เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์ หรือ ตราวัลลภาภรณ์ (อังกฤษ: The Vallabhabhorn Order) เรียกโดยย่อว่า "ว.ภ." เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นบำเหน็จในพระองค์ ที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2461 พระราชทานให้แก่ผู้มีหน้าที่อยู่ประจำใกล้ชิดพรองค์ในพระราชสำนัก โดยตั้งใจรับราชการด้วยความจงรักภักดี ซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่พอพระราชหฤทัย โดยพระราชทานให้ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์จัดเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติเป็นลำดับที่ 20 ของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย[1] ปัจจุบัน พ้นสมัยพระราชทานแล้ว
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ วัลลภาภรณ์ | |
---|---|
เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์ ฝ่ายหน้า | |
มอบโดย พระมหากษัตริย์สยาม | |
อักษรย่อ | ว.ภ. |
ประเภท | ฝ่ายหน้า : ดวงตราห้อยแพรแถบ ฝ่ายใน : แถบแพรจะผูกเป็นเงื่อนหูกระต่าย |
วันสถาปนา | 22 มีนาคม พ.ศ. 2462 |
ประเทศ | ราชอาณาจักรสยาม |
จำนวนสำรับ | ไม่จำกัดจำนวน |
แพรแถบ | |
ผู้สมควรได้รับ | ข้าราชการ (พระราชทานตามพระราชอัธยาศัย) |
มอบเพื่อ | เชิดชูเกียรติคุณแก่ข้าราชการผู้ที่ตั้งใจรับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความจงรักภักดีและมีความซื่อสัตย์สุจริตตลอดมา |
สถานะ | พ้นสมัยพระราชทาน |
ผู้สถาปนา | พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ล้มเลิก | พ.ศ. 2467 |
สถิติการมอบ | |
รายแรก | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี 1 เมษายน พ.ศ. 2462 |
รายล่าสุด | พระยาคทาธรบดีสีหราชบาลเมือง 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467 |
ทั้งหมด | 73 ราย |
ลำดับเกียรติ | |
สูงกว่า | เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 3 (โยธิน) |
รองมา | เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ |
ประวัติ
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์ เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชปรารภว่า ตราวชิรมาลา ที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นสำหรับพระราชทานผู้รับราชการสนองพระเดชพระคุณมีความดีความชอบเฉพาะพระองค์นั้น บางคนเป็นผู้ที่มีหน้าที่ประจำอยู่นอกพระราชสำนัก และได้รับใช้ราชการชั่วคราว แต่คนที่อยู่รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ภายในพระราชสำนักและตั้งใจสนองพระเดชพระคุณด้วยความจงรักภักดี ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่พอพระราชหฤทัยนั้น ก็สมควรจะมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์พระราชทานให้สมกับความดีความชอบนอกเหนือจาก ตราวชิรมาลา โดยพระราชทานนามว่า "ตราวัลลภาภรณ์"
ในระยะแรกนั้น พระองค์พระราชทานตราวัลลภาภรณ์ให้แก่พระราชวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าทั้งสิ้น ต่อมา พระองค์ทรงพระราชคำนึงความดีความชอบของฝ่ายในที่สมควรได้รับพระราชทานตรานี้เช่นกัน ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี (พระยศขณะนั้น) ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะทรงพระดำริห์ว่า ฝ่ายในผู้ใดเป็นผู้สมควรจะได้รับพระราชทานตราวัลลภาภรณ์ชนิดสำหรับฝ่ายใน ก็สุดแล้วแต่พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีจะทรงเห็นเป็นการสมควรและทรงประทานได้[2]
ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงถอนหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีแล้ว พระองค์ก็ถอนสิทธิที่ให้พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีทรงประทานตราวัลลภาภรณ์แก่ฝ่ายหน้าได้ลงด้วย โดยพระองค์มีพระราชดำริที่จะพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระราชินีทรงถือสิทธินั้นสนองพระองค์ ก็สุดแล้วแต่พระองค์จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร[3]
ลักษณะของเครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์
แก้ตราวัลลภาภรณ์ มีลักษณะเป็นเรือนเงิน ทำเป็นรูปกลีบดอกบัวแหลมยื่นออกมาสี่แฉก ในแฉกหนึ่ง ๆ จำหลักเป็นลายกลีบซ้อนกันสองกลีบ มีเกสรจำหลักโปร่งแทรกสี่ทิศสลับกับกลีบบัวแฉก ด้านหน้ามีอักษรพระบรมนามาภิไธย ร.ร. กับ เลข ๖ หมายความว่า สมเด็จพระรามราชาธิบดี รัชกาลที่ 6 จำหลักเป็นเพชรโสร่งประดับลอยเด่นอยู่ในวงกลมกลางดวงตรา ด้านหลังเป็นรูปวชิราวุธดุลลอยขึ้นมาจากพื้นเงินเกลี้ยง ห้อยแพรแถบสีครามแก่ มีริ้วขาวริ้วแดงเป็นลวดอยู่ริม เหมือนแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทยชั้น มหาวชิรมงกุฎ สำหรับประดับเสื้อที่อกข้างซ้าย[4]
ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์สำหรับพระราชทานฝ่ายในนั้น แถบแพรจะผูกเป็นเงื่อนหูกระต่ายเช่นเดียวกับเงื่อนของเหรียญรัตนาภรณ์สำหรับพระราชทานฝ่ายใน[2]
-
ตราวัลลภาภรณ์ ฝ่ายหน้า
-
ตราวัลลภาภรณ์ ฝ่ายใน
ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์
แก้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ได้ตามพระราชประสงค์ แต่จะพระราชทานสำหรับผู้ที่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณประจำอยู่ในพระราชสำนัก โดยห้ามมิให้ผู้ใดกราบบังคมทูลขอพระราชทานเพื่อตนเองหรือกราบบังคมทูลแนะนำเพื่อพระราชทานแก่ผู้อื่นเป็นอันขาด
ผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ จะได้รับการประกาศนามในราชกิจจานุเบกษาด้วย[4]
อ้างอิง
แก้- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐, ตอน ๒๙ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑
- ↑ 2.0 2.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ เพิ่มเติมข้อความในพระราชบัญญัติตราวัลละภาภรณ์ พ.ศ. ๒๔๖๑, เล่ม ๓๗, ตอน ๐ก, ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๓๔๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ถอนสิทธิที่พระราชทานไว้แก่พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี, เล่ม ๓๗, ตอน ๐ก, ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๓, หน้า ๔๓๗
- ↑ 4.0 4.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติตราวัลละภาภรณ์, เล่ม ๓๕, ตอน ๐ ก, ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๑, หน้า ๔๑๓
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์ เก็บถาวร 2008-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน