ปอล เซซาน

(เปลี่ยนทางจาก เซซาน)

ปอล เซซาน (ฝรั่งเศส: Paul Cézanne; 19 มกราคม ค.ศ. 1839 – 22 ตุลาคม ค.ศ. 1906) จิตรกรชาวฝรั่งเศสในลัทธิประทับใจยุคหลัง สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนภาพสีน้ำมัน งานของเซซานเป็นงานที่วางรากฐานสำหรับการเปลี่ยนแปลงจากศิลปะในลัทธิประทับใจของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไปสู่ศิลปะบาศกนิยมของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นแนวที่ทั้งอ็องรี มาติส และปาโบล ปีกัสโซ ยกย่องเซซานว่าเป็น "the father of us all"

ปอล เซซาน
ปอล เซซาน ประมาณ ค.ศ. 1861
เกิด19 มกราคม ค.ศ. 1839(1839-01-19)
แอ็กซ็องพรอว็องส์, เป็นพ่อคุวุยุอ่ะ
เสียชีวิต22 ตุลาคม ค.ศ. 1906(1906-10-22) (67 ปี)
แอ็กซ็องพรอว็องส์, ฝรั่งเศส
สัญชาติฝรั่งเศส
การศึกษาAcadémie Suisse
มหาวิทยาลัยแอ็ก-มาร์แซย์
มีชื่อเสียงจากจิตรกรรม
ผลงานเด่นMont Sainte-Victoire (1885–1906)
Apothéose de Delacroix (1890–1894)
Rideau, Cruchon et Compotier (1893–94)
The Card Players (1890–1895)
The Bathers (1898–1905)
ขบวนการลัทธิประทับใจ, ลัทธิประทับใจยุคหลัง
รางวัลรางวัลเซซาน

ประวัติและชีวิตส่วนตัว แก้

ต้นกำเนิด แก้

ปอล เซซาน เกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1839 (พ.ศ. 2382) ในครอบครัวที่มั่งคั่งร่ำรวยในเมืองแอ็กซ็องพรอว็องส์ ประเทศฝรั่งเศส บิดาของเขาประสบความสำเร็จจากธุรกิจด้านการธนาคารที่ความร่ำรวย ส่วนแม่ของเขานั้นก็เป็นที่จิตใจดีของสนับสนุนงานของลูกชาย พ่อของเซซานไม่ได้ปรารถนาให้เขาเป็นจิตรกร ทำให้เซซานต้องไปเรียนกฎหมายอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเหมือนแอดการ์ เดอกา ในปี ค.ศ. 1852 เซซานได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยบูร์บง (Collège Bourbon) ที่นั่นเขาได้พบกับเอมีล ซอลา (Émile Zola) ผู้ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นนักเขียนชั้นนำของฝรั่งเศส พวกเขาเรียนหนังสือและเติบโตมาด้วยกัน ทั้งสองจึงเป็นเพื่อนที่รู้ใจของอีกฝ่ายเป็นอย่างดี[1]

เส้นทางชีวิตการเป็นศิลปิน แก้

ค้นหาตัวเองในวัยเด็ก แก้

เซซานมีความสนใจเกี่ยวกับบทกวีและงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ๆ เขาได้เรียนวาดเขียนทั้งที่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ตลอดจนเรียนที่โรงเรียนศิลปะของเมืองซึ่งสอนให้ฟรี แต่รางวัลในการเขียนภาพซึ่งทางวิทยาลัยบูร์บงจัดให้มีขึ้นนั้น เซซานไม่เคยได้ ผู้ที่ได้รับรางวัลคือซอลานั่นเอง รางวัลที่เซซานเคยได้รับจากวิทยาลัยแห่งนี้คือคณิตศาสตร์ ภาษาละติน และกรีก และแม้ว่าเด็กหนุ่มทั้งสองคนนี้จะสนใจในการเขียนภาพ แต่ก็คิดอยู่เสมอว่าในวันข้างหน้าตนจะดำเนินอาชีพเป็นกวี[2]

เมื่อเติบโตขึ้น เซซานก็เริ่มเขียนบทกวี ซึ่งบางครั้งเขาก็เขียนภาพประกอบบทกวีของเขาด้วยแล้วก็ส่งไปให้ซอลาดู ภาพชนิดนี้ยังมีเหลืออยู่ภาพหนึ่งแสดงถึงคนในครอบครัวกำลังนั่งล้อมวงกินอาหารที่ประกอบด้วยหัวคนซึ่งถูกตัดออกมา โดยมีเด็ก ๆ กำลังร้องไห้ขออาหารอีก นี่ก็เป็นบทกวีและภาพที่มีแนวความคิดประหลาด ๆ อยู่เบื้องหลัง อันเป็นสิ่งที่จะได้เห็นต่อไปอีกในการเขียนภาพของเซซาน[3]

ต่อมา ซอลาได้ย้ายไปเรียนหนังสืออยู่ที่ปารีส เมื่อย้ายไปแล้วซอลาก็ชักชวนให้เซซานขออนุญาตพ่อมาเรียนเขียนภาพที่ปารีสดูบ้าง แต่ทว่าเซซานได้เข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมายของมหาวิทยาลัยแห่งเมืองแอ็กซ็องพรอว็องส์ไปเสียแล้ว เขาได้เขียนจดหมายไปบอกแก่ซอลา ความว่า "อนิจจา ฉันต้องเรียนกฎหมายเสียแล้ว จะว่าเลือกก็ไม่ถูกนัก เป็นการถูกบังคับให้เรียนมากกว่า" เซซานพบว่าการเรียนกฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่เหลือทนสำหรับเขา และได้บอกไปในจดหมายถึงซอลา ดังนั้นสหายผู้นี้จึงบอกเขาให้เลือกเอาว่าจะเป็นทนายความหรือจิตรกรดี เซซานได้ใช้เวลาเรียนกฎหมายอยู่สองปีทั้ง ๆ ที่ไม่เต็มใจเลย เรียนไปเพียงแค่เพื่อตามใจพ่อของเขาเท่านั้นเอง ในที่สุดเมื่อรู้สึกว่าจะฝืนใจต่อไปไม่ไหว เขาก็เลยตัดสินใจว่าตนควรจะดำเนินอาชีพเป็นจิตรกรดีกว่า[4]

ในระยะนั้น เซซานได้รับอนุญาตจากพ่อให้ไปเรียนเขียนภาพได้ในยามว่างจากการเรียนกฎหมาย และได้จัดให้เขามีห้องเขียนภาพขึ้นที่ภายในบ้าน ภาพที่เซซานเขียนในระยะนี้มีชื่อว่า "Kiss of the Muse" ซึ่งแม่ของเขาเมื่อได้เห็นภาพนี้แล้วก็พอใจมาก และบางทีอาจจะเป็นเพราะภาพนี้เองที่ทำให้พ่อของเขาเห็นใจและยอมให้เขาไปเรียนต่อ ที่ปารีสนั้น เซซานใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับซอลา และเขาก็ได้ไปลงทะเบียนเรียนที่สถาบันสวิส (Académie Suisse) และที่นั่นเองก็เป็นที่ที่เขาได้รู้จักกับที่ปรึกษาของเขา กามีย์ ปีซาโร[5]

เมื่ออยู่ปารีสได้ระยะหนึ่ง เซซานก็เริ่มสงสัยในความสามารถของตนที่จะเป็นจิตรกรเนื่องจากเขาได้ลองเขียนภาพของซอลาดูหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผลเพราะเขียนได้ไม่เหมือน ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเพื่อหาลู่ทางอื่นแทนอาชีพจิตรกร[6]

เมื่อกลับมาอยู่บ้านได้ราวปีเศษ เซซานเข้าทำงานเป็นเสมียนในธนาคารของพ่อ แต่เขาก็รู้สึกเบื่อหน่ายและมิได้มีจิตใจมุ่งมั่นกับงานอันใดที่พ่อเขาอยากให้ทำเลย แต่พ่อของเขามองว่าในฐานะที่จะเป็นผู้ได้รับมรดกของบ้านและธุรกิจของครอบครัว เซซานควรจะต้องเรียนรู้งานไว้ตามสมควร แต่เซซานก็ยังคงมีความสนใจในการกวีนิพนธ์และการเขียนภาพเป็นอย่างมาก และในที่สุดพ่อของเขาก็เห็นว่าลูกชายของตนคงมิสามารถทำงานแทนตนต่อไปได้ เขาจึงตัดสินใจส่งเซซานไปเรียนเขียนภาพที่ปารีสอีกครั้ง[7] ดังนั้นในปี ค.ศ. 1862 เซซานกลับไปที่ปารีสเพื่อทำงานเขียนภาพอีกครั้ง แต่ก็ยังคงล้มเหลวอยู่ เขาพลาดการสอบเข้าเอกอลเดโบซาร์ แต่อย่างไรก็ดีเขายังคงทำงานเขียนภาพต่อไประหว่างนั้นที่ไป ๆ มา ๆ ระหว่างกรุงปารีสกับเมืองแอ็กซ็องพรอว็องส์ ในขณะเดียวกันก็ส่งผลงานของเขาไปยัง Salon jury ด้วย[8]

ในช่วงเวลาที่กลับไปอยู่ที่ปารีสนั้น เขาได้เป็นเพื่อนกับจิตรกรในลัทธิประทับใจคนอื่น ๆ เช่น โกลด มอแน, กามีย์ ปีซาโร ด้วย มากไปกว่านั้นเขายังได้มีโอกาสรู้จักกับออร์ต็องซ์ ฟีแก (Hortense Fiquet) ผู้ซึ่งจะเป็นภรรยาของเขาในอนาคตอีกด้วย[9] และพอเกิดสงครามปรัสเซีย เซซานและฟีแกก็พากันหลบหนีจากปารีสมายังเมืองแล็สตัก (L'Estaque) จนกระทั่งปี ค.ศ. 1871[10]

ช่วงกลางของชีวิต แก้

ในปี ค.ศ. 1872 เซซานใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองปงตวซ ประเทศฝรั่งเศส กับฟีแก ภรรยาของเขาและลูกชายของเขา เซซานยังคงมีความกระตือรือร้นที่จะทำงานเขียนภาพต่อไป เขาได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการออกนั่งเขียนภาพข้างนอกกับกามีย์ ปีซาโร และที่ปงตวซนี่เองเซซานได้พบกับปอล โกแก็ง ผู้ซึ่งชื่นชมในงานของเซซานและยอมจ่ายให้เขา ดังนั้นในราวปี ค.ศ. 1872-1874 เซซานจึงย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านและทำงานให้กับโกแก็งที่เมืองโอแวร์ซูว์รวซ[11] ในขณะเดียวกันในปี ค.ศ. 1873 นั้น เซซานได้มีโอกาสพบกับฟินเซนต์ ฟัน โคค และในปี ค.ศ. 1874 เขาก็มีโอกาสนำผลงานของตนไปจัดแสดงที่งานแสดงผลงานของศิลปินกลุ่มลัทธิประทับใจ ในงานนั้นภาพของเซซานได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มศิลปินเป็นอย่างมาก แต่ถึงกระนั้นภาพของเซซานก็มีความแตกต่างจากศิลปินคนอื่น ๆ มากเช่นกัน การวางองค์ประกอบของเขาในขณะนั้นทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความใกล้เคียงกับงานของปีซาโร และในปี ค.ศ. 1877 เซซานก็ได้จัดงานแสดงผลงานของเขาเองโดยจัดแสดงทั้งหมด 16 ภาพ แต่ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลับมาหนักมาก จนเขาเสียกำลังใจไป แต่อย่างไรก็ดีเขาก็ยังคงทำงานเขียนภาพต่อในสตูดิโอของเขา[12]

ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1880 งานของเขาเริ่มออกห่างจากลักษณะของลัทธิประทับใจมากขึ้นไปทุกที แต่เขาก็ยังคงออกไปเขียนภาพทิวทัศน์อย่างสม่ำเสมอ ราวสิบปีให้หลังมานี้ เซซานพยายามส่งผลงานของเขาที่มีโครงสร้างตามแบบธรรมชาติเข้าร่วมนิทรรศการของ salon เสมอ แต่ก็ยังคงล้มเหลว (มีเพียงครั้งเดียวที่ได้ร่วมจัดแสดง) จนปี ค.ศ. 1886 พ่อของเขาได้เสียชีวิตและทิ้งมรดกไว้ให้กับเขาจำนวนหนึ่ง นั่นทำให้ปัญหาเรื่องการเงินของเขามีสภาพที่ดีขึ้นด้วย[13]

ชีวิตช่วงบั้นปลาย แก้

ในราวเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1895 เซซานได้มีโอกาสจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาที่กรุงปารีสที่ซึ่งอ็องบรวซ วอลาร์ นักธุรกิจค้าศิลปะได้รวบรวมงานของเขามาจัดแสดง นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ที่สาธารณชนได้เห็นงานของเขาและเริ่มตระหนักในอัจฉริยภาพของเขา ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1890 ผลงานของเขาถูกเป็นที่รู้จักในวงกว้างของยุโรป แต่เขาเป็นคนค่อนข้างขี้อายและไม่ค่อยมีสัมพันธ์ที่ดีกับศิลปินคนอื่น ๆ เท่าไรนัก[14] ต่อมาเซซานจึงย้ายกลับไปยังบ้านเกิดที่แอ็กซ็องพรอว็องส์เป็นการถาวร[15] ชีวิตของเขาจบลงอย่างน่าเศร้า เมื่อวันหนึ่งเขาได้ออกไปเขียนภาพและโดนพายุพัดกระหน่ำจนสะบักสะบอม แต่ก็ไม่วายเมื่อพอถึงเช้าวันรุ่งขึ้นเขาก็ยังคงออกไปเขียนภาพอีกและโดนพายุซ้ำ ด้วยอายุที่มากแล้วจึงทำให้เขาเสียชีวิตจากอาการปอดบวมอย่างกะทันหันโดยปราศจากบุตรและภรรยามาเหลียวแล[16]

แนวความคิดในการสร้างผลงาน แก้

งานของเซซานแสดงถึงความเชี่ยวชาญทางการออกแบบ การวางองค์ประกอบ การใช้สี และการร่าง (draftsmanship) ฝึแปรงซ้ำ ๆ อ่อนไหว และลึกซึ้ง เป็นลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของเซซานโดยเฉพาะ เซซานจะใช้สีต่าง ๆ และใช้ฝีกแปรงสั้น ๆ และค่อยสร้างขึ้นจนซับซ้อนซึ่งเป็นทั้งการแสดงออกของสิ่งที่เห็นด้วยตาและเป็นรูปทรงนามธรรมของธรรมชาติในขณะเดียวกัน ภาพของเซซานแสดงให้เห็นถึงความจดจ่อในการศึกษาแบบที่วาดของเซซานเพื่อแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนในการมองในสิ่งที่เห็น[17]

เซซานมีความเชื่อว่า การวาดเส้นกับสีไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง เมื่อคุณระบายสีไปได้เท่าไร คุณก็วาดมันไปด้วยเท่านั้น ยิ่งสีประสานกันมากเท่าไร ภาพวาดก็จะยิ่งเด่นชัดมากขึ้น เมื่อสีมีความเข้มข้นในตัวเองมาก รูปทรงก็จะมีความสมบูรณ์มากขึ้น[18] เซซานได้ละทิ้งวิชาทัศนมิติเชิงเส้น (linear perspective) ที่เคยทำกันมา เขามุ่งเข้าหาความคิดใหม่ทางด้านสี ซึ่งเป็นวิชาทัศนียภาพอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากของเดิม คือ ให้สีเป็นผู้กำหนดความตื้นลึกหรือระยะใกล้ไกลแทนเส้น[19]

ในระยะหลัง ผลงานของเซซานมีแนวความคิดว่า โครงสร้างเรขาคณิตเป็นรากฐานของรูปทรงธรรมชาติทั้งมวล ดังคำกล่าวของเซซานที่เขียนไว้ในจดหมายถึงเอมีล แบร์นาร์ ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1907 ว่า "You must see in nature the cylinder, the sphere, the cone"[20] คำกล่าวนี้ได้ให้อิทธิพลต่อบาศกนิยมในเวลาต่อมา

ผลงานที่สำคัญ แก้

ผลงานในช่วงที่ยังไม่มีแนวทางเป็นของตนเอง แก้

ผลงานในช่วงวัยหนุ่ม แก้

 
The Rape 1867

ผลงานที่เซซานวาดขึ้นในช่วงวัยหนุ่มสะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดวิตกกังวลต่อความปรารถนาที่มีต่อเพศตรงข้าม เขาได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมร่วมสมัยอย่างหนังสือ The Rese Requin ของเอมีล ซอลา และงานเขียนของเวโรเนเซ ผลงานที่สำคัญในช่วงนี้ประกอบด้วย จิตรกรรมชื่อ The Rape และ Orgy[21]

ผลงานที่ได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติของมาแน แก้

 
A Modern Olympia 1873-1874

เซซานได้ศึกษาผลงานของจิตรกรชั้นครูอยู่เสมอ ครั้งที่เขาเดินทางสู่ปารีสในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่ง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการศิลปะนั่นคือ การปฏิวัติของมาแน เมื่อได้มาเห็นจิตรกรรม "โอลิมเปีย" ของเอดัวร์ มาแน เซซานก็ได้ลงมือเขียนภาพ "โอลิมเปียสมัยใหม่" (A Modern Olympia) ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1870[22] และผลงานชิ้นนี้ของเขาก็มีแนวทางคล้ายกับผลงานในช่วงวัยหนุ่มคือมีเนื้อหาเกี่ยวกับกามารมณ์ และผู้ชายผู้ซึ่งแต่งกายชุดดำใส่หมวกนั่งอยู่ในเงามืดสลัว เพ่งมองไปยังสตรีเปลือยในภาพนี้ก็คือเซซานนั่นเอง

ผลงานในช่วงที่มีแนวทางเป็นของตนเอง แก้

จิตรกรรมหุ่นนิ่งกับรูปปั้นกามเทพ (Still Life with Plaster Cupid ค.ศ. 1895) แก้

 
Still Life With Cupid 1895

จิตรกรรมหุ่นนิ่งของเซซานสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางความคิดของเขาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหุ่นนิ่งได้ให้โอกาสและอิสระแก่เขาในการที่จะเลือกสรรและจัดการกับรูปทรงของสิ่งของทั้งหลายตามที่ต้องการ[23]

เซซานจะเริ่มจัดหุ่นนิ่งวางลงบนผ้า แล้วนำผลไม้มาวางใกล้กันโดยจะใช้สีที่เป็นขั้วตรงข้ามมาตัดกัน เช่นสีแดงกับเขียว สีเหลืองกับน้ำเงิน จิตรกรรมชิ้นนี้มีความซับซ้อนของรูปทรงและองค์ประกอบมากที่สุดชิ้นหนึ่งในผลงานยุคหลังของเขา

ความโดดเด่นของงานจิตรกรรมชิ้นนี้คือความขัดแย้งระหว่างวัตถุต่อวัตถุ เช่นสัดส่วนของรูปปั้นกามเทพที่ถูกขยายใหญ่จนเกินจริง แอปเปิลที่อยู่บนพื้นมีขนาดใหญ่กว่าผลไม้ที่อยู่บนโต๊ะ ขาโต๊ะกับหัวหอมใหญ่ที่วางซ้อนกันอยู่ การจัดระนาบของพื้นที่สีแบนเรียบพื้นหลังดูขัดตาไม่เป็นไปตามความจริง

จิตรกรรมชุดภูเขาแซ็งต์-วิกตัวร์ แก้

 
Mont Sainte-Victoire 1904-1906

จิตรกรรมชุดภูเขาแซ็งต์-วิกตัวร์เป็นงานจิตรกรรมชุดที่เป็นงานชิ้นเอกของเซซาน เขาใช้เวลาในการสร้างผลงานชุดนี้อยู่หลายปีโดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880 มีงานจิตรกรรมอยู่ในผลงานชุดนี้อยู่หลายภาพ ผลงานชุดนี้มีความหลากหลายทางด้านรูปแบบและกรรมวิธี แต่โดยภาพรวมแล้วเซซานต้องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรงเรขาคณิตกับการปาดสีอย่างอิสระ

กรรมวิธีในการวาดงานชุดนี้ เซซานจะไม่คำนึงถึงความเป็นจริงของแสงและเงาตามธรรมชาติ แต่เขาได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างและสีสันของธรรมชาติไปตามความต้องการของตัวเอง รูปร่างและทัศนียภาพโดยรอบถูกเปลี่ยนรูปทรงให้ดูง่ายขึ้นเป็นรูปทรงเรขาคณิต และเกิดปริมาตรเป็นแสงและเงาที่ไม่เหมือนจริง เทคนิคและวิธีการเช่นนี้จะส่งอิทธิพลให้กับงานรุ่นหลัง ได้แก่ บาศกนิยมและคติโฟวิสต์

ระเบียงภาพ แก้

ภาพเหมือน แก้

จิตรกรรมหุ่นนิ่ง แก้

ตัวอย่างผลงานชุด Bathers แก้

ตัวอย่างผลงาน ชุดภาพภูเขาแซ็งต์-วิกตัวร์ แก้

เชิงอรรถ แก้

  1. สุรพงษ์ บุนนาค. ชีวิตศิลปิน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2543.
  2. เรื่องเดียวกัน.
  3. เรื่องเดียวกัน.
  4. เรื่องเดียวกัน.
  5. http://www.artble.com/artists/paul_cezanne
  6. สุรพงษ์ บุนนาค. ชีวิตศิลปิน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2543.
  7. เรื่องเดียวกัน.
  8. http://www.artble.com/artists/paul_cezanne
  9. สุรพงษ์ บุนนาค. ชีวิตศิลปิน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2543.
  10. http://www.artble.com/artists/paul_cezanne
  11. เรื่องเดียวกัน.
  12. เรื่องเดียวกัน.
  13. จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2552.
  14. เรื่องเดียวกัน.
  15. http://www.artble.com/artists/paul_cezanne
  16. จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2552.
  17. http://www.paul-cezanne.org
  18. http://www.artble.com/artists/paul_cezanne
  19. ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์, ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ฉบับสมบูรณ์, (กรุงเทพฯ : วาดศิลป์, 2553), 171.
  20. วุฒิ วัฒนสิน, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, (กรุงเทพฯ : สิปประภา, 2552), 84.
  21. จิระพัฒน์ พิตรปรีชา, โลกศิลปะศตวรรษที่ 20,(กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ), 2552,90.
  22. เรื่องเดียวกัน.
  23. เรื่องเดียวกัน.

อ้างอิง แก้

กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554.
จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2552.
วุฒิ วัฒนสิน. ประวัติศาสตร์ศิลปะ. กรุงเทพฯ : สิปประภา, 2552.
ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์. ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : วาดศิลป์, 2553.
สุรพงษ์ บุนนาค. ชีวิตศิลปิน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2543.
อัศนีย์ ชูอรุณ. ศิลปะสมัยใหม่ยุคบุกเบิก. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2535.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้