชวงศ์ถูกจับระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส เอลีซาแบ็ตก็หลบหนีจากฝรั่งเศสกับลูกสาว เอลีซาแบ็ตไปทำงานอยู่ในอิตาลี ออสเตรีย และรัสเซีย ในกรุงโรม ภาพเขียนของเอลีซาแบ็ตได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง และทำให้เอลีซาแบ็ตได้รับเข้าเป็นสมาชิกของสถาบันเซนต์ลูคแห่งโรม

ในรัสเซียเอลีซาแบ็ตเข้าเขียนภาพในราชสำนักของพระจักรพรรดินีนาถแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซีย ขณะที่พำนักอยู่ที่นั่นเอลีซาแบ็ตก็ได้เข้าเป็นสมาชิกของ “สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งเซนต์ปีเตอส์เบิร์ก” ส่วนฌูจีแต่งงานกับขุนนางรัสเซีย[1]

เอลีซาแบ็ตได้รับการต้อนรับกลับฝรั่งเศสระหว่างรัชสมัยของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 งานของเอลีซาแบ็ตเป็นที่ต้องการกันในหมู่ชนชั้นสูงไปทั่วยุโรป เอลีซาแบ็ตเดินทางไปอังกฤษเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 และได้เขียนภาพเหมือนของขุนนางหลายคนรวมทั้งจอร์จ กอร์ดอน ไบรอน บารอนไบรอนที่ 6 (George Gordon Byron, 6th Baron Byron) ต่อมาในปี ค.ศ. 1807 เอลีซาแบ็ตก็เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์และได้เข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมเพื่อความก้าวหน้าของวิจิตรศิลป์ (Société pour l'Avancement des Beaux-Arts” แห่งเจนีวา

 
“ภาพเหมือนตนเอง” เขียนในฟลอเรนซ์ ค.ศ. 1790

เอลีซาแบ็ตพิมพ์บันทึกความทรงจำในปี ค.ศ. 1835 และปี ค.ศ. 1837 ซึ่งเป็นที่น่าสนใจตรงที่ทำให้เห็นภาพพจน์ของการศึกษาของจิตรกรในปลายสมัยของจิตรกรรมที่มีอิทธิมาจากราชสถาบัน

เอลีซาแบ็ตยังคงเขียนภาพจนอายุอยู่ในวัยห้าสิบ เอลีซาแบ็ตซื้อบ้านที่ลูฟว์เซียน (Louveciennes) ในแคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์ และพำนักอยู่ที่นั่นจนถูกยึดโดยทหารของปรัสเซีย ระหว่างสงครามนโปเลียน ในปี ค.ศ. 1814 เอลีซาแบ็ตพำนักอยู่ในปารีสจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1842 ร่างของเอลีซาแบ็ตถูกนำกลับไปฝังที่ลูฟว์เซียนบนหินบนหลุมศพมีคำจารึก “Ici, enfin, je repose…”

เอลีซาแบ็ตเขียนภาพเหมือนด้วยกันทั้งหมด 660 ภาพและภาพภูมิทัศน์อีก 200 ภาพ ภาพของเอลีซาแบ็ตตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลกรวมทั้งพิพิธภัณฑ์เฮอร์มิทาจและหอศิลป์แห่งชาติ (ลอนดอน) ในยุโรปและอีกหลายพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 CyberPathways Art World
  • Lebrun, “Souvenirs”, ปารีส, ค.ศ. 1835-ค.ศ. 1837 (translated by Lionel Strachey, New York, 1903).
  • CyberPathways Art World

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เอลีซาแบ็ต-หลุยส์ วีเฌ-เลอเบริง

สมุดภาพ

แก้