หม่อมเจ้าจงกลนี วัฒนวงศ์

หม่อมเจ้าจงกลนี วัฒนวงศ์ (10 เมษายน พ.ศ. 2452 — 1 มิถุนายน พ.ศ. 2508) เป็นพระธิดาใน นายพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ประสูติแต่หม่อมเชื้อ

หม่อมเจ้าจงกลนี วัฒนวงศ์
หม่อมเจ้า ชั้น 4
ประสูติ10 เมษายน พ.ศ. 2452
สิ้นชีพตักษัย1 มิถุนายน พ.ศ. 2508 (56 ปี)
ราชสกุลวัฒนวงศ์
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์
พระมารดาหม่อมเชื้อ

พระประวัติ แก้

หม่อมเจ้าจงกลนี วัฒนวงศ์ เป็นพระธิดาองค์ที่ 4 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ต้นราชสกุล “วัฒนวงศ์” ประสูติแต่หม่อมเชื้อ (สกุลเดิม บุนนาค; ธิดาของพระยาราชพงศานุรักษ์ (ชม บุนนาค) กับคุณหญิงสวาดิ) เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2452 มีโสทรเชษฐาและโสทรเชษฐภคินีรวม 3 องค์ คือ

  • หม่อมเจ้าสุวัฒนวิสัย (พ.ศ. 2439 — 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447)
  • หม่อมเจ้าเกรียงไกรมรุพล วัฒนวงศ์ (กันยายน พ.ศ. 2441 — 5 มกราคม พ.ศ. 2464) สิ้นชีพตักษัยขณะทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ
  • หม่อมเจ้าสุวคนธ์ประทุม (พ.ศ. 2444 — 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2448)

ซึ่งพระนามของหม่อมเจ้าทั้ง 4 องค์นี้ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในบรรดาพระโอรสธิดาของหม่อมเชี้อนี้ ทุกองค์ทรงเรียกมารดาไม่เหมือนกัน หม่อมเจ้าสุวัฒนวิสัย ทรงเรียกว่า “คุณเช้อ” หม่อมเจ้าเกรียงไกรมรุพล ทรงเรียกว่า “คุณหมา” ทำให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ทรงเรียกชื่อหม่อมเชื้อตามพระโอรส กระทั่งประสูติหม่อมเจ้าสุวคนธ์ประทุม ซึ่งพอตรัสได้ก็ทรงเรียกหม่อมมารดาว่า “คุณแอ้” พระบิดาก็ทรงเรียกตามจนติดพระโอษฐ์ แม้กระทั่งเมื่อกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงเรียกว่า “แอ้” เสมอ ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถึงหม่อมเชื้อก็ทรงเรียกว่า “แอ้” ด้วย ทั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ทรงเรียกอย่างคุ้นพระโอฐว่า “แอ้” เช่นกัน ส่วนหม่อมเจ้าจงกลนี ทรงเรียกหม่อมมารดาว่า “คุณแมะ”

พระโอรสและพระธิดา 4 องค์ ของหม่อมเชื้อนั้น 3 องค์แรกสิ้นชีพิตักษัยตั้งแต่ยังเยาว์วัย เหลือหม่อมเจ้าจงกลนีเพียงองค์เดียว ซึ่งเมื่อยังเยาว์วัยไม่ทรงแข็งแรงนัก มักประชวรแม้เล็ก ๆ น้อย ๆ จึงต้องมีแพทย์ประจำอยู่ใกล้ชิดตลอดจนเจริญชันษา พลานามัยจึงปกติ

การศึกษาและการทรงงาน แก้

ในเบื้องต้นได้จ้างครูมาสอนที่วัง ต่อมาได้ทรงศึกษาพิเศษตามโรงเรียนและครูที่มีชื่อเสียงบางแห่ง แต่ไม่ได้ศึกษาจนมีการสอบไล่เป็นชั้น ๆ พระบิดาและมารดาเป็นห่วงเรื่องการศึกษามาก เพราะเหลือพระธิดาองค์เดียว ทั้งอนามัยก็ไม่สู้แข็งแรง จึงไม่ยอมให้ไปเรียนเป็นประจำ แม้จะมีความประสงค์อยากเรียนก็ไม่เป็นผลสำเร็จ แต่ก็ได้รับการอบรมในเรื่องการปกครองบ้านเรือนและกิจการอื่น ๆ จากพระบิดาและมารดาเป็นอย่างดี จนพระบิดาสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2466 ขณะนั้นหม่อมเจ้าจงกลนีมีชันษาเพียง 14 ปี จึงทรงขาดจากการเรียน แต่ก็ทรงค้นคว้าหาความรู้จากตำรับตำราหรือจากผู้ที่มีความรู้ โดยเห็นว่าต่อไปจะต้องปกครององค์เอง เพราะมารดาก็อายุมากแล้ว

ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 หม่อมเชื้อถึงแก่อนิจกรรม หม่อมเจ้าจงกลนีต้องปกครององค์เองและทรงรักษาทรัพย์สมบัติตลอดมา ในระยะหลังทรงมีมานะศึกษาหาความรู้เพิ่มขึ้น เช่น ทรงเรียนภาษาอังกฤษและทรงอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับความรู้ต่าง ๆ สนทัยความรู้ทางศาสนามาก โปรดการศึกษาตั้งแต่ยังเยาว์วัย ทรงเฉลียวฉลาดรอบคอบมีพระปฏิภาณดี จึงมีความรู้รอบองค์ ทรงประกอบกิจการงานด้วยองค์เอง ทรงเปิดร้าน “สุคนธาลัย” เมื่อปี พ.ศ. 2491 ข้างตำหนักถนนสุรวงศ์ ไม่โปรดอยู่เฉย ๆ ทรงทำน้ำอบไทย แป้งร่ำ แพรเพลาะห่มนอน เสื้อเด็กอ่อน และกางเกงแพร ขายหารายได้เป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาแก่พระญาติและเด็กที่อยู่ในพระอุปการะ

เมื่อเกิดสงครามอินโดจีน ในปี พ.ศ. 2484 ทรงสมัครเป็นสมาชิกอาสากาชาด ทรงเข้ารับการอบรมวิชาพยาบาล ทรงช่วยปฏิบัติงานแก่ทหารบาดเจ็บที่มาพักฟื้น ต่อมาทรงร่วมประดิษฐ์สิ่งของกับคุณหญิงถวิล ศรีเสนา และแนะนำสมาชิกอาสากาชาดใหม่ ๆ ให้ประดิษฐ์สิ่งที่เป็นเครื่องใช้สำหรับเด็กและใช้ในบ้านที่กองอาสากาชาดทุกสัปดาห์ เพื่อจำหน่ายและนำเงินมาบำรุงสภากาชาดไทย จนถึงปี พ.ศ. 2505 หม่อมเจ้าจงกลนีเริ่มประชวรจึงทรงยุติการทรงงาน ทรงเอื้อเฟื้อช่วยเหลือพระญาติทั้งสกุล ณ นคร และสกุลบุนนาค ใครเจ็บไข้ก็ทรงรับมารักษาที่วังเสมอ ส่วนน้องและหลานของหม่อมเชื้อ หม่อมเจ้าจงกลนีก็ทรงช่วยเหลือ และทรงขอให้นางพยาบาลมาอยู่ด้วยประจำ ภายหลังทรงสร้างวังขึ้นใหม่ที่ซอยสามมิตร ถนนสุขุมวิท

สิ้นชีพิตักษัย แก้

หม่อมเจ้าจงกลนี วัฒนวงศ์ สิ้นชีพิตักษัย เมื่อเวลา 21.00 น.พี่ ของวันอังคาร ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2508 สิริชันษา 56 ปี เมื่อความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททั้งสองพระองค์ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ทุกอย่าง ได้เชิญศพไปสรงน้ำที่วังซอยสามมิตร ถนนสุขุมวิท พระราชทานโกศราชวงศ์เป็นเกียรติยศ พระราชทานไตรสดับปกรณ์ และสวดอภิธรรมตลอด 3 วัน

หม่อมเจ้าจงกลนีทรงทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินส่วนใหญ่ให้แก่สภากาชาดไทยเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 40 ล้านบาทเศษ โดยมีเงื่อนไขให้สภากาชาดไทยจ่ายเงินเลี้ยงชีพให้แก่ผู้อยู่ในพระอุปการะ บำรุงวัด และมูลนิธินักเรียนขาดแคลน และทรงขอให้สภากาชาดไทยเป็นผู้จัดการศพตามสมควรแก่เกียรติและฐานะ สภากาชาดไทยจึงเป็นผู้จัดการในงานศพโดยตลอด[1]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. อนุสรณ์ในงานรับพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าจงกลนี วัฒนวงศ์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508.
  2. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-12-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๑ ตอนที่ ๑๑๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๒, ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๗
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๗ ตอนที่ ๔๔ ง หน้า ๑๔๔๙, ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๐๓
  4. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๙๖๒, ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๔
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน เก็บถาวร 2022-10-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๖๑ ตอนที่ ๓๓ ง หน้า ๙๕๕, ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๘๗
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๕ ตอนที่ ๓๙ ง หน้า ๑๕๕๖, ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๐๑