ดับเบิลยูดับเบิลยูอี

บริษัทสื่อกีฬาเพื่อความบันเทิงในสหรัฐ

ดับเบิลยูดับเบิลยูอี หรือที่รู้จักกันโดยชื่ออย่างเป็นทางการของ เวิลด์ เรสต์ลิง เอ็นเตอร์เทนเมนต์[7] (ชื่อทางการค้า WWE lnc.)[8] เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกีฬาเพื่อความบันเทิง โดยที่มีธุรกิจหลักอยู่ที่การเป็นสมาคมมวยปล้ำอาชีพ ซึ่งปัจจุบันมีเจ้าของและดำเนินการโดยทีเคโอ กรุป โฮลดิงส์ ที่เป็นบริษัทซึ่งเอนเดฟเวอร์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในภาพรวมรายการของ WWE พร้อมให้รับชมทั่วโลกในมากกว่า 1 พันล้านครัวเรือนและ 30 ภาษา โดยมีโชว์ 2 แบรนด์สำคัญ คือ รอว์และสแมคดาวน์

ดับเบิลยูดับเบิลยูอี
ชื่อทางการค้า
WWE
ประเภทบริษัทย่อย
อุตสาหกรรมมวยปล้ำอาชีพ, รายการกีฬาเพื่อความบันเทิง
ก่อนหน้าแคปิเทิลเรสต์ลิงคอร์โปเรชั่น
ก่อตั้ง21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523
ผู้ก่อตั้งแคปิทัล เรสต์ลิง
โรเดอริก แม็คมาฮอน
ทูทส์ มงต์
ไททันสปอร์ต
วินซ์ แม็กแมน และลินดา แม็กแมน
สำนักงานใหญ่สแตมฟอร์ด, รัฐคอนเนตทิคัต, สหรัฐอเมริกา
พื้นที่ให้บริการทั่วโลก
บุคลากรหลักวินซ์ แม็กแมน
(ประธานบอร์ดบริหาร)

นิก ข่าน
(ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร)
แฟรงค์ เอ. ริดนิค ที่ 3
(ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน)
พอล ไมเคิล เลเวสก์ (ทริปเปิล เอช)
(ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเนื้อหา)

เควิน ดันด์
(รองประธานผู้บริหารฝ่ายการผลิตรายการโทรทัศน์)
ผลิตภัณฑ์
  • รายการทีวี
  • บริการสตรีมมิง
  • สื่อสิ่งพิมพ์
  • เพลง
  • สินค้าที่ระลึก
  • งานแสดงสด
  • โฮมวิดีโอ
  • การลงทุน
  • ภาพยนตร์
บริการสัญญาอนุญาต
รายได้เพิ่มขึ้น US$1.291.5 พันล้าน (2022)[1]
รายได้จากการดำเนินงาน
เพิ่มขึ้น US$283.3 ล้าน (2022)[1]
รายได้สุทธิ
เพิ่มขึ้น US$195.6 ล้าน (2022)[1]
สินทรัพย์เพิ่มขึ้น US$1,355.6 พันล้าน (2022)[1]
ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น US$517.2 ล้าน (2022)[1]
เจ้าของทีเคโอ กรุป โฮลดิงส์[a]
พนักงาน
ประมาณ 870 คน (2021)[3]
บริษัทแม่ทีเคโอ กรุป โฮลดิงส์ [4]
แผนกWWE Books
WWE Libraries
WWE Music Group
WWE Network
WWE Podcast Network
WWE Performance Center
WWE Shop
WWE Studios[5]
บริษัทในเครือTapout (50%)[6]
Alpha Entertainment
TSI Realty Company
WCW Inc.
WWE Asia Pacific
WWE Australia
WWE Canada
WWE Germany
WWE Jet Services
WWE Latin America
WWE Middle East and Africa
WWE Properties International
เว็บไซต์wwe.com

ก่อนการควบรวมกิจการ วินซ์ แม็กแมน มีฐานะเป็นเจ้าของและประธานบอร์ดบริหารของบริษัท ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร โดยเคยเขาถือหุ้นประมาณ 38.6% ใน WWE และมีเปอร์เซนต์การออกเสียงในที่ประชุมบริษัทถึง 81.1%

WWE มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ 1241 ถนนอีสต์ เมน ในสแตมฟอร์ด, รัฐคอนเนตทิคัต พร้อมทั้งสำนักงานต่างประเทศในนิวยอร์ก, ลอสแอนเจลิส, เม็กซิโกซิตี, มุมไบ, เซี่ยงไฮ้, สิงคโปร์, ดูไบและ มิวนิค[9] [10] เดิม WWE เป็นที่รู้จ้กกันในชื่อของบริษัท Titan Sports, Inc. ก่อนจะเปลี่ยนไปเป็น World Wrestling Federation, Inc. และเป็น World Wrestling Entertainment Inc. ในปัจจุบัน ล่าสุดในปี พ.ศ. 2554 ได้เปลี่ยนชื่อในทางการค้าเป็น WWE[11]

ธุรกิจหลักของ WWE คือการเป็นสมาคมมวยปล้ำอาชีพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยดำเนินธุรกิจรายการทีวี และบริการสื่อผ่านอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการเก็บสะสมซึ่งวิดีโอเทปมวยปล้ำของสมาคมต่าง ๆ โดยแต่เดิม WWE มีชื่อตั้งแต่ต้นว่า Capitol Wrestling Corporation (CWC) ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อมาเป็น World Wide Wrestling Federation (WWWF), World Wrestling Federation (WWF) และ World Wrestling Entertainment (WWE) ในปัจจุบันทำการเสนอรายการมวยปล้ำผ่านทาง 5 รายการคือ มันเดย์ ไนท์ รอว์ และ ดับเบิลยูดับเบิลยูอี เอ็นเอ๊กซ์ที ทางช่อง USA Network ดับเบิลยูดับเบิลยูอี สแมคดาวน์ ทางช่อง Fox, เมนอีเวนต์, และ ดับเบิลยูดับเบิลยูอี เอ็นเอ๊กซ์ที เน็กซ์ เลเวล ทางดับเบิลยูดับเบิลยูอี เน็ตเวิร์ค

ในปี ค.ศ. 2023 WWE เริ่มมีกระแสข่าวการขายบริษัท ท่ามกลางเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับวินซ์ แม็กแมน ที่ทำให้เขาก้าวลงจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แม้ว่าเขาจะกลับมาเป็นประธานบริหารก็ตาม ในเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2023 WWE ได้ประกาศข้อตกลงกับเอนเดฟเวอร์ ซึ่งจะควบรวมกิจการกับอัลติเมทไฟต์ติงแชมเปียนชิพ (ยูเอฟซี) เพื่อก่อตั้งบริษัทมหาชนจำกัดแห่งใหม่ที่เอนเดฟเวอร์ถือหุ้นส่วนใหญ่ โดยแม็กแมนจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นประเภทบุคคลใหญ่ที่สุด ภายใต้ชื่อชื่อ TKO Group Holdings โดยเขาจะดำรงตำแหน่งประธานบริหารของ TKO Group Holdings ซึ่งจะกลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดของยูเอฟซีนอกเหนือไปจากดับเบิลยูดับเบิลยูอี และ นิก ข่าน ยังคงเป็นประธานของส่วนธุรกิจ WWE ต่อไป ทั้งนี้ การควบรวมกิจการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 2023[12]

ประวัติ

แก้

จุดเริ่มต้นกับ Capitol Wrestling Corporation

แก้

Roderick James "Jess" McMahon เป็นโปรโมเตอร์มวยสากลชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งเคยจัดการแข่งขันมวยสากลที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา เช่นการจัดมวยสากลคู่ระหว่าง Jess Willard and Jack Johnson ในพ.ศ. 2458 เป็นต้น เขาเริ่มทำงานเป็นโปรโมเตอร์มวยร่วมกับ Tex Rickard ในปี พ.ศ. 2469 (ผู้ซึ่งไม่ชื่นชอบในกีฬามวยปล้ำอาชีพ และเคยต่อต้านการจัดรายการมวยปล้ำที่สนาม Madison Square Garden ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 - 2491) Jess McMahon ได้เริ่มจัดรายการมวยสากลขึ้นในสนาม Madison Square Garden ใน New York โดยที่มวยสากลแมทช์แรกที่ Jess ได้จัดการแข่งขันขึ้นร่วมกับ Rickard คือการแข่งขันชิงแชมป์ Light Heavyweight ระหว่าง Jack Delaney และ Paul Berlenbach

ในช่วงเวลานั้น ได้มีนักมวยปล้ำคนหนึ่งที่ชื่อ Joseph Raymond "Toots" Mondt ได้เริ่มจัดรายการมวยปล้ำรูปแบบใหม่ โดยตัวเขาเรียกรูปแบบนี้ว่า "Slam Bang Western Style Wrestling" เพื่อให้กีฬามวยปล้ำนั้นเป็นที่ดึงดูดต่อผู้ชมมากขึ้น โดยที่ Mondt ได้ร่วมมือกันกับแชมป์มวยปล้ำ Ed Lewis และผู้จัดการของเขา Billy Sandow สร้างสมาคมมวยปล้ำขึ้นมาสมาคมหนึ่งที่ชื่อ "Gold Dust Trio" ซึ่งสมาคมนี้ได้ทำการเชิญชวนนักมวยปล้ำมากมายหลายคนให้เข้ามาร่วมงานใน Gold Dust Trio แห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากประสบความสำเร็จพอสมควร เนื่องจากมีปัญหาความขัดแย้งกันในสมาคม ในที่สุด Gold Dust Trio ก็ต้องล้มเลิกกิจการไป แต่ว่า Mondt หนึ่งในผู้ก่อตั้งของ Gold Dust Trio ก็ยังคงเดินหน้าตั้งสมาคมมวยปล้ำใหม่ต่อไป กับโปรโมเตอร์หลายต่อหลายคน เช่น Jack Curley ใน New York แต่เมื่อ Curley เสียชีวิต Mondt ตัดสินใจที่จะตั้งสมาคมถาวรใน New York ร่วมกับโปรโมเตอร์หลายคน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Jess McMahon.

Jess McMahon และ Raymond Mondt ได้ร่วมกันก่อตั้ง Capitol Wrestling Corporation หรือ CWC ขึ้น และได้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาคมสังกัด National Wrestling Alliance กลุ่มสมาคมมวยปล้ำที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2496 และในปีเดียวกัน Ray Fabiani หนึ่งในหุ้นส่วนของ Mondt ได้เชิญชวน Vincent James McMahon ลูกชายของ Jess ให้มาดำเนินงานสมาคมแทนพ่อของเขา[13] ซึ่งปรากฏว่า McMahon และ Mondt ประสบความสำเร็จกับ CWC อย่างมาก และในช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งสองมีอำนาจประมาณ 70% ต่อการดำเนินงานในสมาคม NWA (อำนาจการเขียนบท) และเนื่องด้วยความนิยมในมวยปล้ำอย่างมากต่อผู้คนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ Mondt ได้พูดคุยกับ McMahon ต่อเรื่องการเขียนบท และวิธีการดำเนินธุรกิจในวงการมวยปล้ำ[14]

World Wide Wrestling Federation (พ.ศ. 2506 - 2521)

แก้

สำหรับในสมาคม NWA ที่ CWC เป็นสมาชิกอยู่ในขณะนั้นแล้ว พวกเขาจะมีเข็มขัดแชมป์โลกเฮฟวี่เวท NWA ซึ่งเป็นเข็มขัดสูงสุดของสมาคม NWA และสมาคมในเครือ โดยที่เข็มขัดแชมป์เส้นดังกล่าวก็จะถูกนำไปป้องกันตามสมาคมต่างๆในเครือ NWA รวมถึงสมาคมทั่วโลก โดยในปีพ.ศ. 2506 แชมป์โลกเฮฟวี่เวท NWA ในขณะนั้นคือ "Nature Boy" Buddy Rogers

แต่ในขณะนั้น ทาง NWA เริ่มไม่พอใจที่ Raymond Mondt ไม่ยอมให้ Buddy Rogers ได้ไปปล้ำในสมาคมนอกเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากนัก เพราะว่า James McMahon และ Raymond Mondt แห่ง CWC ซึ่งเป็นสมาคมใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกานั้นให้การสนับสนุน Buddy Rogers ในฐานะแชมป์โลกเฮฟวี่เวท NWA อยู่อย่างเต็มที่[15] แต่เนื่องจากว่าไม่เต็มใจที่จะจ่ายเงิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐให้กับทาง NWA ซึ่งเป็นเงินที่แชมป์โลก NWA ทุกคนในขณะนั้นต้องจ่ายเป็นเงินประกันสำหรับเพื่อให้แน่ใจว่านักมวยปล้ำที่เป็นแชมป์โลกนั้นจะยอมรับการเป็นแชมป์โลกเฮฟวี่เวท NWA โดยไม่มีข้อแม้ อย่างไรก็ดี Buddy Rogers ได้เสียตำแหน่งแชมป์โลกเฮฟวี่เวท NWA ไปให้กับ Lou Thesz ในการปล้ำที่เมือง Toronto รัฐ Ontario ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2506 ซึ่งนี่ได้กลายเป็นเหตุสำคัญในการที่ James McMahon และ Raymond Mondt รวมถึงสมาคม CWC ของทั้ง 2 ได้ลาออกจากการเป็นสมาคมในเครือของ NWA และได้เปลี่ยนชื่อ CWC เสียใหม่เป็น World Wide Wrestling Federation หรือ WWWF ในปีนั้นนั่นเอง

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2506 Buddy Rogers ได้รับการสถาปนาให้เป็นแชมป์โลก WWWF คนแรกของสมาคม หลังจากการปล้ำทัวร์นาเมนต์ (ซึ่งไม่ได้จัดขึ้นจริง แต่เป็นข้ออ้างของ WWWF เท่านั้นเพื่อที่จะได้สถาปนา Buddy Rogers เป็นแชมป์โลกคนแรกของสมาคม) ที่เมือง Rio de Janeiro ประเทศบราซิล แต่ว่า Rogers ก็ได้เสียตำแหน่งแชมป์โลก WWWF ไปให้กับ Bruno Sammartino 1 เดือนหลังจากนั้น เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 จากการที่ Rogers มีอาการของโรคหัวใจกำเริบก่อนที่จะขึ้นปล้ำแมทช์ดังกล่าว และเนื่องด้วยอาการหัวใจกำเริบของ Rogers นี้ ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงผลการปล้ำในนาทีสุดท้าย โดยให้ Sammartino เป็นแชมป์โลก WWWF คนใหม่นั่นเอง[16]

หลังจากที่ WWWF ก่อตั้งมาได้ไม่นาน Raymond Mondt หนึ่งในผู้ก่อตั้ง CWC และ WWWF ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495 ก็ได้ลาออกจากบริษัทไป ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ด้วยเหตุผลที่มิอาจทราบได้ แต่เป็นไปได้ว่าเนื่องด้วยปัญหาด้านอายุที่มากขึ้นของ Mondt นั่นเอง[17]

แม้ว่า WWWF จะเป็นอิสระจาก NWA แล้วก็ตาม แต่ว่า James McMahon ก็ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริหารของ NWA อยู่ ทว่าสมาคมที่อยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กระทั่ง WWWF เอง) ก็ยังมิได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ดีในช่วงนั้น ก็ได้มีแมทช์ประเภทแชมป์ชนแชมป์ (Champion vs. Champion) เกิดขึ้นใน WWWF ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะมีผลการปล้ำจบลงด้วยการแพ้ฟาวล์ทั้งสองฝ่าย (Double Disqualfication) หรือการไม่สามารถหาข้อสรุปของผลการปล้ำได้

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2522 WWWF ได้มีการเปลี่ยนชื่อเล็กน้อยเป็น World Wrestling Federation หรือ WWF แต่ว่าก็เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะความเป็นเจ้าของหรือแม้แต่ผู้บริหารก็ยังคงเหมือนเดิมในช่วงเวลานี้[18]

World Wrestling Federation (พ.ศ. 2522 - 2545)

แก้
 
วินซ์ แม็กแมน เป็นผู้ก่อตั้ง Titan Sports, Inc และเป็นเจ้าของส่วนใหญ่ของ WWE ในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2523 บุตรชายของ James McMahon นั่นคือ Vincent Kennedy McMahon ได้ก่อตั้งบริษัท Titan Sports, Inc. ขึ้น[19] และในปี พ.ศ. 2525 บริษัท Titan Sports ก็ได้ทำการซื้อกิจการ WWF จากพ่อของเขาซึ่งก็คือ James McMahon นั่นเอง[18] ในความจริงแล้ว James McMahon ถือว่าได้อยู่ในวงการมวยปล้ำมานานตั้งแต่ได้มีการก่อตั้ง CWC ซึ่งกลายเป็นมาเป็นสมาคมที่โดดเด่นที่สุดในหมู่สมาคมทั้งหมดในเครือ NWA และก็ถือว่าอยู่วงการมานานพอๆกับที่คนในวงการเริ่มยอมรับว่ามวยปล้ำนั้น มักจะเน้นความบันเทิงมากกว่ากีฬาจริงๆ แต่ดูเหมือนว่า Vince McMahon บุตรชายของเขาจะคิดแตกต่างกว่าพ่อของเขาเอง เพราะเขาต้องการจะขยายสมาคมเพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนโฉมหน้าของวงการกีฬา และนี่จึงทำให้ Vince McMahon ตัดสินใจนำ WWF และตัวของเขาเอง เข้าสู่วังวนแห่งความเสี่ยงทันที

ในช่วงนั้น WWF ไม่ได้เป็นเพียงแค่สมาคมเดียวที่เคยแยกตัวออกมาจาก NWA เท่านั้น ยังมีสมาคม American Wrestling Association หรือ AWA ที่เคยได้แยกตัวออกมาจากสมาคม NWA มาแล้ว (อย่างไรก็ตาม AWA มีความคล้ายคลึงกับ WWF ที่ว่าพวกเขานั้นใช้สมาคมเดิมของตัวเองที่เคยสังกัด NWA เป็นฐานในการดำเนินงานโดยไม่ต้องออกมาตั้งสมาคมใหม่) แต่อย่างไรก็ดี ทั้ง AWA และ WWF ก็มีจุดประสงค์เดียวกัน นั่นคือการทำลายระบบสมาคมเครือข่ายของ NWA ที่ได้มีมานานกว่าครึ่งศตวรรษนั่นเอง

ในช่วงที่ Vince McMahon เริ่มเข้ามาบริหาร WWF แทน James พ่อของเขา บรรดาเจ้าของสมาคมมวยปล้ำอื่นๆต่างมีความไม่พอใจ Vince ที่ได้ริเริ่มการนำรายการมวยปล้ำของ WWF ที่ออกฉายทางโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกา ไปออกฉายตามพื้นที่อื่นๆนอกเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นเขตที่ตั้งของ WWF และนอกจากนี้ Vince ยังได้เริ่มขายวิดีโอมวยปล้ำของ WWF นอกเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ WWF ผ่านทางบริษัท Coliseum Video ซึ่งเป็นบริษัทของ Vince McMahon เองอีกด้วย ทั้งนี้ Vince McMahon ได้ทำการฉีกกฎเกณฑ์เดิมๆของวงการมวยปล้ำที่ว่า การทำสมาคมมวยปล้ำนั้นควรทำภายในเขตที่ตั้งของตนเองเท่านั้น โดยที่ Vince ได้เริ่มหารายได้เข้าสมาคมในทุกๆทาง ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา, การเซ็นสัญญาออกอากาศรายการกับสถานีโทรทัศน์ รวมถึงการขายวิดีโอเทปมวยปล้ำเพื่อที่จะเป็นการดึงดูดผู้ชม และนักมวยปล้ำในสมาคมอื่นๆ ให้หันมาสนใจในตัวของ WWF มากขึ้น ซึ่งการกระทำของ Vince McMahon ย่อมหมายความว่า Vince ได้เริ่มนำพาวงการมวยปล้ำเข้าสู๋โลกธุรกิจ และทำให้สมาคมมวยปล้ำอื่นๆทั่วสหรัฐอเมริกาหันมาเริ่มต่อสู้กันโดยตรงกับ WWF ของเขานั่นเอง

สำหรับเส้นทางที่ Vince McMahon ใช้สำหรับความพยายามที่จะให้ WWF นั้นเป็นสมาคมระดับชาติเทียบเท่า NWA นั้น เริ่มแรก เขาได้ตัดสินใจเซ็นสัญญานักมวยปล้ำจากสมาคม AWA คนหนึ่งที่ชื่อ Hulk Hogan ผู้ซึ่งเคยแสดงภาพยนตร์เรื่อง Rocky III ทำให้เป็นที่รู้จักบ้างพอสมควรในระดับประเทศ นอกจากนี้ Vince McMahon ได้หานักมวยปล้ำที่จะมาเป็นคู่ปรับของ Hulk Hogan ใน WWF โดยเขาได้เซ็นสัญญานักมวยปล้ำฝ่ายอธรรมะจาก North Carolina ที่ชื่อ Roddy Piper และนักเพาะกายที่ชื่อ "Superstar" Billy Graham และ Jesse Ventura (อย่างไรก็ดี Ventura ได้ปล้ำแมทช์ใน WWF น้อยมาก และเนื่องจากว่าเขามีปัญหาอาการบาดเจ็บที่ปอด จึงส่งผลให้เขาต้องเลิกปล้ำมวยปล้ำตลอดชีพ แต่ทั้งนี้ เขาได้ถูกย้ายไปเป็นผู้บรรยายแมทช์มวยปล้ำของ WWF ร่วมกับ Gorilla Monsoon) นอกจากนี้ Vince McMahon ได้ตัดสินใจที่จะสร้างซูเปอร์สตาร์ของ WWF ขึ้นมาเพิ่มเติมเพื่อเป็นจุดขายของ WWF โดยไม่ว่าจะเป็นการเซ็นสัญญากับ André the Giant, Jimmy Snuka, Don Muraco รวมทั้งนักมวยปล้ำอิสระที่ปล้ำตามสมาคมทั่วไปทั้ง Paul Orndorff, Greg Valentine, Ricky Steamboat และ The Iron Sheik อย่างไรก็ตาม อันเนื่องมาจากความนิยมในตัวของ Hulk Hogan ที่มีอยู่สูงมาก Vince McMahon ต้องใช้ระยะเวลาที่นานพอสมควร จึงจะทำให้ WWF ได้รับความนิยมจากผู้ชมโดยไม่ต้องอาศัย Hulk Hogan

อย่างไรก็ดี อนาคตของวงการมวยปล้ำไม่ใช่เป็นเพียงแค่การทดสอบของ Vince McMahon เท่านั้น แต่หมายถึงว่า WWF, NWA และวงการมวยปล้ำจะประสบความสำเร็จ หรือล้มเลว ขึ้นอยู่กับสิ่งซึ่ง Vince McMahon ตัดสินใจฉีกรูปแบบเดิมๆของวงการมวยปล้ำออกไปกับ WrestleMania. WrestleMania ถือเป็นรายการพิเศษ หรือศึกใหญ่ (Pay-per-view) ที่มีการจัดขึ้นโดยใช้เงินลงทุนสูง ทั้งนี้ Vince McMahon ต้องการจะให้ WrestleMania ของเขาเปรียบเสมือนกับศึก SuperBowl ของวงการมวยปล้ำนั่นเอง

สำหรับความคิดของการจัดรายการพิเศษของรายการมวยปล้ำนั้น ไม่ได้ถือเป็นความคิดใหม่ในสหรัฐอเมริกา แต่ว่า NWA ได้เริ่มทดลองทำมาแล้ว โดยการจัดศึก StarrCade ที่จัดขึ้นก่อน WrestleMania เพียง 2 ปี (WrestleMania จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1985 ส่วน StarrCade จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526) และได้รับความนิยมพอสมควร แต่ว่า Vince McMahon มีความต้องการที่จะให้มวยปล้ำของ WWF นั้นได้ออกอากาศผ่านทางสื่อหลักๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผู้คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นแฟนกีฬามวยปล้ำได้หันมาสนใจรับชม ทั้งนี้ Vince McMahon ได้พยายามดึงดูดความสนใจของสื่อด้วยการเชิญดาราที่มีชื่อเสียงเช่น Mr. T และ Cyndi Lauper ให้มาร่วมงานกับ WWF ใน WrestleMania ครั้งแรกนี้ ซึ่งต่อมาทำให้ สถานีโทรทัศน์ MTV มีความสนใจในมวยปล้ำของ WWF เป็นพิเศษ และได้ตัดสินใจเซ็นสัญญากับ WWF เพื่อนำรายการมวยปล้ำของ WWF ไปออกอากาศผ่าน MTV โดยในขณะนั้นใช้ชื่อรายการว่า Rock 'n' Wrestling Connection

ยุคทอง

แก้

สำหรับศึก WrestleMania ครั้งแรกที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2528 นั้น มีเสียงตอบรับเชิงบวกเป็นอย่างมาก และศึกนี้ในบางครั้ง ถูกเรียกว่าเป็นต้นกำเนิดของสิ่งที่ Vince McMahon เรียกว่า "กีฬาเพื่อความบันเทิง" นั่นเอง อย่างไรก็ดี จากที่กล่าวไปแล้วข้างต้น James McMahon พ่อของเขา ก็ได้ให้ความสำคัญกับค่าความบันเทิงในวงการมวยปล้ำมาแล้วก่อนหน้านี้เช่นกัน แต่ยังไม่มีความโดดเด่นมากนักเท่านั้น WWF ในช่วงนี้ ได้สร้างให้ธุรกิจของพวกเขาก้าว และเติบโตขึ้นไปได้อย่างน่าอัศจรรย์ ภายใต้การนำของ Vince McMahon และซูเปอร์สตาร์นักมวยปล้ำ ขวัญใจชาวอเมริกันอย่าง Hulk Hogan[20] และในช่วงระยะเวลาต่อจากนี้ไปอีกหลายปี จะเป็นช่วงที่ถูกเรียกว่าเป็นยุคทองครั้งที่ 2 ของวงการมวยปล้ำอาชีพ แต่ทว่า ในช่วงทศวรรษที่ 1990 WWF เริ่มเสื่อมความนิยมลง เมื่อคนดูมวยปล้ำของ WWF เริ่มเบื่อหน่ายกับการที่ Hulk Hogan ถูกดันในฐานะซูเปอร์สตาร์นักมวยปล้ำมากจนเกินไป จนทำให้เขาสามารถเอาชนะใครก็ได้ที่เขาต้องการเสมอ

ยุค "The New Generation"(พ.ศ. 2537 - 2541)

แก้

WWF ก้าวสู่จุดตกต่ำภายหลังจากเกิดปัญหาสำคัญ นั่นคือการถูกกล่าวหาเรื่องการใช้สารกระตุ้น (สเตียรอยด์) ภายในสมาคม รวมถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องในปี พ.ศ. 2537 และการถูกกล่าวหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นโดยพนักงานของ WWF นั่นเอง ซึ่งถึงแม้ว่า Vince McMahon จะพ้นผิดจากข้อหานี้ไปได้ แต่นี่กลับเป็นฝันร้ายในแง่ของสายตาผู้คนสำหรับ WWF กรณีการตรวจสารกระตุ้นภายใน WWF ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐในเวลานั้น ในขณะที่รายได้ของทางบริษัทกำลังลดลง เพื่อเป็นการชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป Vince McMahon จำเป็นที่จะต้องลดค่าใช้จ่าย ด้วยการตัดเงินเดือนของทั้งนักมวยปล้ำ และพนักงานส่วนอื่น ๆ ของบริษัท โดยจะทำการตัดเงินเดือน 40% สำหรับกรณีทั่วไป และ 50% สำหรับผู้จัดการนักมวยปล้ำชื่อดัง เช่น Bobby Heenan และ Jimmy Hart (ภายหลังทั้งสองได้ลาออกจากสมาคม) ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ได้ทำให้นักมวยปล้ำของ WWF หลายคน ตัดสินใจย้ายสังกัดของตัวเองไปอยู่กับสมาคมฝ่ายตรงข้ามของ WWF นั่นคือสมาคม World Championship Wrestling หรือ WCW นับตั้งแต่ปี 1993-1996

และนับตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2537 - 2541 นี้ WWF ได้เรียกตัวเองในช่วงนี้ว่าเป็น "ยุคเลือดใหม่" หรือ "WWF The New Generation" ซึ่งมีนักมวยปล้ำเช่น Shawn Michaels, Diesel (หรือ Kevin Nash), Razor Ramon (หรือ Scott Hall), Bret Hart และ The Undertaker ทั้งนี้ สำหรับความพยายามในการผลักดันเหล่าซูเปอร์สตาร์นักมวยปล้ำที่ได้กล่าวไปข้างต้น รวมทั้งการผลักดันนักมวยปล้ำรุ่นใหม่นั้น WWF ตัดสินใจที่จะเริ่มใช้เนื้อหาที่มีการกล่าวเชื่อมโยงไปถึง 2 อดีตซูเปอร์สตาร์ของ WWF อย่าง Hulk Hogan และ Randy Savage ซึ่งในขณะนั้น ได้ย้ายไปสังกัด WCW แล้ว โดยสิ่งที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดในเรื่องนี้ คือ "Billionaire Ted" ซึ่งได้จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นการกล่าวถึง และล้อเลียน เจ้าของสมาคม WCW ผู้เป็นเจ้าพ่อแห่งวงการสื่อมวลชนอย่าง Ted Turner โดยที่เหตุการณ์ในครั้งนั้น เกิดขึ้นใน Free For All Match (แมทช์ที่จัดขึ้นก่อนเริ่มรายการศึกใหญ่) ก่อนศึก WrestleMania ครั้งที่ 12 โดย "Nacho Man" (มาจากฉายา Macho Man ของ Savage) ปล้ำเจอกับ "The Huckster" (มาจากฉายา The Hulkster ของ Hogan) และมี "Billionare Ted" (เป็นการล้อเลียน Ted Turner) เป็นกรรมการพิเศษ ซึ่งแมทช์นี้ได้มีการถ่ายทำเป็นเทปไว้ก่อนแล้ว และนำมาเปิดในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งแมทช์จบลงด้วยการที่ The Huckster เอาเก้าอี้ไปตีใส่ Nacho Man และ Nacho Man เอารองเท้าส้นสูงของผู้หญิงตีใส่ Huckster จนทั้งคู่นอนตายคาเวที

ยุค "Attitude"(พ.ศ. 2541 - 2545)

แก้

ในยุคนี้ Stone Cold Steve Austin ได้กลายมาเป็นซูเปอร์สตาร์หน้าใหม่ของสมาคม ภายหลังจากคำสัมภาษณ์ "Austin 3:16" ซึ่งเขาได้พูดขึ้นภายหลังจากการเอาชนะ Jake "The Snake" Roberts และเป็นผู้ชนะทัวร์นาเมนต์ King of the Ring ประจำปี พ.ศ. 2539[21] สมาคม WWF ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบรายการให้มีเนื้อหารุนแรงมากขึ้น รวมไปจนถึงเรื่องราวบทบาทที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อต่อกรกับสมาคม WCW ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรง และภายหลังจากที่ Bret Hart ซูเปอร์สตาร์ระดับแถวหน้าคนสำคัญของ WWF ได้ตัดสินใจลาออกจาก WWF ภายหลังจากเหตุการณ์ Montreal Screwjob ซึ่งเขานั้นถูก Vince McMahon วางแผนโกงแชมป์ WWF ด้วยการให้ Shawn Michaels นั้นใส่ท่า Sharpshooter กับ Bret Hart และ Vince Mcmahon ได้สั่งให้กรรมการ Earl Herbner สั่งให้คนตีระฆัง ๆ ยุติการปล้ำ และให้ Shawn Michaels นั้นเป็นแชมป์ WWF คนใหม่ ทั้ง ๆ ที่ Bret Hart ยังไม่ตบพื้นยอมแพ้ ซึ่งจากเหตุนี้ ทำให้ Vince McMahon อาศัยกระแสตอบรับทางลบของเขา มาสร้างคาแรกเตอร์ Mr.McMahon ขึ้นมา ซึ่ง Mr.McMahon นั้น เป็นคาแรกเตอร์ของเจ้าของสมาคม และลุแก่อำนาจ ผู้ซึ่งชื่นชอบนักมวยปล้ำมากกว่าพวกที่ทำตัวแปลกแยกอย่างเช่น Stone Cold Steve Austin ซึ่งในขณะนั้นกำลังได้รับความนิยมในฐานะแชมป์ WWF คนใหม่ ซึ่งจากเหตุนี้ ทำให้เกิดเรื่องราวเนื้อหาความขัดแย้งระหว่าง Mr.McMahon กับ Stone Cold Steve Austin ซึ่งกินเวลายาวนานเกือบ 4 ปี ตลอดจนการกำเนิดของกลุ่ม D-Generation X ใน WWF ซึ่งส่งผลทำให้ WWF เข้าสู่ยุค Attitude อย่างเป็นทางการ

ในยุคนี้ ยังถือเป็นการกำเนิด "สงครามคืนวันจันทร์" ซึ่งเป็นการต่อสู้กันทางเรตติ้งรายการโทรทัศน์ ระหว่าง WWF กับ WCW ที่มีรายการหลักของพวกเขาออกอากาศอยู่ในวันเดียวกัน ซึ่งนั่นคือ RAW is WAR ของ WWF และอีกรายการหนึ่งคือ Nitro ของ WCW และในขณะเดียวกัน[22] ในยุคนี้ ก็ได้มีซูเปอร์สตาร์หน้าใหม่หลายคนเกิดขึ้นในยุคนี้ อย่างเช่น Mankind (หรือ Mick Foley นักมวยปล้ำประเภทฮาร์ดคอร์ชื่อดัง ซึ่งมีชื่อเสียงมาจากหลายสมาคม และเดิมทีรู้จักกันใน WWF ในฐานะ Cactus Jack และ Dude Love), The Rock (หรือเดิมคือ Rocky Maivia), Chris Jericho, Kane, Triple H, The Undertaker และเจ้าของเหรียญทองกีฬาโอลิมปิกในปี 1996 ในประเภทกีฬามวยปล้ำสมัครเล่นอย่าง Kurt Angle[23]

ความก้าวหน้าทางธุรกิจ

แก้

ในวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2542 WWF หันมาทำรายการออกอากาศทางโทรทัศน์ผ่านระบบเครือข่ายโทรทัศน์ปกติ ภายหลังจากที่ทำรายการ RAW ออกอากาศผ่านทางระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมมาตลอด 6 ปี (ตั้งแต่ปี 1993) โดยที่ WWF ได้จัดทำรายการภาคพิเศษขึ้นมาในชื่อว่า SmackDown! ทางสถานีโทรทัศน์ระบบเครือข่าย UPN ซึ่งถือเป็นสถานีโทรทัศน์ระบบเครือข่ายน้องใหม่ในขณะนั้น รายการ SmackDown! ซึ่งออกอากาศเป็นพิเศษในคืนวันพฤหัสบดีนี้ ต่อมาได้เริ่มออกอากาศเป็นประจำทุกสัปดาห์มานับตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2542 และออกอากาศมาจนถึงปัจจุบัน

และเนื่องจากเบื้องหลังการประสบความสำเร็จในยุค Attitude ในครั้งนี้ ในวันที่ 19 ตุลาคม 2539 บริษัท Titan Sports บริษัทแม่ที่ดูแลและบริหารสมาคม WWF (ต่อมา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น World Wrestling Federation Entertainment, Inc.) ก็ได้เข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งนิวยอร์ก NYSE โดยทำการออกขายหุ้นสามัญจำนวน 10 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 17 ดอลลาร์สหรัฐ. และในขณะเดียวกัน WWF ได้ประกาศแตกยอดทางธุรกิจด้วยการริเริ่มทำไนท์คลับที่ Time Square (ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นร้านอาหาร The World แต่ปัจจุบันได้ปิดกิจการไปแล้ว), การทำภาพยนตร์ และการผลิตหนังสือ เป็นต้น

ในปี พ.ศ. 2543 WWF ด้วยความร่วมมือกับสถานีโทรทัศน์ระบบเครือข่าย NBC ได้ประกาศจัดตั้งลีกอเมริกันฟุตบอลอาชีพ XFL ซึ่งถือเป็นการแตกรูปแบบธุรกิจใหม่ หลังจากที่ WWF ทำงานกับกีฬามวยปล้ำมาเป็นระยะเวลานาน โดยที่ XFL ได้ฤกษ์เริ่มแข่งขันอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2544[24] ซึ่งมีเรตติ้งสูงเป็นพิเศษในช่วงสัปดาห์แรก ๆ แต่ทว่าภายหลังเนื่องด้วยเรตติ้งที่ตกต่ำลงอย่างน่าใจหายในช่วงหลัง จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในรายการโทรทัศน์ที่มีเรตติ้งในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ต่ำที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ในวงการโทรทัศน์สหรัฐอเมริกา ทำให้ในที่สุด NBC ตัดสินใจล้มเลิกความร่วมมือภายหลังจากที่ XFL ได้ออกอากาศเพียงฤดูกาลแรก ทำให้ Vince McMahon จำเป็นต้องบริหาร XFL แต่เพียงลำพัง อย่างไรก็ดี เมื่อความพยายามในการนำ XFL ไปฉายทาง UPN ประสบความล้มเหลว ทำให้ในที่สุด McMahon จึงไม่มีทางเลือก นอกจากต้องล้มเลิก XFL เสีย[25]

การควบรวมกิจการกับ WCW และ ECW

แก้

ในช่วงนั้น สมาคม WCW ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ WWF ได้ประสบปัญหาอย่างรุนแรง ภายหลังจากที่พวกเขาพ่ายแพ้สงครามเรตติ้งให้กับ WWF มาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 1998 แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขานั้นอยู่รอดได้ ก็เนื่องจากการที่ Ted Turner ผู้เป็นเจ้าของ WCW ได้ตัดสินใจควบรวมกิจการระหว่าง Turner Broadcasting System ซึ่งเข้าเป็นเจ้าของเข้ากับ Time Warner บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการกันระหว่าง Turner Broadcasting System กับ Time Inc. บริษัทสื่อสารมวลชนรายใหญ่ เจ้าของนิตยสาร Time แต่ทว่า ภายหลังจากที่ Time Warner เข้าควบรวมกิจการกับ AOL หรือ American Online บริษัทด้านโทรคมนาคมชื่อดังในสหรัฐอเมริกากลายเป็น AOL Time Warner อำนาจของ Ted Turner ภายในบริษัทจึงถูกจำกัดลง ส่งผลให้ AOL Time Warner ตัดสินใจที่จะไม่ต้องการให้ WCW เป็น 1 ในธุรกิจของพวกเขาอีกต่อไป ในที่สุด ในเดือนมีนาคม 2544 WWF Entertainment จึงเข้าซื้อกิจการของ World Championship Wrestling หรือ WCW จาก AOL Time Warner ด้วยมูลค่าการซื้อขายตามรายงาน 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[26] และจากการซื้อสมาคม WCW ได้ทำให้ WWF กลายเป็นสมาคมมวยปล้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นสมาคมในทวีปอเมริกาเหนือเพียงสมาคมเดียวที่ได้ชื่อว่าเป็นสมาคมยักษ์ใหญ่จนกระทั่งการถือกำเนิดขึ้นของสมาคม Total Nonstop Action Wrestling หรือ TNA ในปี 2545

ในขณะเดียวกัน ทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม Extreme Championship Wrestling หรือ ECW ซึ่งถูกยึดภายหลังจากที่ประสบปัญหาจนล้มละลายในเดือนเมษายน 2001 ก็ได้ถูกยึดเป็นกรรมสิทธิ์ของ WWF (ขณะนั้นเป็น WWE แล้ว) ในช่วงกลางปี 2546 นั่นเอง[27]

World Wrestling Entertainment (พ.ศ. 2545 - ปัจจุบัน)

แก้

ในปี พ.ศ. 2543 กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund) (WWF เช่นกัน) องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม หรือที่ในปัจจุบันคือ กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature) ได้ฟ้องร้องกับทาง World Wrestling Federation ถึงกรณีการใช้ชื่อย่อ WWF ซึ่งปรากฏว่าศาลของประเทศอังกฤษได้มีความเห็นว่า WWF Entertainment Inc. ในขณะที่ยังใช้ชื่อว่า Titan Sports Inc. ได้ทำการฝ่าฝืนข้อตกลงในปี 2537 ที่กำหนดถึงสิทธิในการใช้ชื่อ WWF โดยเฉพาะในด้านการค้า[28] ซึ่งภายหลังจากการดำเนินการในศาลผ่านมา 2 ปี ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 [29]WWF Entertainment Inc. ก็ได้ทำการเปลี่ยนชื่อเรียก WWF ที่ใช้มานานถึง 22 ปีมาเป็น WWE อย่างเงียบ ๆ สำหรับข้อความทุกบทที่มีการกล่าวเอ่ยชื่อถึงชื่อสมาคม พร้อมกับการเปลี่ยน URL เว็บไซต์จาก WWF.com มาเป็น WWE.com ก่อนที่ในวันถัดมา ทางบริษัทจึงได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ได้ทำการเปลี่ยนชื่อจาก World Wrestling Federation Entertainment, Inc. มาเป็น World Wrestling Entertainment, Inc. หรือ WWE และการประกาศเปลี่ยนแปลงชื่อสมาคมในครั้งนี้ได้ถูกนำมาประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ระหว่างการออกอากาศรายการ RAW ซึ่งจัดขึ้นที่สนาม Hartford Civic Center ในเมือง Hartfort รัฐ Connecticut และในช่วงระยะหนึ่ง ทาง WWE ได้ใช้สโลแกน "Get The 'F' Out." เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงชื่อของสมาคมด้วย[30]

ทั้งนี้ ศาลได้ออกคำสั่งให้ World Wrestling Entertainment Inc. นั้น หยุดการใช้ตราสัญลักษณ์ WWF ในยุค Attitude บนทรัพย์สินของบริษัททุกอย่าง รวมไปจนกระทั่งถึงต้องดำเนินการเซนเซอร์ทุกอย่างที่เป็นตราสัญลักษณ์ของ WWF ในยุค Attitude อันเนื่องมาจากว่า WWE ไม่มีสิทธิในการใช้ตราสัญลักษณ์ WWF Attitude อีกต่อไป ถึงอย่างไรก็ตาม[31] จากผลของคำพิพากษา WWE ยีงตงมีสิทธิในการใช้ตราสัญลักษณ์ WWF เดิม ซึ่งพวกเขาใช้มาตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปี 2540 พร้อมด้วยโลโก้ "New WWF Generation" ซึ่งใช้ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปี 2540 นอกจากนี้ WWE ยังมีสิทธิในการเรียกชื่อ "World Wrestling Federation" และ "World Wrestling Federation Entertainment" ได้ โดยไม่อาจมีการเรียกร้องใดๆ ได้ในอนาคต

ในเดือนเมษายน 2545 ประมาณ 1 เดือนก่อนหน้าที่ WWF จะเปลี่ยนชื่อเป็น WWE นั้น WWE ตัดสินใจปรับแผนการทางธุรกิจใหม่ โดยการตัดสินใจแบ่งแยกนักมวยปล้ำทั้งหมดที่มีอยู่ในสมาคมออกเป็น 2 ค่าย คือ RAW และ SmackDown อันเนื่องมาจากจำนวนนักมวยปล้ำที่มีมากเกินไป นับตั้งแต่ภายหลังจากเหตุการณ์สตอรี่ไลน์ The Invasion หรือ The Alliance (เป็นสตอรี่ไลน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับกลุ่มนักมวยปล้ำจากสมาคม WCW และ ECW ในขณะนั้นได้ปิดตัวลงไปแล้ว ได้รวมตัวกันมาเปิดศึกกับกลุ่มนักมวยปล้ำของ WWF ในลักษณะที่ต้องการจะครอบครอง WWF) ซึ่งเมื่อจบลงในเดือนพฤศจิกายน 2544 (เรื่อง The Invasion เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2544) พบว่า WWE นั้นมีนักมวยปล้ำมากกว่า 100 คน ส่งผลทำให้จำนวนนักมวยปล้ำมากจนเกินที่ทางสมาคมจะรับได้ทั่วถึง ส่งผลทำให้เกิดการแบ่งค่ายขึ้น ซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า WWE Brand Extension หรือการขยายแบรนด์นั่นเอง และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา WWE ก็ได้จัดให้มีการ Draft Lottery หรือ WWE Draft ขึ้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนตัวนักมวยปล้ำทั้งสองค่าย และเป็นการเพิ่มเติมอรรถรสใหม่ ๆ ให้กับรายการแต่ละค่ายนั้น

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 รายการ WWE Raw ได้ตัดสินใจย้ายช่องออกอากาศไปยังช่องออกอากาศที่เป็นต้นกำเนิดอย่างสถานีโทรทัศน์ USA Network ภายหลังจากที่ได้ออกอากาศรายการทางสถานีโทรทัศน์ TNN (สถานีโทรทัศน์ Spike TV ในปัจจุบัน) มานานกว่า 5 ปี โดยในช่วงที่ยังออกอากาศกับทางช่อง TNN นั้น WWE มีสิทธิในการได้รับเงินค่าโฆษณาทั้งหมดจากโฆษณาที่ออกอากาศในระหว่างคั่นรายการ แต่ทว่า เมื่อพวกเขาย้ายช่องออกอากาศมาที่ USA Network แล้ว ทาง USA Network นั้นไมให้ WWE ได้รับเงินค่าโฆษณาทั้งหมดเหมือนแต่ก่อน จึงทำให้ WWE ตัดสินใจหารายได้ด้วยวิธีอื่น โดยที่ WWE เริ่มจากการก่อตั้ง WWE 24/7 รายการโทรทัศน์รูปแบบพิเศษในรูปแบบ On-Demand ผ่านทางการรรับสมัครสมาชิก ซึ่งผู้ที่เป็นสมาชิกของ WWE 24/7 ได้มีโอกาสรับชมรายการมวยปล้ำเก่าๆ จากคลังวิดีโอรายการมวยปล้ำของ WWE ซึ่งรวมแล้วมีความยาวมากถึง 80,000 ชั่วโมง และรายการประเภทอื่นๆ นอกเหนือไปจากมวยปล้ำด้วย และในปี 2006 ด้วยสัญญากับทาง NBC Universal บริษัทแม่ผู้ดูแลสถานีโทรทัศน์ USA Network (ช่องที่ RAW ออกอากาศ) WWE ได้รับอนุญาตให้รื้อฟื้นนำเอารายการโชว์มวยปล้ำคืนวันเสาร์ในอดีตอย่าง Saturday Night's Main Event (SNME) นำมาออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ระบบเครือข่าย NBC ภายหลังจากที่ว่างเว้นจากการออกอากาศไปนานกว่า 13 ปี ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ WWE ได้ออกอากาศรายการผ่านทางระบบโทรทัศน์เครือข่ายเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากรายการ SmackDown! ทาง CW Network (หรือ UPN เดิม) ทั้งนี้ Saturday Night's Main Event จะทำการออกอากาศเพียงครั้งคราวทางช่อง NBC เท่านั้น ในลักษณะของรายการพิเศษของ WWE

ในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 WWE ได้ทำการรื้อฟื้นสมาคม Extreme Championship Wrestling หรือ ECW สมาคมมวยปล้ำฮาร์ดคอร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดสมาคมหนึ่งในยุค 90 กลับมาอีกครั้งในรูปแบบของค่ายที่ 3 ของ WWE นอกเหนือไปจาก RAW และ SmackDown! โดยที่รายการ ECW ยุคใหม่นี้ ทำการออกอากาศทุกวันอังคารผ่านทางสถานีโทรทัศน์ Sci Fi Channel ซึ่งส่งผลทำให้ ณ เวลานั้น WWE มีรายการมวยปล้ำนำเสนอทั้งหมด 3 รายการ 3 ค่าย อ้างอิงผิดพลาด: พารามิเตอร์ในป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง และในวันที่ 26 กันยายน 2007 WWE ได้ทำการประกาศขยายเครือข่ายของพวกเขาในต่างประเทศ ซึ่งนอกเหนือไปจากสำนักงานต่างประเทศในลอนดอน และโตรอนโตแล้ว WWE ได้ทำการเปิดสำนักงานต่างประเทศขึ้นมาอีกที่ซิดนีย์ด้วย[32]

 
สัญลักษณ์ การออกอากาศในระบบ HD ของ ดับเบิลยูดับเบิลยูอี

เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2551 WWE ได้ทำการเปลี่ยนระบบการออกอากาศรายการโทรทัศน์ทั้งหมดของ WWE ไปเป็นระบบ High-Definition หรือ HD ซึ่งเป็นระบบการออกอากาศโทรทัศน์แบบใหม่ที่ให้ภาพ และเสียงชัดเจนขึ้นกว่าระบบออกอากาศโทรทัศน์แบบเดิม ทั้งนี้ในปัจจุบัน ทั้งรายการโทรทัศน์ทั้งหมด และศึกใหญ่ประจำเดือน (Pay-per-view) ล้วนทำการออกอากาศด้วยระบบ HD ทั้งสิ้น และในขณะเดียวกัน WWE ก็ได้ทำการเปิดตัวฉากรายการใหม่สำหรับทั้ง 3 ค่าย (RAW, SmackDown! และ NXT) เพื่อเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงระบบการออกอากาศโทรทัศน์แบบใหม่ของ WWE นั่นเอง[33]

ถัดมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน WWE ได้ก่อตั้ง ดับเบิลยูดับเบิลยูอี ยูนิเวิร์ส ซึ่งเป็นสื่อสังคมออนไลน์สำหรับผู้รับชมรายการของสมาคม

ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 โดย วินซ์ แม็กแมน ได้ออกมาประกาศในรายการ อีซีดับเบิลยู (ดับเบิลยูดับเบิลยูอี) เป็นตอนสุดท้าย ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรายการโทรทัศน์โดยยุบรายการ อีซีดับเบิลยู (ดับเบิลยูดับเบิลยูอี) และในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 ได้ถูกเปลี่ยนรายการแทน คือ ดับเบิลยูดับเบิลยูอีเอ็นเอ็กซ์ที [34] หลังจากมีการชิงแชมป์โลก ECW เป็นแมทช์สุดท้ายระหว่าง คริสเตียน กับ อีซีคีล แจ็กสัน[35][36]

ในช่วงเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้นเอง ก็มีปิดการให้บริการดับเบิลยูดับเบิลยูอี ยูนิเวิร์ส โดยเปลี่ยนไปใช้สื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ แทน

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 World Wresting Entertainment ได้เปลี่ยนชื่อไปเป็น WWE Inc.[ต้องการอ้างอิง]

ดับเบิลยูดับเบิลยูอี เน็ตเวิร์คและข้อตกลง

แก้

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ทาง WWE ได้ประกาศว่า ดับเบิลยูดับเบิลยูอี เน็ตเวิร์ค (WWE Network) เปิดให้บริการ ในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก[37] ปัจจุบันบริการ WWE Network ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้รวมเข้ากับ Peacock ของบริษัท NBCUniversal ส่วนบริการ WWE Network นอกประเทศสหรัฐอเมริกายังสามารถรับชมผ่านทางช่องทางเดิม

ตามประกาศเมื่อวันอังคารที่ 23 มกราคม 2024 เน็ตฟลิกซ์จะออกอากาศรายการมวยปล้ำเรือธงประจำสัปดาห์ของดับเบิลยูดับเบิลยูอี อย่างรอว์ ในเดือนมกราคม 2025 ในสหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักรโดยเฉพาะ นอกจากนี้ Netflix จะเป็นแหล่งรวมเนื้อหาของดับเบิลยูดับเบิลยูอี ทั้งหมดนอกสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ ซึ่งรวมถึงสารคดี ซีรีส์ต้นฉบับ สแมคดาวน์ เอ็นเอ็กซ์ที และกิจกรรมถ่ายทอดสดระดับพรีเมียม เช่นเรสเซิลเมเนีย, ซัมเมอร์สแลม และรอยัลรัมเบิล[38][39][40]

รายการ

แก้

รายการที่ WWE ได้ผลิตในปัจจุบันออกอากาศในระบบ HD (High-Definition) เกือบทุกรายการ โดยมีฉากใหม่ทั้งหมดที่เรียกว่า ฉาก Universal (ใช้กับรายการ WWE Monday Night RAW, WWE Thursday Night SmackDown, WWE Superstars และ WWE Main Event)

รายการมวยปล้ำหลัก

รายการไฮไลท์

รายการมวยปล้ำใน WWE Network แบ่งออกได้เป็น 5 หมวด ได้แก่

  • Pay-Per-Views - รับชมทุกรายการประจำเดือนของ WWE, ECW และ WCW ย้อนหลังตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทุกรายการ
  • In Ring - รายการรายสัปดาห์ของ WWE ย้อนหลังทุกรายการ
  • Originals - รายการโชว์เกี่ยวกับซูเปอร์สตาร์ออกอากาศเฉพาะบน WWE Network
  • Collections - ชุดรวมที่สุดของนักมวยปล้ำแต่ละคน
  • Vault - เทปบันทึกรายการโชว์ในอดีตของ WWE และสมาคมอื่น ๆ

รายการมวยปล้ำที่ฉายในประเทศไทย รายการที่ฉายในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันสามารถรับชมได้จากช่อง 3BB Sports One

  • WWE Monday Night RAW ออกอากาศสดทุกวันอังคาร เวลา 08.00 -11.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย (หรือเวลา 07.00-10.00 น. ตามช่วงเวลาออมแสงในสหรัฐอเมริกา) ผ่านโทรทัศน์บอกรับสมาชิกในระบบอินเทอร์เน็ตของทรีบอร์ดแบรนด์
  • WWE Friday Night SmackDown ออกอากาศสดทุกวันเสาร์ เวลา 08.00-10.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย (หรือเวลา 07.00-09.00 น. ตามช่วงเวลาออมแสงในสหรัฐอเมริกา) ผ่านโทรทัศน์บอกรับสมาชิกในระบบอินเทอร์เน็ตของทรีบอร์ดแบรนด์

รายการในอดีตที่ฉายในประเทศไทย ซึ่งออกอากาศ 2 สถานี ได้แก่ สทท. และ ไอทีวี

  • ศึกพญาไทมวยปล้ำ ออกอากาศคืนวันอาทิตย์ เวลา 23:00-23:50 น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2545)
  • ศึกมวยปล้ำ สะท้านโลก ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 14:00-14:30 น. ทางสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2546)
  • รายการที่ออกอากาศทาง TrueSport 2 (TrueVisions ช่อง 102 ระบบดิจิตอล) ซึ่งจะออกอากาศช้ากว่าสหรัฐอเมริกา 2-3 สัปดาห์ 6 รายการ (สิ้นสุดวันออกอากาศ พ.ศ. 2556)
    • WWE Monday Night RAW ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 09.30-11.30 น.
    • WWE Friday Night SmackDown ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 09.30-11.00 น.
    • WWE Main Event ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 08.30-09.30 น.
    • WWE Experience ออกอากาศทุกวันจันทร์ เวลา 20.00-21.00 น.
    • WWE Bottom Line ออกอากาศทุกวันอังคาร เวลา 20.00-21.00 น.
    • NXT Wrestling ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 20.00-21.00 น.
    • WWE After Burn ออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลา 00.30-01.30 น.
  • รายการที่ออกอากาศทาง SPORTS SPIRIT (CTH ช่อง 147) ซึ่งยุติการออกอากาศในปี พ.ศ. 2558 [41]
    • WWE Monday Night RAW ออกอากาศทุกวันเสาร์ เวลา 18.00-21.00 น.
    • WWE Main Event ออกอากาศทุกวันจันทร์ เวลา 19.00-20.00 น.
    • NXT Wrestling ออกอากาศทุกวันจันทร์ เวลา 20.00-21.00 น.
    • WWE Thursday Night SmackDown ออกอากาศทุกวันอังคาร เวลา 19.00-21.00 น.
    • WWE Superstars ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 19.00-20.00 น.
    • WWE Vintage ออกอากาศทุกวันพุธ เวลา 20.00-21.00 น.
    • WWE After Burn ออกอากาศทุกวันพฤหัสบดี เวลา 19.00-20.00 น.
    • WWE Bottom Line ออกอากาศทุกวันนพฤหัสบดี เวลา 20.00-21.00 น.
    • WWE Experience ออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 19.00-20.00 น.
    • WWE This Week ออกอากาศทุกวันศุกร์ เวลา 20.00-20.30 น.

รายการพิเศษ

นอกจากนี้ยังมีรายการมวยปล้ำที่ออกอากาศผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยออกอากาศผ่านทาง WWE Network

ตำแหน่งหลัก

แก้

ผู้บริหาร

แก้
 
สำนักงานใหญ่ของดับเบิลยูดับเบิลยูอีที่สแตมฟอร์ด รัฐคอนเนตทิคัต

คณะกรรมการบริษัท

แก้

ตราสัญลักษณ์

แก้

แชมเปียน

แก้

รางวัลอื่นๆ

แก้
ผลงาน ผู้ชนะ วันที่ชนะ สถานที่ หมายเหตุ
Money in the Bank (ชาย) Brock Lesnar 19 พฤษภาคม 2562 Hartford, Connecticut Defeated Baron Corbin, Drew McIntyre, Ali, Andrade, Randy Orton, Ricochet and Finn Bálor to win.
Money in the Bank (หญิง) Bayley 19 พฤษภาคม 2562 Hartford, Connecticut Defeated Carmella, Dana Brooke, Ember Moon, Mandy Rose (with Sonya Deville), Naomi, Natalya, and Nikki Cross to win.
Mae Young Classic Tony Storm 28 ตุลาคม 2561 Uniondale,

New York

ชนะ Io Shirai ในแมทช์ชิงชนะของการแข่งขันในศึก Evolution.
Royal Rumble (ชาย) Seth Rollins 27 มกราคม 2562 Phoenix, Arizona ชนะโดยกำจัด Braun Strowman เป็นคนสุดท้าย
Royal Rumble (หญิง) Becky Lynch 27 มกราคม 2562 Phoenix, Arizona ชนะโดยกำจัด Charlotte Flair เป็นคนสุดท้าย
Mixed Match Challenge R-Truth และ Carmella 11 ธันวาคม 2561 Nashville, Tennessee ชนะ Bobby Roode และ Charlotte Flair ในแมทช์ชิงชนะของการแข่งขัน
Dusty Rhodes Tag Team Classic Aleister Black and Ricochet 13 มีนาคม 2562 Winter Park, Florida Defeated The Forgotten Sons (Steve Cutler and Wesley Blake) in the tournament final to win.
André the Giant Memorial Trophy Matt Hardy 8 เมษายน 2561 New Orleans, Louisiana ชนะโดยกำจัด Baron Corbin เป็นคนสุดท้าย
WrestleMania Women's Battle Royal Naomi 8 เมษายน 2561 New Orleans, Louisiana ชนะโดยกำจัด Bayley เป็นคนสุดท้าย
WWE Greatest Royal Rumble Championship Braun Strowman 27 เมษายน 2561 Jeddah, Saudi Arabia ชนะโดยกำจัด Big Cass เป็นคนสุดท้าย

ดับเบิลยูดับเบิลยูอีในประเทศไทย

แก้
 
บรรยากาศจาก WWE SmackDown & ECW present SummerSlam Tour

ในอดีตนั้น มวยปล้ำดับเบิลยูดับเบิลยูอี เคยนำมาออกอากาศทางทีวีในระยะหนึ่ง โดยออกอากาศทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในตอนดึก และได้ออกอากาศทาง สถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยใช้ชื่อว่า "รายการศึกมวยปล้ำ สะท้านโลก" ออกอากาศในตอนบ่าย ปัจจุบัน รายการของ World Wrestling Entertainment ที่ออกอากาศในประเทศไทย ได้ออกอากาศผ่านทาง ทรูวิชั่นส์ (True Visions) โดยมี อ.สุวัฒน์ กลิ่นเกษร หรือ "น้าติง" เป็นผู้พากย์เพียงที่เดียว ในปัจจุบัน น้าติง ได้ลาออกจาก ทรูวิชั่นส์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และย้ายไปพากย์ให้กับ GMM Z (1Sky) ในรายการมวยปล้ำของสมาคม TNA

รายการของ World Wrestling Entertainment ที่ได้ออกอากาศผ่านทาง ทรูวิชั่นส์ (True Visions) สิ้นสุดลงในปี 2556 ก่อนที่จะย้ายไปออกอากาศผ่านทาง ซีทีเอช (CTH) ตั้งแต่ปี 2557-2558 โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เป็นต้นมาช่องทางการรับชมรายการของ WWE ในประเทศไทยสามารถรับชมผ่านทาง WWE Network ส่วนรายการ Raw และ Smackdown สามารถรับชมได้ผ่านทางช่องของ WWE บน Youtube หลังจากออกอากาศในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 12 ชั่วโมง

นอกจากการออกอากาศผ่านสื่อต่าง ๆ ในประเทศไทยแล้ว World Wrestling Entertainment ก็เคยมาปล้ำให้แฟนมวยปล้ำชาวไทยได้ชมกันแบบสด ๆ ถึง 3 ครั้ง ได้แก่

  1. WWE SmackDown! presents UNLEASHED IN THE EAST เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
  2. WWE SmackDown! LIVE TOUR brought to you by UBC เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
  3. WWE SmackDown & ECW present SummerSlam Tour เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Tylwalk, Nick (February 2, 2023). "WWE made more money than it ever has in 2022". usatoday. สืบค้นเมื่อ March 7, 2023.
  2. "SCHEDULE 14C INFORMATION". NASDAQ. August 22, 2023. p. 248. สืบค้นเมื่อ August 25, 2023.
  3. "WWE - World Wrestling Entertainment Inc Company Profile - CNNMoney.com". Money.cnn.com. สืบค้นเมื่อ July 24, 2022.
  4. "AMENDMENT NO. 2 TO FORM S-4 REGISTRATION STATEMENT". U.S. Securities and Exchange Commission. August 10, 2023. p. 1. สืบค้นเมื่อ September 12, 2023. ...with WWE surviving the merger as a direct, wholly owned subsidiary of [TKO Group Holdings]
  5. "Company Overview". WWE Corporate. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 17, 2014.
  6. Silverman, Alex (March 25, 2015). "WWE, ABG to Reposition Tapout Brand as Part of 50/50 Joint Venture". Sports Business Journal. สืบค้นเมื่อ September 7, 2021.
  7. "World Wrestling Entertainment, Inc". New York Stock Exchange. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-28. สืบค้นเมื่อ 2011-12-07.
  8. "WWE® Annual Shareholders Meeting to be held on April 29, 2011" (PDF). WWE. 2011-02-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-04-29. สืบค้นเมื่อ 2011-05-08.
  9. "WWE Corporate - Company Overview". 2011-06-15.
  10. "WWE Corporate - WWE OPENS MUMBAI OFFICE". 2011-06-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-03. สืบค้นเมื่อ 2012-05-19.
  11. "The New WWE". World Wrestling Entertainment. 2011-04-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-10. สืบค้นเมื่อ 2011-04-08.
  12. "SEC-Show". otp.tools.investis.com. สืบค้นเมื่อ 2023-06-12.
  13. Kaelberer, Angie Peterson (2010). Fabulous, Freaky, Unusual History of Pro Wrestling. Capstone Press. p. 32. ISBN 1429647892.
  14. The Spectacular Legacy of the AWA DVD
  15. Wrestling Observer Newsletter. July 20, 2011. {{cite journal}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  16. Wrestling Observer Newsletter. June 3, 1991. {{cite journal}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  17. Wrestling Observer Newsletter. November 2, 2009. {{cite journal}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help)
  18. 18.0 18.1 Hornbaker, Tim (2007). National Wrestling Alliance: The Untold Story of the Monopoly That Strangled Pro Wrestling. ECW Press. p. 193. ISBN 978-1-55022-741-3.
  19. Hornbaker, Tim (2007). National Wrestling Alliance: The Untold Story of the Monopoly That Strangled Pro Wrestling. ECW Press. p. 353. ISBN 978-1-55022-741-3.
  20. Powell, John. "Steamboat — Savage rule WrestleMania 3". SLAM! Wrestling. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-16. สืบค้นเมื่อ 2007-10-14.
  21. Mick Foley (2000). Have a Nice Day: A Tale of Blood and Sweatsocks. HarperCollins. p. 229. ISBN 0061031011.
  22. Shields, Brian; Sullivan, Kevin (2009). WWE: History of WrestleMania. p. 53.
  23. "Specialty Matches". WWE. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-03-19. สืบค้นเมื่อ 2008-12-20.
  24. "WWE Entertainment, Inc. announces the formation of the XFL – a new professional football league". February 3, 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ April 6, 2007. สืบค้นเมื่อ May 5, 2007.
  25. "XFL folds after disappointing first season". CNN. May 10, 2001. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 11, 2007. สืบค้นเมื่อ May 5, 2007.
  26. "WWE Entertainment, Inc. Acquires WCW from Turner Broadcasting". March 23, 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 13, 2014. สืบค้นเมื่อ May 5, 2007.
  27. Shields, Brian; Sullivan, Kevin (2009). WWE: History of WrestleMania. p. 58.
  28. "Agreement-WWF-World Wide Fund for Nature and Titan Sports Inc". สืบค้นเมื่อ 2006-11-23.
  29. John K. Carlisle (2003). "World Wide Fund For Nature vs. World Wrestling Entertainment" (PDF). Foundation Watch. Capital Research Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-04-29. สืบค้นเมื่อ 2010-12-15{{cite journal}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  30. "World Wrestling Federation Entertainment Drops The "F" To Emphasize the "E" for Entertainment". WWE. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-19. สืบค้นเมื่อ 2006-08-28.
  31. "World Wrestling Federation Entertainment Drops The "F" To Emphasize the "E" for Entertainment". WWE. 2002-05-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-19. สืบค้นเมื่อ 2008-12-20.
  32. "WWE: Flexing its Muscle". 2007-09-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-16. สืบค้นเมื่อ 2012-05-19.
  33. "WWE Goes HD". WWE. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-18. สืบค้นเมื่อ 2008-01-25.
  34. http://www.youtube.com/watch?v=bebLaaJppMc&feature=fvwrel/ECW 2/2/10 Vince McMahon Announces The End Of ECW (HDTV)
  35. http://www.youtube.com/watch?v=eUyZqye4g60&NR=1&feature=fvwp/Final ECW Championship - Ezekiel Jackson VS Christian (EXTREME RULES MATCH) PART 1/2
  36. http://www.youtube.com/watch?v=x3rCb7p12sM&feature=related/Final ECW Championship - Ezekiel Jackson VS Christian (EXTREME RULES MATCH) PART 2/2
  37. "WWE Corporate - Initiatives". Corporate.wwe.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-01. สืบค้นเมื่อ 2014-06-24.
  38. https://www.hollywoodreporter.com/business/digital/wwe-raw-moving-to-netflix-2025-streaming-push-live-sports-1235804139/
  39. https://www.wwe.com/shows/raw/article/raw-netflix-tko-partnership-january-2025
  40. https://deadline.com/2024/01/netflix-wwe-monday-night-raw-streaming-tv-1235801673/
  41. [1] ข่าวประชาสัมพันธ์ การออกอากาศรายการ WWE ทาง CTH
  42. 42.0 42.1 "WWE Corporate Biography of Vince McMahon". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-15. สืบค้นเมื่อ 2007-05-20.
  43. "WWE Corporate Biography of George Barrios". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-25. สืบค้นเมื่อ 2010-06-11.
  44. "WWE Corporate Biography of Stephanie McMahon-Levesque". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-29. สืบค้นเมื่อ 2010-06-11.
  45. "WWE Corporate Biography of Jim Connelly". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-29. สืบค้นเมื่อ 2010-06-11.
  46. "WWE Corporate Biography of John Laurinaitis". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-14. สืบค้นเมื่อ 2007-05-20.
  47. "WWE Corporate - Executive Team Bios - Paul Levesque". WWE. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-25. สืบค้นเมื่อ 2011-09-16.
  48. "WWE Corporate - Executive Team Bios - Michael Luisi". WWE. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-13. สืบค้นเมื่อ 2011-09-16.
  49. "WWE Corporate Biography of Michelle D. Wilson". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-06. สืบค้นเมื่อ 2010-06-11.
  50. "WWE Corporate Biography of Brian Kalinowski". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-29. สืบค้นเมื่อ 2010-06-11.
  51. 51.0 51.1 51.2 51.3 51.4 51.5 51.6 51.7 51.8 "Corporate Board of Directors". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-24. สืบค้นเมื่อ 2007-05-20.
  52. WWE Chairman Vince McMahon Unveils New WWE Logo: photos

อ่านเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน