อัลโฟนส์ มารียา มูคา (เช็ก: Alfons Maria Mucha) เป็นศิลปินแนวนวศิลป์ (Art Nouveau) ที่มีผลงานออกแบบอย่างหลากหลาย ทั้งภาพโปสเตอร์ ปฏิทิน ภาพประกอบหนังสือ งานพิมพ์ ภาพพิมพ์หิน งานโลหะ งานหนัง การออกแบบเครื่องประดับ และการออกแบบของตกแต่งบ้าน อีกทั้งยังมีผลงานวาดภาพเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อีกด้วย นับว่าเป็นศิลปินมากความสามารถ และมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นคนหนึ่ง

อัลโฟนส์ มูคา
อัลโฟนส์ มูคา ประมาณปี ค.ศ. 1906
เกิดอัลโฟนส์ มารียา มูคา
24 กรกฎาคม ค.ศ. 1860(1860-07-24)
อิวันชิตเซ, โมเรเวีย, จักรวรรดิออสเตรีย (ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐเช็ก)
เสียชีวิต14 กรกฎาคม ค.ศ. 1939(1939-07-14) (78 ปี)
ปราก, รัฐในอารักขาโบฮีเมียและโมเรเวีย
สัญชาติเช็ก
การศึกษาสถาบันวิจิตรศิลป์มิวนิก
สถาบันฌูว์ลีย็อง
สถาบันกาโลรอสซี
มีชื่อเสียงจากจิตรกรรม, มัณฑนศิลป์, ภาพประกอบ (illustration)
ผลงานเด่นThe Slav Epic (Slovanská epopej)
ขบวนการนวศิลป์
Patron(s)Count Karl Khuen of Mikulov

ประวัติและชีวิตส่วนตัว แก้

ต้นกำเนิด แก้

อัลโฟนส์ มูคา เกิดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1860 ในเมืองอิวันชิตเซ (Ivančice) ภูมิภาคโมเรเวีย ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐเช็ก เขามีความสามารถในการร้องเพลง ส่วนศิลปะนั้น เริ่มต้น จัดเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งของเขา แต่ต่อมา เขาได้เข้าเรียนในโรงเรียนท้องถิ่น ความสนใจทางด้านศิลปะจึงเริ่มมีมากขึ้น[1]

จุดเริ่มต้นของการเป็นศิลปิน แก้

เมื่อเขามีอายุ 17 ปี ก็ได้ออกจากบ้านเพื่อมาทำงานเป็นจิตรกรตกแต่งฉากเวทีที่ริงเทอาเทอร์ (Ringtheater) ในเวียนนา แต่โรงละครเกิดไฟไหม้ทำให้เขาต้องตกงาน และต่อมาได้ถูกเชิญให้ไปตกแต่งปราสาทของเคานต์คาร์ล (Count Karl Khuen-Belasi) แห่งเอมมาโฮฟ (Emmahof) ในออสเตรีย ซึ่งถือเป็นผู้มีพระคุณต่อการสนับสนุนทางการเงินแก่เขาในการเข้าเรียนศิลปะในสถาบันสอนการศึกษาที่มิวนิก[2][3]

ในปี ค.ศ. 1887 เขาก็ตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงปารีสเพื่อศึกษาต่อที่สถาบันฌูว์ลีย็อง (Académie Julian) และสถาบันกาโลรอสซี (Académie Colarossi) ซึ่งช่วงนี้เขาได้เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มนาบี ซึ่งเป็นศิลปินในลัทธิประทับใจยุคหลัง (post-impressionism) ที่มีเทคนิคหลากหลาย พวกเขาทำงานศิลป์ลงในหลายวัสดุนอกจากผ้าใบ ยังมีเซรามิก โปสการ์ด เสื้อผ้า นอกจากนั้นยังได้รับอิทธิพลจากคตินิยมศิลปะญี่ปุ่น ซึ่งกลายเป็นมางานศิลปะแบบนวศิลป์[4] ต่อมาในปี ค.ศ. 1889 มูคาต้องออกจากสถาบันกาโลรอสซีเมื่อเคานต์คาร์ลเสียชีวิต[5] และหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นนักเขียนการ์ตูน เขียนภาพลงนิตยสาร และภาพประกอบโฆษณา นับเป็นช่วงเวลาที่เขามีผลงานผลิตออกมาจำนวนมาก ซึ่งลักษณะงานก็ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบที่เคยร่ำเรียนมาจากสถาบันศิลปะ แต่ก็ทำให้เขาได้สะสมประสบการณ์จากทำงานและได้ศึกษาเรียนรู้ศิลปะควบคู่กันไป และคงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จด้านงานออกแบบตกแต่งต่อไป[6][7]

จุดพลิกผันให้กลายเป็นศิลปินผู้โด่งดัง แก้

ในปี ค.ศ. 1894 เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตมูคา เมื่อเขาวาดภาพ Gismonda ผลงานโปสเตอร์ชิ้นแรกที่เขาวาดให้แก่ซารา แบร์นาร์ต (Sarah Bernhardt) ซึ่งเขาได้งานชิ้นนี้อย่างบังเอิญ เนื่องจากภายในร้าน Lemercier ที่ซารา แบร์นาร์ต นางเอกละครผู้โด่งดังมาใช้บริการมีแต่ผลงานของมูคาที่จัดแสดงอยู่คนเดียวเท่านั้น เขาจึงได้งานจากซารา แบร์นาร์ต และผลงานโปสเตอร์สำหรับละครเรื่องนั้นส่งผลให้เขาโด่งดังอย่างมากในช่วงปี 90 ยากที่จะหาใครมาเทียบได้[8] มูคาทำสัญญากับซารา แบร์นาร์ตเป็นเวลา 6 ปี ตลอดช่วงเวลานี้ เขาออกแบบโปสเตอร์ที่งดงามให้เธอ 9 ชิ้น รวมทั้งช่วยงานเธอ ทั้งออกแบบเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับและเวทีในละครต่าง ๆ ที่เธอมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย สาธารณชนเองก็ชอบงานของเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกัน มูคาก็ผูกมัดกับตัวเองด้วยสัญญาที่ทำไว้กับโรงพิมพ์ Champenois ที่ซึ่งเขามีรายได้ประจำจากการออกแบบโปสเตอร์ การทำงานร่วมกับโรงพิมพ์ครั้งนี้ นำทางให้เขาได้แสดงความสามารถด้านงานภาพพิมพ์หิน (lithography) ก็ยิ่งส่งให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง[9]

ราวปี ค.ศ. 1900 ถือเป็นช่วงเวลาที่มูคาประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดแทบในทุกด้าน ทั้งในด้านการเป็นศิลปินผู้โด่งดัง และยังเป็นอาจารย์สอนศิลปะการออกแบบด้วย[10] เขาจัดทำหนังสือ Documents Decoratives และ Figures Decoratives ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับนวศิลป์อย่างสมบูรณ์ แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจที่เขามีต่อการศึกษาศิลปะในโรงเรียน และพยายามที่จะเผยแพร่ความรู้ด้านการออกแบบให้กว้างขวาง แม้หนังสือทั้งสองเล่มจะสนับสนุนให้มูคาที่ชื่อเสียงที่โด่งดังมากขึ้น แต่เมื่อหนังสือถูกจำหน่ายกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการค้า เนื่องจากสำนักพิมพ์ที่เขาทำสัญญาด้วยทำการตลาดโดยแถมหนังสือ Documents Decoratives เมื่อซื้อหนังสือ Figures Decoratives ซึ่งเหมือนเป็นการไม่ให้คุณค่าของหนังสือเท่าที่ควร ประกอบกับเมื่อออกจำหน่ายกลับทำให้เขายุ่งยากลำบากยิ่งขึ้น เพราะลูกค้าไม่ได้สั่งซื้องานตามแบบในหนังสือ แต่มักจะขอเปลี่ยนแบบเพื่อให้ได้งานที่พิเศษไม่เหมือนใคร ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่มูคาตัดสินใจออกจากปารีสไปเผชิญโลกใหม่ที่อเมริกาก็เป็นได้[11]

ย้ายจากกรุงปารีสสู่สหรัฐอเมริกา แก้

เมื่อมูคาย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อหวังที่จะพบโลกใหม่ ซึ่งคงสอดคล้องกับประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาในช่วงนั้นที่เป็นดินแดนแห่งโลกใหม่เป็นยุคแห่งความก้าวหน้าของสหรัฐอเมริกา (Progressive Era) ที่ซึ่งเขาทำงานด้านการออกแบบออกมาควบคู่ไปกับการสอนวาดภาพและองค์ประกอบที่สถาบันศิลปะชิคาโกด้วย[12] และเขายังได้พบรักและแต่งงานกับหญิงสาวชาวเช็กที่ชื่อ Marie Chytilova ในปี ค.ศ. 1906 ซึ่งภายหลังพวกเขามีลูกสาวและลูกชายด้วยกัน นอกจากนี้ มูคายังได้พบกับชาลส์ ริชาร์ด เครน นักอุตสาหกรรมชาวอเมริกันผู้ร่ำรวยและสนับสนุนให้เขาวาดภาพประวัติศาสตร์สาธารณรัฐเช็กโดยไม่เกี่ยงเรื่องค่าใช้จ่ายและราคา[13]

กลับบ้านเกิด แก้

ในปี ค.ศ. 1910 มูคาและครอบครัวเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด ที่ซึ่งเขาทำผลงานชิ้นสุดท้าย ที่น่าจะได้รับแรงบันดาลใจและมีพื้นฐานมาจากผลงานด้านประวัติศาสตร์ก่อน ๆ ของเขาเอง เช่น ปี ค.ศ. 1880 งานภาพปูนเปียก (fresco) ที่เอมมาโฮฟในโมเรเวีย, ภาพฝาผนังที่งานนิทรรศการนานาชาติ กรุงปารีส ในปี ค.ศ. 1900, งานตกแต่งภายในโรงละครเยอรมันในนิวยอร์กในปี ค.ศ. 1908 และงานภาพฝาผนังให้กับศาลาว่าการกรุงปราก โดยผลงานชิ้นสุดท้ายนี้ชื่อว่า "The Slav Epic" ภาพแห่งประวัติศาสตร์แห่งมหากาพย์ชนชาติสลาฟ ซึ่งเป็นผลงานที่ครอบงำการทำงานของมูคาในช่วงสุดท้ายของชีวิต

ช่วงปลายปี ค.ศ. 1930 ลัทธิฟาสซิสต์เริ่มมีอำนาจมากขึ้นและมองว่าผลงาน "The Slav Epic" ของมูคามีแนวคิดชาตินิยม สลาฟ หากมองในแง่ร้ายก็เป็นการขัดต่ออำนาจของลัทธิ และเมื่อกองทัพนาซีย้ายเข้าไปอยู่ในสโลวาเกีย มูคาเป็นคนแรกที่กองทัพจับตัวไปสอบปากคำ แต่เมื่อพบว่ามูคาป่วยด้วยโรคปอดบวมจึงได้รับการปล่อยตัวในที่สุด ทำให้เชื่อกันว่า เขาอาจจะได้รับการกระทำกระเทือนจากเหตุการณ์นี้ จนทำให้เขาเสียชีวิตเนื่องจากปอดติดเชื้อในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1939 ไม่นาน ก่อนที่จะเกิดการรุกรานของสโลวาเกียโดยกองทัพเยอรมัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดชีวิตการทำงานศิลปะของมูคา แทบจะไม่มีเวลาไหนเลยที่เขาได้หยุดสร้างงาน ซึ่งผลงานของเขาก็จะมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยผลงานนั้นก็มีความแตกต่างกันหลาย ๆ ด้าน ทั้งศิลปะการออกแบบที่เป็นนวศิลป์อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งนำเสนออย่างหลากหลายรูปแบบ ทั้งภาพโปสเตอร์สำหรับซารา แบร์นาร์ตปฏิทิน ภาพประกอบหนังสือ นอกจากนี้ เขายังมีงานด้านประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏผลงานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880 เรื่อยมา ควบคู่ไปกับงานศิลปะการออกแบบและตกแต่ง[14]

แนวความคิดในการสร้างผลงาน แก้

อัลโฟนส์ มูคาเป็นศิลปินที่มีความสามารถสูงและประสบความเสร็จเป็นอย่างมาก เขาทำงานหลากหลายประเภท หลายสาขาวิชา ทั้งในเชิงพาณิชย์และวิจิตรศิลป์ ภาพวาดรูปผู้หญิง ดอกไม้ และธรรมชาติของเขาเป็นที่รู้จักกันดี รวมไปถึงความมีสุนทรีศาสตร์และปรัชญาในตัวสูง ผลิตผลงานออกมามากมายทั้งโปสเตอร์ ป้ายโฆษณา หนังสือออกแบบ อาทิการออกแบบเครื่องประดับ พรม วอลเพเปอร์ และฉากเวที ซึ่งผลงานต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับการเรียกในระยะแรกว่า แบบอย่างมูคา (Mucha Style) แต่ต่อมาได้กลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อของนวศิลป์

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แก้

งานของมูคาส่วนใหญ่จะมีเอกลักษณ์ที่สวยงาม แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของหญิงสาว กับความพริ้วไหวเบาบางของเสื้อผ้าแบบลัทธิคลาสสิกใหม่ (neoclassicism) และถูกมักจะแวดล้อมไปด้วยดอกไม้นานาชนิด บางครั้งอาจมีรัศมี (haloes) ปรากฏที่ด้านหลังศีรษะด้วย และความแตกต่างจากนักทำโปสเตอร์ที่ร่วมสมัยกับมูคา คือ การใช้สีอ่อน ซีดจาง (Pastel Colors) ในการทำงาน[15] นอกจากนี้ งานของเขายังแฝงไปด้วยจิตวิญญาณ โชคชะตา และความลึกลับ เนื่องจากเขาเคยกล่าวว่า โชคชะตาของเขานั้นดีที่มีผู้อุปถัมภ์งานอยู่เสมอ[16] ดังนั้น งานในระยะนี้ของเขาจึงนับว่าเป็นการผสมผสานรูปแบบความงานของศิลปะตะวันตกเข้ากับจิตวิญาณของศิลปะตะวันออกได้อย่างลงตัว[17]

คริสต์ศตวรรษที่ 20 แก้

มูคายังคงทำงานออกแบบตกแต่งอยู่เช่นเดิม ทั้งงานด้านการตกแต่งตามแนวนวศิลป์ ซึ่งเขาได้ชี้แจงไว้ว่า ศิลปะไม่มีอะไรมากไปกว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารทางจิตวิญญาณ จากความผิดหวังที่ได้รับผลกระจบจากพาณิชย์ศิลป์ เขาจึงหันมาให้ความสนใจกับงานศิลป์ที่ดูสูงส่งบริสุทธิ์และงานศิลปะเช็กจากบ้านเกิดของเขา และเขาเมื่อได้พบกับชาลส์ ริชาร์ด เครน ที่สนับสนุนให้เขาวาดภาพประวัติศาสตร์เช็ก นับจากนั้นเขาก็เริ่มสนในงานประวัติศาสตร์มากขึ้นจากเดิม และคงสอดคล้องกับแนวความคิดของเขาที่ว่า เมื่ออายุมากขึ้น ก็อยากแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ ให้กับชีวิตหรือคิดหวนสู่อดีตที่อันรุ่งเรืองทางประวัติศาสตร์ ทำให้มูคาตัดสินใจย้ายจากกรุงปารีสมาที่สหรัฐอเมริกา และท้ายที่สุดก็เดินทางกลับบ้านเกิดสืบเนื่องให้ผลงานช่วงปลายของชีวิตมูคานั้นมีลักษณะที่เป็นภาพประวัติศาสตร์ ที่สะท้อนแนวความคิดชาตินิยม เช่น ผลงาน "The Slav Epic" ที่เป็นภาพขนาดใหญ่ที่วาดเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์แห่งมหากาพย์ชนชาติสลาฟที่มีแนวคิดชาตินิยมอย่างชัดเจนนั่นเอง

ผลงานที่สำคัญ แก้

งานโปสเตอร์ แก้

 
ภาพ Gismonda วาดให้แก่ซารา แบร์นาร์ต

Gismonda แก้

ภาพ Gismonda วาดให้แก่ซารา แบร์นาร์ต ในปี ค.ศ. 1894 ภาพนี้เป็นผลงานโปสเตอร์ชิ้นแรกของมูคาและเป็นผลงานที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเขาให้กลายเป็นศิลปินผู้โด่งดังในกรุงปารีสเพียงชั่วข้ามคืน ถือเป็นยุคทองแห่งภาพโปสเตอร์ที่ส่งอิทธิพลให้กับศิลปะแนวนวศิลป์ต่อไป[18]

ภาพนี้ได้แสดงออกถึงการสร้างสรรค์เอกลักษณ์เฉพาะตัวของมูคาเอง ซึ่งได้ผสมผสานสีและลายเส้นเข้าด้วยกันอย่างลงตัวแตกต่างจากภาพโปสเตอร์ทั่ว ๆ ไปอย่างชัดเจน ภาพนี้มูคาน่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากสภาพแวดล้อมโดยรวมของเขาเอง ที่ออกแบบจากประสบการณ์เพื่อพัฒนาผลงานให้มีความชัดเจน โดยแสดงบุคลิกส่วนตัวของ Sarah Bernhardt ในมุมมองของเขา แล้วนำเธอเข้ากับภาพฉากละครที่อ่อนไหว ซึ่งมูคานำมาพรรณนาเป็นภาพระหว่างทางที่เธอเดินไปโบสถ์ ในบรรยากาศยุคศิลปะไบแซนไทน์ สื่อความหมายว่านางเอกละคร Sarah Bernhardt บนเวทีนั้นเป็นผู้เคร่งศาสนาไม่ได้เป็นแค่ผู้หญิงธรรมดา และเธอยังเป็นสัญลักษณ์ของความฝันที่ไม่มีทางเข้าถึงได้ ภาพโปสเตอร์ของเขาได้ช่วยเสริมสร้างงานละครของนางเอกละครผู้โด่งดังอย่างลงตัว เป็นสื่อสัมผัสถึงอารมณ์ของละครคลาสสิกของฝรั่งเศส ผสมผสานกับความเป็นตะวันออกและความลึกลับไม่ธรรมดาของละคร[19]

The Seasons (series) (1896) แก้

Winter Summer Spring Autumn
 
The Seasons (series) (1896) - Winter
 
The Seasons (series) (1896) - Summer
 
The Seasons (series) (1896) - Spring
 
The Seasons (series) (1896) - Autumn

The Seasons (series) (1896) คือผลงานตกแต่งผนังชุดแรกที่กลายเป็นหนึ่งในชุดผลงานที่มีชื่อเสียงของเขา เป็นงานที่ได้รับมอบหมายจากโรงพิมพ์ Champenois ให้ผลิตงานออกมาอย่างน้อยสองชุดโดยให้อยู่ในธีมเดียวกันในปี ค.ศ. 1897 และ 1900[20]

แนวคิดที่ปรากฏออกมาจาก The Seasons ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เพราะสามารถเห็นได้จากงานชิ้นสำคัญเก่า ๆ ของเขาในสื่อสิ่งพิมพ์อื่น อย่างไรก็ตามภาพชุดนี้เป็นเหมือนนำความงามของสตรีแบบกรีกโรมันที่ดูคลาสสิกเข้ามาผสมผสานกับความเป็นชนบท ซึ่งสิ่งที่แสดงในภาพทั้งสี่ช่องนี้ มูคาได้นำอารมณ์และความรู้สึกของแต่ละฤดูกาลไม่ว่าจะเป็นความบริสุทธิ์ในฤดูในไม้ผลิ (Spring) ฤดูร้อนที่อบอ้าว (Summer) ฤดูใบไม้ร่วงที่เต็มไปด้วยผลไม้ (Autumn) และฤดูหนาวที่หนาวจัด (Winter) ลงไปในภาพพร้อมกับสื่อถึงวัฏจักรของธรรมชาติที่เวียนไปเรื่อย ๆ ได้อย่างกลมกลืน และด้วยองค์ประกอบที่มีความเรียบง่ายแบนราบชวนให้นึกถึงเทคนิคแกะไม้ (Woodcut) ของญี่ปุ่น อันเป็นการเผยให้เห็นถึงการนำงานศิลปะญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้[21]

งานด้านการออกแบบตกแต่ง แก้

Stained-glass Window designed
 
ภาพ Stained-glass Window designed at St. Vitus Cathedral, Prague

Head of a Girl แก้

เครื่องประดับ Head of a Girl เป็นรูปปั้นหญิงสาวครึ่งตัว มูคาทำขึ้นเพื่อจัดแสดงในงานนิทรรศการนานาชาติ กรุงปารีสในปี ค.ศ. 1900 เป็นรูปปั้นที่รับแรงบันดาลใจประติมากรรมในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) แต่เลือกวัสดุเงินและเทคนิคการปิดทองที่ทันสมัยเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับรูปปั้น[22] ถึงแม้ไม่ทราบแน่นอนว่ามูคาต้องการบรรยายถึงซารา แบร์นาร์ต หรือ Cleo de Merode แต่รูปแบบนั้นสะท้อนการออกแบบอย่างชาญฉลาด ด้วยการทำผมยาว เปิดหน้าด้วยผมที่ม้วน ร่างกายเปล่าเปลือย เสมือนรูปร่างเป็นรูปกรวย ให้ความหมายที่ลึกลับ ยากที่จะหยั่งถึง เป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกด้านการประดับตกแต่งงานปั้นของมูคา[23]

Stained-glass Window designed แก้

ขณะที่งานเฉลิมฉลองครบรอบพันปีของวาตสลัฟที่ 1 ดุ๊กแห่งโบฮีเมีย (St. Wenceslas) ได้มีการให้ฟื้นฟูงานกอทิกของมหาวิหารเซนต์วิตัส (St. Vitas Cathedral) แห่งปรากจนเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1929 โดยหน้าต่างประดับกระจกสีนี้ได้ถูกติดตั้งในปี ค.ศ. 1931 ซึ่งหน้าต่างจะมีภาพเซนต์วาสลัฟในวัยเด็กกับคุณยายของเขาอยู่ใจกลางภาพแวดล้อมไปด้วยฉากเหตการณ์ของนักบุญซีริล (Saints Cyril) และเมโทดิอุส (Methodius) ที่เผยแพร่ศาสนาคริสต์อยู่ท่ามกลางชาวสลาฟ ซึ่งนี้จะอยู่ด้านล่างของเยซูคริสต์เสมอ และเป็นสัญลักษณ์ของธนาคารชาวสลาฟที่ให้การสนับสนุนเงินทุนในการสร้างหน้าต่างประดับกระจกสีนี้[24]

ผลงานหนังสือ แก้

ปกหนังสือ Documents Decoratives ปกหนังสือ Figures-Decoratives
 
ปกหนังสือ Documents Decoratives
 
ปกหนังสือ Figures-Decoratives

หนังสือ Documents Decoratives แก้

หนังสือที่มูคาจัดทำตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1902 มีเนื้อหาเกี่ยวกับนวศิลป์ หนังสือจัดทำคล้ายกับเป็นสารานุกรมของงานประดับตกแต่งของมูคา เป็นการรวบรวมผลงานออกแบบตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งขั้นออกมาเป็นผลงาน สะท้อนให้เห็นว่า ผลงานของเขาเริ่มต้นด้วยการศึกษาธรรมชาติ ภาพต้นไม้ ดอกไม้ และผลไม้ แล้วจึงพัฒนาภาพธรรมชาติมาเป็นรูปทรงในการออกแบบ และใช้ภาพเดียวกันวางไว้ทั่ว ๆ งานทั้งงานพิมพ์ งานโลหะ และงานหนัง[25]

หนังสือเล่มนี้เหมาะแก่การใช้ในการประกอบการเรียนศิลปะสำหรับผู้เริ่มศึกษา เพราะทำให้นักเรียนรู้เป็นขั้นตอน จากการเข้าใจธรรมชาติไปสู่การสร้างผลงานที่เสร็จสมบูรณ์[26]

หนังสือ Figures Decoratives แก้

หนังสือที่มูคาจัดทำขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับหนังสือ Documents Decoratives แต่ Figures Decoratives จะเป็นการรวบรวมผลงานภาพสรีระของมนุษย์ ภายในระยะเวลาการทำงาน 4 ปี เขาได้รวบรวมกริยาท่าทางไว้มากมาย ซึ่งตีพิมพ์ควบคู่ไปด้วยรูปทรงทางเรขาคณิตอันเป็นโครงของท่าทางเหล่านั้น ภาพส่วนใหญ่จะเป็นภาพเด็ก ๆ และหญิงสาวในอิริยาบถต่าง ๆ บางภาพเป็นภาพเปลือย บางภาพมีผ้าพันร่างกายเป็นบางส่วน และบางภาพก็แต่งตัวเต็มยศ ลักษณะการวาดภาพเหล่านี้เป็นการวาดด้วยดินสอใช้ลายเส้นง่าย ๆ นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า งานของมูคามีเสน่ห์ เย้ายวนและลึกลับ คาดว่าเป็นอิทธิพลจากเหล่านางแบบเชื้อสายสลาฟ[27]

การทำหนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนพื้นฐานที่ดีในการส่งเสริมให้มูคาประสบความสำเร็จทั้งในการเป็นนักวาดภาพประกอบและการเป็นครู เป็นหนังสือสำหรับนักออกแบบที่ต้องการแรงบันดาลใจเพื่อไปพัฒนางานของตน เพราะลายเส้นของมูคาหนังสือเป็นงานที่เหมาะแก่การศึกษาตามความเป็นจริงมากกว่าสัดส่วนในอุดมคติของร่างกาย[28]

ภาพวาด แก้

The Slav Epic แก้

 
อัลโฟนส์ มูคากับผลงาน "The Slav Epic"

"The Slav Epic" (ผลงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของมูคา เป็นภาพแห่งประวัติศาสตร์ชนชาติสลาฟยุโรปตะวันออก) มีทั้งหมด 20 ภาพ วาดช่วงปี ค.ศ. 1910-1928 ก่อนที่เขาจะลงมือวาดผลงานชุดนี้ เขาก็ได้ออกศึกษาประวัติศาสตร์ด้วยการไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ ทั้งรัสเซีย โปแลนด์ และคาบสมุทรบอลข่านเพื่อให้แน่ใจในความถูกต้อง และทยอยส่งภาพที่เสร็จไปจัดแสดงทั้งในกรุงปราก นิวยอร์ก และชิคาโก ซึ่งได้รับการตอบรับและเสียงชื่นชมจากผู้คนเป็นอย่างมาก

ด้วยผลงานชิ้นนี้เอง ที่ก่อปัญหาให้กับเขาในช่วงสุดท้ายของชีวิต เนื่องจากเป็นงานด้านประวัติศาสตร์ที่สะท้อนแนวความคิดชาตินิยมอย่างชัดเจน ซึ่งขัดต่ออำนาจทางการเมืองของลัทธิฟาสซิสต์ (มีอำนาจช่วงปี ค.ศ. 1929-1945) และเมื่อกองทัพนาซีย้ายเข้าไปอยู่ในสโลวาเกีย มูคาเป็นคนแรกที่กองทัพจับตัวไปสอบปากคำ แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากเขาป่วย ทำให้เชื่อกันว่า เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อเขามากและทำให้เขาเสียชีวิตลงในที่สุด[29]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939-1945) ผลงาน "The Slav Epic" ถูกนำมาเก็บซ่อนไว้เพื่อป้องกันการทำลายจากนาซี และด้วยบริบทสังคมในตอนนั้นที่นาซีมีอำนาจมาก ทำให้มูคาถูกมองว่าเป็นแค่ศิลปินชั้นรอง ไม่ได้ยกย่องใด ๆ เพราะงานของเขาเหินห่างจากแนวความคิดแบบสังคมนิยมที่เป็นแนวปฏิบัติของผู้ปกครองกรุงปรากในช่วงนี้ หลังสงครามสิ้นสุด นาซีหมดอำนาจ ผลงานชุดนี้ถึงถูกนำมาจัดแสดงในภายหลัง

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2012 ที่ผ่านมา ผลงาน "The Slav Epic" ทั้งหมด 20 ชิ้นก็ได้นำมาจัดแสดงอีกครั้งบริเวณชั้นล่างของพระราชวัง Veletržní ในกรุงปราก นิทรรศการที่จัดโดยหอศิลป์แห่งชาติ

Gallery แก้

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แก้

คริสต์ศตวรรษที่ 20 แก้

ตัวอย่างจากผลงาน The Slav Epic แก้

เชิงอรรถ แก้

  1. http://www.thaitopwedding.com/Wedding/ เก็บถาวร 2013-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน อาร์ต-นูโว-อัลโฟนส์-มูคา.html
  2. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
  3. http://www.alphonse-mucha.com/
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2013-10-02.
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-05-08. สืบค้นเมื่อ 2013-10-02.
  6. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
  7. http://www.alphonse-mucha.com/
  8. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
  9. http://www.alphonse-mucha.com/
  10. http://www.alphonse-mucha.com/
  11. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
  12. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
  13. http://www.meaus.com/alphonse-mucha.htm
  14. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
  15. http://www.rogallery.com/Mucha_Alphonse/mucha-biography.htm
  16. Jiri Mucha. Alphonse Maria Mucha : his life and art. London : Academy Editions, 1989.
  17. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
  18. Alphonse Maria Mucha. Original Mucha postcards : 24 ready-to-mail full-color cards. New York : Dover, c1987.
  19. Alphonse Maria Mucha. Original Mucha postcards : 24 ready-to-mail full-color cards. New York : Dover, c1987.
  20. http://www.muchafoundation.org/gallery/browse-works/object/80
  21. http://www.muchafoundation.org/gallery/browse-works/object/80
  22. http://www.muchafoundation.org/gallery/browse-works/object/130
  23. Renate Ulmer. Alfons Mucha. Koln : Benedikt Taschen, c1994. หน้า 69.
  24. http://www.muchafoundation.org/gallery/browse-works/object/199
  25. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544. หน้า 6.
  26. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544. หน้า 8.
  27. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544. หน้า 7.
  28. แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544. หน้า 8.
  29. http://www.muchafoundation.org/gallery/mucha-at-a-glance-46.

อ้างอิง แก้

แมมมอธ. มูชา ศิลปินอาร์ตนูโว. กรุงเทพฯ : เมเจอร์อาร์ต, 2544.
Jiri Mucha. Alphonse Maria Mucha : his life and art. London : Academy Editions, 1989.
Alphonse Maria Mucha. Original Mucha postcards : 24 ready-to-mail full-color cards. New York : Dover, c1987.
Alphonse Mucha. Mucha's figures decoratives : 40 plates. New York : Dover, c1981.
Renate Ulmer. Alfons Mucha. Koln : Benedikt Taschen, c1994.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้