เจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ 5
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง คุณสามารถพัฒนาบทความนี้ได้โดยเพิ่มแหล่งอ้างอิงตามสมควร เนื้อหาที่ขาดแหล่งอ้างอิงอาจถูกลบออก |
เจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ 5 หรือ เลียม สุรวงษ์ เกิดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2424 เป็นบุตรีคนที่ 4 ใน เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) กับ ท่านผู้หญิงตลับ (สกุลเดิม โอสถานนท์) ท่านมีพี่น้องร่วมมารดา ดังนี้
- พระยาสุริยานุวงศ์ประวัติ (เต็น บุนนาค)
- ท่านเรียบ ประภากรวงศ์
- พลตรี พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค)
- ท่านเจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ 5
- พันตำรวจเอก พระอดิศักดิ์อภิรัตน์ (เต็ม สุริยวงศ์ บุนนาค)
เจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ 5 | |
---|---|
![]() | |
เกิด | คุณเลียม บุนนาค 10 สิงหาคม พ.ศ. 2424 สยาม |
เสียชีวิต | 10 มิถุนายน พ.ศ. 2503 (79 ปี)![]() |
คู่สมรส | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
บิดามารดา | เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) ท่านผู้หญิงตลับ (โอสถานนท์) สุรวงศ์วัฒนศักดิ์ |
เมื่อท่านอายุได้ 11 ปี มารดาส่งเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ในสำนักของท่านเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5) ผู้เป็นอา ต่อมาได้ถวายตัวรับใช้ รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าจอม พร้อมรับพระราชทานเบี้ยหวัดตั้งต้น 40 บาท ในระหว่างรับราชการ ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้า เหรียญรัตนาภรณ์ เข็มพระชนมายุสมมงคล เข็มพระกำนัล เหรียญรัชฎาภิเศก ประพาสมาลา ทวีธาภิเษก และมีส่วนในพระราชพินัยกรรมด้วย
ภายหลังสิ้นรัชกาลที่ 5 ได้ 2 ปีแล้ว ท่านจึงกราบถวายบังคมลาออกมาอยู่ที่บ้านเดิม ตำบลตลาดแขก ฝั่งธนบุรี กับมารดาและพี่น้อง ตลอดชีวิตได้ทำบุญมากมายหลายอย่าง ยกตัวอย่างมาโดยสังเขปดังนี้
พ.ศ. 2464 ส่งเงินเข้าเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสภากาชาด 3,000 บาท สร้างเตียงในนามเจ้าคุณ บิดา และสร้างเรือนคนไข้ที่ตำบลพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ในนามท่านผู้หญิงตลับ มารดา
พ.ศ. 2466 ชักชวนพี่น้อง สร้างพระป่าเลไลยก์ ซึ่งเป็นรูปเดิม ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ปู่ของท่าน ซึ่งบิดาได้ทำค้างไว้จนสำเร็จ ประดิษฐานไว้ในภูเขาวัดประยุรวงศาวาส ธนบุรี
พ.ศ. 2484 สมัครเข้าเป็นอาสากาชาด
พ.ศ. 2493 ได้บริจาคทรัพย์บำรุงวัดต้นตระกูล คือ
- วัดนวลนรดิศ 10,000 บาท
- วัดศรีสุริยวงศ์ ราชบุรี 10,000 บาท
- วัดสุรชายาราม 5,000 บาท
- วัดบุปผาราม (ยกช่อฟ้า) 2,500 บาท
- วัดประยุรวงศาวาส 2,000 บาท
- วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม 1,000 บาท
- กับบำรุงโรงพยาบาล ในแผนกเอ๊กซเรย์ อีก 5,000 บาท
พ.ศ. 2494 สร้างหนังสือธรรม 3 ฉบับๆละ 1,000 เล่ม ถวายตามวัดต่างๆสิ้นเงิน 8,500 บาท กับทั้งถวายพรมปูในพระอุโบสถวัดบุปผาราม สิ้นเงินอีก8,550 บาท
นอกจากนี้ยังได้สร้างหลังคาพระพุทธไสยาสน์ใหญ่ ที่เขาวงกต จังหวัดลพบุรี สิ้นเงิน 130,000 บาท
สร้างตึกประยูรวงศ์ ในวัดบุปผาราม อุทิศให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ อาของท่าน เมื่อปี 2498 สิ้นเงินกว่า 300,000 บาท
สร้างศาลาสมเด็จ อุทิศให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ปู่ของท่าน สิ้นเงิน 280,000 บาท
กับทั้งบริจาคเงินบำรุงวัดประจำตระกูลอีกหลายคราว ตลอดชีวิต
นอกจากในการบุญกุศลที่ทำเป็นอันมากแล้ว ท่านยังมีฝีมือในทางการช่าง เช่น เมื่อคราวอยู่ในวัง ได้อุตสาหะรวบรวมกระดาษหัวจดหมาย ของทั้งเจ้านายและข้าราชการ รวบรวมเป็นเล่มใหญ่อย่างดี ทูลเกล้าฯถวาย สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเวลาที่วัดบุปผารามมีงานเทศน์มหาชาติเพื่อรวบรวมทุนสร้างอุโบสถ ท่านก็จัดประดิษฐ์เครื่องกัณฑ์พิเศษ ทำเป็นเรือสำเภาใหญ่หรือ ตะกร้าใหญ่เพื่อบรรจุของถวายพระ จนครบจำนวนกัณฑ์ นอกจากนี้ยังได้ประดิษฐ์เรือนตุ๊กตา มีทั้งห้องนอน ห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องพระ ซึ่งมีโต๊ะหมู่บูชาฯลฯ งดงามอย่างของจริง ซึ่งเรือนตุ๊กตานี้เมื่อท่านอนิจกรรมแล้ว ทายาทจึงบริจาคไว้ปรากฏในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร จนทุกวันนี้
ครั้งสุดท้ายได้รับพระมหากรุณา พระราชทานเงินค่าครองชีพ จาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นเงิน 2,000 บาท
ท่านได้ล้มป่วยด้วยโรคหัวใจ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 อาการมีแต่ทรงกับทรุด จนถึงอนิจกรรม เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2503 เวลา 15.50 น. สิริอายุ 78 ปี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้
- พ.ศ. 2451 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) (ฝ่ายใน)
- เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 3 (จ.ป.ร.3)[1]
อ้างอิง แก้
- ↑ "พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลปัจจุบันฝ่ายใน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 25 (39): 1154. 23 ธันวาคม พ.ศ. 2451. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-20. สืบค้นเมื่อ 2014-10-22.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help)
- อนุภาสเทศนา ของพระเทพปัญญามุนี ( อนุภาสเถระ ) เจ้าอาวาสวัดบุปผาราม : (วัดบุปผาราม ธนบุรี จัดพิมพ์ พร้อมด้วยคณะภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา เพื่อเป็นธรรมบรรณาการ ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ 5 ณ เมรุวัดประยุรวงศาวาส 10 สิงหาคม 2503)