เปาบุ้นจิ้น

ตุลาการ ผู้พิพากษา นักการเมืองและผู้ว่าการนครไคเฟิง มีชีวิตอยู่ในช่วงราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ

เปา เจิ่ง ในภาษาจีนมาตรฐาน (จีน: 包拯; พินอิน: Bāo Zhěng) หรือ เปาจิ้น ในภาษาฮกเกี้ยน (เป่อ่วยยี: Pau Chín; 5 มีนาคม ค.ศ. 999 – 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1062) วรรณกรรมเรียก เปา เหวินเจิ่ง ในภาษาจีนมาตรฐาน หรือ เปาบุ้นจิ้น ในภาษาฮกเกี้ยน (包文拯) เป็นข้าราชการชาวจีนในรัชสมัยจักรพรรดิเหรินจงแห่งราชวงศ์ซ่งของจักรวรรดิจีน ตลอดเวลา 25 ปีที่รับราชการนั้น เปา เจิ่ง แสดงออกซึ่งความซื่อสัตย์สุจริตและเป็นกลางอย่างเสมอหน้า ในระหว่าง ค.ศ. 1057 ถึง 1058 เขาได้เป็นผู้ว่าการนครไคเฟิง เมืองหลวงของราชวงศ์ซ่ง และได้ริเริ่มการเปลี่ยนแปลงหลายประการในระบบราชการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ปวงชนผู้เดือดร้อน ทำให้เขาได้รับยกย่องจนกลายเป็นตำนาน ในช่วงชีวิตราชการของเขา เขายังได้รับฉายาว่า เปาชิงเทียน (包青天; "เปาผู้ทำให้ฟ้ากระจ่าง") เพราะได้ช่วยเหลือคนธรรมดาสามัญให้รอดพ้นจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง

เปา เจิ่ง
包拯
ภาพเปา เจิ่ง จาก สมุดภาพไตรภูมิ (三才圖會) ซึ่งเผยแพร่ในราชวงศ์หมิงเมื่อ ค.ศ. 1609
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด5 มีนาคม ค.ศ. 999(999-03-05)
เหอเฝย์, จักรวรรดิซ่ง
(ปัจจุบัน คือ เฝย์ตง, อานฮุย)
เสียชีวิต3 กรกฎาคม ค.ศ. 1062(1062-07-03) (63 ปี)
ไคเฟิง, จักรวรรดิซ่ง
(ปัจจุบัน คือ ไคเฟิง, เหอหนาน)
ที่ไว้ศพสุสานแห่งหลูหยาง, เหอเฝย์, อานฮุย
31°51′27.17″N 117°17′56.39″E / 31.8575472°N 117.2989972°E / 31.8575472; 117.2989972
คู่สมรสดู ครอบครัว
บุตรดู ครอบครัว
ชื่อเต็มชื่อสกุล: เปา (包)
ชื่อ: เจิ่ง (拯)
ชื่อรอง: ซีเหริน (希仁)
ชื่อเมื่อเสียชีวิตแล้ว: เซี่ยวซู่ (孝肅)

ปัจจุบัน เปา เจิ่ง ได้รับการสดุดีในจีนแผ่นดินใหญ่ให้เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของความยุติธรรม เรื่องราวชีวิตของเขาได้รับการดัดแปลงเป็นวรรณกรรมแนวสืบสวนสอบสวนและกำลังภายในมาแต่โบราณ ซึ่งได้รับความนิยมมาตราบทุกวันนี้ ในตำนานกระแสหลัก เปา เจิ่ง มักได้รับการพรรณนาว่า เป็นตุลาการ ใบหน้าดำคล้ำ มีรูปจันทร์เสี้ยวอยู่บนหน้าผาก ในบางมณฑลของจีน เปา เจิ่ง ยังได้รับการเชิดชูบูชาเป็นเทวดา

ในประวัติศาสตร์

แก้

ต้นชีวิต

แก้

เปา เจิ่ง เกิดในครอบครัวบัณฑิตแห่งหลูโจว (廬州)[1] ครอบครัวของเขาเป็นชนชั้นกลาง แม้บิดามารดาสามารถส่งเสียให้เขาเล่าเรียนได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ก่อนเขาจะเกิด มารดาของเขาต้องสะสมทุนรอนด้วยการขึ้นเขาไปเก็บฟืนมาขายอยู่พักใหญ่[2] เนื่องจากเปา เจิ่ง เติบโตขึ้นในท่ามกลางสังคมชั้นล่างซึ่งเป็นพลเมืองหลักของประเทศ เขาจึงรับรู้และเข้าใจปัญหาของคนชั้นล่างเป็นอย่างดี[2]

ครั้น ค.ศ. 1028 อายุได้ 29 ปี[3] เปา เจิ่ง สอบขุนนางชั้นสูงสุดผ่าน ได้เป็นราชบัณฑิตชั้นจิ้นชื่อ (進士) และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการเทศมณฑลจิ้นชาง (建昌县) แต่เขาขอผัดออกไปก่อน เพื่อกลับบ้านเกิดไปดูแลบิดามารดาผู้ชรา[2]

เวลานั้น หลิว ยฺวิน (刘赟) ผู้ว่าการหลูโจวซึ่งมีชื่อเสียงว่า เป็นกวีเอกและขุนนางใจซื่อมือสะอาด แวะเวียนมาหาเขาเป็นประจำ ทั้งสองถูกคอกัน และเปา เจิ่ง ได้รับอิทธิพลเรื่องการมีใจกรุณาต่อราษฎรมาจากหลิว ยฺวิน[2]

ชีวิตราชการ

แก้
 
ภาพวาดเปา เจิ่ง ตัดสินคดีแม่ตัวจริงตัวปลอม จากหนังสือพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1832

ผู้ว่าการเทียนฉาง

แก้

เมื่อบิดามารดาเสียชีวิตใน ค.ศ. 1038 และปลงศพตามประเพณีแล้ว เปา เจิ่ง กลับมารับใช้แผ่นดิน เริ่มแรกเขาได้เป็นผู้ว่าการนครเทียนฉาง (天长市) ซึ่งไม่ไกลจากหลูโจวบ้านเกิด มีบันทึกว่า ครั้งนั้น ชาวนาผู้หนึ่งมาร้องทุกข์ว่า วัวของตนถูกลอบตัดลิ้น เปา เจิ่ง จึงสั่งให้เขากลับบ้านไปฆ่าวัวนั้นทิ้งเสีย แต่อย่าแพร่งพรายให้ผู้ใดทราบ ตามกฎหมายสมัยนั้น การฆ่าปศุสัตว์เป็นสิ่งต้องห้าม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ ชาวนาผู้นั้นเมื่อได้รับอนุญาตก็กลับไปฆ่าวัวตามคำสั่ง วันต่อมา ชายอีกผู้หนึ่งมาฟ้องว่า ชาวนาข้างบ้านลอบฆ่าวัว เปา เจิ่ง ตบโต๊ะตวาดว่า ลักลอบตัดลิ้นวัวเขาแล้วยังมาฟ้องกล่าวหาเขาอีก ชายผู้นั้นตกใจที่เปา เจิ่ง ล่วงรู้ความจริง ก็รับสารภาพว่า ตนผิดใจกับชาวนามาแต่เดิมแล้ว จึงกลั่นแกล้งตัดลิ้นวัวเขา เขาจะได้จำใจฆ่าวัวนั้นทิ้ง และจะได้มีความผิดฐานฆ่าปศุสัตว์[4]

ผู้ว่าการตฺวันโจว

แก้

ใน ค.ศ. 1040 เปา เจิ่ง ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าการตฺวันโจว (端州) ซึ่งเป็นแหล่งขึ้นชื่อด้านผลิตจานฝนหมึก เปา เจิ่ง ตรวจสอบพบว่า ผู้ว่าการคนก่อน ๆ มักขูดรีดจานฝนหมึกจำนวนมากจากราษฎร เมื่อทำราชการอยู่ที่นี่ เปา เจิ่ง จึงใช้จานฝนหมึกเพียงอันเดียว โดยกล่าวว่า ความจำเป็นมีเท่านั้น ครั้น ค.ศ. 1043 เขาต้องย้ายไปท้องที่อื่น ประชาชนรักใคร่ก็นำจานฝนหมึกมามอบให้เป็นของขวัญมากมาย เปา เจิ่ง ไม่รับไว้เลย และโยนจานฝนหมึกที่ใช้ประจำอยู่นั้นทิ้งลงสู่แม่น้ำกวางตุ้ง ไม่ยอมพกไปด้วยแม้แต่อันเดียว[5]

ผู้ตรวจกำกับ

แก้

ใน ค.ศ. 1044 เปา เจิ่ง ได้รับการเรียกเข้านครหลวงไคเฟิง (開封) เพื่อดำรงตำแหน่งผู้ตรวจกำกับ (監察御史) ภายในสองปีนับจากนี้ เขาได้ถวายฎีกาอย่างน้อย 13 ฉบับว่าด้วยการทหาร ภาษีอากร การสอบขุนนาง และการฉ้อราษฎร์บังหลวงในวงราชการ ใน ค.ศ. 1045 เขายังได้รับแต่งตั้งเป็นราชทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ไปยังราชวงศ์เหลียว (遼朝) มีบันทึกว่า ขณะเข้าเฝ้ากษัตริย์เหลียว ขุนนางเหลียวทูลฟ้องว่า ซ่งละเมิดสัญญาสันติภาพด้วยการแอบสร้างประตูบานหนึ่งไว้ที่กำแพงชายแดนเพื่อให้ชาวเหลียวแปรพักตร์เข้ามาแจ้งข่าวกรอง เปา เจิ่ง จึงถามว่า เหตุใดประตูจึงจำเป็นต่อการหาข่าวกรอง แต่ขุนนางเหลียวตอบไม่ได้[6]

ระหว่างที่เปา เจิ่ง ทำราชการอยู่ในราชสำนักไคเฟิงนั้น จักรพรรดิเหรินจง (仁宗) ประสงค์จะตั้งพระชายาจากสกุลจาง (张) ขึ้นเป็นมเหสี แต่พระพันปีหลิว (刘太后) พระราชมารดา คัดค้าน[7] กระนั้น จักรพรรดิก็ทรงอวยยศให้แก่จาง เหยาจั่ว (張堯佐) ลุงของพระชายาจาง อย่างรวดเร็ว ไม่กี่ปีก็ได้เลื่อนจากขุนนางชั้นล่างขึ้นเป็นขุนนางผู้ใหญ่[8] ในวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1050 เปา เจิ่ง และผู้ตรวจกำกับอีกสองคน จึงร่วมกันถวายฎีกากล่าวโทษจาง เหยาจั่ว แต่จักรพรรดิทรงเมินเฉย และสี่วันให้หลังยังประทานยศให้แก่น้องสาวของพระชายาจาง เปา เจิ่ง ไม่ลดละความพยายาม เขาถวายฎีกาอีกฉบับหนึ่งแต่ผู้เดียว พรรณนาถึงความไม่เหมาะสมของจาง เหยาจั่ว ในการดำรงตำแหน่งต่าง ๆ[9] แต่จักรพรรดิกลับให้จาง เหยาจั่ว ควบอีกสี่ตำแหน่ง เปา เจิ่ง จึงถวายฎีกาอีกฉบับ ลงวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1050 ว่า ถ้าทรงขืนจะตั้งจาง เหยาจั่ว ให้ได้ ไม่รับฟังคำปรึกษาที่ถวายแล้ว ก็ขอให้ถอดที่ปรึกษาผู้นี้ออกจากตำแหน่งเสียเถิด[10] ในการประชุมคราวถัดมาในท้องพระโรง เปา เจิ่ง และเสนาบดีอีกเจ็ดคน ยังเปิดประเด็นร้อนเกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของจาง เหยาจั่ว ทำให้จักรพรรดิทรงยอมถอดจาง เหยาจั่ว ออกจากตำแหน่งในที่สุด[10]

ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจกำกับ เปา เจิ่ง ได้ลงโทษลดขั้นและไล่ออกแก่ขุนนางผู้ใหญ่ 30 คน ฐานทุจริต รับสินบน และละเลยหน้าที่ เปา เจิ่ง ยังประสบความสำเร็จในการทูลคัดค้านเสมอ ๆ ผิดกับบุคคลอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ที่ถูกลงโทษสถานหนักเพราะทูลคัดค้านแม้ในเรื่องเล็กน้อย[2]

ผู้ว่าการไคเฟิง

แก้
 
อาคารจำลองที่ทำงานของเปา เจิ่ง ในกวั่งตง มีป้ายเขียนอักษรสี่ตัวว่า "กงเจิ้งเหลียนหมิง" (公正廉明; "สุจริตเที่ยงธรรม")

ใน ค.ศ. 1057 เปา เจิ่ง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการนครหลวงไคเฟิง ซึ่งเวลานั้นเรียกว่า เปี้ยนเหลียง (汴梁)[3]

เปา เจิ่ง เป็นผู้ว่าการไคเฟิงจนถึง ค.ศ. 1058 ในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งปีแห่งการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เปา เจิ่ง ได้ปฏิรูปการปกครองหลายประการเพื่อให้ราษฎรสามารถเข้าถึงผู้ว่าการได้โดยตรง ทำให้เขาได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นอันมาก[11]

แต่ชีวิตการทำงานของเขาหลังพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการไคเฟิงแล้วกลับเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างยิ่ง เป็นต้นว่า เมื่อเขาปลดจาง ฟางผิง (張方平) ซึ่งควบสามตำแหน่งสำคัญ เขากลับได้รับแต่งตั้งเข้าสู่ตำแหน่งเหล่านั้นแทน โอวหยาง ซิว (欧阳修) จึงถวายฎีกาประณามเขาอย่างรุนแรง[11]

ตำแหน่งอื่น ๆ

แก้

หลังจากนั้น เปา เจิ่ง ได้ดำรงตำแหน่งอีกหลายตำแหน่ง โดยมากเกี่ยวข้องกับการคลัง เขายังได้เป็นเสนาบดีคลังอยู่ช่วงหนึ่ง[12]

ถึงแม้จะมีตำแหน่งสูงในวงราชการ เปา เจิ่ง กลับใช้ชีวิตเรียบง่ายจนเป็นที่เลื่องลือ เขายังมีชื่อเสียงในการตรวจสอบการทุจริต กับทั้งอุปนิสัยที่เข้มงวดกวดขัน และไม่อดทนหรือรอมชอมต่อความอยุติธรรมและการฉ้อฉล บุคลิกภาพของเปา เจิ่ง ก็เป็นที่ขึ้นชื่อเช่นกัน มีบันทึกว่า เปา เจิ่ง วางตัวเคร่งครัดเคร่งขรึม ถึงขนาดพูดกันทั่วไปว่า รอยยิ้มของเขาหาดูยากยิ่งกว่าฮวงโหกลายเป็นสีใสสะอาด[13]

กิตติศัพท์เกี่ยวกับความเที่ยงตรงของเปา เจิ่ง นั้นเลื่องลือไปทั่วแผ่นดิน ชื่อเขาจึงกลายเป็นไวพจน์ของคำว่า "ตงฉิน" (忠臣) ขณะที่ตัวเขาเองก็กลายเป็นหัวเรื่องยอดนิยมในวรรณกรรมและอุปรากรอย่างรวดเร็ว พลเมืองมักเล่าขานว่า เปา เจิ่ง นั้นกลางวันรับราชการอยู่บนโลกมนุษย์ กลางคืนไปรับราชการเป็นยมราชอยู่ในนรกภูมิ พูดกันติดปากว่า เช้าชำระคดีคน ค่ำชำระคดีผี[14]

อสัญกรรม

แก้
สุสานของเปา เจิ่ง ที่หลูหยาง, เหอเฝย์, อานฮุย

เปา เจิ่ง ถึงแก่อสัญกรรมที่ไคเฟิงเมื่อ ค.ศ. 1062[3] จักรพรรดิเหรินจงทรงรับศพเขาไว้ในพระราชานุเคราะห์ และประทานสมัญญาแก่เขาว่า "เซี่ยวซู่" (孝肅) แปลว่า กตัญญูปูชนีย์

ก่อนเสียชีวิต เปา เจิ่ง สั่งเสียไว้ว่า "ลูกหลานเราคนใดเป็นข้าราชการแล้วกินสินบาตรคาดสินบน ห้ามกลับคืนมายังบ้านเราและห้ามเผาผีร่วมสกุลกันอีก ใครไม่นับถือคุณงามความดีอย่างเรา เราไม่นับเป็นลูกเป็นหลาน"[5]

ครอบครัว

แก้

ในด้านครอบครัว เปา เจิ่ง มีภริยาสามคน คือ นางจาง (張氏), นางต่ง (董氏), และนางซุน (孙氏)[11]

เปา เจิ่ง มีบุตรสามคนกับนางต่ง เป็นบุตรชายหนึ่งคนชื่อว่า เปา อี้ (包繶) เกิดใน ค.ศ. 1033 และบุตรสาวสองคน[11]

เปา อี้ สมรสกับนางชุย (崔氏) ในราว ค.ศ. 1051 ต่อมาใน ค.ศ. 1053 เปา อี้ เสียชีวิตขณะรับราชการ เปา อี้ มีบุตรชายหนึ่งคนชื่อว่า เปา เหวินฝู่ (包文辅) ซึ่งเสียชีวิตเมื่ออายุได้ห้าปี[11]

เมื่อสาวใช้ในบ้านนามว่า นางซุน ตั้งครรภ์ขึ้น เปา เจิ่ง ก็ให้นางกลับบ้านเกิดโดยที่ไม่ทราบว่า บุตรในครรภ์ของนางคือบุตรของเปา เจิ่ง เอง แต่นางชุย ภริยาของเปา อี้ ทราบความทั้งหมด และแอบส่งเสียเลี้ยงดูนางซุนมาตลอด ครั้น ค.ศ. 1057 นางซุนให้กำเนิดบุตรชายชื่อ เปา หยาน (包綖) นางชุยก็พานางซุนและลูกมาอยู่ที่บ้านตนแล้วอุปการะอย่างดี ต่อมาใน ค.ศ. 1058 นางชุยพานางซุนและเปา หยาน กลับคืนตระกูลเปา ทำให้เปา เจิ่ง ดีใจที่เชื้อสายยังไม่สิ้นสูญ จึงเปลี่ยนชื่อให้เปา หยาน เป็น เปา โช่ว (包綬)[11]

พงศาวดารหลวงยกย่องนางชุย บุตรสะใภ้ของเปา เจิ่ง เป็นอย่างยิ่งที่รู้จักพิทักษ์เลือดเนื้อเชื้อไขของวงศ์ตระกูล[11] เชื่อกันว่า เหตุการณ์นี้เป็นที่มาของเรื่องราวในวรรณกรรมที่ว่า เปา เจิ่ง นั้นบิดามารดาจงเกลียดจงชังมาตั้งแต่เด็ก จึงได้รับการเลี้ยงดูจากพี่สะใภ้ ผู้ซึ่งเขาเรียกขานว่า "แม่สะใภ้" (嫂娘)[11]

ในตำนานและวรรณกรรม

แก้

งิ้ว

แก้

เรื่องราวของเปา เจิ่ง นั้นได้รับการเล่าสืบ ๆ ต่ออย่างกว้างขวางในรูปแบบมุขปาฐะ ต่อมาจึงได้รับการดัดแปลงเป็นงิ้ว กระทั่งมีผู้นำมาประพันธ์เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกในราชวงศ์หยวน ครั้งแรก ปรากฏเป็นบทงิ้วซึ่งประพันธ์ด้วยโคลงชู (曲) และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว กระทั่งบทงิ้วอีกหลายเรื่องใช้เปา เจิ่ง เป็นตัวละครหลัก[15] เป็นต้นว่า

ชื่อจีน ชื่ออังกฤษ ผู้แต่ง
อักษรไทย อักษรจีน ความหมาย
จินฉุ่ยเฉียวเฉินหลินเป้าจฺวังเหอ 金水橋陳琳抱妝盒 เฉิน หลิน ถือกล่องข้ามสะพานนทีทอง Chen Lin Carrying the Box at Gold Water Bridge ไม่ปรากฏ
ติงติงตั้งตั้งเผินเอ๋อร์กุ่ย 玎玎當當盆兒鬼[16] อ่างผีสิงก๊องแก๊งก๊องแก๊ง Ding-ding Dong-dong: The Ghost of the Pot ไม่ปรากฏ
เปาไต้จื้อจื้อคันฮุยหลันจี้ 包待制智勘灰闌記 ราชอาลักษณ์เปาไต่สวนคดีวงดินสออย่างหลักแหลม Rescriptor Bao Cleverly Investigates the Circle of Chalk
  • หลี่ เฉียนฟู
  • 李潛夫
เปาไต้จื้อจื้อคันโฮ่วถิงฮวา 包待制智勘後庭花[16] ราชอาลักษณ์เปาไต่สวนคดีดอกไม้ในชานหลังอย่างเฉียบแหลม Rescriptor Bao Cleverly Investigates the Flower of the Back Courtyard ไม่ปรากฏ
เปาไต้จื้อซันคันหูเตี๋ยเมิ่ง 包待制三勘蝴蝶夢[17] ราชอาลักษณ์เปาไต่สวนความฝันของผีเสื้อถึงสามครา Rescriptor Bao Thrice Investigates the Butterfly Dream
  • กฺวัน ฮั่นชิง
  • 關漢卿
เปาไต้จื้อจื้อจั่นหลู่ไจหลัง 包待制智斬魯齋郎[18] ราชอาลักษณ์เปาประหารหลู่ ไจหลัง อย่างชาญฉลาด Rescriptor Bao Cleverly Executes Lu Zhailang
  • กฺวัน ฮั่นชิง
  • 關漢卿
เปาไต้จื้อเฉินโจวเที่ยวหมี่ 包待制陳州粜米[16] ราชอาลักษณ์เปาขายข้าวที่เฉินโจว Rescriptor Bao Sells Rice in Chenzhou ไม่ปรากฏ

นิยาย

แก้

เปา เจิ่ง ยิ่งได้รับความนิยมขึ้นอีก เมื่อปรากฏเป็นตัวละครหลักในวรรณกรรมแนวสืบสวนสอบสวนและแนวสยองขวัญอีกหลายเรื่อง เป็นต้นว่า

ชื่อจีน ชื่ออังกฤษ การแต่ง การแปลไทย
อักษรไทย อักษรจีน ความหมาย ผู้แต่ง สมัยที่แต่ง ผู้แปล สมัยที่แปล
จื่อปู้-หฺยวี่ 子不語[19] จื่อไม่เอ่ย What the Master Would Not Discuss
  • ยฺเหวียน เหมย์
  • 袁枚
ราชวงศ์ชิง
ชีเสียอู่อี้ 七俠五義[20] เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม The Seven Heroes and Five Gallants
  • ฉือ ยฺวี่คุน
  • 石玉昆
ราชวงศ์ชิง จีนแส ไม่ทราบ[21]
บ้วนฮ่วยเหลา 萬花樓[22] หอหมื่นบุปผา Pavilion of Ten Thousand Flowers
  • หลี อฺวี่ถัง
  • 李雨堂
ราชวงศ์ชิง ไม่ปรากฏ รัชกาลที่ 4[23]
เปาเล่งถูกงอั้น 包龍圖公案[24] คดีของท่านเปารูปมังกร Cases of Judge Bao of the Dragon Image ไม่ปรากฏ ราชวงศ์หมิง
รัชกาลที่ 5[25]
 
 
กงซุน เช่อ (ซ้าย) และจั่น เจา (ขวา) จากหนังสือ เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2432
 
ศาลไคเฟิง เมืองไคเฟิง มณฑลเหอหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมเครื่องประหารสามหลังซึ่งจำลองขึ้นตามวรรณกรรม

เรื่องเล่าขาน

แก้

ส่วนใหญ่แล้วมักเล่าขานถึงเปา เจิ่ง ในบทบาทเป็นตุลาการ ในงิ้วผู้แสดงเป็นเปา เจิ่ง มักทาหน้าดำ และมีปานเป็นรูปเสี้ยวจันทร์อยู่บนหน้าผาก ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากบุคลิกภาพของเปา เจิ่ง ที่เคร่งขรึม ซึ่งทำให้ในสมัยแรกเขาได้ฉายาจากผู้คนว่า "เปาหน้าเหล็ก" แต่ต่อมาก็เลื่อนไปเป็น "หน้าดำ" เปรียบเปรยว่า ไม่มีรอยยิ้มให้แก่ความฉ้อฉลทั้งปวง[13]

ในวรรณกรรมส่วนใหญ่ ปรากฏว่า เปา เจิ่ง มีผู้ช่วยอยู่หกคน คือ จั่น เจา (展昭) เป็นองครักษ์ กงซุน เช่อ (公孙策) เป็นเลขานุการ และเจ้าพนักงานตำรวจสี่นาย คือ หวัง เฉา (王朝) หม่า ฮั่น (馬漢) จาง หลง (張龍) และจ้าว หู่ (趙虎) ทั้งเจ็ดคนนี้เป็นสัญลักษณ์ของความสุจริตและเที่ยงธรรม

อนึ่ง ในวรรณกรรมหลาย ๆ เรื่องยังเรียกเปา เจิ่ง ด้วยฉายาต่าง ๆ เช่น เรื่อง เปาเล่งถูกงอั้น เรียกเปา เจิ่ง ว่า "เปาเล่งถู" ตามภาษาฮกเกี้ยน หรือ "เปาหลงถู" ตามภาษาจีนกลาง (包龍圖) หมายความว่า เปารูปมังกร ทั้งนี้ เพราะจักรพรรดิเจินจงทรงพระสุบินว่า จะมีเทพเจ้ามาจุติเป็นข้าราชการ ครั้นเสด็จจากพระบรรทมแล้วก็โปรดให้ช่างวาดรูปข้าราชการผู้นั้นขึ้น แล้วให้เสนาบดีจัดกำลังออกติดตามหาทั่วพระราชอาณาจักร จนพบเจอเปา เจิ่ง ในที่สุด[13]

ส่วนวรรณกรรมเรื่อง เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม ว่า จักรพรรดิเหรินจงโปรดให้เปา เจิ่ง ไปตรวจสอบผัง อฺวี้ (龐昱) ซึ่งโปรดให้เป็นข้าหลวงไปรับมืออุทกภัย ผัง อฺวี้ นั้นเป็นบุตรของผัง จี๋ (庞籍) และมีบรรดาศักดิ์ "หลวงสันติ" (安樂侯; Marquis of Peace) พระเจ้าแผ่นดินจึงพระราชทานอาญาสิทธิ์ให้แก่เปา เจิ่ง สามประการ กงซุน เช่อ จึงออกแบบเครื่องประหารสามหลัง มีลักษณะเป็นแท่น ทำเป็นรูปสัตว์ มีใบมีดอยู่ปลายข้างหนึ่ง เปิดขึ้นและฟันลงกับแท่นนั้นได้ แล้วขอให้พระราชทานเป็นอาญาสิทธิ์ใช้ "ประหารก่อน รายงานทีหลัง" ได้ ก็โปรดให้ตามนั้น เครื่องประหารทั้งสามหลังประกอบด้วย

  • เครื่องประหารหัวสุนัข หรือฉบับแปลไทยเรียก "มีดตัดหัวสุนัข" (狗頭鍘) เป็นรูปสุนัข สำหรับประหารชีวิตสามัญชน
  • เครื่องประหารหัวพยัคฆ์ หรือฉบับแปลไทยเรียก "มีดบั่นศีรษะพยัคฆ์" (虎頭鍘) เป็นรูปเสือ สำหรับประหารชีวิตข้าราชการ
  • เครื่องประหารหัวมังกร หรือฉบับแปลไทยเรียก "มีดปลิดเศียรมังกร" (龍頭鍘) เป็นรูปมังกร สำหรับประหารชีวิตพระประยูรญาติ

จักรพรรดิเจินจงยังพระราชทานสิ่งสำคัญอีกหลายสิ่งให้แก่เปา เจิ่ง เป็นต้นว่า พระแส้ทองคำ (金黄夏楚) ใช้เฆี่ยนพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ปัจจุบันได้ และกระบี่อาญาสิทธิ์ (尚方寶劍) เมื่อเชิญออกแสดงแล้ว ผู้คนทั้งปวงต้องเชื่อฟังประหนึ่งเป็นพระราชโองการ

ในเรื่อง เจ็ดผู้กล้าห้าผู้ทรงธรรม นั้น เปา เจิ่ง ยังเป็นพระสหายขององค์ชายแปด หรืออ๋องแปด (八王; Eighth Prince) พระอนุชาของจักรพรรดิเจินจง และมักหมางใจกับผัง จี๋ ผู้เป็นราชครู (太師; Grand Tutor) และเป็นพระศวศุระ (พ่อตา) ของจักรพรรดิเหรินจง เนื่องจากเปา เจิ่ง พิพากษาประหารชีวิตผัง อฺวี้ ผู้เป็นบุตร แต่ในทางประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฏเหตุผลที่ผัง จี๋ ปฏิบัติต่อเปา เจิ่ง อย่างศัตรูแต่ประการใด

คดียอดนิยม

แก้
 
 
  • • ซ้าย: เปา เจิ่ง ในงิ้วปักกิ่ง
  • • ขวา: รูปจำลองที่วัดเปากง (包公祠) เมืองไคเฟิง มณฑลเหอหนัน แสดงเหตุการณ์ที่พระพันปีเสด็จมาขวางการพิจารณาคดีราชบุตรเขย และทรงขู่จะทำให้เปา เจิ่ง พ้นจากตำแหน่ง แต่เปา เจิ่ง ถอดหมวกขุนนางออกกล่าวว่า ไม่เสียดายหมวกหรือแม้แต่ศีรษะ ก่อนจะสั่งให้ประหารชีวิตราชบุตรเขยตามกฎหมาย
 
ผู้แสดงเป็นเปา เจิ่ง เปิดศาลไคเฟิง ในเมืองไคเฟิง มณฑลเหอหนัน ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งของมณฑล

คดีของเปา เจิ่ง ซึ่งงิ้วนิยมเล่น มีดังนี้

แมวป่าสับเปลี่ยนพระโอรส
(狸貓換太子; Wild Cat for the Crown Prince)

ในรัชกาลพระเจ้าเจินจง สนมหลี่ (李宸妃) ให้ประสูติกาลพระโอรส สนมหลิว (劉宸妃) ริษยา จึงให้กัว ไหฺว (郭槐) ขันที สั่งโค่ว จู (寇珠) นางกำนัล เอาซากแมวป่าถลกหนังมาสับเปลี่ยนพระโอรส แล้วนำพระโอรสไปฆ่าหมกสะพานนทีทอง (金水橋) แต่โค่ว จู จงรักภักดี ไม่กล้าฆ่าพระโอรส ขณะนั้น เฉิน หลิน (陳琳) ขันที กำลังถือกล่องผลไม้ที่พระเจ้าเจินจงพระราชทานเป็นของขวัญวันสมภพอ๋องแปด พระอนุชา มาพบเข้า จึงช่วยกันเอาผลไม้ออก เอาพระโอรสใส่กล่อง แล้วเฉิน หลิน ขันที นำออกไปมอบให้อ๋องแปดเลี้ยงดู เวลานั้น สนมหลี่ต้องพระราชอาญาให้ขังไว้ในตำหนักเย็น เพราะทรงเชื่อว่านางคลอดปิศาจแมวป่า ฝ่ายสนมหลิวก็ให้กำเนิดพระโอรสในเวลาถัดมา จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นอัครมเหสีที่ตำแหน่งจักรพรรดินี พระนางหลิวทูลยุยงให้พระเจ้าเจินจงรับสั่งประหารสนมหลี่ ก็โปรดให้ตามนั้น แต่ชาวตำหนักเย็นมีใจเมตตาแก่สนมหลี่ อฺวี๋ จง (余忠) ขันที เสนอตัวเข้าตายแทน ทั้งได้ความช่วยเหลือของฉิน เฟิง (秦风) ขันที สนมหลี่จึงหลบหนีจากพระราชวังต้องห้ามออกมาสู่โลกภายนอกได้ แต่ก็ต้องตกระกำลำบาก ทั้งมีพระหทัยคิดถึงพระโอรสกันแสงไม่เว้นวันจนพระเนตรมืดบอด ขณะเดียวกัน ด้วยบาปของพระนางหลิว พระโอรสที่พระนางประสูติจึงพระชันษาสั้น พระเจ้าเจินจงไร้พระโอรสอีก อ๋องแปดจึงส่งพระโอรสที่ตนได้อภิบาลไว้เข้ามาเป็นรัชทายาทมิให้ขาดสายพระโลหิต รัชทายาทนั้นต่อมาได้เสวยราชย์เป็นพระเจ้าเหรินจง

กว่ายี่สิบปีให้หลัง เปา เจิ่ง รับพระราชโองการไปตรวจสอบการแจกจ่ายเสบียงของผัง อฺวี้ และกลับเมืองหลวงโดยผ่านมาตำบลที่สนมหลี่อยู่ สนมหลี่จึงเข้าร้องทุกข์ แต่เนื่องจากกาลผ่านมาเนิ่นนาน ทั้งผู้เกี่ยวข้องก็ตายสิ้นแล้ว เพื่อให้คดีคลี่คลาย จึงมีทางเดียว คือ ให้กัว ไหฺว ขันที สารภาพ เปา เจิ่ง ไต่สวนกัว ไหฺว ยามวิกาล โดยให้สตรีนางหนึ่งแต่งกายเป็นผีโค่ว จู ส่วนเปา เจิ่ง เองแต่งเป็นมัจจุราช และจัดศาลเป็นนรก กัว ไหฺว เกรงกลัวว่า ความชั่วของตนเองนั้นคนไม่รู้ แต่ภูตผีเทวดารู้ จึงรับสารภาพโดยตลอด และถูกเปา เจิ่ง พิพากษาประหารชีวิต แต่แม้คดีกระจ่างแล้ว พระเจ้าเหรินจงกลับทรงลังเลพระทัยในการเลือกระหว่างผู้ให้กำเนิดกับผู้เลี้ยงดู เปา เจิ่ง จึงทูลอบรมจนทรงระลึกผิดชอบได้ แล้วเปา เจิ่ง สั่งให้โบยพระเจ้าแผ่นดินฐานอกตัญญูซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ชุดมังกรฉลองพระองค์ถูกโบยแทน ที่สุดแล้ว พระเจ้าเหรินจงรับสั่งให้เอาพระนางหลิวไปประหารชีวิตด้วยการทอดในกระทะน้ำมันเดือด แต่งิ้วสมัยหลังนิยมเล่นว่า พระนางหลิวผูกพระศอปลิดพระชนมชีพเอง ครั้นแล้ว พระเจ้าเหรินจงเสด็จไปรับสนมหลี่พระมารดากลับคืนสู่พระราชวัง และเลื่อนพระนางขึ้นเป็นพระพันปีพระองค์ใหม่

ประหารราชบุตรเขย
(鍘美案; Case of Executing Prince Consort)

เฉิน ชื่อเหม่ย์ (陳世美) เป็นบัณฑิตอยู่ในชนบท สมรสกับฉิน เซียงเหลียน (秦香莲) และมีบุตรด้วยกันสองคน คู่สามีภรรยาฐานะยากจน ต้องอดทนกัดก้อนเกลือกินด้วยกันตลอดมา ภายหลัง เฉิน ชื่อเหม่ย์ ไปสอบขุนนางในเมืองหลวงและได้อันดับหนึ่ง จึงได้รับการแห่แหนไปรอบเมืองหลวง ขณะนั้น พระกนิษฐภคินีพระเจ้าเหริน จง ทอดพระเนตรเห็นเฉิน ชื่อเหม่ย์ รูปงาม ก็มีพระทัยปฏิพัทธ์ เฉิน ชื่อเหม่ย์ ทูลความเท็จว่า ตนยังโสด พระเจ้าเหรินจงจึงพระราชทานสมรสให้ และทรงตั้งให้เขาเป็นเขยหลวง ฐานันดรศักดิ์ว่า "ราชบุตรเขย" (駙馬)

หลายปีต่อมา ทุพภิกขภัยบีบให้ฉิน เซียงเหลียน ต้องพาลูกเข้ามาตายดาบหน้าที่เมืองหลวง ณ ที่นั้น ฉิน เซียงเหลียนทราบความจริงเกี่ยวกับเฉิน ชื่อเหม่ย์ นางจึงไปร้องขอให้เขาช่วยเหลือลูกของเขาเองด้วย แต่ราชบุตรเขยบอกปัด ฉิน เซียงเหลียน จึงไปฟ้องคดีต่อเปา เจิ่ง ว่า ราชบุตรเขยทอดทิ้งลูกเมียและหลอกลวงเบื้องสูงเข้าสู่พระราชวงศ์ เปา เจิ่ง พิสูจน์จนแน่ชัดว่า คำฟ้องของฉิน เซียงเหลียน เป็นจริงทุกประการ แต่เฉิน ชื่อเหม่ย์ คงยืนกระต่ายขาเดียวไม่รับรู้ และใช้ให้หาน ฉี (韓琪) องครักษ์ ไปฆ่าฉิน เซียงเหลียน พร้อมบุตรทั้งสอง เสียให้ตายทั้งหมด แต่หาน ฉี มีมนุษยธรรม จึงชี้ทางให้ฉิน เซียงเหลียน กลับไปหาเปา เจิ่ง ก่อนจะใช้ดาบเชือดคอตนเองตาย เปา เจิ่ง สั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมราชบุตรเขยมาขึ้นศาล พิจารณาแล้วพิพากษาประหารชีวิต สมาชิกพระราชวงศ์เข้าแทรกแซง และข่มขู่จะใช้อิทธิพลทำให้เปา เจิ่ง หลุดจากตำแหน่ง แต่เปา เจิ่ง ไม่เกรงกลัว และสั่งให้เจ้าพนักงานปฏิบัติตามคำพิพากษาเพื่อรักษากฎหมาย

ในวัฒนธรรมปัจจุบัน

แก้

เรื่องราวของเปา เจิ่ง ได้รับการทำเป็นละครโทรทัศน์และหนังสือการ์ตูนบ่อยครั้ง ที่โดดเด่นเช่น

และยังมีเรื่องราวอื่น ๆ เช่น เปา เจิ่ง ตอนเป็นวัยหนุ่มหรือตลกล้อเลียนอีกด้วย เช่น เปาบุ้นจิ้นหน้าขาว (九品芝麻官; Hail the Judge) ภาพยนตร์ฮ่องกงเมื่อ ค.ศ. 1994 แสดงนำโดย โจว ซิงฉือ และอู๋ ม่งต๊ะ[27]

ในภาษาไทย คำว่า "ท่านเปา" ยังเป็นคำตลาดหมายถึง ผู้พิพากษาหรือตุลาการ ราชบัณฑิตยสถานบันทึกไว้ใน พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 2 ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 2009[28] นอกจากนั้น "เปา" ยังเป็นคำในภาษาปากและใช้ในสื่อ หมายถึงกรรมการผู้ตัดสินกีฬา โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอลด้วย

อ้างอิง

แก้
  1. Song Shi, ch. 316.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "Bao Zheng". China Culture. 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-15. สืบค้นเมื่อ 2013-05-29.
  3. 3.0 3.1 3.2 孔繁敏 (Kong Fan-Min) (1986). 包拯年谱 [Annals of Bao Zheng] (ภาษาจีน). Anhui: Huangshan Publishing House. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-12. สืบค้นเมื่อ 2012-02-19.
  4. Huo Jianying (2008). "Honest and Upright Official Respected by the People". China Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-14. สืบค้นเมื่อ 2012-06-15. (อังกฤษ)
  5. 5.0 5.1 Toktoghan et al., History of Song, vol. 316 (Bao Zheng) (จีน)
  6. Chang, pp. 824-825.
  7. Chiba, p. 44.
  8. Chiba, p. 45.
  9. Xu Zizhi Tongjian Changbian, ch. 168.
  10. 10.0 10.1 Xu Zizhi Tongjian Changbian, ch. 169.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 11.6 11.7 Wilt L Idema (2010). Judge Bao and the Rule of Law. Singapore: World Scientific Publishing. p. xi–xii.
  12. "Bao Zheng Shi Die Shou Kai Zuo Ji". China State Finance (1): 22–24. 1960.
  13. 13.0 13.1 13.2 Susan Blader (1998). Tales of Magistrate Bao and His Valiant Lieutenants. Hong Kong: Chinese University of Hong Kong. ISBN 962-201-775-4.
  14. Wilt L. Idema. “The Pilgrimage to Taishan in the Dramatic Literature of the Thirteenth and Fourteenth Centuries.” Chinese Literature: Essays, Articles, Reviews (CLEAR), Vol. 19 (Dec., 1997), pp. 23-57, p. 34
  15. Idema, Wilt L. (2010). Judge Bao and the Rule of Law: Eight Ballad-Stories from the Period 1250-1450. Singapore: World Scientific Publishing.
  16. 16.0 16.1 16.2 Hayden, George Allen (1978). Crime and Punishment in Medieval Chinese Drama: Three Judge Pao Plays. Cambridge University Press. ISBN 0674176081.
  17. West, Stephen H.; Idema, Wilt L. (2010). Monks, Bandits, Lovers, and Immortals: Eleven Early Chinese Plays. Indianapolis: Hackett Publishing Company.
  18. Yang Xianyi; Gladys Yang (2001). Selected Plays of Guan Hanqing. Beijing: Foreign Language Press.
  19. Yuan Mei (2013). "Zibuyu, What the Master Would Not Discuss". Paolo Santangelo and Yan Beiwen. Netherlands: BRILL.
  20. Blader, Susan (1997). Tales of Magistrate Bao and His Valiant Lieutenants: Selections from Sanxia Wuyi. Hong Kong: The Chinese University Press. ISBN 9622017754.
  21. เปาบุ้นจิ้น: 7 ผู้กล้า 5 ผู้ทรงธรรม. จีนแส. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า. 2538. ISBN 9746028308.{{cite book}}: CS1 maint: others (ลิงก์)
  22. Li Yutang (1859). "萬花樓楊包狄演義" [Pavilion of Ten Thousand Flowers: The Romance of Yang, Bao and Di] (ภาษาจีน). Beijing: Gold and Jade Publication House.
  23. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2471). "ตำนานหนังสือสามก๊ก" (PDF). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. p. 15.
  24. Comber, Leon (1964). The Strange Cases of Magistrate Pao: Chinese Tales of Crime and Detection. Clarendon, Vermont: Charles E. Tuttle Company. ISBN 9810845677.
  25. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2471). "ตำนานหนังสือสามก๊ก" (PDF). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. p. 18.
  26. "Legend of Bao back on TV 16 years later". China.org.cn. 2009-07-22. สืบค้นเมื่อ 2014-01-31.
  27. "Hail the Judge". chinesemov.com. สืบค้นเมื่อ 29 June 2010.
  28. Royal Institute of Thailand (2009). "พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 2 ฉบับราชบัณฑิตยสถาน" [Royal Institute Dictionary of New Words, Volume 2] (pdf). Bangkok: Royal Institute of Thailand. p. 60. สืบค้นเมื่อ 2014-06-19.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้