เจ้าหญิงโนบูโกะ พระชายาในเจ้าชายโทโมฮิโตะ
เจ้าหญิงโนบูโกะ พระชายาในเจ้าชายโทโมฮิโตะ (ญี่ปุ่น: 寬仁親王妃信子; โรมาจิ: Tomohito Shinnōhi Nobuko; ประสูติ 9 เมษายน พ.ศ. 2498) มีพระนามเดิมว่า โนบูโกะ อาโซ (ญี่ปุ่น: 麻生信子; โรมาจิ: Asō Nobuko) เป็นพระชายาวิธวาของเจ้าชายโทโมฮิโตะแห่งมิกาซะ เป็นหลานสาวของชิเงรุ โยชิดะ และเป็นน้องสาวของทาโร อาโซ อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น
เจ้าหญิงโนบูโกะ | |
---|---|
เจ้าหญิงพระชายา | |
เจ้าหญิงโนบูโกะเมื่อ พ.ศ. 2560 | |
ประสูติ | 9 เมษายน พ.ศ. 2498 อีซูกะ จังหวัดฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น |
พระภัสดา | เจ้าชายโทโมฮิโตะแห่งมิกาซะ (พ.ศ. 2523–2555) |
พระบุตร | เจ้าหญิงอากิโกะแห่งมิกาซะ เจ้าหญิงโยโกะแห่งมิกาซะ |
ราชวงศ์ | ญี่ปุ่น (เสกสมรส) |
พระบิดา | ทากากิชิ อาโซ |
พระมารดา | คาซูโกะ โยชิดะ |
พระประวัติ
แก้พระชนม์ชีพช่วงต้น
แก้เจ้าหญิงโนบูโกะประสูติเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2498 ในครอบครัวคริสตัง เป็นธิดาคนที่สามของทากากิชิ อาโซ ประธานบริษัทอาโซ (เดิมทำธุรกิจเกี่ยวกับการขุดเหมืองถ่านหินและโลหะ ปัจจุบันผลิตปูนซีเมนต์, เวชกรรม และอสังหาริมทรัพย์) กับคาซูโกะ (สกุลเดิม โยชิดะ) พระชนนีเป็นบุตรสาวของชิเงรุ โยชิดะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น[1] เจ้าหญิงโนบูโกะมีพระเชษฐาคนโตคือทาโร อาโซ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นเช่นเดียวกับผู้เป็นตา
ทั้งนี้พระอัยยิกาฝ่ายพระชนกสืบสันดานมาแต่ตระกูลคาโนซึ่งเป็นไดเมียวปกครองแคว้นโอจิโนมิยะ พระองค์เป็นเหลนของเคานต์โนบูอากิ มากิโนะ นักการทูต และเป็นลื่อของโอกูโบะ โทชิมิจิ ซามูไรผู้มีชื่อเสียงและเป็นผู้ก่อให้เกิดการจลาจลที่แคว้นซัตสึมะเมื่อปี พ.ศ. 2420
พระองค์ได้เข้ารับการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยรอสลีนเฮาส์ (Rosslyn House College) ในปี พ.ศ. 2516 ต่อมาได้เสด็จกลับประเทศญี่ปุ่นเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนอนุบาลโชโตะที่ทรงก่อตั้งขึ้นเองในย่านชิบูยะ
เสกสมรส
แก้เจ้าหญิงโนบูโกะทรงพบกับเจ้าชายโทโมฮิโตะแห่งมิกาซะครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นเจ้าชายโทโมฮิโตะยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เจ้าชายเคยขอเจ้าหญิงโนบูโกะเสกสมรสเมื่อปี พ.ศ. 2516 แต่ถูกปฏิเสธเพราะเจ้าหญิงโนบูโกะยังเยาว์ชันษา ต่อมาสำนักพระราชวังได้ประกาศกำหนดการพระราชพิธีหมั้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2523 โดยมีพระราชพิธีหมั้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 และพระราชพิธีเสกสมรสเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 หลังการเสกสมรสจึงได้รับพระอิสริยยศเป็น เจ้าหญิงพระชายา ถือเป็นเจ้านายญี่ปุ่นพระองค์ที่สองที่มีพื้นเพเป็นคริสตัง (พระองค์แรกคือสมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะ แต่ต่างตรงที่เจ้าหญิงโนบูโกะทรงผ่านพิธีศีลล้างบาปมาแล้ว) ทั้งสองมีพระธิดาด้วยกันสองพระองค์ คือ
- เจ้าหญิงอากิโกะแห่งมิกาซะ (ญี่ปุ่น: 彬子女王; โรมาจิ: Akiko Joō; ประสูติ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2524)
- เจ้าหญิงโยโกะแห่งมิกาซะ (ญี่ปุ่น: 瑶子女王; โรมาจิ: Yōko Joō; ประสูติ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2526)
เดิมเจ้าชายโทโมฮิโตะและครอบครัวประทับอยู่ร่วมกันในเขตพระราชฐานอากาซากะ เขตมินาโตะ โตเกียว กระทั่งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 เจ้าหญิงโนบูโกะทรงแยกจากพระสวามีและพระธิดาออกไปประทับที่อื่น[2]
พระพลานามัย
แก้เจ้าหญิงโนบูโกะทรงพระประชวรด้วยภาวะพระสมองขาดพระโลหิตชั่วขณะเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547 พระองค์ประทับรักษาพระอาการประชวร ณ พระตำหนักโซมะ เมืองคารูอิซาวะ จังหวัดนางาโนะ ครั้น พ.ศ. 2551 เจ้าหญิงโนบูโกะมีพระอาการหอบหืด ต้องเข้ารับถวายการรักษาที่โรงพยาบาล และต้องรักษาพระอาการประชวร ณ สถานพยาบาลในเขตเมืองอีซูกะ ก่อนเสด็จกลับกรุงโตเกียว ด้วยเหตุนี้เจ้าหญิงโนบูโกะจึงงดพระกรณียกิจตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2549 ก่อนกลับมาประกอบพระกรณียกิจ และปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชนอีกครั้งใน พ.ศ. 2556[3][4]
กลางดึกของวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2562 เจ้าหญิงโนบูโกะทรงหกล้มที่พระตำหนักในกรุงโตเกียว ก่อนเสด็จเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเคโอในเช้าวันรุ่งขึ้น เพราะทรงรู้สึกเจ็บบั้นพระองค์อยู่ตลอด กระทั่งแพทย์ผู้ถวายการรักษาตรวจพบว่าพระปิฐิกัณฐกัฐิบริเวณพระกฤษฎีหัก ต้องถวายรักษายาวนานถึงสามเดือน[5][6]
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เจ้าหญิงโนบูโกะถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งบริเวณพระถันระยะที่ 1 แต่คณะแพทย์มิได้วิตกกังวลนัก เพราะพระองค์ไม่มีพระอาการประชวรจากมะเร็งที่ชัดเจน เจ้าหญิงโนบูโกะเข้ารับการถวายรักษาที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเคโอเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนปีเดียวกัน เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม ก่อนเข้ารับถวายการผ่าตัดนำก้อนเนื้องอกออกในวันที่ 19 พฤศจิกายน[7][8][9] ทว่าหลังผ่าตัดไปได้สองชั่วโมง ก็พบว่ามะเร็งของเจ้าหญิงโนบูโกะยังอยู่ในระยะ 0 ไม่ใช่ระยะที่ 1[10][11][12] เจ้าหญิงโนบูโกะเสด็จออกจากโรงพยาบาลช่วงเช้าของวันที่ 24 พฤศจิกายน หลังคณะแพทย์ผู้ถวายการรักษายืนยันว่า ร่างกายของพระองค์ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และโอกาสที่จะเกิดมะเร็งซ้ำนั้นมีน้อยมาก[13][14] หลังจากนั้นเจ้าหญิงโนบูโกะทรงเข้ารับการฉายรังสีจำนวน 25 ครั้ง ระหว่างวันที่ 23 มกราคม ถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเคโอ[15][16]
เจ้าหญิงโนบูโกะทรงเข้ารับการผ่าตัดต้อหินชนิดปฐมภูมิเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2567 ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเคโอ[17]
พระเกียรติยศ
แก้พระอิสริยยศ
แก้- 9 เมษายน 2498 – 7 พฤศจิกายน 2523 : โนบูโกะ อาโซ
- 7 พฤศจิกายน 2523 – ปัจจุบัน : เจ้าหญิงโนบูโกะ พระชายาในเจ้าชายโทโมฮิโตะ
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- ญี่ปุ่น : เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนมงกุฎ ชั้นสายสะพาย
- นอร์เวย์ : เครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์โอลาฟ ชั้นสายสะพาย
พงศาวลี
แก้โอกูโบะ โทชิมิจิ | มิชิตสึเนะ มิชิมะ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
โนบูอากิ มากิโนะ | มิเนโกะ | ทากิชิ อาโซ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||
ยูกิโกะ | ชิเงรุ โยชิดะ | ทาโร อาโซ | |||||||||||||||||||||||||||||||||||
เค็นอิชิ โยชิดะ | คาซูโกะ | ทากากิชิ อาโซ | เซ็งโก ซูซูกิ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||
เจ้าชายโทโมฮิโตะ | เจ้าหญิงโนบูโกะ | ทาโร อาโซ | ชิกาโกะ | ชุนอิจิ ซูซูกิ | |||||||||||||||||||||||||||||||||
เจ้าหญิงอากิโกะ | เจ้าหญิงโยโกะ | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||
อ้างอิง
แก้- ↑ Carrcer, Stefano. "Taro Aso, un cattolico in corsa per la guida del Giappone," Il Sole 24 Ore (Milano). 19 September 2008. (อิตาลี)
- ↑ "Prince's 2012 passing reduces Imperial household families by one". Japan Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-26. สืบค้นเมื่อ 2013-12-13.
- ↑ "故ヒゲの殿下の妻・信子さま 7年10カ月ぶりに公務復帰". 週刊文春. 2013-06-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-14. สืบค้นเมื่อ 2014-06-12.
- ↑ "三笠宮家の信子さま7年ぶり公務 被災地見舞いで福島に". 共同通信. 2013-11-01. สืบค้นเมื่อ 2014-06-12.
- ↑ "信子さま、転倒し背骨を骨折 全治3か月". 日テレNews. 9 September 2019. สืบค้นเมื่อ 9 September 2019.
- ↑ "Princess Nobuko to undergo breast cancer surgery after early-stage diagnosis". The Japan Times. 15 November 2022. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 15 November 2022.
- ↑ "Princess Nobuko to undergo breast cancer surgery after early-stage diagnosis". The Japan Times. 15 November 2022. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-17. สืบค้นเมื่อ 15 November 2022.
- ↑ "Princess Nobuko Diagnosed with Early-Stage Breast Cancer". Nippon.com. 15 November 2022. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-05. สืบค้นเมื่อ 15 November 2022.
- ↑ "Japan princess Nobuko diagnosed with early-stage breast cancer". The Mainichi. 15 November 2022. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-27. สืบค้นเมื่อ 15 November 2022.
- ↑ "Princess Nobuko Doing Well after Breast Cancer Surgery". Nippon.com. 19 November 2022. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-22. สืบค้นเมื่อ 19 November 2022.
- ↑ "Princess Nobuko undergoes successful breast cancer surgery". The Mainichi. 19 November 2022. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-26. สืบค้นเมื่อ 19 November 2022.
- ↑ "Princess Nobuko undergoes successful breast cancer surgery". Japan Today. 20 November 2022. สืบค้นเมื่อ 20 November 2022.
- ↑ "Princess Nobuko Leaves Hospital after Cancer Surgery". Nippon.com. 24 November 2022. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-12-07. สืบค้นเมื่อ 24 November 2022.
- ↑ "Princess Nobuko Leaves Hospital after Cancer Surgery". Jiji.com. 24 November 2022. สืบค้นเมื่อ 24 November 2022.
- ↑ "信子さま、乳がん術後の放射線治療でご通院へ". The Sankei News (ภาษาญี่ปุ่น). 16 January 2023. สืบค้นเมื่อ 12 February 2023.
- ↑ "信子さま、乳がん術後の放射線治療終えられる". The Sankei News (ภาษาญี่ปุ่น). 28 February 2023. สืบค้นเมื่อ 17 March 2023.
- ↑ 日本テレビ. "信子さまの両目の手術、無事終了 宮内庁発表|日テレNEWS NNN". 日テレNEWS NNN (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2024-03-05.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เจ้าชายโทโมฮิโตะและพระชายา — เว็บไซต์สำนักพระราชวังญี่ปุ่น (อังกฤษ)