เอกราชอัสซีเรีย

(เปลี่ยนทางจาก อัสซีเรียเอกราช)

เอกราชอัสซีเรีย (Assyrian independence) เป็นขบวนการทางการเมืองและลัทธิที่สนับสนุนการสร้างดินแดนอัสซีเรียสำหรับชาวคริสต์อัสซีเรียที่พูดภาษาแอราเมอิกในภาคเหนือของอิรัก การต่อสู้ของขบวนการเอกราชอัสซีเรียเริ่มตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน บริเวณที่ชาวอัสซีเรียอาศัยอยู่คือบริเวณนินนาวา-โมซูล ซึ่งเป็นที่ตั้งของนินเนเวห์ เมืองหลวงของอัสซีเรียในคัมภีร์ไบเบิล[1] บริเวณนี้เป็นที่รู้จักในชื่อสามเหลี่ยมอัสซีเรีย[2]

สงครามโลกครั้งที่ 1และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แก้

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวอัสซีเรียราวครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในตุรกีปัจจุบันโดยเฉพาะบริเวณฮักการี ใน พ.ศ. 2417 ยังเติร์กเริ่มตั้งเป้าหมายที่กลุ่มชาวคริสต์ในเอเชียน้อยและมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นเช่นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอัสซีเรีย ในระยะแรก ผู้นำทางเชื้อชาติและศาสนาถูกกำจัดออกจากชุมชน ในขณะที่จุดหนึ่งนั้นหัวหน้านิกายอัสซีเรียแห่งตะวันออก มาร์ เอไช ชีมุนที่ 13 อายุเพียง 12 ปี [3]

จักรวรรดิออตโตมันประกาศสงครามกับชาติพันธมิตรและอังกฤษในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2417 ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์ อังกฤษจึงเข้ามาสนับสนุนอัสซีเรีย อังกฤษต้องการให้บริเวณโมซูลที่มีน้ำมันมากเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอิรักแทนที่จะเป็นของตุรกี ชาวอัสซีเรียทำสัญญากับอังกฤษในการที่จะนำดินแดนนั้นมาคืนให้กับอังกฤษ หลังจากการรุกรานโมซูลของยังเติร์ก กองทัพอัสซีเรียนำโดย อาคา เปโตรส ต่อสู้กับตุรกีและยึดดินแดนบางส่วนคืนให้กับอังกฤษ รายละเอียดของสงครามยังอยู่ในจดหมายโต้ตอบระหว่างเปโตรสกับอังกฤษ[4] ในช่วงปลาย พ.ศ. 2465 ไม่มีชาวอัสซีเรียเหลือในตุรกี และมีจำนวนน้อยในอิหร่าน ส่วนใหญ่อพยพลงใต้ไปรวมกันที่นินเนเวห์

การประชุมและสนธิสัญญา แก้

การประชุมสันติภาพปารีส แก้

ใน พ.ศ. 2462 บิชอปนิกายซีรีแอกออร์ทอดอกซ์ มอร์ อาฟรัม บาร์ซอม เขียนจดหมายถึงฝ่ายสัมพันธมิตร[5]ว่าชาวอัสซีเรียกว่า 90,000 คนถูกฆาตกรรมโดยชาวตุรกี และชาวอัสซีเรียคัดค้านการขอปกครองตนเองของชาวเคิร์ด จดหมายนี้ทำให้ฝรั่งเศสเชิญตัวแทนของชาวอัสซีเรียสามกลุ่มเข้าร่วมในที่ประชุมระหว่างการประชุมสันติภาพ ได้แก่ชาวอัสซีเรียจากสหรัฐ อิรักและอิหร่าน

ชาวอัสซีเรียจากอิหร่านมาถึงฝรั่งเศสเป็นกลุ่มแรก อังกฤษซึ่งกลัวการปรากฏตัวของชาวอัสซีเรียที่อยู่นอกการควบคุมได้บีบบังคับให้ตัวแทนจากอิหร่านออกจากปารีสไป ต่อมาตัวแทนของชาวอัสซีเรียในสหรัฐมาถึง พวกเขาต้องการดินแดนอัสซีเรียที่เป็นอิสระ ซึ่งรวมภาคเหนือของเบต-นะห์เรน เริ่มตั้งตาทางใต้ของแม่น้ำซับ ดิยาร์ บากีร์ไปจนถึงเทือกเขาอาร์เมเนีย และดินแดนนี้ควรอยู่ในอาณัตของมหาอำนาจ

ตัวแทนจากสหรัฐและอังกฤษปฏิเสธแผนการนี้ อธิบายว่าประชาชนของสหรัฐกังวลเกี่ยวแผนการแบ่งแยกตุรกีทุกรูปแบบ ทำให้ตัวแทนชาวอัสซีเรียไม่ประสบความสำเร็จ ตัวแทนอัสซีเรียจากอิรักเดินทางมาถึงล่าช้าเพราะต้องรอให้อังกฤษอนุญาต ออกเดินทางมาปารีสเมื่อ 21 กรกฎาคม โดยต้องเดินทางผ่านลอนดอนและถูกกักตัวที่ลอนดอนจนการประชุมที่ฝรั่งเศสยุติ ตัวแทนของกลุ่มนี้คือนายซูร์มา คานิม เขาต้องการให้อนุญาตให้ชาวอัสซีเรียเดินทางกลับไปฮักการี และผู้ที่ทำร้ายชาวอัสซีเรียต้องถูกลงโทษ

สนธิสัญญาแซแวร์ส แก้

สนธิสัญญาแซแวร์สลงนามเมื่อ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ระหว่างอังกฤษ ชาติพันธมิตรและตุรกีเกี่ยวกับการสถาปนาตุรกีใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวอัสซีเรียไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเนื่องจากชาวอัสซีเรียไม่ได้มีอำนาจเท่าเทียมกับชาติอื่นๆ แต่มีการนำข้อเสนอของชาวอัสซีเรียมาพิจารณา และมีข้อกำหนดการคุ้มครองชนกลุ่มน้อยในทางศาสนาในสนธิสัญญา[6] ผลของสนธิสัญญานี้ โมซูลเป็นของอิรักโดยฝรั่งเศสได้ส่วนแบ่ง 25% จากรายได้จากน้ำมันในโมซูล

สนธิสัญญาโลซาน แก้

การประชุมระหว่างตุรกีกับชาติพันธมิตรเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465 เมื่อตุรกีร้องขอให้ทบทวนเรื่องการรวมโมซูลเข้ากับอิรักจนนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาโลซานเมื่อ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 การประชุมครั้งนี้ชาวอัสซีเรียถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าร่วมประชุมอีกเช่นเคย โดยพวกเขาได้คำสัญญาจากอังกฤษว่าสิทธิของพวกเขาจะได้รับการคุ้มครอง ทั้งนี้ อาคา เปโตรส นายพลแห่งกองทัพอัสซีเรียได้เข้าร่วมในการประชุม ผลของสนธิสัญญา ตัวแทนจากสหรัฐยืนยันตามข้อเสนอของอังกฤษ ทำให้ตุรกีไม่ได้ดินแดนโมซูลคืนอย่างที่ต้องการ ทั้งนี้รายได้จากน้ำมัน 20% เป็นของสหรัฐ อังกฤษอ้างว่าดินแดนโมซูลนี้จะถูกรักษาไว้เพื่อจัดตั้งรัฐของชาวเคิร์ดและชาวอัสซีเรียในอนาคต[7]

การประชุมที่คอนสแตนติโนเปิล แก้

การประชุมนี้จัดขึ้นเมื่อ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2467 เป็นการประชุมระหว่างตุรกีกับอังกฤษ ชาวอัสซีเรียไม่ได้เข้าร่วม โดยเชื่อว่าอังกฤษจะต่อสู้เพื่อพวกตน จดหมายจากตัวแทนของชาวอัสซีเรียเขียนขึ้นโดยการชี้นำของเซอร์ Henry Conway Dobbs ผู้ตรวจการณ์อิรักจากอังกฤษ ในหัวข้อที่ว่า “แถลงการณ์เรื่องโครงการการจัดตั้งถิ่นฐานของชาวอัสซีเรียในอิรัก[8] รัฐบาลตุรกีกล่าวอ้างว่าโมซูลเป็นส่วนหนึ่งของตุรกี และ Fet’hi Beg ประกาศว่าชาวอัสซีเรียซึ่งเขาเรียกว่าชาวเนสโตเรียนั้นจะได้รับการต้อนรับในการกลับสู่ดินแดนเดิมในตุรกี พวกเขาจะได้รับสิทธิเสรีภาพ เซอร์ Percy Cox กล่าวว่าโมซูลเป็นของอิรักและชาวคริสต์อัสซีเรียต้องการความคุ้มครองจากการข่มเหงของตุรกี

ในที่สุด การประชุมนี้ไม่บรรลุข้อตกลง ตุรกีสั่งให้ยกทหารเข้าประชิดชายแดนเพื่อรวมโมซูลโดยใช้กำลัง กองกำลังทหารเกณฑ์ชาวอัสซีเรีย 2000 คนถูกส่งขึ้นเหนือเพื่อป้องกันอิรัก เพราะกองทัพอิรักในขณะนั้นไม่พร้อมสำหรับหน้าที่นี้ กองทัพชาวอัสซีเรียมีบทบาทมากในการผนวกโมซูลเข้ากับอิรักตามการรับรองของสันนิบาตชาติ

ข้อชี้แนะของสันนิบาตชาติ แก้

มีขึ้นเมื่อ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2468 โดยกล่าวว่าชาวอัสซีเรียจะได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ถ้าพวกเขากลับสู่ตุรกี และความสูญเสียระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 จะได้รับการชดใช้[9] และยังระบุว่าหัวหน้าชาวอัสซีเรีย มัร เอไช ชีมุนเบ มีสิทธิในการดูแลชาวอัสซีเรีย แต่คำชี้แนะนี้ไม่ได้รับการยอมรับ

ใน พ.ศ. 2468 ศาลถาวรเพื่อการตัดสินระหว่างชาติ (Permanent Court of International Justice) เข้ามาแทรกแซงปัญหาเส้นแบ่งแดน และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2468 เสนอการแก้ปัญหาโดยปฏิเสธการอพยพชาวอัสซีเรียกลับสู่ฮักการีและยกดินแดนนั้นให้ตุรกี ส่วนดินแดนโมซูลยกให้อิรัก และให้มีการจัดแนวชายแดนใหม่ รวมทั้งแนะนำให้อังกฤษดูแลอิรักในฐานะดินแดนในอาณัติต่อไปอีก 25 ปี เพื่อคุ้มครองชาวอัสซีเรีย[10]

สิทธิมนุษยชนของชาวอัสซีเรีย แก้

เมื่อ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 ชาวอัสซีเรียยังคงคัดค้านการกระทำทารุณต่อพวกเขาและยังส่งจดหมายถึงสันนิบาตชาติ ร้องขอรายงานจากรัฐบาลอังกฤษและอิรักเกี่ยวกับสถานะของตน ศาลถาวรเพื่อการตัดสินระหว่างชาติไม่เชื่อถือรายงานจากอังกฤษและอิรัก และร้องขอให้ประเทศทั้งสองปฏิบัติตามภาระผูกพันต่อชาวอัสซีเรีย

สัญญาของอังกฤษและการร้องทุกข์ของอัสซีเรีย แก้

 
บริเวณสามเหลี่ยมอัสซีเรีย

อังกฤษปฏิเสธข้อชี้แนะของคณะกรรมการอาณัติด้วยเหตุผลว่าข้อแนะนำเหล่านั้นควรส่งไปที่รัฐบาลตุรกี ไม่ใช่อิรัก แม้ว่าฮักการีเป็นบ้านเกิดของชาวอัสซีเรีย แต่ผู้อพยพออกมาแล้วไม่ควรกลับเข้าไปอีก ควรอยู่ในที่ที่รัฐบาลอิรักจัดให้

สนธิสัญญามากมายที่มีการลงนามระหว่างอังกฤษกับอิรักแสดงให้เห็นว่าอังกฤษเตรียมให้อิรักเข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติ ข้อเรียกร้องหลักที่คณะกรรมการอาณัติได้จากชาวอัสซีเรียคือ พวกเขากลัวการสิ้นสุดของการอยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษ ข้อเรียกร้องดังกล่าวระบุวันที่ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2474 20 ตุลาคม พ.ศ. 2474 และ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ข้อเรียกร้องนี้บางส่วนถูกปฏิเสธโดยเซอร์ Francis Humphrys เพราะส่งในนามบุคคลไม่ได้ส่งในนามชาวอัสซีเรีย

ข้อเรียกร้องที่ลงวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ส่งโดยมัร เอไช ชีมุนที่ 13 เรียกร้องให้อนุญาตให้ชาวอัสซีเรียออกจากอิรักก่อนการสิ้นสุดการอยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษ และเป็นไปไม่ได้ที่ชาวอัสซีเรียจะอยู่ในอิรัก ผลจากการเรียกร้อง ทำให้คณะกรรมการอาณัติมีความกังวลเกี่ยวกับชาวคริสต์และควรให้สิทธิ์กลุ่มชนเหล่านี้ส่งข้อเรียกร้องสู่สันนิบาตชาติได้โดยตรงในอนาคต ในการตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง รัฐบาลอิรักได้จัดที่อยู่ให้ชาวอัสซีเรีย แต่บริเวณนั้นเป็นบริเวณที่มีไข้มาลาเรียชุกชุม ทำให้ชาวอัสซีเรียนับร้อยคนต้องตายด้วยไข้มาลาเรีย

สภาแห่งสันนิบาตชาติยอมรับคำชี้แนะและข้อเสนอของอิรักในการรับประกันการคุมครองชนกลุ่มน้อยเมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ทำให้อิรักได้เป็นสมาชิกสันนิบาตชาติเมื่อ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2475 [11]

การสังหารหมู่ชาวอัสซีเรียในอิรัก แก้

คำถามเกี่ยวกับชนชาติอัสซีเรียถูกนำเข้าสู่เจนีวาโดยมัร เอไช ชีมุนที่ 13 อีกครั้ง เขาพยายามเสนอต่อสภาเกี่ยวกับสถานะของชนชาติอัสซีเรีย ที่ประชุมสันนิบาตชาติยืนยันสิทธิของการเป็นชุมชนในอิรักที่มีสิทธิปกครองตนเอง

หลังจากการสถาปนาราชอาณาจักรอิรักใน พ.ศ. 2475 ปฏิกิริยาของชาวอัสซีเรียในการปฏิเสธการแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ไฟซาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลอิรักออกคำสั่งเนรเทศเมื่อ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2476 และปลดออกจากการถือสัญชาติอิรัก การลุกฮือขึ้นสู้ที่ล้มเหลวนำไปสู่การฆาตกรรมหมู่ชาวอัสซีเรีย 3,000 คนในภาคเหนือของอิรัก ซึ่งมีพยานรู้เห็นและเขียนบันทึกไว้หลายฉบับ[12]

ชาวอัสซีเรียออกแถลงการณ์เมื่อ 16 กรกฎาคม ขอความช่วยเหลือภายใน 30 วัน แต่อังกฤษกลัวว่าการส่งทหารเข้าไปจะทำให้ความชอบธรรมในอิรักของตนเสียไปจึงซื้อเวลาเป็นภายใน 4 เดือน กองทหารอังกฤษออกจากอียิปต์เข้าสู่อิรักเมื่อถึงเวลาที่กำหนด หลังจากการเจรจากับหัวหน้าชาวอัสซีเรีย ไม่มีชาวอิรักคนใดต้องรับผิดชอบกับการฆาตกรรม ชาวอัสซีเรียจำนวนมากเริ่มอพยพเข้าสู่ซีเรียซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสในขณะนั้น ทำให้กองทัพของชาวอัสซีเรียถูกแบ่งเป็นสองส่วนด้วย จากเหตุการณ์ใน พ.ศ. 2476 นี้ ชาวอัสซีเรียกำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันแห่งความทุกข์ทรมาน

มัร เอไช ชีมุนในเจนีวากับเยาซูฟ มาลิก แก้

หลังจากที่สันนิบาตชาติรับเรื่องของชาวอัสซีเรียว่าเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้แก้ไข หัวหน้าชาวอัสซีเรียเสนอต่อสันนิบาตให้จัดตั้งดินแดนสำหรับชาวอัสซีเรียและชาวเคิร์ดในจังหวัดโมซูล โดยจักรูปแบบการปกครองแบบพิเศษ เขาได้เสนอแผนการตามคำแนะนำของลอร์ด Curzon รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษเมื่อ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2462

ในขณะเดียวกัน อาลี อัลกาอิลานี นายกรัฐมนตรีของอิรักประกาศว่าชาวอัสซีเรียควรหาที่อยู่ใหม่นอกเขตอิรัก โดยรัฐบาลอิรักสัญญาว่าจะให้ความร่วมมือในการจัดตั้ง สันนิบาตชาติสั่งให้คณะกรรมการจากชาติสมาชิก 6 ชาติ มองหาความเป็นไปได้ของแผนการนี้เมื่อ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2476

ในวันที่ 24 ตุลาคม ชาวอัสซีเรียส่งข้อเรียกร้องนำโดยเยาซูฟ มาลิก ชาวอัสซีเรียที่ลี้ภัยไปเลบานอน และเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างไซปรัสเบรุตและดามัสกัส ซึ่งแสดงถึงความเป็นไปภายในอิรักและเกมการเมืองของอังกฤษ

ในช่วงตั้งแต่ เดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 – เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2478 คณะกรรมการมองหาที่ตั้งใหม่ให้ชาวอัสซีเรียไม่ว่าจะเป็นบราซิล กายอานาอังกฤษ ไนเจอร์ แต่ล้มเหลวทั้งหมด ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2478 เสนอให้ส่งไปอยู่ในบริเวณ Khabour และ Ghab ในซีเรียแต่ก็ล้มเหลวอีก การดำเนินการเกี่ยวกับชาวอัสซีเรียในอิรักไม่มีความก้าวหน้าใดๆ จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อิรักภายใต้การนำของ อาลี อัลกาอิลานีเข้าร่วมกับเยอรมันเพื่อหวังจะกำจัดอิทธิพลของอังกฤษออกไปอย่างสมบูรณ์ การคงอยู่ของอังกฤษในอิรักเกิดขึ้นด้วยผลงานของชาวอัสซีเรีย 1500 คนที่ช่วยให้กองทัพอากาศของอังกฤษที่มีฐานที่มั่นในฮับบานียะต่อสู้กับกองทหารอาหรับ 60,000 คนได้

ความเป็นไปได้ของการได้รับเอกราชของอัสซีเรียในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แก้

ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการก่อตั้งรัฐของชาวอิสราเอลใน พ.ศ. 2491 ทำให้ชาวอัสซีเรียมีความหวังเพิ่มมากขึ้น

มัร เอไช ชีมุนในสหประชาชาติ แก้

มัร เอไช ชีมุนได้เสนอข้อเรียกร้องของชาวอัสซีเรียตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อสหประชาชาติ ข้อเรียกร้องหลายข้อใน พ.ศ. 2488 และ พ.ศ. 2489 ถูกส่งไปที่สำนักทั่วไปของสหประชาชาติ

ข้อเรียกร้องต่อสำนักเลขาธิการสหประชาชาติเกี่ยวกับการฆาตกรรมหมู่ชาวอัสซีเรียในอิหร่าน แก้

ข้อเรียกร้องถูกส่งโดยมัร เอไช ชีมุน หัวหน้าของนิกายอัสซีเรียแห่งตะวันออก เขาได้ต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเวลากว่า 50 ปี ตั้งแต่ยุคของสันนิบาตชาติจนถึงสหประชาชาติ

อัสซีเรียในยุคสาธารณรัฐอิรัก แก้

จากแรงดลใจของกามัล อับเดล นัสเซอร์ เจ้าหน้าที่จากกองพันที่ 19 ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามเจ้าหน้าที่อิสระ ภายใต้การนำของนายพลจัตวาอับดุลการิม กาสเซ็ม และ พ.อ. อับดุล ซาลาม อารีฟ ได้โค่ล้มราชวงศ์ฮาชิไมต์เมื่อ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 การโค่นล้มราชวงศ์ของอิรักนำความหวังใหม่มาสู่ชาวอัสซีเรีย แต่เพียงช่วงเวลาอันสั้น กาสเซ็มถูกลอบฆ่าในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 ทำให้อิรักเข้าสู่ยุคการเมืองไม่แน่นอน และเข้าสู่ยุคการปกครองโดยพรรคบาธ ในยุคนี้ รัฐบาลได้ยอมรับวัฒนธรรมของกลุ่มผู้พูดภาษาซีเรียค (อัสซีเรีย คัลเดีย และสมาชิกของนิกายซีเรียตะวันออก) ภาษาซีเรียคใช้สอนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาในกลุ่มผู้พูดภาษานี้ควบคู่ไปกับภาษาอาหรับ มีนิตยสารและโทรทัศน์ที่ใช้ภาษาซีเรียค [13]อย่างไรก็ตาม ขบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชยังคงดำเนินต่อไป พ.ศ. 2511 ธงอัสซีเรียใหม่ประดิษฐ์ขึ้นโดยที่ประชุมในอิหร่าน พ.ศ. 2520 รัฐบาลอัสซีเรียของกลุ่มผู้อพยพในสหรัฐแสดงเจตจำนงในการตั้งรัฐปกครองตนเองของชาวอัสซีเรีย

 
ธงของขบวนการเอกราชอัสซีเรีย

สถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปเมื่อซัดดัม ฮุสเซนขึ้นสู่อำนาจ วัฒนธรรมของกลุ่มชาวซีเรียคไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป ใน พ.ศ. 2515 ซัดดัมมีนโยบายเปลี่ยนกลุ่มที่ไม่ใช่ชาวอาหรับให้เป็นชาวอาหรับ ซึ่งได้แก่ ชาวอัสซีเรีย ชาวเคิร์ด ชาวเติร์กเมน และชาวอาร์เมเนีย ระหว่างสงครามอิรัก-อิหร่าน ชาวอัสซีเรียจำนวนมากต้องตายในสงคราม กลายเป็นว่าชาวอัสซีเรียในอิรักฆ่าชาวอัสซีเรียในอิหร่าน คาดว่าชาวอัสซีเรียตายในสงครามนี้ราว 60,000 คน ระหว่างที่ซัดดัมเรืองอำนาจ ชาวอัสซีเรียที่เคยมีอยู่ 2 – 2.5 ล้านคนได้อพยพไปอยู่จอร์แดน ซีเรีย และเลบานอนเป็นจำนวนมาก

อิรักยุคหลังพรรคบาธ แก้

การสิ้นสุดอำนาจของซัดดัม ฮุสเซนหลังการรุกรานอิรักใน พ.ศ. 2546 เหลือชาวอัสซีเรียในอิรักราว 800,000 คน ขบวนการประชาธิปไตยอัสซีเรียเป็นพรรคการเมืองกลุ่มเล็กๆมีส่วนในการปลดปล่อยเมืองที่มีความสำคัญในด้านน้ำมันคือเมืองกีร์กุกและโมซูลทางภาคเหนือ ชาวอัสซีเรียไม่ได้ถูกเชิญเข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดอนาคตของอิรัก รายงานเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลเฉพาะกาลแสดงข้อมูลของอิรักหลังการรุกราน รวมชาวอัสซีเรีย (คริสต์) ของเยานาเดม กานา ผู้นำขบวนการประชาธิปไตยอัสซีเรียที่เป็นปฏิปักษ์กับซัดดัมตั้แต่ พ.ศ. 2522 ทุกวันนี้สื่อตะวันตกยอมรับว่าในอิรักมีกลุ่มชนที่สำคัญสามกลุ่มคือชาวอาหรับนิกายซุนนี ชาวอาหรับนิกายชีอะหฺ และชาวเคิร์ด การจัดตั้งเขตปกครองตนเองชาวเคิร์ดได้รับการสนับสนุนจากชาวอัสซีเรีย

อนุสัญญาอัสซีเรียและการปกครองตนเอง แก้

การเคลื่อนไหวของชาวอัสซีเรียในอิรักและสหรัฐมีแนวโน้ม แยกดินแดนเฉพาะส่วนของตนออกมา โดยแต่ละชุมชน (อาหรับ อัสซีเรีย เติร์กเมนและเคิร์ด) ต่างปกครองชุมชนของตัวเองภายในรัฐ สภาของแต่ละชุมชนมีอำนาจเต็มในด้านศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา การเกษตร พลังงาน และการป้องกันตนเอง แผนการของเขตปกครองตนเองของชาวอัสซีเรียอยู่ในบริเวณโมซูล

เหตุการณ์ปัจจุบัน แก้

โบสต์หลายแห่งถูกวางระเบิดเมื่อ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2546 มีผู้เสียชีวิต 19 คน การโจมตีโบสถ์ของชาวอัสซีเรียยังคงดำเนินต่อไป โดยความพยายามในการขอปกครองตนเองของชาวอัสซีเรียในทางการเมืองยังดำเนินการต่อไป ประธานาธิบดีอิรัก อียัด อัลลานีกล่าวว่าเขายอมรับแผนการนี้ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะเขาพ้นจากตำแหน่งไปหลังการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 รัฐมนตรีต่างประเทศของอิรัก ฮูชียาร์ เซบารี สนับสนุนแนวคิดการจัดตั้งเขตปกครองตนเองของชาวอัสซีเรีย[14] แต่ในสัปดาห์เดียวกันโบสต์ของชาวอัสซีเรีย 5 แห่งในอิรักถูกลอบวางระเบิด[15]ปัจจุบันสถานการณ์ในอิรักยังไม่สงบ

อ้างอิง แก้

  1. Minorities in the Middle East: a history of struggle and self-expression By Mordechai Nisan
  2. The Origins of War: From the Stone Age to Alexander the Great By Arther Ferrill - Page 70
  3. The Forgotten Genocide: Eastern Christians, the Last Assyrians By Sébastien de Courtois
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-14. สืบค้นเมื่อ 2008-07-27.
  5. http://www.bethsuryoyo.com/images/Articles/AframBarsom/AfBarsom7.html เก็บถาวร 2015-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน original letter] และ revised clearer version เก็บถาวร 2015-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. Treaty of Sevres, 1920
  7. The Legal Regime of the Turkish Straits By Nihan Unlu, Nihan Ünlü - Page 32
  8. Islam and Dhimmitude: Where Civilizations Collide - Page 149 by Bat Yeor, Miriam Kochan, David Littman
  9. League of Nations Documents and Serial Publications, 1919-1946 [microformguides.gale.com/Data/Download/3028000R.pdf]
  10. Recueil des cours - Page 39 by Hague Academy of International Law
  11. The Admission of Iraq to Membership in the League of Nations Manley O. Hudson The American Journal of International Law, Vol. 27, No. 1 (Jan., 1933), pp. 133-138 [1]
  12. Assyrians of Eastern Massachusetts - Page 66 by Sargon Donabed, Ninos Donabed
  13. Twelfth periodic reports of States parties due in 1993 : Iraq. 14/06/96, Committee on the Elimination of Racial Discrimination (the Iraqi government's point of view
  14. Zinda 30 November 2005
  15. Iraq losing its best and brightest

แหล่งข้อมูลอื่น แก้