เหอ เจิ้น (นักอนาธิปไตย)

เหอ-ยิน เจิ้น (จีน: 何殷震, ป. ค.ศ. 1884 – ป. ค.ศ. 1920) เป็นนักคตินิยมสิทธิสตรี (Feminism in China) และนักอนาธิปไตย (Anarchism in China) ชาวจีนในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

เหอ เจิ้น

เธอเกิดที่เมืองอี๋เจิง (Yizheng) มณฑลเจียงซู มีชื่อจริงว่า เหอ ปาน (จีน: 何班) แต่เปลี่ยนชื่อเป็น เหอ เจิ้น (เหอ "ฟ้าผ่า") หลังจากที่สมรสกับนักนักวิชาการที่มีชื่อเสียง หลิว ชือเผย์ (Liu Shipei) ใน ค.ศ. 1903 ถึงกระนั้น เธอลงชื่องานเขียนของเธอว่า เหอ-ยิน เจิ้น เพื่อรวมนามสกุลเดิมของแม่เธอไว้ด้วย เธอได้เผยแพร่งานที่โจมตีอำนาจทางสังคมของผู้ชายอย่างหนักในวารสารอนาธิปไตยต่าง ๆ โดยกล่าวว่าสังคมจะไม่สามารถเป็นอิสระเสรีได้หากไม่มีการปลดแอกผู้หญิง[1]

ประวัติ แก้

เหอ เจิ้น เกิดในครอบครัวที่มั่งคั่งในมณฑลเจียงซู และได้รับการศึกษาในวรรณกรรมคลาสสิกจีน (Chinese classics) เป็นอย่างดีแม้เธอจะเป็นผู้หญิง เธอสมรสกับ หลิว ชือเผย์ ใน ค.ศ. 1903 และย้ายไปอาศัยที่เซี่ยงไฮ้กับเขา ที่ที่เธอได้รับการศึกษาต่อ ณ โรงเรียนหญิงรักชาติ (จีน: 爱国女学) ที่ก่อตั้งและดำเนินการโดย ช่าย หยวนเผย์ (Cai Yuanpei)

เธอกับหลิวย้ายไปอยู่ที่เมืองโตเกียว ใน ค.ศ. 1904[2] ที่ที่เธอได้กลายเป็นแกนนำในกลุ่มอนาธิปไตยชาวจีนกลุ่มหนึ่ง และเป็นผู้มีส่วนร่วมหลักในวารสารหลายฉบับ เช่น เทียนอี่ป้าว (Tianyi bao, จีน: 天義報, วารสารแห่งความยุติธรรมโดยธรรมชาติ) ซึ่งถูกตีพิมพ์ระหว่าง ค.ศ. 1907 - 1908 และยังรวมไปถึงวารสารชื่อ ซินฉือจี่ (Xin Shiji, จีน: 新世紀, ศตวรรษใหม่ หรือ ยุคสมัยใหม่) ซึ่งมีบรรณาธิการเป็นกลุ่มอนาธิปไตยอีกกลุ่มที่เมืองปารีส นำโดย หลี่ ฉือเฉิง (Li Shizeng, จีน: 李石曾) และ อู๋ จื้อฮุย (Wu Zhihui, จีน: 吳稚暉) เธอและคู่สมรสของเธอทั้งสองเขียนงานใช้นามปากกา บทความหลายชิ้นถูกเข้าใจผิดว่าเป็นของหลิว[3]

เจิ้นยังได้ก่อตั้งสมาคมเพื่อการฟื้นฟูสิทธิสตรี (Women's Rights Recovery Association, จีน: 女子复权会) ซึ่งเรียกร้องให้มีการใช้กำลังเพื่อหยุดการกดขี่ผู้หญิงของผู้ชาย และให้มีการต่อต้านชนชั้นปกครองและนายทุน ในขณะเดียวกันก็ยกย่องคุณค่าประเพณีดั้งเดิม เช่นเรื่องความเพียรและความเคารพต่อประชาคมส่วนใหญ่[2]

ใน ค.ศ. 1909 หลังจากมีความขัดแย้งกับนักวิชาการสายอนุรักษ์นิยมที่เหยียดชาวแมนจูชื่อ จาง ไท่หยาน (Zhang Taiyan, จีน: 章太炎) เธอและหลิวจึงกลับไปประเทศจีนเพื่อทำงานให้กับรัฐบาลแมนจู ภายหลังจากการปฏิวัติซินไฮ่ หลิวได้ทำงานกับรัฐบาลใหม่ และเป็นบุคคลากรของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง[4]

บั้นปลายชีวิตของเจิ้นยังคงเป็นปริศนา หลังจากหลิวได้เสียชีวิตจากวัณโรค ใน ค.ศ. 1919 มีคำเล่าลือว่าเธอนั้นไปบวชกับพระที่ชื่อว่าเสี่ยวชี แต่ก็มีรายงานบางฉบับกล่าวว่าเธอเสียชีวิตไปด้วยภาวะหัวใจสลายหรือความผิดปกติทางจิตอย่างหนึ่ง[3]

ปรัชญา แก้

เหอ เจิ้น มีแนวคิดเกี่ยวกับ "ปัญหาของผู้หญิง" (จีน: 妇女问题) และการถูกกดขี่ของผู้หญิงซึ่งถูกยิบยกขึ้นมาในประเทศจีนช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ต่างออกไป เธอเชื่อว่าสถานะเพศกับชนชั้นทางสังคมนั้นแยกจากกันไม่ได้ และได้วิเคราะห์ความทุกข์ยากที่ผู้หญิงชาวจีนต้องทนอยู่มาเป็นเวลาพัน ๆ ปีจากมุมมองของแรงงาน เธอแบ่งแยกตัวเองออกจากนักคิดสตรีนิยมในสมัยเดียวกันตรงที่เธอพิจารณาว่าอนาธิปไตยเป็นเงื่อนไขเดียวที่จะทำให้ปลกแอกผู้หญิงได้อย่างสมบูรณ์ได้ ต่างจากผู้อยู่ร่วมสมัยคนอื่น ๆ เช่น เหลียง ฉี่ชาว (Liang Qichao, จีน: 梁啓超) ซึ่งมองว่าการปลดแอกผู้หญิงนั้นเป็นปัจจัยในการฟื้นฟูประเทศจีน เจิ้นเอาการแก้ไขปัญหาการกดขี่ของผู้หญิงมาเป็นเป้าหมายสูงสุด[5] คตินิยมสิทธิสตรีของเจิ้นนั้นก่อตัวขึ้นมาจากการวิจารณ์ทุนนิยมของเธอ โดยเฉพาะความไร้มนุษยธรรมของมัน ในความคิดของเธอ ผู้หญิงจะไม่มีวันเป็นอิสระได้ตราบใดที่ทุนนิยมยังคงอยู่ แนวการวิจารณ์นี้เป็นปรัชญาซึ่งแตกต่างจากสตรีนิยมในตะวันตก ณ เวลานั้นซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิงว่าเป็นการปลดแอกขั้นสุดท้าย เจิ้นไม่ได้วิจารณ์เพียงแค่รูปแบบทางสังคมที่ผู้หญิงต้องประสบพบเจอ แต่ยังรวมถึงการถูกระงับทางการเมืองและวัฒนธรรมที่จำกัดเสรีภาพของผู้หญิงด้วย[6]

ทฤษฎีแรงงาน แก้

แนวคิดเรื่องทฤษฎีแรงงาน (Work (human activity)) ของ เหอ เจิ้น มาจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ เธอกล่าวว่าตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ ผู้หญิงจีนถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะอย่างในบ้าน และถูกห้ามไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก พวกเขาไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ ทำให้ต้องพึ่งพาคู่สมรสของพวกเขา และจึงทำให้ตกไปอยู่ใต้พลังและอำนาจของเขา[7] เธอเห็นต่างจากนักคิดชายหลายคนซึ่งวิจารณ์ผู้หญิงที่พึ่งพาคู่สมรสโดยตำหนิว่านั้นผู้หญิงว่าด้อยกว่าผู้ชาย เธอวิจารณ์ความย้อนแย้งของพวกเขา โดยกล่าวว่าในเมื่อผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้ออกจากบริเวณภายในที่พวกเขาอยู่ การหางานเพื่อเลี้ยงชีพตัวเองเป็นสิ่งที่พวกเขาคิดไม่ถึง แม้ว่าผู้หญิงจากชนชั้นล่างจะเป็นส่วนหนึ่งของกำลังแรงงาน พวกเธอถูกบังคับให้ทำงานเพราะพวกเธอต้องหารายได้สนับสนุนครอบครัว แรงงานของพวกเขาจึงไม่ถูกมองว่าเป็นการผลิตของตัวเองแต่เป็นสิ่งที่ไม่สำคัญในสังคมที่ผู้ชายครอบงำ

ข้อเสนอที่เป็นที่นิยมอันหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาของผลิตภาพของผู้หญิงคือการนำผู้หญิงเข้าสู่กำลังแรงงาน (workforce)[8] แต่เจิ้นมองเห็นข้อบกพร่องในข้อเสนอนี้ซึ่งถูกป่าวประกาศโดยนักสตรีนิยมผู้ชายในขณะนั้น เธอชี้ว่าภายใต้ทุนนิยม ผู้หญิงจะยังคงถูกใช้ประโยชน์แม้ว่าเธอจะบรรลุอิสรภาพในวิชาชีพแล้ว พวกเขาจะยังคงถูกใข้ประโยชน์ในโรงงานในฐานะคนทำงาน หรือแม้แต่ในออฟฟิศในฐานะพนักงาน ผู้หญิงต้องฟังและทำตามเจ้านายตัวเองในที่ทำงาน เพราะพวกเขาจะยังต้องพึ่งพาเจ้านายสำหรับค่าจ้างของพวกเขา ระบอบทุนนิยมเอาผู้หญิงเข้ามาในระบบที่ใช้ประโยชน์จากงานของพวกเขา ดังนั้นแม้พวกเขาอาจได้ค่าจ้างเต็ม ๆ ค่าจ้างของพวกเขาจะยังถูกกดลงเพื่อผลประโยชน์ของนายทุน ผู้หญิงจะไม่มีวันยืนขึ้นได้และได้ส่วนแบ่งที่ยุติธรรมในสังคมทุนนิยม[9] สุดท้าย การนำผู้หญิงเข้าสู่กำลังแรงงานจะไม่ปลดแอกผู้หญิง เพราะไม่ว่าจะเป็นงานชนิดไหน ร่างกายของผู้หญิงก็ยังถูกใช้ประโยชน์อยู่ดี

เจิ้นจึงมองว่าคำตอบของ "ปัญหาของผู้หญิง" คือการปลดแอกชนชั้นแรงงาน เธอกังวลใจเกี่ยวกับการกลายเป็นสินค้า (commodification) ของร่างกายผู้หญิง และเน้นย้ำว่าแรงงานเป็นกิจของมนุษย์ที่เสรีและเป็นอิสระ ต่างจากตัวแบบที่มันเป็นสินค้าในเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบคลาสสิกและนีโอคลาสสิก แรงงานควรเป็นตัวแทนของการปลกแอกทั้งทางเศรษฐกิจและปัญญาของผู้หญิงที่สามารถกระทำการได้อย่างอิสระ แต่ในสังคมทุนนิยม ผู้หญิงกลายเป็นสินค้า ในฐานะที่ร่างกายและแรงงานของพวกเขาถูกบังคับให้ทำงานเพื่อผู้อื่นและพวกเขาไม่มีอำนาจเหนือสิ่งเหล่านั้น ในมุมมองของ เหอ เจิ้น แรงงานใช่แต่เพียงเป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ แต่ยังเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบในขั้นพื้นฐานต่อสังคมมนุษย์ เธอปฏิเสธการทำให้แรงงานกลายเป็นสินค้า และยืนยันที่จะมองว่าแรงงานเป็นแนวคิดเชิงภววิทยามากกว่าที่จะเป็นเพียงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์[10] ตราบใดที่ระบบของระบบการใช้ประโยชน์ยังคงผูกขาดการผลิตที่ผู้หญิงเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ต้องพึ่งพาสังคม สิ่งที่เรียกว่า "ความเป็นอิสระในวิชาชีพ" ก็คือ "ความเป็นทาสในวิชาชีพ" อยู่ต่อไป ดังนั้น เพื่อปลดแอกผู้หญิงออกจากการถูกกดขี่ เจิ้นจึงสรุปว่าระบบทุนนิยมจะต้องถูกทำลาย และระบบแบบชุมชนนิยม (communalism) จะต้องถูกสถาปนาขึ้นมา[11]

อนาธิปไตย แก้

เหอ เจิ้น ต่อต้านรัฐบาลจัดตั้งรูปแบบใด ๆ ในงานเขียนแนวอนาธิปไตยของเธอ บทวิจารณ์ระบบรัฐสภาของตะวันตกของเธอนั้นมีแนวคิดแนวอนาธิปไตยอยู่ชัดเจน เธอไม่เชื่อในขบวนการเรียกร้องสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิง (Women's suffrage) แม้ว่าจะชื่นชมความกล้าหาญของผู้เรียกร้องสิทธิเลือกตั้ง (suffrage) เธออ้างอิงขบวนการเรียกร้องสิทธิออกเสียงเลือกตั้งของผู้หญิงในประเทศนอร์เวย์เป็นตัวอย่าง เธอกล่าวว่าในเมื่อเฉพาะผู้หญิงที่มีภูมิหลังเป็นครอบครัวขุนนางหรือครอบครัวที่ร่ำรวยจะสามารถได้รับเลือกตั้งเข้าสภาได้เท่านั้น เราจะรับประกันว่าผู้หญิงที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปจะไม่กระทำการที่ขัดแย้งกับผู้หญิงด้วยกันที่อยู่ในชนชั้นล่าง และกระทำการที่เป็นประโยชน์เฉพาะผู้หญิงในชนชั้นสูงได้อย่างไร[12]

เจิ้นเชื่อว่าการเลือกตั้งผู้หญิงเข้าไปเป็นเพียงการเพิ่มการกดขี่ขั้นที่สามต่อผู้หญิงในชนชั้นแรงงาน จากเดิมที่ถูกกดขี่โดยผู้ชายและรัฐบาลอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลเดียวกันเธอจึงไม่เชื่อว่าพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย เช่นพรรคสังคมประชาธิปไตยในสหรัฐ (Social Democratic Party of America) จะทำงานเพื่อผลประโยชน์ของคนทั่วไป เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งแล้ว ระบบรัฐบาลก็จะหลอกล่อพรรคฝ่ายซ้ายเหล่านี้เข้าใกล้พลังและอำนาจมากขึ้น และเมินเฉยต่อสามัญชนที่ถูกกดขี่ ซึ่งรวมถึงผู้หญิงชนชั้นแรงงานด้วย[13] พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายเหล่านี้จะเบนไปจากเป้าหมายเดิมที่จะปลดแอกชนชั้นล่างและล้มล้างระบอบทุนนิยม เธอจึงสรุปว่าการปลดแอกผู้หญิงนั้นจะเกิดขึ้นก็ด้วยกิจของสามัญชนเท่านั้น โดยไม่มีการแทรกแซงจากรัฐบาล เธอให้ตัวอย่างเช่นชนชั้นแรงงานในสหรัฐซึ่งไม่ได้รับผลประโยชน์แม้พรรคสังคมประชาธิปไตยจะได้รับเลือกตั้งแล้ว หรือแม้แต่ผู้หญิงเองก็แทบไม่มีตัวแทนอยู่ในพรรคเลย[13]

เจิ้นไม่เห็นด้วยกับวาระของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายหลายพรรคและการที่พวกเขาตั้งเป้าหมายสุดท้ายว่าเป็นการได้รับเลือกตั้ง เธอเชื่อว่าหากไม่มีรัฐบาล ชายและหญิงจากชนชั้นล่างจะสามารถให้ความสนใจในการพัฒนาชีวิต (livelihood) ของพวกเขา แทนที่จะต้องสละสมาธิไปในเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นผลประโยชน์ของรัฐบาลและชนชั้นสูง

แทนที่จะสนับสนุนการมีส่วนร่วมในสังคมที่ถูกปกครองโดยการเลือกตั้งแบบกระฎุมพี เจิ้นเสนอแนวคิดสังคมชุมชนนิยมในอุดมคติ ที่หญิงและชายเท่าเทียมกันและแบ่งปันความรับผิดชอบและการผลิตด้วยกัน สังคมในอุดมคติของเธอนี้จะคล้ายกับประเทศสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 แต่จะไม่มีรัฐบาลกลาง ในสังคมอุดมคตินี้ เด็กจะถูกเลี้ยงดูโดย "สถานรับเลี้ยงเด็กสาธารณะ" จึงเป็นการปลดปล่อยผู้หญิงจากหน้าที่ของแม่ และทำให้ผู้หญิงอยู่ในระดับเดียวกันและสามารถรับเอาความรับผิดชอบที่เท่ากันกับผู้ชายได้[14] เจิ้นยังได้เสนออีกว่าหากชายและหญิงถูกเลี้ยงดูและปฏิบัติต่ออย่างเท่าเทียม และความรับผิดชอบของทั้งสองสถานะเพศเท่าเทียมเช่นกันแล้ว การแบ่งแยกระหว่าง "ชาย" และ "หญิง" จะไม่จำเป็นอีกต่อไป แล้วไม่ว่าหญิงหรือชายก็จะไม่ถูกกดขี่โดยหน้าที่ของตน[15] เจิ้นพยายามสร้างระบอบใหม่ขึ้นมาที่ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในสังคมได้และมีอำนาจจริงที่จะตัดสินอนาคตตัวเอง คำตอบของปัญหาของเธอต่อความไม่เท่าเทียมทางเพศและการกดขี่ผู้หญิงคือการปลดแอกผู้หญิงออกจากการกดขี่ทุกรูปแบบ ซึ่งรวมถึงการถูกกดขี่โดยรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลในอุดมการณ์ใด

คตินิยมสิทธิสตรี แก้

เหอ เจิ้น วิจารณ์ปิตาธิปไตยจีน ณ เวลานั้นในสองแง่มุม อย่างแรกคือการต่อต้านลัทธิขงจื๊อซึ่งกดขี่ผู้หญิงเป็นเวลาหลายพันปีในประวัติศาสตร์จีน ลัทธิขงจื๊อนิยามหน้าที่และจุดประสงค์ของชีวิตของผู้หญิง ซึ่งจำกัดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้หญิงอย่างเช่นการทำงาน การสอบขุนนาง การศึกษา และสถานะในบ้านที่เท่าเทียม นักคตินิยมสิทธิสตรีชาวจีนคนอื่นในขณะนั้นก็ถือการต่อต้านลัทธิขงจื๊อแบบเดียวกัน แง่ที่สองคือการต่อต้านการให้ความสำคัญกับผู้หญิงในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของแวดวงนักคตินิยมสิทธิสตรีแบบเสรีนิยม แม้ว่าสังคมและนักวิชาการชาวจีนในเวลานั้นจะวิจารณ์ข้อบกพร่องและความถอยหลังของลัทธิขงจื๊อ เฉพาะผู้หญิงในพื้นที่เมืองเท่านั้นที่ได้สิทธิมากขึ้นเพื่อพัฒนาสถานะทางสังคมและสภาพความเป็นอยู่ของตัวเอง การให้ความสำคัญกับผู้หญิงแบบนี้ยังไม่สามารถทำช่องว่างอำนาจระหว่างชายและหญิงให้เท่าเทียมได้ ในอุดมคติของ เหอ เจิ้น การปลดแอกที่แท้จริงยังไม่เกิดขึ้น[16]

บทความของ เหอ เจิ้น ว่าด้วยปัญหาในการปลดแอกผู้หญิง (On the Question of Women’s Liberation) ใน ค.ศ. 1907 ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการสมรสในประเทศจีนและในโลกตะวันตก เธอได้กล่าวเป็นอย่างแรกว่าผู้หญิงตะวันตกนั้นมีเสรีภาพที่จะหย่าร้าง ได้รับการศึกษา และคงอยู่เป็นโสดได้ เห็นได้ชัดว่าผู้หญิงในโลกตะวันตกนั้นมีอิสระ แต่เธอนิยามว่าอิสระแบบนี้คืออิสระทางกาย และเป็นการปลดแอกที่ไม่แท้จริง เธอเน้นย้ำว่าการที่ผู้หญิงจีนเลียนแบบและการที่คตินิยมสิทธิสตรีในจีนเดินตามรอยเท้าฝั่งตะวันตกนั้นเป็นสิ่งที่ผิด เธอกล่าวว่า "ฉันไม่ต้องการให้ผู้หญิงได้รับเพียงเสรีภาพเทียม หรือความเท่าเทียมที่ไม่จริง ฉันต้องการให้ผู้หญิงได้เสรีภาพที่แท้จริง และความเท่าเทียมที่แท้จริง"[17]

อิทธิพล แก้

งานเขียนคตินิยมสิทธิสตรีของเธอส่วนใหญ่ถูกเขียนขึ้นขณะที่เธอและคู่สมรสอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น และอิทธิพลของแนวคิดนี้ของเธอต่อชุมชนนักคตินิยมสิทธิสตรีชาวจีนในช่วงแรกนั้นไม่แน่ชัด แต่แนวคิดของเธอนั้นส่งอิทธพลต่อขบวนการ 4 พฤษภาคม โดยถูกหยิบยกมาเป็นพิเศษโดยนักคอมมิวนิสต์หญิง[18] เธอมีอิทธิพลที่มีนัยสำคัญต่อพัฒนาการของอนาธิปไตยท่ามการนักวิชาการชาวจีน อนาธิปไตยถูกบันทึกและนำเสนอต่อนักเรียนนานาชาติชาวจีนในโตเกียวผ่านงานแปลภาษาญี่ปุ่นของงานเขียนอนาธิปไตยจากตะวันตก นักเรียนชาวจีนในญี่ปุ่นรับมันมาเป็นทางออกของปัญหาในจีนในเวลานั้นและพยายามหาคำตอบว่าจีนจะเป็นอย่างไรหลังการปฏิวัติซินไฮ่ เจิ้นก็เป็นหนึ่งในนักวิชาการหลายคนที่พัฒนาอนาธิปไตยในความเข้าใจของตัวเอง งานของเธอ เช่นบทความในวารสารของเธอชื่อ เทียนอี่ป้าว ส่งอิทธิพลต่อพัฒนาการของอนาธิปไตยในจีน เทียนอี่ป้าว ยังเป็นแหล่งที่เผยแพร่งานแปลภาษาจีนของแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์เป็นที่แรก[19] สามีของเธอสนับสนุนอุดมการณ์นี้เช่นกัน แม้จะมีความใกล้ชิดกับขุนศึกคนสำคัญในจีน[20]

งานเขียน แก้

ความเรียง ว่าด้วยปัญหาในการปลดแอกผู้หญิง ซึ่งปรากฏในวารสาร เทียนอี่ ใน ค.ศ. 1907 เปิดโดยกล่าวว่า

"เป็นเวลาหลายพันปี โลกนี้ถูกปกครองโดยผู้ชาย การปกครองนี้ถูกตีตราด้วยการแบ่งแยกทางชนชั้นว่าชายใด และชายเท่านั้น จะถือสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เพื่อแก้ไขความผิดเหล่านี้ เราจำเป็นต้องล้มล้างการปกครองของผู้ชาย และนำความเท่าเทียมมาสู่มนุษย์ ซึ่งหมายความว่าโลกนี้จะเป็นของชายและหญิงเท่าเทียมกัน เป้าหมายซึ่งคือความเท่าเทียมจะไม่สำเร็จหากไม่ใช่ผ่านการปลกแอกผู้หญิง"[21]

ว่าด้วยปัญหาเกี่ยวกับแรงงานของผู้หญิง (On The Question Of Women's Labor) ซึ่งถูกเผยแพร่ใน เทียนอี่ เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1907 ตามรอยการใช้ประโยชน์จากแรงงานของผู้หญิงว่าเริ่มต้นจากระบบบ่อนา (well field system) ในจีนโบราณ และประณามโศกนาฏกรรมเช่นการค้าประเวณี การฆ่าทารกหญิง การอยู่กินด้วยกันโดยไม่ได้สมรสในยุคสมัยนี้[22] การปฏิวัติทางเศรษฐกิจกับการปฏิวัติของผู้หญิง (Economic Revolution And Women's Revolution) และ ว่าด้วยการล้างแค้นของผู้หญิง (On The Revenge Of Women) ถามผู้หญิงในประเทศว่า: "คุณเคยนึกถึงรึเปล่าว่าผู้ชายเป็นศัตรูของพวกเรา"[23] ว่าด้วยคตินิยมต่อต้านแสนยนิยมแบบสตรีนิยม (On Feminist Antimilitarism) and คำแถลงอุดมการณ์คตินิยมสิทธิสตรี (The Feminist Manifesto) ก็มีการกล่าวหาอำนาจทางสังคมของผู้ชายที่ทรงพลัง[24]

ใน ว่าด้วยคตินิยมต่อต้านแสนยนิยมแบบสตรีนิยม[24] ซึ่งเผยแพร่เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1907 เจิ้นกล่าวถึงความสำคัญของการประท้วงของผู้หญิงเพื่อต่อต้านแสนยนิยม (militarism) เธอใช้กระแสต่อต้านแสนยนิยมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในยุโรปตอนใต้ และตัวอย่างของการปฏิวัติที่ไม่มีการต่อต้านแสนยนิยม เพื่อผลักดันแนวคิดนี้ เธอกล่าวว่าหากทหารมีอาวุธมาก การปฏิวัติก็จะยากเกินไป เพราะจะถูกล้มโดยกองทัพ เธอยังได้กล่าว "หากเราพิจารณาอดีต เราพบว่าพลทหารไม่มีประโยชน์ทำอะไรนอกจากข่มขืน ลักพาตัว ปล้น และฆาตกรรม" เพื่อหาเหตุผลว่าการต่อต้านแสนยนิยมนั้นเป็นประโยชน์กับทุกคน เพราะทหารเป็นต้นเหตุของความชั่วร้ายหลัก ๆ ในประเทศจีน ในความเรียงนี้เจิ้นอิงบทกวีของนักดนตรี ซัวเอี๋ยม เพื่อแสดงให้เห็นถึงการฆาตกรรมผู้หญิงโดยผู้รุกราน หลายครั้งผู้หญิงเหล่านี้ปลิดชีพตนเอง และหากสามารถหนีจากชะตากรรมนี้ได้ ก็มักต้องเสียลูกของเธอไป คร่ำครวญถึงสามีเธอ และต้องทนทุกข์จากครอบครัวที่ล่มสลาย มากไปกว่านั้น ชะตากรรมของผู้ถูกจับกุมนั้นเป็นสิ่งที่ชาวจีนหลายคนหลีกเลี่ยงไม่ได้และไม่จำกัดขอบเขตของตน ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสต้องประสบไม่ว่าอยู่ในชนชั้นทางสังคมหรือสายสกุลใด

"ตั้งแต่[ญี่ปุ่น]เคลื่อนพลเข้ามาไม่กี่ปีมานี้ จำนวนผู้ค้าประเวณีในประเทศก็เพิ่มขึ้นวันต่อวัน"[24]

เจิ้นเชื่อมโยงแสนยนิยมกับการค้าประเวณี เพราะผู้หญิงต้องเสียลูกและสามีไปโดยไม่ได้รับการชดใช้เท่าที่ควร ซึ่งนี่ปล่อยให้พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากที่จะหาเลี้ยงชีพตัวเอง นำไปสู่การประกอบอาชีพค้าประเวณี เจิ้นยังกล่าวถึงโศกนาฏกรรมที่ผู้หญิงต้องพบเจอเมื่อครอบครัวถูกทำให้แตกแยกและกลับมาหากันใหม่ผ่านความสูญเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้บทกวีเพื่อแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกของนักเขียนชาวจีนที่ต้องพบเจอสิ่งเหล่านี้

ใน คำแถลงอุดมการณ์คตินิยมสิทธิสตรี[24] ซึ่งเผยแพร่ใน ค.ศ. 1907 เช่นกัน เจิ้นพูดถึงสถาบันของการสมรสว่าเป็นแหล่งรากของความไม่เท่าเทียมระหว่างชายและหญิงแหล่งหลักแหล่งหนึ่ง เธอกล่าวว่าการสมรสเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งของผู้ชาย ยิ่งมีภรรยามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้รับความเคาระมากเท่านั้น นี่ส่งเสริมให้ผู้ชายสมรสแล้วมีภรรยานอกสมรสอีกมากมาย เจิ้นยังได้กล่าวถึงความไม่ท่าเทียมระหว่าง "ภรรยา" และ "สามี" ในขณะที่ผู้ชายสามารถสมรสกับหญิงได้หลายคน ผู้หญิงถูกคาดหวังโดยสังคมให้มีสามีเพียงคนเดียวเท่านั้น: "เมื่อผู้หญิงกลายเป็นภรรยาของผู้ชายคนหนึ่ง เธอจะเป็นเช่นนั้นตลอดชีวิต"[24] นี่ทำให้เกิดแนวคิดที่ผู้หญิงต้องตามสามีของเธอ เพราะพวกเธอจะไม่สมบูรณ์หากไม่มีพวกเขา และสร้างมายาคติว่าสามีของเธอคือสวรรค์ของเธอ เพื่อเริ่มการปลดแอกเพื่อความเท่าเทียมของชายและหญิง ทั้งสองควรมุ่งมั่นในการสมรสคู่ครองคนเดียว ผู้หญิงไม่ควรเปลี่ยนนามสกุลตามสามี และบุพการีจำต้องให้คุณค่ากับลูกชายและลูกสายอย่างเท่าเทียมกัน ลูกของพวกเขาควรจะได้รับการเลี้ยงดูโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และหากคู่รักคู่หนึ่งนั้นเกิดความยุ่งยากขึ้น พวกเขาควรจะสามารถแยกทางกันได้ ผู้ที่จะสมรสใหม่จำต้องสมรสกับคนที่เคยสมรสมาแล้วเท่านั้น การสมรสครั้งแรกควรถูกจำกัดไว้กับคนที่ยังไม่ได้สมรส เธอต้องการขจัดซ่องโสเภณีและช่วยเหลือโสเภณีเหล่านั้น

เจิ้นได้ตอบโต้คำค้านที่อาจมีต่อข้อเสนอของเธอ:

  • ในเมื่อผู้หญิงเป็นผู้ให้กำเนิด พวกเขานั้นแตกต่างจากผู้ชายในด้านแรงงานและความสามารถของพวกเขาโดยธรรมชาติ เจิ้นกล่าวว่าเธอไม่ได้จำกัดตัวเองไว้แต่การปฏิวัติของผู้หญิงเท่านั้น แต่เป็นการปฏิวัติทางสังคมอย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ สถานเลี้ยงดูเด็กสาธารณะจะทำหน้าที่เลี้ยงดูเด็กหลังการคลอด
  • มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จึงไม่สามารถคาดหวังให้ทุกคนมีคู่ครองเพียงคนเดียวได้ เจิ้นกล่าวว่าเพราะผู้หญิงไม่ได้ต่อสู้ในสงคราม และเพราะผู้ชายต้องตายไปในสงคราม ตัวเลขนี้จึงเอียง หากการปฏิวัติทางสังคมของเธอเกิดขึ้น เธอกล่าว จำนวนเหล่านี้จะปรับตัวเอง

เทียนอี่ป้าว: วารสารอนาธิปไตย แก้

เทียนอี่ป้าว ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ใน ค.ศ. 1907 และมักถูกถือว่าเป็นวารสารอนาธิปไตยฉบับแรกที่เป็นภาษาจีน[25] เจิ้นและสามีของเธอ นักอนาธิปไตยและนักกิจกรรมชาวจีน หลิว ชือเผย์ ร่วมกันจัดพิมพ์วารสารนี้ เจิ้นและนักอนาธิปไตยหลายคนได้เผยแพร่บทความซึ่งท้าทายค่านิยมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เธอยังได้เป็นบรรณาธิการของวารสาร[25] วารสารฉบับนี้ต่อต้านรัฐบาล และได้รับอิทธิพลมากจากคำถามเกี่ยวกับผู้หญิงและหน้าที่ของพวกเขาในสังคม หัวข้ออื่นก็ถูกพูดถึงโดยเฉพาะที่เป็นการสนับสนุนให้เกิดการปฏิวัติ เจิ้นมักถูกมองว่าส่งเสริมมูลวิวัตินิยมซึ่งเกิดขึ้นหลังการตีพิมพ์ เพราะงานเขียนของเธอถูกมองว่าเป็นแบบสุดโต่ง[26] เธอยังเป็นนักเขียนคตินิยมสิทธิสตรีไม่กี่คนในเวลานั้นที่เขียนจากมุมมองของผู้หญิง ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นักเขียนคตินิยมสิทธิสตรีหลายคนในสังคมจีนเป็นผู้ชาย ซึ่งทำให้มุมมองของเจิ้นนั้นสุดโต่งกว่า เพราะเธอสนับสนุนการปฏิรูปผ่านการล้มล้างรัฐบาลและระบบทุนนิยมอย่างสิ้นเชิง[25] ตลอกหลายมี เจิ้นเผยแพร่บทความลงใน เทียนอี่ป้าว น้อยลงเรื่อย ๆ แต่ในบทความเหล่านี้ นอกจากความเรียงของเธอเองแล้ว ยังมีคำบรรยายบางอันที่เชื่อได้ว่าถูกเขียนในนามของเจิ้น ภายใต้การนำและสำนักพิมพ์ของเจิ้น วารสารมุ่งเน้นเกี่ยวกับประเด็นแนวคตินิยมสิทธิสตรีเป็นหลัก แต่หลังจากเจิ้นเขียนน้อยลงไป วารสารก็เริ่มหันไปหาอนาธิปไตยมากขึ้น[25]

แม้เจิ้นจะพยายามสร้างสมดุลระหว่างอนาธิปไตยและคตินิยมสิทธิสตรี สุดท้ายวารสารกลายมาเน้นอนาธิปไตย นี่ยังแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงโดยรวมของสังคมจีน ซึ่งในตอนแรกพูดคุยถึงหน้าที่ของผู้หญิงในสังคม แต่ไม่นานก็หันมาสนใจในอนาธิปไตยและสถาบันการปกครองมากขึ้น และการป้องกันไม่ให้เอเชียตกหลุมตัวแบบทุนนิยมอย่างตะวันตก[25]

อ้างอิง แก้

  1. Liu, Karl & Ko (2013), p. 2.
  2. 2.0 2.1 Zarrow (1988), pp. 800–801.
  3. 3.0 3.1 Liu, Karl & Ko (2013), pp. 51–52.
  4. Zarrow (1988).
  5. Liang (2013), pp. 186–203.
  6. Hershatter (2019), pp. 83–86.
  7. He-Yin (2013a), pp. 72–73.
  8. Liang (2013), pp. 190–191.
  9. He-Yin (2013b), pp. 77–82.
  10. Sudo & Hill (2006), pp. 484–485.
  11. He-Yin (2013a), p. 70.
  12. He-Yin (2013a), pp. 65, 69.
  13. 13.0 13.1 He-Yin (2013a), p. 68.
  14. He-Yin (2013c), p. 183.
  15. He-Yin (2013c), p. 184.
  16. George, A. (2015). "He-Yin Zhen, Oyewumi, and Geographies of Anti-Universalism". Comparative Studies of South Asia, Africa and the Middle East. 35 (1): 183–188. doi:10.1215/1089201X-2876200. ISSN 1089-201X.
  17. 何殷震 (1907). "女子解放问题" (ภาษาจีน). สืบค้นเมื่อ 26 มกราคม 2022 – โดยทาง zh.wikisource.org. 吾決不望女子僅獲偽自由、偽平等也,吾尤望女子取獲真自由、真平等也!
  18. Zarrow (1988), p. 811.
  19. Karl (2012), p. 244.
  20. Zarrow (1988), p. 800.
  21. Liu, Karl & Ko (2013), p. 53: "for thousands of years, the world has been dominated by the rule of man. This rule is marked by class distinctions over which men—and men only—exert proprietary rights. To rectify the wrongs, we must first abolish the rule of men and introduce equality among human beings, which means that the world must belong equally to men and women. The goal of equality cannot be achieved except through women's liberation."
  22. Liu, Karl & Ko (2013), pp. 72–91.
  23. Liu, Karl & Ko (2013), p. 105: "has it occurred to you that men are our archenemy?"
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 24.4 คำแปลทั้งหมดจาก Liu, Karl & Ko 2013.
  25. 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 Huiying, L. (1 ธันวาคม 2003). "Feminism: An Organic or an Extremist Position? On Tien Yee As Represented by He Zhen". Positions: East Asia Cultures Critique (ภาษาอังกฤษ). 11 (3): 779–800. doi:10.1215/10679847-11-3-779. ISSN 1067-9847.
  26. Dirlik, A. (1986). "Vision and Revolution: Anarchism in Chinese Revolutionary Thought on the Eve of the 1911 Revolution". Modern China. 12 (2): 123–165. doi:10.1177/009770048601200201. ISSN 0097-7004. JSTOR 189118. S2CID 144785666.

บรรณานุกรม แก้

อ่านเพิ่ม แก้

  • Rošker, J. S. (1988), Staatstheorien und anarchistisches Gedankengut in China um die Jahrhundertwende (ภาษาเยอรมัน), เวียนนา: Universität Wien, Institut für Sinologie, Geisteswissenschaftliche Fakultät
  • Rošker, J. S. (2016), Anarchismus in China an der Schwelle des 20. Jahrhundert. Eine vergleichende Studie zu Staatstheorie und anarchistischem Gedankengut in China und in Europa. (ภาษาเยอรมัน), ซาร์บรึคเคิน: Südwestdeutscher Verlag für Hochschulschriften
  • Gao, B. (2015). "Book Review: The Birth of Chinese Feminism: Essential Texts in Transnational Theory". Feminist Review. 110 (1): e9-e11. doi:10.1057/fr.2015.8.
  • Cairns, D. (2011). "He Zhen (Late 19th Century – ?)". ใน Ness, I. (บ.ก.). The International Encyclopedia of Revolution and Protest. doi:10.1002/9781405198073. ISBN 9781405198073.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้