เอกราชอัสซีเรีย
เอกราชอัสซีเรีย (Assyrian independence) เป็นขบวนการทางการเมืองและลัทธิที่สนับสนุนการสร้างดินแดนอัสซีเรียสำหรับชาวคริสต์อัสซีเรียที่พูดภาษาแอราเมอิกในภาคเหนือของอิรัก การต่อสู้ของขบวนการเอกราชอัสซีเรียเริ่มตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน บริเวณที่ชาวอัสซีเรียอาศัยอยู่คือบริเวณนินนาวา-โมซูล ซึ่งเป็นที่ตั้งของนินเนเวห์ เมืองหลวงของอัสซีเรียในคัมภีร์ไบเบิล[1] บริเวณนี้เป็นที่รู้จักในชื่อสามเหลี่ยมอัสซีเรีย[2]
สงครามโลกครั้งที่ 1และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
แก้ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวอัสซีเรียราวครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในตุรกีปัจจุบันโดยเฉพาะบริเวณฮักการี ใน พ.ศ. 2417 ยังเติร์กเริ่มตั้งเป้าหมายที่กลุ่มชาวคริสต์ในเอเชียน้อยและมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นเช่นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอัสซีเรีย ในระยะแรก ผู้นำทางเชื้อชาติและศาสนาถูกกำจัดออกจากชุมชน ในขณะที่จุดหนึ่งนั้นหัวหน้านิกายอัสซีเรียแห่งตะวันออก มาร์ เอไช ชีมุนที่ 13 อายุเพียง 12 ปี [3]
จักรวรรดิออตโตมันประกาศสงครามกับชาติพันธมิตรและอังกฤษในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2417 ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ อังกฤษจึงเข้ามาสนับสนุนอัสซีเรีย อังกฤษต้องการให้บริเวณโมซูลที่มีน้ำมันมากเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอิรักแทนที่จะเป็นของตุรกี ชาวอัสซีเรียทำสัญญากับอังกฤษในการที่จะนำดินแดนนั้นมาคืนให้กับอังกฤษ หลังจากการรุกรานโมซูลของยังเติร์ก กองทัพอัสซีเรียนำโดย อาคา เปโตรส ต่อสู้กับตุรกีและยึดดินแดนบางส่วนคืนให้กับอังกฤษ รายละเอียดของสงครามยังอยู่ในจดหมายโต้ตอบระหว่างเปโตรสกับอังกฤษ[4] ในช่วงปลาย พ.ศ. 2465 ไม่มีชาวอัสซีเรียเหลือในตุรกี และมีจำนวนน้อยในอิหร่าน ส่วนใหญ่อพยพลงใต้ไปรวมกันที่นินเนเวห์
การประชุมและสนธิสัญญา
แก้การประชุมสันติภาพปารีส
แก้ใน พ.ศ. 2462 บิชอปนิกายซีรีแอกออร์ทอดอกซ์ มอร์ อาฟรัม บาร์ซอม เขียนจดหมายถึงฝ่ายสัมพันธมิตร[5]ว่าชาวอัสซีเรียกว่า 90,000 คนถูกฆาตกรรมโดยชาวตุรกี และชาวอัสซีเรียคัดค้านการขอปกครองตนเองของชาวเคิร์ด จดหมายนี้ทำให้ฝรั่งเศสเชิญตัวแทนของชาวอัสซีเรียสามกลุ่มเข้าร่วมในที่ประชุมระหว่างการประชุมสันติภาพ ได้แก่ชาวอัสซีเรียจากสหรัฐ อิรักและอิหร่าน
ชาวอัสซีเรียจากอิหร่านมาถึงฝรั่งเศสเป็นกลุ่มแรก อังกฤษซึ่งกลัวการปรากฏตัวของชาวอัสซีเรียที่อยู่นอกการควบคุมได้บีบบังคับให้ตัวแทนจากอิหร่านออกจากปารีสไป ต่อมาตัวแทนของชาวอัสซีเรียในสหรัฐมาถึง พวกเขาต้องการดินแดนอัสซีเรียที่เป็นอิสระ ซึ่งรวมภาคเหนือของเบต-นะห์เรน เริ่มตั้งตาทางใต้ของแม่น้ำซับ ดิยาร์ บากีร์ไปจนถึงเทือกเขาอาร์เมเนีย และดินแดนนี้ควรอยู่ในอาณัตของมหาอำนาจ
ตัวแทนจากสหรัฐและอังกฤษปฏิเสธแผนการนี้ อธิบายว่าประชาชนของสหรัฐกังวลเกี่ยวแผนการแบ่งแยกตุรกีทุกรูปแบบ ทำให้ตัวแทนชาวอัสซีเรียไม่ประสบความสำเร็จ ตัวแทนอัสซีเรียจากอิรักเดินทางมาถึงล่าช้าเพราะต้องรอให้อังกฤษอนุญาต ออกเดินทางมาปารีสเมื่อ 21 กรกฎาคม โดยต้องเดินทางผ่านลอนดอนและถูกกักตัวที่ลอนดอนจนการประชุมที่ฝรั่งเศสยุติ ตัวแทนของกลุ่มนี้คือนายซูร์มา คานิม เขาต้องการให้อนุญาตให้ชาวอัสซีเรียเดินทางกลับไปฮักการี และผู้ที่ทำร้ายชาวอัสซีเรียต้องถูกลงโทษ
สนธิสัญญาแซแวร์ส
แก้สนธิสัญญาแซแวร์สลงนามเมื่อ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ระหว่างอังกฤษ ชาติพันธมิตรและตุรกีเกี่ยวกับการสถาปนาตุรกีใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวอัสซีเรียไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเนื่องจากชาวอัสซีเรียไม่ได้มีอำนาจเท่าเทียมกับชาติอื่นๆ แต่มีการนำข้อเสนอของชาวอัสซีเรียมาพิจารณา และมีข้อกำหนดการคุ้มครองชนกลุ่มน้อยในทางศาสนาในสนธิสัญญา[6] ผลของสนธิสัญญานี้ โมซูลเป็นของอิรักโดยฝรั่งเศสได้ส่วนแบ่ง 25% จากรายได้จากน้ำมันในโมซูล
สนธิสัญญาโลซาน
แก้การประชุมระหว่างตุรกีกับชาติพันธมิตรเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 เมื่อตุรกีร้องขอให้ทบทวนเรื่องการรวมโมซูลเข้ากับอิรักจนนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาโลซานเมื่อ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 การประชุมครั้งนี้ชาวอัสซีเรียถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมประชุมอีกเช่นเคย โดยพวกเขาได้คำสัญญาจากอังกฤษว่าสิทธิของพวกเขาจะได้รับการคุ้มครอง ทั้งนี้ อาคา เปโตรส นายพลแห่งกองทัพอัสซีเรียได้เข้าร่วมในการประชุม ผลของสนธิสัญญา ตัวแทนจากสหรัฐยืนยันตามข้อเสนอของอังกฤษ ทำให้ตุรกีไม่ได้ดินแดนโมซูลคืนอย่างที่ต้องการ ทั้งนี้รายได้จากน้ำมัน 20% เป็นของสหรัฐ อังกฤษอ้างว่าดินแดนโมซูลนี้จะถูกรักษาไว้เพื่อจัดตั้งรัฐของชาวเคิร์ดและชาวอัสซีเรียในอนาคต[7]
การประชุมที่คอนสแตนติโนเปิล
แก้การประชุมนี้จัดขึ้นเมื่อ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2467 เป็นการประชุมระหว่างตุรกีกับอังกฤษ ชาวอัสซีเรียไม่ได้เข้าร่วม โดยเชื่อว่าอังกฤษจะต่อสู้เพื่อพวกตน จดหมายจากตัวแทนของชาวอัสซีเรียเขียนขึ้นโดยการชี้นำของเซอร์ Henry Conway Dobbs ผู้ตรวจการณ์อิรักจากอังกฤษ ในหัวข้อที่ว่า “แถลงการณ์เรื่องโครงการการจัดตั้งถิ่นฐานของชาวอัสซีเรียในอิรัก”[8] รัฐบาลตุรกีกล่าวอ้างว่าโมซูลเป็นส่วนหนึ่งของตุรกี และ Fet’hi Beg ประกาศว่าชาวอัสซีเรียซึ่งเขาเรียกว่าชาวเนสโตเรียนั้นจะได้รับการต้อนรับในการกลับสู่ดินแดนเดิมในตุรกี พวกเขาจะได้รับสิทธิเสรีภาพ เซอร์ Percy Cox กล่าวว่าโมซูลเป็นของอิรักและชาวคริสต์อัสซีเรียต้องการความคุ้มครองจากการข่มเหงของตุรกี
ในที่สุด การประชุมนี้ไม่บรรลุข้อตกลง ตุรกีสั่งให้ยกทหารเข้าประชิดชายแดนเพื่อรวมโมซูลโดยใช้กำลัง กองกำลังทหารเกณฑ์ชาวอัสซีเรีย 2000 คนถูกส่งขึ้นเหนือเพื่อป้องกันอิรัก เพราะกองทัพอิรักในขณะนั้นไม่พร้อมสำหรับหน้าที่นี้ กองทัพชาวอัสซีเรียมีบทบาทมากในการผนวกโมซูลเข้ากับอิรักตามการรับรองของสันนิบาตชาติ
ข้อชี้แนะของสันนิบาตชาติ
แก้มีขึ้นเมื่อ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2468 โดยกล่าวว่าชาวอัสซีเรียจะได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ถ้าพวกเขากลับสู่ตุรกี และความสูญเสียระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 จะได้รับการชดใช้[9] และยังระบุว่าหัวหน้าชาวอัสซีเรีย มัร เอไช ชีมุนเบ มีสิทธิในการดูแลชาวอัสซีเรีย แต่คำชี้แนะนี้ไม่ได้รับการยอมรับ
ใน พ.ศ. 2468 ศาลถาวรเพื่อการตัดสินระหว่างชาติ (Permanent Court of International Justice) เข้ามาแทรกแซงปัญหาเส้นแบ่งแดน และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2468 เสนอการแก้ปัญหาโดยปฏิเสธการอพยพชาวอัสซีเรียกลับสู่ฮักการีและยกดินแดนนั้นให้ตุรกี ส่วนดินแดนโมซูลยกให้อิรัก และให้มีการจัดแนวชายแดนใหม่ รวมทั้งแนะนำให้อังกฤษดูแลอิรักในฐานะดินแดนในอาณัติต่อไปอีก 25 ปี เพื่อคุ้มครองชาวอัสซีเรีย[10]
สิทธิมนุษยชนของชาวอัสซีเรีย
แก้เมื่อ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 ชาวอัสซีเรียยังคงคัดค้านการกระทำทารุณต่อพวกเขาและยังส่งจดหมายถึงสันนิบาตชาติ ร้องขอรายงานจากรัฐบาลอังกฤษและอิรักเกี่ยวกับสถานะของตน ศาลถาวรเพื่อการตัดสินระหว่างชาติไม่เชื่อถือรายงานจากอังกฤษและอิรัก และร้องขอให้ประเทศทั้งสองปฏิบัติตามภาระผูกพันต่อชาวอัสซีเรีย
สัญญาของอังกฤษและการร้องทุกข์ของอัสซีเรีย
แก้อังกฤษปฏิเสธข้อชี้แนะของคณะกรรมการอาณัติด้วยเหตุผลว่าข้อแนะนำเหล่านั้นควรส่งไปที่รัฐบาลตุรกี ไม่ใช่อิรัก แม้ว่าฮักการีเป็นบ้านเกิดของชาวอัสซีเรีย แต่ผู้อพยพออกมาแล้วไม่ควรกลับเข้าไปอีก ควรอยู่ในที่ที่รัฐบาลอิรักจัดให้
สนธิสัญญามากมายที่มีการลงนามระหว่างอังกฤษกับอิรักแสดงให้เห็นว่าอังกฤษเตรียมให้อิรักเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ ข้อเรียกร้องหลักที่คณะกรรมการอาณัติได้จากชาวอัสซีเรียคือ พวกเขากลัวการสิ้นสุดของการอยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษ ข้อเรียกร้องดังกล่าวระบุวันที่ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2474 20 ตุลาคม พ.ศ. 2474 และ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ข้อเรียกร้องนี้บางส่วนถูกปฏิเสธโดยเซอร์ Francis Humphrys เพราะส่งในนามบุคคลไม่ได้ส่งในนามชาวอัสซีเรีย
ข้อเรียกร้องที่ลงวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ส่งโดยมัร เอไช ชีมุนที่ 13 เรียกร้องให้อนุญาตให้ชาวอัสซีเรียออกจากอิรักก่อนการสิ้นสุดการอยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษ และเป็นไปไม่ได้ที่ชาวอัสซีเรียจะอยู่ในอิรัก ผลจากการเรียกร้อง ทำให้คณะกรรมการอาณัติมีความกังวลเกี่ยวกับชาวคริสต์และควรให้สิทธิ์กลุ่มชนเหล่านี้ส่งข้อเรียกร้องสู่สันนิบาตชาติได้โดยตรงในอนาคต ในการตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง รัฐบาลอิรักได้จัดที่อยู่ให้ชาวอัสซีเรีย แต่บริเวณนั้นเป็นบริเวณที่มีไข้มาลาเรียชุกชุม ทำให้ชาวอัสซีเรียนับร้อยคนต้องตายด้วยไข้มาลาเรีย
สภาแห่งสันนิบาตชาติยอมรับคำชี้แนะและข้อเสนอของอิรักในการรับประกันการคุมครองชนกลุ่มน้อยเมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ทำให้อิรักได้เป็นสมาชิกสันนิบาตชาติเมื่อ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2475 [11]
การสังหารหมู่ชาวอัสซีเรียในอิรัก
แก้คำถามเกี่ยวกับชนชาติอัสซีเรียถูกนำเข้าสู่เจนีวาโดยมัร เอไช ชีมุนที่ 13 อีกครั้ง เขาพยายามเสนอต่อสภาเกี่ยวกับสถานะของชนชาติอัสซีเรีย ที่ประชุมสันนิบาตชาติยืนยันสิทธิของการเป็นชุมชนในอิรักที่มีสิทธิปกครองตนเอง
หลังจากการสถาปนาราชอาณาจักรอิรักใน พ.ศ. 2475 ปฏิกิริยาของชาวอัสซีเรียในการปฏิเสธการแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ไฟซาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลอิรักออกคำสั่งเนรเทศเมื่อ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2476 และปลดออกจากการถือสัญชาติอิรัก การลุกฮือขึ้นสู้ที่ล้มเหลวนำไปสู่การฆาตกรรมหมู่ชาวอัสซีเรีย 3,000 คนในภาคเหนือของอิรัก ซึ่งมีพยานรู้เห็นและเขียนบันทึกไว้หลายฉบับ[12]
ชาวอัสซีเรียออกแถลงการณ์เมื่อ 16 กรกฎาคม ขอความช่วยเหลือภายใน 30 วัน แต่อังกฤษกลัวว่าการส่งทหารเข้าไปจะทำให้ความชอบธรรมในอิรักของตนเสียไปจึงซื้อเวลาเป็นภายใน 4 เดือน กองทหารอังกฤษออกจากอียิปต์เข้าสู่อิรักเมื่อถึงเวลาที่กำหนด หลังจากการเจรจากับหัวหน้าชาวอัสซีเรีย ไม่มีชาวอิรักคนใดต้องรับผิดชอบกับการฆาตกรรม ชาวอัสซีเรียจำนวนมากเริ่มอพยพเข้าสู่ซีเรียซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสในขณะนั้น ทำให้กองทัพของชาวอัสซีเรียถูกแบ่งเป็นสองส่วนด้วย จากเหตุการณ์ใน พ.ศ. 2476 นี้ ชาวอัสซีเรียกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันแห่งความทุกข์ทรมาน
มัร เอไช ชีมุนในเจนีวากับเยาซูฟ มาลิก
แก้หลังจากที่สันนิบาตชาติรับเรื่องของชาวอัสซีเรียว่าเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้แก้ไข หัวหน้าชาวอัสซีเรียเสนอต่อสันนิบาตให้จัดตั้งดินแดนสำหรับชาวอัสซีเรียและชาวเคิร์ดในจังหวัดโมซูล โดยจักรูปแบบการปกครองแบบพิเศษ เขาได้เสนอแผนการตามคำแนะนำของลอร์ด Curzon รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษเมื่อ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2462
ในขณะเดียวกัน อาลี อัลกาอิลานี นายกรัฐมนตรีของอิรักประกาศว่าชาวอัสซีเรียควรหาที่อยู่ใหม่นอกเขตอิรัก โดยรัฐบาลอิรักสัญญาว่าจะให้ความร่วมมือในการจัดตั้ง สันนิบาตชาติสั่งให้คณะกรรมการจากชาติสมาชิก 6 ชาติ มองหาความเป็นไปได้ของแผนการนี้เมื่อ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2476
ในวันที่ 24 ตุลาคม ชาวอัสซีเรียส่งข้อเรียกร้องนำโดยเยาซูฟ มาลิก ชาวอัสซีเรียที่ลี้ภัยไปเลบานอน และเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างไซปรัสเบรุตและดามัสกัส ซึ่งแสดงถึงความเป็นไปภายในอิรักและเกมการเมืองของอังกฤษ
ในช่วงตั้งแต่ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 – เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2478 คณะกรรมการมองหาที่ตั้งใหม่ให้ชาวอัสซีเรียไม่ว่าจะเป็นบราซิล กายอานาอังกฤษ ไนเจอร์ แต่ล้มเหลวทั้งหมด ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2478 เสนอให้ส่งไปอยู่ในบริเวณ Khabour และ Ghab ในซีเรียแต่ก็ล้มเหลวอีก การดำเนินการเกี่ยวกับชาวอัสซีเรียในอิรักไม่มีความก้าวหน้าใดๆ จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อิรักภายใต้การนำของ อาลี อัลกาอิลานีเข้าร่วมกับเยอรมันเพื่อหวังจะกำจัดอิทธิพลของอังกฤษออกไปอย่างสมบูรณ์ การคงอยู่ของอังกฤษในอิรักเกิดขึ้นด้วยผลงานของชาวอัสซีเรีย 1500 คนที่ช่วยให้กองทัพอากาศของอังกฤษที่มีฐานที่มั่นในฮับบานียะต่อสู้กับกองทหารอาหรับ 60,000 คนได้
ความเป็นไปได้ของการได้รับเอกราชของอัสซีเรียในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
แก้ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการก่อตั้งรัฐของชาวอิสราเอลใน พ.ศ. 2491 ทำให้ชาวอัสซีเรียมีความหวังเพิ่มมากขึ้น
มัร เอไช ชีมุนในสหประชาชาติ
แก้มัร เอไช ชีมุนได้เสนอข้อเรียกร้องของชาวอัสซีเรียตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อสหประชาชาติ ข้อเรียกร้องหลายข้อใน พ.ศ. 2488 และ พ.ศ. 2489 ถูกส่งไปที่สำนักทั่วไปของสหประชาชาติ
ข้อเรียกร้องต่อสำนักเลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับการฆาตกรรมหมู่ชาวอัสซีเรียในอิหร่าน
แก้ข้อเรียกร้องถูกส่งโดยมัร เอไช ชีมุน หัวหน้าของนิกายอัสซีเรียแห่งตะวันออก เขาได้ต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเวลากว่า 50 ปี ตั้งแต่ยุคของสันนิบาตชาติจนถึงสหประชาชาติ
อัสซีเรียในยุคสาธารณรัฐอิรัก
แก้จากแรงดลใจของกามัล อับเดล นัสเซอร์ เจ้าหน้าที่จากกองพันที่ 19 ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามเจ้าหน้าที่อิสระ ภายใต้การนำของนายพลจัตวาอับดุลการิม กาสเซ็ม และ พ.อ. อับดุล ซาลาม อารีฟ ได้โค่ล้มราชวงศ์ฮาชิไมต์เมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 การโค่นล้มราชวงศ์ของอิรักนำความหวังใหม่มาสู่ชาวอัสซีเรีย แต่เพียงช่วงเวลาอันสั้น กาสเซ็มถูกลอบฆ่าในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 ทำให้อิรักเข้าสู่ยุคการเมืองไม่แน่นอน และเข้าสู่ยุคการปกครองโดยพรรคบาธ ในยุคนี้ รัฐบาลได้ยอมรับวัฒนธรรมของกลุ่มผู้พูดภาษาซีเรียค (อัสซีเรีย คัลเดีย และสมาชิกของนิกายซีเรียตะวันออก) ภาษาซีเรียคใช้สอนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาในกลุ่มผู้พูดภาษานี้ควบคู่ไปกับภาษาอาหรับ มีนิตยสารและโทรทัศน์ที่ใช้ภาษาซีเรียค [13]อย่างไรก็ตาม ขบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชยังคงดำเนินต่อไป พ.ศ. 2511 ธงอัสซีเรียใหม่ประดิษฐ์ขึ้นโดยที่ประชุมในอิหร่าน พ.ศ. 2520 รัฐบาลอัสซีเรียของกลุ่มผู้อพยพในสหรัฐแสดงเจตจำนงในการตั้งรัฐปกครองตนเองของชาวอัสซีเรีย
สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อซัดดัม ฮุสเซนขึ้นสู่อำนาจ วัฒนธรรมของกลุ่มชาวซีเรียคไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป ใน พ.ศ. 2515 ซัดดัมมีนโยบายเปลี่ยนกลุ่มที่ไม่ใช่ชาวอาหรับให้เป็นชาวอาหรับ ซึ่งได้แก่ ชาวอัสซีเรีย ชาวเคิร์ด ชาวเติร์กเมน และชาวอาร์เมเนีย ระหว่างสงครามอิรัก-อิหร่าน ชาวอัสซีเรียจำนวนมากต้องตายในสงคราม กลายเป็นว่าชาวอัสซีเรียในอิรักฆ่าชาวอัสซีเรียในอิหร่าน คาดว่าชาวอัสซีเรียตายในสงครามนี้ราว 60,000 คน ระหว่างที่ซัดดัมเรืองอำนาจ ชาวอัสซีเรียที่เคยมีอยู่ 2 – 2.5 ล้านคนได้อพยพไปอยู่จอร์แดน ซีเรีย และเลบานอนเป็นจำนวนมาก
อิรักยุคหลังพรรคบาธ
แก้การสิ้นสุดอำนาจของซัดดัม ฮุสเซนหลังการรุกรานอิรักใน พ.ศ. 2546 เหลือชาวอัสซีเรียในอิรักราว 800,000 คน ขบวนการประชาธิปไตยอัสซีเรียเป็นพรรคการเมืองกลุ่มเล็กๆมีส่วนในการปลดปล่อยเมืองที่มีความสำคัญในด้านน้ำมันคือเมืองกีร์กุกและโมซูลทางภาคเหนือ ชาวอัสซีเรียไม่ได้ถูกเชิญเข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดอนาคตของอิรัก รายงานเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลเฉพาะกาลแสดงข้อมูลของอิรักหลังการรุกราน รวมชาวอัสซีเรีย (คริสต์) ของเยานาเดม กานา ผู้นำขบวนการประชาธิปไตยอัสซีเรียที่เป็นปฏิปักษ์กับซัดดัมตั้แต่ พ.ศ. 2522 ทุกวันนี้สื่อตะวันตกยอมรับว่าในอิรักมีกลุ่มชนที่สำคัญสามกลุ่มคือชาวอาหรับนิกายซุนนี ชาวอาหรับนิกายชีอะหฺ และชาวเคิร์ด การจัดตั้งเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดได้รับการสนับสนุนจากชาวอัสซีเรีย
อนุสัญญาอัสซีเรียและการปกครองตนเอง
แก้การเคลื่อนไหวของชาวอัสซีเรียในอิรักและสหรัฐมีแนวโน้ม แยกดินแดนเฉพาะส่วนของตนออกมา โดยแต่ละชุมชน (อาหรับ อัสซีเรีย เติร์กเมนและเคิร์ด) ต่างปกครองชุมชนของตัวเองภายในรัฐ สภาของแต่ละชุมชนมีอำนาจเต็มในด้านศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา การเกษตร พลังงาน และการป้องกันตนเอง แผนการของเขตปกครองตนเองของชาวอัสซีเรียอยู่ในบริเวณโมซูล
เหตุการณ์ปัจจุบัน
แก้โบสต์หลายแห่งถูกวางระเบิดเมื่อ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2546 มีผู้เสียชีวิต 19 คน การโจมตีโบสถ์ของชาวอัสซีเรียยังคงดำเนินต่อไป โดยความพยายามในการขอปกครองตนเองของชาวอัสซีเรียในทางการเมืองยังดำเนินการต่อไป ประธานาธิบดีอิรัก อียัด อัลลานีกล่าวว่าเขายอมรับแผนการนี้ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะเขาพ้นจากตำแหน่งไปหลังการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 รัฐมนตรีต่างประเทศของอิรัก ฮูชียาร์ เซบารี สนับสนุนแนวคิดการจัดตั้งเขตปกครองตนเองของชาวอัสซีเรีย[14] แต่ในสัปดาห์เดียวกันโบสต์ของชาวอัสซีเรีย 5 แห่งในอิรักถูกลอบวางระเบิด[15]ปัจจุบันสถานการณ์ในอิรักยังไม่สงบ
อ้างอิง
แก้- ↑ Minorities in the Middle East: a history of struggle and self-expression By Mordechai Nisan
- ↑ The Origins of War: From the Stone Age to Alexander the Great By Arther Ferrill - Page 70
- ↑ The Forgotten Genocide: Eastern Christians, the Last Assyrians By Sébastien de Courtois
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-14. สืบค้นเมื่อ 2008-07-27.
- ↑ http://www.bethsuryoyo.com/images/Articles/AframBarsom/AfBarsom7.html เก็บถาวร 2015-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน original letter] และ revised clearer version เก็บถาวร 2015-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Treaty of Sevres, 1920
- ↑ The Legal Regime of the Turkish Straits By Nihan Unlu, Nihan Ünlü - Page 32
- ↑ Islam and Dhimmitude: Where Civilizations Collide - Page 149 by Bat Yeor, Miriam Kochan, David Littman
- ↑ League of Nations Documents and Serial Publications, 1919-1946 [microformguides.gale.com/Data/Download/3028000R.pdf]
- ↑ Recueil des cours - Page 39 by Hague Academy of International Law
- ↑ The Admission of Iraq to Membership in the League of Nations Manley O. Hudson The American Journal of International Law, Vol. 27, No. 1 (Jan., 1933), pp. 133-138 [1]
- ↑ Assyrians of Eastern Massachusetts - Page 66 by Sargon Donabed, Ninos Donabed
- ↑ Twelfth periodic reports of States parties due in 1993 : Iraq. 14/06/96, Committee on the Elimination of Racial Discrimination (the Iraqi government's point of view
- ↑ Zinda 30 November 2005
- ↑ Iraq losing its best and brightest