สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์

(เปลี่ยนทางจาก เกียรติพงศ์ กาญจนภี)

เกียรติพงศ์ กาญจนภี (22 กันยายน พ.ศ. 2469 - 30 กันยายน พ.ศ. 2557 ) เป็นชื่อจริงของ สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากลที่มีชื่อเสียง ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล - ผู้ประพันธ์) พ.ศ. 2549 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และรางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2549 จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

เกียรติพงศ์ กาญจนภี
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด22 กันยายน พ.ศ. 2469
เสียชีวิต30 กันยายน พ.ศ. 2557
( 88 ปี)
กรุงเทพมหานคร
คู่สมรสชวนชื่น ไกรจิตติ
อาชีพนักแต่งเพลง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2491 - 2557 (66 ปี)
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2549 - สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล - ผู้ประพันธ์เพลง)

ประวัติชีวิตและผลงาน แก้

เกียรติพงศ์ กาญจนภี หรือชื่อในวงการเพลง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เกิดเมื่อวันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2469 เป็นคนกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด บิดาชื่อ หลวงพินิจดุลอัฎ (พุฒ กาญจนภี) (พ.ศ. 2448 - 2542) มารดาชื่อ นางเกษม พินิจดุลอัฎ ภรรยาชื่อ นางชวนชื่น ไกรจิตติ มีบุตรธิดา 3 คน

ประวัติการศึกษา แก้

สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล สำเร็จการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตรบัณฑิต ณ ประเทศสหราชอาณาจักร

ประวัติการทำงาน แก้

  • พ.ศ. 2493 - 2503 : ฝ่ายวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2503 - 2510 : อาจารย์พิเศษ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • พ.ศ. 2504 - 2509 : ผู้ช่วยผู้จัดการ ธนาคารแห่งเอเชีย จำกัด
  • พ.ศ. 2507 - 2510 : ผู้จัดการฝ่ายการเงิน บริษัท อิตาเลี่ยน-ไทย จำกัด
  • พ.ศ. 2510 - 2519 : หัวหน้าฝ่ายบัญชีลูกค้า บริษัท ค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด (เครือชีเมนต์ไทย)
  • พ.ศ. 2520 - 2532 : ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารสหธนาคาร จำกัด
  • พ.ศ. 2527 - 2557 : คณะกรรมการบัญญัติศัพท์เศรษฐศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน
  • พ.ศ. 2542 - 2557 : ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และกรรมการ บริษัท ไทยบรรจุภัณฑ์ และการพิมพ์ จำกัด (มหาชน)

ประวัติการสร้างสรรค์ผลงาน แก้

 
ผลงานการประพันธ์คำร้องของสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ แผ่นเสียงลองเพลย์ เพลงนกเขาคูรัก

สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ เป็นคนกรุงเทพมหานครโดยกำเนิด บ้านเกิดอยู่แถว ๆ บางลำพู การศึกษาเริ่มเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จนกระทั่งจบชั้นมัธยม 6 การศึกษาชั้นสูงสุด จบเศรษฐศาสตรบัณฑิต จากประเทศสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2503 เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยม 6 จากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ก็ได้เข้ามาช่วยงานเป็นคนบอกบทละครให้กับคณะละครศิวารมณ์ ซึ่งเป็นของ นาวาอากาศเอก สวัสดิ์ ฑิฆัมพร (ส. ฑิฆัมพร) และได้เริ่มแต่งเพลงกับสง่า อารัมภีร เป็นเพลงในละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งเป็นพระนิพนธ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล โดยมีสุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ เป็นพระเอก ต่อมาได้สร้างเป็นภาพยนตร์ ชูชัย พระขรรค์ชัย เป็นพระเอก สุพรรณ บูรณะพิมพ์ เป็นนางเอง หลังจากนั้นได้แต่งเพลงให้กับละครอีกหลายเรื่องเป็นประจำ โดยร่วมแต่งคำร้อง และสง่า อารัมภีร เป็นผู้ให้ทำนอง ได้แต่งเพลงร่วมกับสง่า อารัมภีร ถึงประมาณ พ.ศ. 2496 จึงได้เลิกแต่ง เนื่องจากหมดยุคของละครเวที เพลงที่ประพันธ์ร่วมกันมีประมาณเกือบ 300 เพลง เพลงประกอบละครมีที่เด่น ๆ หลายเรื่อง เช่น เพลงอุทยานกุหลาบ จากละครเวทีเรื่องผาคำรณ เพลงวิมานรัก จากละครเวทีเรื่องนเรนทร์ริษยา (พ.ศ. 2498) ทั้งสองเพลงขับร้องโดยคู่พระนางชื่อดังในยุคนั้น คือ ฉลอง สิมะเสถียร และ สุพรรณ บูรณะพิมพ์[1]

ตลอดระยะเวลาที่แต่งเพลงก็ยังทำงานประจำอยู่ จึงคิดว่าคงไม่เหมาะนักถ้าจะใช้ชื่อจริงในการแต่งเพลง ดังนั้นจึงได้ไปขอให้ นาวาอากาศเอก สวัสดิ์ ฑิฆัมพร ตั้งชื่อนามปากกาให้ และได้ชื่อว่า สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ซึ่งมีจดหมายอธิบายประกอบการตั้งชื่อว่า สุนทรียะ มาจากคำว่า aesthetic หมายถึง ความรู้สึกอันรู้จักค่าของความงาม ทำให้ไพเราะ อ่อนโยน น่ารัก ตั้งให้ตามเค้าของนิสัย แต่สุนทรียะ ฟังดูห้วนเกินไป แข็งเกินไป จึงเติมให้เป็น สุนทรียา ส่วน ณ เวียงกาญจน์ หมายถึง แดนทองหรือเมืองทอง ตั้งให้ตามเค้าของตระกูล

จนกระทั่งประมาณ พ.ศ. 2491 ได้ร่วมแต่งเพลงกับสมาน กาญจนะผลิน เพลงแรกที่แต่งร่วมกันคือ เพลงดอกโศก และในปีนี้เองได้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ให้กับจุรี อมาตยกุล ผู้สร้างภาพยนตร์ เรื่องสุภาพบุรุษอเวจี คือ เพลงความรักเรียกหา

พ.ศ. 2498 ได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศสหราชอาณาจักร จนจบเศรษฐศาสตรบัณฑิต เมื่อ พ.ศ. 2503 ถึงแม้จะอยู่ต่างประเทศ สมาน กาญจนะผลิน ก็ยังส่งทำนองไปให้ถึงประเทศสหราชอาณาจักร เพื่อให้ใส่คำร้อง เมื่อแต่งเสร็จก็ส่งกลับทางไปรษณีย์ ในช่วงนี้ก็ได้แต่งเพลงหลายเพลง แต่ที่ได้รับความนิยม คือ เพลงคำคน

หลังจากกลับจากประเทศสหราชอาณาจักร ก็ได้ร่วมแต่งเพลงกับครูเองอีกหลายท่าน คือ เอื้อ สุนทรสนาน เวส สุนทรจามร สมาน นภายน ประสิทธิ์ พยอมยงค์ และเรือกาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ หม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ฯลฯ

เพลงที่ได้รับความนิยมเพลงหนึ่ง คือ เพลงรักคุณเข้าแล้ว เพลงนี้ประพันธ์คำร้องทำนองโดย สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ มีสมาน กาญจนะผลิน เป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน สุเทพ วงศ์กำแหง เป็นผู้ขับร้อง เพลงนี้เป็นเพลงแรกในประวัติศาสตร์ของวงการเพลงไทยสากล คือ ใช้สรรพนาม "คุณ" แทนคำว่า "เธอ" และใช้ "ผม" แทนคำว่า "ฉัน" และ "เรียม" อันเป็นคำที่ประชาชนทุกคนในยุคนั้นใช้กันติดปากในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้ฟ้งเพลงรู้สึกว่าเพลงนี้สะท้อนสภาพชีวิตจริง จากนั้นเพลงอื่น ๆ ก็ใช้คำว่า คุณ ผม ตามมา เช่น ผมรู้ดี ผมน้อยใจ เป็นต้น ครั้งเมื่อสุเทพ วงศ์กำแหง ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้ใส่คำร้องเป็นภาษาญี่ปุ่น และได้ออกเผยแพร่ที่ประเทศญี่ปุ่น จนเป็นที่นิยมชมชอบกันพอสมควร ดังนั้น จึงมีผู้ฟังบางคนเข้าใจผิดว่าเพลงนี้นำทำนองมาจากเพลงญี่ปุ่น

 
ใบปลิวประชาสัมพันธ์งานคอนเสิร์ต เพลงกวี สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ จัดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2551

สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ได้แต่งเพลงมาแล้วประมาณ 1,000 กว่าเพลง ส่วนใหญ่แต่งกับร่วมสง่า อารัมภีร ซึ่งเป็นเพลงในละครเวที และเพลงที่แต่งกับสมาน กาญจนะผลิน เพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น รักปักใจ แน่หรือคุณขา วิหคเหินลม รักคุณเข้าแล้ว เพียงคำเดียว ดอกโศก ความรักเจ้าขา จำพราก ที่รัก รักพี่นะ ชีวิตเมื่อคิดไป คำคน ใจพี่ เกิดมาอาภัพ สัญญารัก นกเขาคูรัก อุทยานรักไทรโยค ออเซาะรัก รัก วอนรัก ฯลฯ ส่วนที่แต่งร่วมกับท่านอื่น ๆ นั้น มีน้อย

และยังได้แต่งเพลง ทักษิณราชนิเวศน์ ให้จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเพลงนี้ได้บรรยายความงามของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์อย่างหยดย้อย ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยไปที่พระตำหนักแห่งนี้เลย เพียงแต่ได้เห็นจากภาพถ่าย และเรื่องราวที่ลงในนิตยสารท่องเที่ยวเท่านั้น

นอกจากนี้ยังมีเพลงสถาบันและหน่วยงานอื่น ๆ เช่น แต่งให้แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย สมาคมภริยาแพทย์แห่งประเทศไทย (แต่งร่วมกับสมาน นภายน) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (แต่งร่วมกับ เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์) และเพลงธนาคารแห่งประเทศไทย เพลงที่อยู่ในชุด "แด่เธอผู้เป็นที่รัก" ซึ่งจัดทำโดยกองกำลังรักษาพระนคร เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิท่านผู้หญิงประภาศรี กำลั งเอก เป็นผลงานที่แต่งร่วมกับสมาน กาญจนะผลิน จำนวน 3 เพลงด้วยกัน คือ แด่เธอผู้เป็นที่รัก แม่ และช่างกระไรใจคน

ผลงานยุคหลังได้แต่งเพลงนางสาวไทย ให้สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับใช้บรรเลงในการประกวดนางสาวไทย เมื่อ พ.ศ. 2543 และแต่งเพลง 72 พรรษา พระเมตตาปกเกล้า ร่วมเฉลิมฉลอง 72 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้ง 2 เพลง แต่งร่วมกับ เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์

ผลงานเพลงประพันธ์คำร้อง ได้แก่ เพลงนพรัตน์ ขอใจให้พี่ ขอดูใจพี่ ขอใจให้น้อง อยู่เพื่อความดี ทูนหัวหลอกพี่ โธ่เอ๋ยทำได้ น่ารัก นัยน์ตาฟ้า ฝากรักฝากฝัน เพชรในตม อย่านะ รังแกใจ ไม่งามขวานบิ่น ขอให้รักกัน โกรธ-รัก เป็นไปแล้ว หวานรัก ลาแล้วแก้วตา เมื่อรักกลับคืน เชื่อรัก รักลอยลม รักเอ๋ยรักข้า คิดไปใจหาย ชื่นรักตักนาง ฯลฯ

เหตุที่สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ไม่อยากเปิดเผยตัวจริงให้ใครทราบ เนื่องจากยังคิดว่าผลงานของตัวเองยังไม่ดีพอ เวลากลับมาดูผลงานที่ได้ออกเผยแพร่ไปแล้วยังเห็นข้อบกพร่องยู่ และเนื่องจากความเคยชินที่จะใช้ชื่อ สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ต่อไป

นอกจากผลงานเพลงจะได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปแล้ว ยังได้รับรางวัลอื่น ๆ อีก ดังนี้

  1. ได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ รางวัลชนะเลิศคำร้องและเพลงยอดเยี่ยมประจำปี ประเภท ก. ในเพลงใจพี่ และได้รับรางวัลรองชนะเลิศคำร้องและเพลงยอมเยี่ยมประจำปี ประเภท ข. ในเพลงวิหคเหินลม ซึ่งเป็นผลงานที่ประพันธ์คำร้องโดยสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ และสมาน กาญจนะผลิน ประพันธ์คำร้อง
  2. ได้รับรางวัลเสาอากาศทองคำ ในเพลง เพียงคำเดียว ของสถานีวิทยุเสียงสามยอด ซึ่งเป็นผลงานที่ประพันธ์คำร้องโดย สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ และสมาน กาญจนผลิน ประพันธ์ทำนอง
  3. ได้รับรางวัลนราธิป เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรตินักเขียนและบรรณาธิการอาวุโสที่ทำคุณประโยชน์ด้านวรรณกรรม ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2549

มรณกรรม แก้

 
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองลายสลักเป็นเกียรติยศ

สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการอันสงบจากอาการโรคลิ่มเลือดอุดตันที่เส้นหัวใจ เมื่อวันอังคารที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 16.56 น. หลังจากเข้ารักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธเป็นเวลานานกว่า 2 เดือน[2][3][4][5]

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ณ ศาลา 6 (ชวลิตธำรง) วัดธาตุทอง ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ในวันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16.00 น. และตั้งศพบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรมศพมีกำหนด 7 คืน ตั้งแต่วันที่ 1 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลา 19.00 น.

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองลายสลัก พวงมาลาหลวง และพวงมาลาของพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งประกอบเป็นเกียรติยศด้วย

มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558 ณ วัดธาตุทอง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  • คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, สำนักงาน. ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2549. กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, พ.ศ. 2550. 160 หน้า. หน้า 108 - 119. ISBN 978-974-9985-70-0
  • ไพบูลย์ สำราญภูติ. เพลงลูกกรุง, TK Park Music Library ชุดดนตรีไทย. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานอุทยานการเรียนรู้, พ.ศ. 2549. 168 หน้า. ISBN 978-974-8218-82-3
  1. ซีดีผลงานเพลง สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ศิลปินแห่งชาติ, พ.ศ. 2551
  2. ไทยโพสต์ออนไลน์ อาลัยครูสุนทรียา[ลิงก์เสีย], 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557.
  3. มติชนออนไลน์, วงการเพลงสุดเศร้า! สิ้น "สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์" ศิลปินแห่งชาติ-เพลงไทยสากล วัย88ปี[ลิงก์เสีย], 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557.
  4. กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, วงการเพลงไทยสากลสูญเสียครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล–ผู้ประพันธ์) พุทธศักราช 2549 เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557.
  5. คม ชัด ลึก ออนไลน์, สิ้น'สุนทรียา'ศิลปินแห่งชาติ เก็บถาวร 2014-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557, สืบค้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี 2550, เล่ม 125 ตอนที่ 2 ข 7 มกราคม 2551 หน้า 121.