เกษียร เตชะพีระ

ศาสตราจารย์ เกษียร เตชะพีระ (เกิด 23 ธันวาคม 2500) เดิมชื่อ โต๊ะฮง แซ่แต้ บิดามารดา เป็นคนจีนแต้จิ๋ว เกิดและเติบโตย่านเยาวราชและเจริญกรุง เป็นอดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 และอดีตหัวหน้าสาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สิงห์แดงรุ่น 27) หลังออกจากป่าก็ได้กลับมาศึกษาปริญญาตรีต่อเมื่อปี 2523 (เกษียรรหัส 18 ซึ่งห่างจากนักศึกษารุ่นน้องรหัส 23 ประมาณ 5 ปี) ต่อมาเกษียรได้รับทุนพร้อมคำเชื้อเชิญจากเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน ให้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา จนสำเร็จปริญญาเอก มหาวิทยาลัยคอร์เนล และกลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบัน มีบทความ บทสัมภาษณ์ และหนังสือวิชาการมากมาย

เกษียร เตชะพีระ
เกิด23 ธันวาคม พ.ศ. 2500 (66 ปี)
สัญชาติไทย
อาชีพอาจารย์, นักวิชาการ

ประวัติการศึกษา

แก้

ศาสตราจารย์ เกษียร เตชะพีระ หรือที่รู้จักในนาม ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ ศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนสีตบุตรบำรุง และมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา (รุ่นที่ 36) จากนั้นศึกษาต่อในวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เขาได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกจากคณะรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนล ประเทศสหรัฐอเมริกา

เกษียรเล่าสภาพสังคมในตอนนั้นไว้ว่า (เมื่อ) วันที่ 20 สิงหาคม 2518 กลุ่มนักเรียนอาชีวะยกขบวนบุก มธ.ผู้บริหารมหาวิทยาลัย สั่งให้คนออกเพราะกลัวปะทะ แต่พวกผมซึ่งเป็นนักกิจกรรม ทำงานอยู่อมธ.เราแค่ดึงเสื้อออกมาปิดหัวเข็มขัด แล้วก็เดินๆดูพวกอาชีวะขว้างระเบิด บุกเข้ามาในธรรมศาสตร์ และ(พวกอาชีวะ)ก็หิ้วข้าวของ ทรัพย์สินติดตัวไปเป็นที่ระลึก"[ต้องการอ้างอิง]

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกษียรไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัย เพราะวันที่ 5 ตุลาคม เขารับหน้าที่ดูแลหน้าเวทีและเป็นโฆษกประจำเวทีในช่วงผลัดสายและกลางวัน ส่วนตอนกลางคืนเป็นเวรของ กฤษฎางค์ นุตจรัส และ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เช้าวันที่ 6 ตุลานั้นเองก็มีการล้อมปราบนักศึกษาทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาด้วยการปราบปรามและใช้ความรุนแรงของรัฐ จับขังนักศึกษา ปัญญาชน กรรมกรหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้สมัครพรรคพวกนักศึกษาที่หนีเข้าป่าเป็นจำนวนมาก

หนีเข้าป่า

แก้

เกษียรตัดสินใจเข้าป่าพร้อมกับเพื่อนนักศึกษาหลายคน หนึ่งในนั้นก็คือ เสถียร เศรษฐสิทธิ์ (หมอคง) ตามธรรมเนียมก่อนเข้าป่าจะต้องตั้งสรรพนามใหม่แทนชื่อเดิมตนเอง เพื่อไม่ให้มีลำดับชั้นสูงต่ำ ทุกคนจึงต้องมีชื่อเรียกแทนตัวเองว่าสหาย เกษียรมีชื่อแทนสรรพนามในป่าของตัวเองว่า "สหายมา" เข้าไปอาศัยอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา โดยมีฐานที่มั่นอยู่ที่อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้รับหน้าที่ให้ทำงานเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์กับครูโรงเรียนการเมืองการทหาร

เกษียรเองเคยเล่าช่วงชีวิตบางส่วนตอนเข้าป่าว่า ผมเองความจริงสังกัดกองบรรณาธิการนิตยสารธงชัย ของภาคอีสานใต้ แต่เนื่องจากการตีพิมพ์ค่อนข้างติดขัด ออกได้ไม่ค่อยสม่ำเสมอ เพราะกระดาษขาดแคลนและบางทีก็หมดสต๊อคเอาดื้อๆ บ่อยครั้งหน่วยงานมวลชนฝ่ายจัดหาและหน่วยทหารลำเลียง โดนทางราชการปิดล้อมตรวจค้นเข้มข้น ขนกระดาษเล็ดลอดเข้ามาไม่ได้. ในจังหวะว่างงาน ผมจึงมักถูกจัดตั้งส่งไปติดสอยห้อยตามเป็นหางเครื่องอยู่กับวงที่มั่นแดง รับหน้าที่เล่าข่าวคราวสถานการณ์ให้สหายและมวลชนตามทับที่ตั้งต่างๆ ฟัง สลับรายการบันเทิง พร้อมทั้งช่วยตีฉิ่งปรบมือร้องเพลงเชียร์รำวงประกอบเวลาพวกเขาจรยุทธ์ไปเปิดแสดงกลางป่า กลางทุ่ง ตามแนวหน้าแนวหลังเป็นพัก ๆ’'[ต้องการอ้างอิง]

กลับมาศึกษา

แก้

การต่อสู้ระหว่างฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐกับพรรคคอมิวนิสต์สิ้นสุดลง เมื่อรัฐบาลไทยปรับเปลี่ยนท่าทีความสัมพันธ์ใหม่กับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในสมัยนายกรัฐมนตรีพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ส่งผลให้นักศึกษาจำนวนมากออกจากป่า กลับมาเรียนและประกอบอาชีพเป็นปกติในสังคมอีกครั้ง ฝ่ายเกษียร หลังออกจากป่าเกษียรก็ได้กลับมาเรียนที่คณะเดิม (รัฐศาสตร์) อีกครั้งในปี พ.ศ. 2524

เกษียรกลับมาเรียนปริญญาตรีจนสำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งและเป็นอาจารย์ ต่อมาได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทและเอก ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลกับศาสตราจารย์ เบเนดิก แอนเดอร์สัน ศาสตราจารย์กิตติคุณมหาวิทยาลัยคอร์แนล ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ ชื่อ Commodifying Marxism: The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958" และกลับมาเป็นนักวิชาการประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เนื่องจากเกษียรเป็น อดีตกรรมการสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2519 (สังกัดพรรคพลังธรรม) เข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา เขาเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์รุ่นใกล้เคียงกับ ธงชัย วินิจจะกูล สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ (นักศึกษารุ่น 6 ตุลา )

เกษียร จึงนับเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่มีฐานความคิดมาจากฝ่ายซ้าย เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองตอนเป็นนักศึกษาต่อสู้เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงสภาพการเอารัดเอาเปรียบทางสังคมที่สะสมมาอย่างยาวนานภายใต้ระบอบเผด็จการถนอม ประภาส ต่อมาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ได้จับอาวุธเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ชีวิตผกผันสุดท้ายได้กลายมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเดินทางตามสายพานทุนนิยมเหมือนกับเพื่อนร่วมรุ่น (6 ตุลา) อีกหลายคน[ต้องการอ้างอิง]

ครั้งหนึ่งอาจารย์เบเนดิก แอนเดอร์สัน (หรือครูเบ็น) เคยทักทายเกษียรเมื่อตอนมาสัมมนาวิชาการที่ธรรมศาสตร์ว่า “อ้าวคาเสี้ยนเดี๋ยวนี้เอาความรู้ไปรับใช้กระฎุมพีแล้วนะ ฮ่าๆ "

การเรียนการสอนของเกษียร เตชะพีระ

แก้

เกษียรเป็นอาจารย์ที่มีแนวทางการสอนที่แปลกออกไปจากอาจารย์คนอื่นๆในคณะรัฐศาสตร์ กล่าวคือ เขามักทำให้เรื่องทฤษฏีการเมืองและปรัชญาการเมือง เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายโดยยกตัวอย่างและเปรียบเทียบกับบริบทในปัจจุบัน ดังนั้น เรื่องที่เกษียรเล่าให้นักศึกษาฟังในคาบ แม้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องตลกขบขับ แต่ล้วนผ่านการคิดไตร่ตรองอย่างละเอียดลออแล้วว่าจะสามารถทำให้นักศึกษาเข้าใจภาพเรื่องนั้นได้ง่ายยิ่งขึ้น การเน้นย้ำถึงการอ่าน text ด้วยความเข้าใจของตัวนักศึกษาเอง เพราะจะติดตัวนานกว่าจดจำตามอาจารย์บอกที่หลังสอบก็ลืมแล้ว และในตอนท้ายเทอมจะให้นักศึกษาคิดและตั้งคำถามของตัวเองสำหรับใช้ในการสอบปลายภาค โดยผ่านการขัดเกลาคำถามจากเกษียร(ผู้สอน)อีกครั้ง นั้นหมายความว่า เกษียรให้นักศึกษาฝึกตั้งคำถามด้วยตัวเองและเป็นภารกิจที่นักศึกษาต้องหาคำตอบมาตอบคำถามที่ตัวเองตั้งให้ได้

ความสนใจและเชี่ยวชาญทางวิชาการ

แก้
  • ปรัชญาการเมือง ทฤษฎีการเมือง
  • ประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัย
  • ปัญญาชนสาธารณะไทย
  • สังคมนิยม มาร์กซิสต์
  • กลุ่มชาติพันธ์จีนในประเทศไทย และแนวคิดชาตินิยมไทย
  • การเมืองของวิกฤติเศรษฐกิจ เสรีนิยมโลกาภิวัตน์

เกียรติประวัติ

แก้
  • รางวัลรายงานวิจัยดีเด่นสาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2551
  • รางวัลกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2555

ผลงานวิชาการและรวมบทความ

แก้
  • ความคิดทางจริยศาสตร์ของทรอตสกี้ / แปลโดย เกษียร เตชะพีระ การอรรถาธิบายลัทธิสตาลินของทรอตสกี้ (2528)
  • รู้สึกแห่งยุคสมัย (2532)
  • วิสามัญสำนึก : รวมบทความและทรรศนะที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ชีวิต (2537)
  • ย้อนศรวันเวย์ (2537)
  • จารึกร่วมสมัย : การเมืองไทยในยุคหลีกภัย (2537)
  • แลลอดลายมังกร : รวมข้อเขียนว่าด้วยความเป็นจีนในสยาม (2537)
  • จินตนากรรมชาติที่ไม่เป็นชุมชน : คนชั้นกลางลูกจีนกับชาตินิยมโดย รัฐของไทย (2537)
  • วิวาทะโลกานุวัตร (2538)
  • อึ่งตี่เกี้ย : เรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก / หลินปัน เขียน ; เกษียร เตชะพีระ แปล.(2540)* ถิ่นกาขาว : เศรษฐกิจการเมืองไทยใต้เงาไอเอ็มเอฟ (2542)
  • อเมริกันลำพอง(2546)
  • บุชกับทักษิณ : ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน (2547)
  • ตรวจบัญชีสันติภาพ : แนวคิดและประสบการณ์จากเอเชียใต้ : คำบรรยายพิเศษ / รณพีร์ ซามัดดาร์ ; แปลโดย เกษียร เตชะพีระ (2548)
  • คู่มือศึกษาการก่อการร้ายแบบไม่งี่เง่า / by Jonathan Barker ; เกษียร เตชะพีระ แปล (2548)
  • รัฐประหารกับประชาธิปไตยไทย (2550)
  • ทางแพร่งและพงหนาม : ทางผ่านสู่ประชาธิปไตยไทย (2551)
  • สงครามระหว่างสี. เกษียร เตชะพีระ เล่ม 1, ก่อนถึงจุดที่ไม่อาจหวนกลับ (2553)
  • สงครามระหว่างสี. เกษียร เตชะพีระ เล่ม 2, ในคืนวันอันมืดมิด (2553)
  • อัตลักษณ์ไทย : จากไทยสู่ไทย ๆ / โดย ประชา สุวีรานนท์ ; และ, บริโภคความเป็นไทย / โดย เกษียร เตชะพีระ (2554)
  • การิทัตผจญภัย : นิยายปรัชญาการเมือง / โดย สตีเว่น ลุคส์, เกษียร เตชะพีระ แปล.(2554)
  • เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ : ความรุ่งเรืองและล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัฒน์ Openbooks, (2555)
  • นิทานประชาธิปไตยไทย : ตำนานฐานรากของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข / ปาฐกถานำ โดยเกษียร เตชะพีระ, ปฤณ เทพนรินทร์. (2555)
  • มันเป็นเพียงวันนี้เท่านั้นเอง : รวมกาพย์กลอนการเมืองในทศวรรษอันสาบสูญ (2557)
  • Marx: A Very Short Introduction โดย Peter Singer เกษียร เตชะพีระ แปล (2558)
  • เสรีนิยมกับประชาธิปไตย โดย NORBERTO BOBBIO เกษียร เตชะพีระ แปล สำนักพิมพ์ คบไฟ,(2558)
  • Populism: A Very Short Introduction โดย Cas Mudde & Cristobal Rovira Kaltwasser เกษียร เตชะพีระ แปล (2561)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๖๐, เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๔๗ ข หน้า ๕, ๒๘ กันยายน ๒๕๖๐
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2012-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๒๔ ข หน้า ๑๙, ๒ ธันวาคม ๒๕๕๔
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา ประจำปี ๒๕๕๒[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๒๗ ตอนที่ ๖ ข หน้า ๑๓๔, ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓