เขาชื่อกานต์
เขาชื่อกานต์ เป็นภาพยนตร์ไทย ที่สร้างจากนวนิยายที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่งของสุวรรณี สุคนธา เรื่อง เขาชื่อกานต์ ซึ่งนวนิยายเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513[1] เป็นงานวรรณกรรมที่มีลักษณะบุกเบิกทางความคิด ซึ่งขาดช่วงหายไปเป็นเวลากว่า 10 ปี เป็นภาพยนตร์รุ่นแรก ๆ ของวงการหนังไทยที่กล่าวถึงปัญหาสังคม ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของภาพยนตร์ไทย คือ การวิพากษ์เกี่ยวกับหลากหลายปัญหาของสังคมไทย อาทิ ปัญหาความยากจน ปัญหาผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และปัญหาคอร์รัปชั่น ผ่านตัวละครที่ชื่อ "กานต์" หมอหนุ่มที่มีอุดมการณ์สูงที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง และยอมอุทิศตนไปทำงานไปรักษาคนไข้ในเขตชนบท จนเกิดความขัดแย้งกับข้าราชการท้องถิ่น และลงเอยโดยการถูกลอบยิงจนเสียชีวิต[2] จากบทประพันธ์มาเป็นนวนิยายที่ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมหลายประเภท ทำให้มีการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายครั้ง โดยเฉพาะภาพยนตร์ได้มีการรีมาสเตอร์ใหม่เพื่อเป็นการรำลึกถึงหนังไทยสมัยก่อน
เขาชื่อกานต์ | |
---|---|
โปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง เขาชื่อกานต์ (2516) | |
กำกับ | หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (พ.ศ. 2516) รุจน์ รณภพ (พ.ศ. 2531) |
เขียนบท | สุวรรณี สุคนธา |
นักแสดงนำ | พ.ศ. 2516 : สรพงศ์ ชาตรี นัยนา ชีวานันท์ ภิญโญ ทองเจือ พ.ศ. 2531 : วรุฒ วรธรรม จินตหรา สุขพัฒน์ ตฤน เศรษฐโชค |
ผู้จัดจำหน่าย | ละโว้ภาพยนตร์ (พ.ศ. 2516) ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น (พ.ศ. 2531) |
วันฉาย | 27 มีนาคม พ.ศ. 2516 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 |
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ภาพยนตร์ เขาชื่อกานต์ ฉบับปี พ.ศ. 2516 ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. พากย์เสียงในฟิล์ม กำกับโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี, นัยนา ชีวานันท์, ภิญโญ ทองเจือ, คธา อภัยวงศ์, มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา เข้าฉายเมื่อ 27 มีนาคม พ.ศ. 2516 ออกฉายครั้งแรกที่โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ โดยมีปัญหากับการถูกเซ็นเซอร์ เพราะเป็นหนังเรื่องแรกที่พูดถึงระบบการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยตรง[3] ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีใครกล้าแตะต้อง[4] ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง สามารถทำรายได้หลายล้านบาทและยังได้รับรางวัลผู้กำกับการแสดงยอดเยี่ยม (ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล) ขณะที่สรพงษ์ ชาตรีได้เข้าชิงตุ๊กตาทองดารานำชายจากเรื่องนี้ ในงาน รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 9 ปี พ.ศ. 2517[5]
เขาชื่อกานต์ ยังได้สร้างเป็นภาพยนตร์ในปี พ.ศ. 2531 นำแสดงโดย วรุฒ วรธรรม, จินตหรา สุขพัฒน์, ตฤน เศรษฐโชค และได้มีการนำเอาไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์อีก 3 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2523 ทางช่อง 3 ครั้งที่ 2 ทางช่องสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ในปี พ.ศ. 2564 แต่ไม่ได้ออกอากาศ และครั้งที่ 3 ทางช่อง สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ออกอากาศ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
เนื้อเรื่อง
แก้หมอกานต์ นายแพทย์ที่ยึดอุดมคติ เข้าฝึกงานที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เขาคิดที่จะสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้เตือนเขา ให้ทำงานตามที่เรียนมาอย่างเดียว
วันหนึ่งเขาได้พบรักกับ หฤทัย แต่เธอมีแฟนอยู่แล้วชื่อ โตมร โตมรได้มอบแหวนแทนรักก่อนเดินทางไปดูงานที่ต่างประเทศ ในระหว่างนี้ หฤทัยป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบกะทันหัน เธอได้รับการรักษาจากหมอกานต์ และได้รับการดูแลด้วยใจของหมอกานต์จนเกิดเป็นความรัก หมอกานต์บอกหฤทัยว่าเขาไม่ใช่คนรวย หลังจากแม่ตาย พ่อก็ขายที่นาให้เขาเรียนต่อ จากนั้นพ่อก็บวช และตอนนี้เขาต้องไปเป็นหมอที่บ้านชนบท ในที่สุดทั้งสองก็หมั้นกัน และ แต่งงานไปอยู่ที่มาประจำเมืองพิษณุโลกด้วยกัน
เมื่อโตมรทราบก็โกรธอย่างมาก และได้บอกหฤทัย ว่า หากหมอกานต์ไม่รักแล้วให้บอกเขา เขาจะไปรับทันที หมอกานต์ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ยึดมั่นอุดมการณ์ จนทำให้เป็นที่ขัดแย้งกับข้าราชการฉ้ฉ้อราษฎร์บังหลวงหลายฝ่าย โดยเฉพาะนายอำเภอ วันหนึ่งหมอกานต์กับหฤทัยทะเลาะกันอย่างแรง ด้วยเรื่องที่ว่าหฤทัย เธอชวนกลับกรุงเทพฯด้วยเหตุผลที่ว่าปัญหาเกิดกับหมอมากมายเหลือเกิน หมอคนเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทั้งอำเภอได้ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากหมอกานต์ เพราะหมอทิ้งคนไข้ไปไม่ได้ สร้างความน้อยใจให้หฤทัยอย่างมาก เธอจึงหนีไปกรุงเทพฯ โดยที่โตมรได้ทราบข่าวจึงขอร้องให้หฤทัยไปทานข้าวด้วย จากนั้นก็เกิดการทะเลาะกันขึ้น เพราะหฤทัยไม่อยากยุ่งกับโตมร
ทำให้โตมรขับรถเสียหลัก หฤทัยหมดสติไป และจำความไม่ได้ จนหมอกานต์มาฟื้นความจำให้เธอ และทั้งสองก็กอดกันด้วยความอบอุ่น สร้างความอิจฉาให้โตมรอย่างมาก โตมรจึงให้ผู้อำนวยการ ภักดีให้ทุนเรียนต่อต่างประเทศกับหมอกานต์ หวังเพื่อจะกำจัดหมอกานต์ไป แต่หมอกานต์ไม่ไป
เช้าวันรุ่งขึ้นหมอกานต์กำลังจะลงเรือไปรับหฤทัยกลับ ขณะที่กำลังจะลงเรือ ผดุงครรภ์ให้คนมาตามหมอให้ไปทำคลอดคนไข้ หมอจึงขอให้คนเรือรอ แต่โดนถูกลอบยิงจนเสียชีวิต
รายชื่อนักแสดงและการสร้าง
แก้ปี | รูปแบบ | หมอกานต์ | หฤทัย | โตมร | ผู้กำกับ | ผู้ผลิต | หมายเหต |
---|---|---|---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2516 | ภาพยนตร์ | สรพงษ์ ชาตรี | นัยนา ชีวานันท์ | ภิญโญ ทองเจือ | หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล | ฉายเมื่อ 27 มีนาคม ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ | |
พ.ศ. 2523 | ละครโทรทัศน์ | วิฑูรย์ กรุณา | ดวงใจ หทัยกาญจน์ | สมจินต์ ธรรมทัต | อดุลย์ ดุลยรัตน์[6] | ออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 | |
พ.ศ. 2531 | ภาพยนตร์ | วรุฒ วรธรรม | จินตหรา สุขพัฒน์ | ตฤน เศรษฐโชค | รุจน์ รณภพ [7] | ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น | ฉายเมื่อ 19 พฤศจิกายน |
พ.ศ. 2554 | ละครโทรทัศน์ | ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ | สาวิตรี สุทธิชานนท์ | สุริยนต์ อรุณวัฒนกูล | มารุต สาโรวาท | มีเดีย สตูดิโอ | กำหนดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย แต่ไม่ได้ออกอากาศเนื่องด้วยเหตุผลบางประการ[8] |
อ้างอิง
แก้- ↑ "ภาพยนตร์เรื่อง เขาชื่อกานต์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-07. สืบค้นเมื่อ 2011-12-30.
- ↑ "เขาชื่อกานต์ หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-09-15.
- ↑ 2 ทศวรรษ (หนัง) การเมือง 'ต้องห้าม'!? เก็บถาวร 2011-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โดย ผู้จัดการรายวัน 3 มีนาคม 2549 09:03 น.
- ↑ อนุสรณ์ ศรีแก้ว, ปัญหาสังคมในภาพยนตร์ของม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล, คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2534
- ↑ "รางวัลตุ๊กตาทอง ครั้งที่ 9 ปี พ.ศ. 2517". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-08-24. สืบค้นเมื่อ 2011-12-29.
- ↑ "พระเอกหน้าหยกอมตะเท่ห์ไม่เหมือนใคร วิฑูรย์ กรุณา!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-09-15.
- ↑ เขาชื่อกานต์ (KARN)[ลิงก์เสีย] fivestarent.com
- ↑ 'โป๊ป' ผู้ชายมีฝัน ที่ไม่มีคำว่าท้อ จาก เดลินิวส์[ลิงก์เสีย]
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เขาชื่อกานต์ (2516) ที่เว็บไซต์ ThaiFilmDb
- เขาชื่อกานต์ (2531) ที่เว็บไซต์ ThaiFilmDb