อุทยานธรณี (อังกฤษ: geopark) คือ พื้นที่ต่อเนื่องที่ได้รับการคุ้มครองขั้นสูงและกำหนดให้เป็นมรดกทางธรณีวิทยาภายใต้แนวทางของความยั่งยืนและส่งเสริมความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่[1] ประกอบด้วยอุทยานธรณีโลก (global geopark) และอุทยานธรณีแห่งชาติ (national geopark)

แผนที่แสดงที่ตั้งของอุทยานธรณีภายใต้เครือข่ายอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกใน ค.ศ. 2008

แนวคิด แก้

ยูเนสโกกำหนดนิยามของ อุทยานธรณีโลก คือ พื้นที่ต่อเนื่องที่ถือเป็นมรดกทางธรณีวิทยาซึ่งมีความสำคัญในระดับนานาชาติ[2] อุทยานธรณีใช้สถานะของการเป็นมรดกเพื่อส่งเสริมความตระหนักถึงประเด็นทางสังคมภายใต้บริบทของความเป็นพลวัตของดาวเคราะห์ อุทยานธรณีหลายแห่งส่งเสริมความตระหนักถึงภัยทางธรณีวิทยา เช่น ภูเขาไฟ แผ่นดินไหว และสึนามิ รวมถึงช่วยในการจัดเตรียมกลยุทธ์ในการบรรเทาภัยพิบัติร่วมกับชุมชนท้องถิ่น อุทยานธรณีมีการรวบรวมบันทึกของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอดีตและเป็นตัวชี้วัดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันตลอดจนแสดงให้เห็นถึงแนวทางที่เป็น "วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด" ในการใช้พลังงานทดแทนและกำหนดมาตรฐานที่ดีที่สุดของ "การท่องเที่ยวสีเขียว" อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวช่วยในการส่งเสริมอุทยานธรณีภายใต้ความยั่งยืนทางภูมิศาสตร์และใช้ประโยชน์จากแบบจำลองการท่องเที่ยวในการปกป้องรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับลักษณะทางภูมิศาสตร์ของสถานที่

อุทยานธรณียังแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและความต้องการทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นการทำเหมือง การทิ้งร้าง และอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมข้างเคียง ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมความเคารพต่อสิ่งแวดล้อมและความสมบูรณ์ของภูมิทัศน์ อุทยานธรณีไม่ได้ถูกยกฐานะตามกฎหมายแม้ว่าแหล่งมรดกสำคัญในเขตอุทยานธรณีจะถูกปกป้องภายใต้กฎหมายท้องถิ่น ภูมิภาค หรือระดับชาติ[2] ความหลากหลายทางธรรมชาติภายใต้แนวคิดของอุทยานธรณีและการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอุทยานธรณีมีความแตกต่างจากแบบจำลองอื่น ๆ ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในความเป็นจริงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอุทยานธรณีครอบคลุมคุณลักษณะที่หลากหลายของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนรวมถึงการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา การท่องเที่ยวโดยชุมชน และการท่องเที่ยวในชนบทเชิงบูรณาการ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการท่องเที่ยวมรดกทางวัฒนธรรม

เครือข่ายระดับโลกและยูเนสโก แก้

เครือข่ายอุทยานธรณีโลก (Global Geoparks Network: GGN) เป็นเครือข่ายภายใต้การสนับสนุนโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) โดยจัดตั้งใน ค.ศ. 1998 อย่างไรก็ตามโครงการอุทยานธรณีแห่งชาติและอุทยานธรณีท้องถิ่นอื่น ๆ จำนวนมากไม่ได้อยู่ในเครือข่ายอุทยานธรณีโลก

ยูเนสโกริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับอุทยานธรณีจากการทราบถึงความจำเป็นในการร่างกฎหมายนานาชาติซึ่งตระหนักถึงที่ตั้งอันเป็นตัวแทนของจุดสนใจทางวิทยาศาสตร์โลก[3] เครือข่ายอุทยานธรณีโลกมีจุดมุ่งหมายในการเสริมสร้างมูลค่าให้กับที่ตั้ง ขณะเดียวกันก็เพิ่มการจ้างงานและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค[3] เครือข่ายอุทยานธรณีโลกทำงานร่วมกับศูนย์มรดกโลกของยูเนสโกและโครงการมนุษย์กับชีวภาค (Man and the Biosphere: MAB) อันเป็นเครือข่ายระดับโลกของเขตอนุรักษ์ชีวภาค[3]

คุณสมบัติ แก้

ยูเนสโกได้ระบุถึงคุณสมบัติของอุทยานธรณีที่จะเข้าร่วมในเครือข่ายอุทยานธรณีโลก ประกอบด้วยดังนี้

  • มีแผนการจัดการที่ได้รับการออกแบบเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐสังคมอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของการท่องเที่ยวเชิงธรณี
  • มีวิธีการทีแสดงให้เห็นถึงการอนุรักษ์และเสริมสร้างมรดกทางธรณีวิทยาและเพิ่มช่องทางสำหรับการเรียนการสอนทางธรณีศาสตร์และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมให้กว้างขึ้น
  • มีการร่วมมือกันจากหน่วยงานของรัฐ ชุมชนท้องถิ่น และเอกชนที่ให้ความสนใจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการปฏิบัติที่ดีที่สุดในการอนุรักษ์มรดกโลกและบูรณาการเข้ากับยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน[4]

สมาชิกของเครือข่ายอุทยานธรณีโลก แก้

ดูเครือข่ายอุทยานธรณีโลก

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Patrick J. Mc Keever and Nickolas Zouros (2005). Geoparks: Celebrating earth heritage, sustaining local communities. EPISODES, December 2005, pp. 274–278.
  2. 2.0 2.1 "What is a Global Geopark? | United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 2018-09-23.
  3. 3.0 3.1 3.2 "About—UNESCO's role in geopark initiative". Geopark Iskar Panega website. Geopark Iskar Panega. 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-19.
  4. 'April 2010 GEO4B/PM Advanced Level Examination - Advanced Information Booklet'

แหล่งข้อมูลอื่น แก้