กระบี่อาญาสิทธิ์

(เปลี่ยนทางจาก อาญาสิทธิ์)

อาญาสิทธิ์ หรือ อาชญาสิทธิ์ หมายความว่า อำนาจเด็ดขาด คือ สิทธิที่แม่ทัพได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินในเวลาไปสงคราม หรือที่ข้าราชการชั้นสูงได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินให้กระทำการบางอย่างเป็นต้น โดยมีสิ่งสำคัญคือพระแสงดาบเป็นเครื่องหมาย เรียกว่า พระแสงอาญาสิทธิ์ พระแสงอาชญาสิทธิ์ พระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์ หรือ กระบี่อาญาสิทธิ์ ก็มี [1]

ประเทศไทย แก้

ผู้ว่าราชการจังหวัดในอดีตจะได้รับพระราชทาน "พระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์" จากพระมหากษัตริย์ ให้เป็นสัญลักษณ์ให้มีอาญาสิทธิ์บังคับบัญชาการผู้คนทั้งที่เป็นประชาชนและพนักงานของรัฐทุกกรมกองไม่ว่าทหารและพลเรือนซึ่งอยู่ในสังกัดจังหวัดตนได้ พระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์นั้นนอกจากจะพระราชทานให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว ยังพระราชทานให้แก่แม่ทัพนายกองให้มีอำนาจบัญชาการทัพเสมอพระองค์ด้วย

สำหรับประเทศไทยในอดีตนั้น พระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์เมื่อพระราชทานแก่ผู้ใดก็เท่ากับได้พระราชทานอำนาจแห่งพระองค์ให้แก่ผู้นั้นในอันที่จะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้โดยพระราชอำนาจนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จไปยังที่ ๆ บุคคลนั้นอยู่ จึงต้องถวายพระราชอำนาจคืนพระองค์ตามโบราณราชประเพณี ต่อเมื่อพระองค์เสด็จกลับ ก็จะได้พระราชทานพระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์ให้ผู้นั้นรักษาไว้ตามเดิม ปรกติแล้ว พระแสงนี้จะตกทอดแก่ทายาทของผู้ได้รับคนแรกต่อ ๆ กันไป ไม่ต้องส่งคืน เว้นแต่มีการเรียกคืนหรือเหตุอย่างอื่นแล้วแต่กรณี[2]

ปัจจุบัน แม้ล้มเลิกระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว แต่ประเพณีเกี่ยวกับพระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์ดังกล่าวก็ยังยึดถืออยู่ แต่เป็นเชิงพิธีการเท่านั้น และพระแสงกระบี่อาญาสิทธิ์ประจำแต่ละจังหวัดของไทย ปัจจุบันมักเรียก "พระแสงราชศาสตราประจำจังหวัด"

ประเทศจีน แก้

ไฟล์:PaoKrabiayasit.jpg
ในละครโทรทัศน์ยอดนิยม เปาบุ้นจิ้นมักอัญเชิญกระบี่อาญาสิทธิ์ออกปราบคนพาลอภิบาลคนดี

กระบี่อาญาสิทธิ์ (จีน: 尚方寶劍 หรือ 勢劍; พินอิน: shàngfāngbǎojiàn หรือ shìjiàn, ช้างฟางเป่าเจี้ยน หรือ ชื้อเจี้ยน; แปล: "กระบี่หลวง" หรือ "กระบี่แห่งอำนาจ") หมายถึง กระบี่ของฮ่องเต้ เป็นสัญลักษณ์ของอาญาสิทธิ์และบำเหน็จความชอบ

ในอุปรากรจีนหรือวรรณกรรมจีน กระบี่อาญาสิทธิ์มักปรากฏว่าพระราชทานให้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดินแทนพระองค์ เสนาบดี แม่ทัพนายกอง หรือตุลาการ ผู้ถือกระบี่อาญาสิทธิ์ย่อมมี "อาญาสิทธิ์" ดังกล่าวเสมอองค์ฮ่องเต้ สามารถประหารชีวิตผู้กระทำผิดได้ทันทีแล้วจึงค่อยกราบบังคมทูลถวายรายงาน ที่รู้จักกันในไทยมากที่สุดเห็นจะเป็นกระบี่อาญาสิทธิ์ของเปาบุ้นจิ้น (จีน: 包拯; พินอิน: Bāo Zhěng, เปาเจิ่ง) ซึ่งองค์ฮ่องเต้พระราชทานให้เปาบุ้นจิ้นสามารถประหารผู้ใดก็ได้นับแต่สามัญชน ขุนนาง จนถึงเจ้านาย โดยไม่ต้องได้รับพระราชานุญาตก่อนตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่หลังจากประหารแล้วให้จัดทำรายงานกราบทูลให้ทรงทราบด้วย เป็นที่มาของสำนวนจีนว่า "ฆ่าก่อน รายงานทีหลัง" (จีน: 先斬後奏; พินอิน: xiānzhǎnhòuzòu, เซียนฉ่านโฮ้วโจ้ว)

ในทางประวัติศาสตร์ กระบี่อาญาสิทธิ์ปรากฏขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ฉิน และยังมีบันทึกว่าองค์ฮ่องเต้พระราชทานให้แก่ข้าราชการสำคัญหลายคน เช่น ในสมัยราชวงศ์หมิง แม่ทัพหยวนช้งฮ้วน (จีน: 袁崇煥; พินอิน: Yuán Chónghuàn) ใช้กระบี่อาญาสิทธิ์ตามอำเภอใจ ได้สั่งประหารแม่ทัพเหมาเหวินหลง (จีน: 毛文龍; พินอิน: Máowénlóng) นายทัพผู้มากความสามารถ เป็นเหตุให้ราชวงศ์หมิงขาดคนมีฝีมือและล่มสลายลง ในราชวงศ์ต่อมา (ราชวงศ์ชิง) จึงไม่มีการพระราชทานกระบี่อาญาสิทธิ์แก่ผู้ใดอีก

อ้างอิง แก้

  1. ราชบัณฑิตยสถาน. (2546). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp เก็บถาวร 2009-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 9 มีนาคม 2552).
  2. สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดระนอง. (ม.ป.ป.). พระแสงราชศัสตรา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <http://www.ranongcultural.thport.com/index.php?option=com_content&view=article&id=10&Itemid=11 เก็บถาวร 2009-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 9 มีนาคม 2552).