หม่อมซิริล ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา

หม่อมซิริล[1] ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา (3 ตุลาคม พ.ศ. 2459[2] – 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553) มีชื่อเดิมว่า ซิริล แมรี จอร์จีนา เฮย์คอค[1] (อังกฤษ: Ceril Mary Georgina Heycock) หม่อมชาวสหราชอาณาจักรในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ซึ่งสมรสครั้งแรกในปี พ.ศ. 2481 ก่อนที่จะหย่ากันในปี พ.ศ. 2492 และกลับมาสมรสอีกครั้งในปี พ.ศ. 2526 จนกระทั่งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2528

หม่อม

ซิริล ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช และหม่อมซิริล เฮย์คอค ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง
เกิดซิริล แมรี จอร์จีนา เฮย์คอค
3 ตุลาคม พ.ศ. 2459
ลอนดอน สหราชอาณาจักร
เสียชีวิต22 ธันวาคม พ.ศ. 2553 (94 ปี)
ลอนดอน สหราชอาณาจักร
คู่สมรสพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช (พ.ศ. 2481–2492, 2526–2528)

ประวัติ แก้

ชีวิตช่วงแรก แก้

หม่อมซิริลเกิดเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2459 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นบุตรีของนายพันโท เพร์ซี เรเวิร์ท เฮย์คอค นอกราชการ[1] ซึ่งอยู่ตระกูลที่สืบเชื้อสายมาจากขุนนางเก่าแก่ และเฮนเรียตตา นอราห์ เฮย์คอค (สกุลเดิม เฟาเดล-ฟิลลิปส์)[3] ซึ่งมาจากตระกูลพ่อค้าผู้ร่ำรวยจนได้บรรดาศักดิ์เป็น เซอร์ และมีญาติคนหนึ่งเคยเป็นนายกเทศมนตรีของลอนดอนซึ่งเคยรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาแล้ว[4]

เสกสมรส แก้

หม่อมซิริลและหม่อมเอลิสะเบธเป็นพระสหายร่วมชั้นเรียนของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เมื่อยังศึกษาอยู่ ณ โรงเรียนศิลปะไบอัมชอว์ (Byam Shaw Art School) ใน พ.ศ. 2476 ซึ่งพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชต้องพระทัยหม่อมซิริล จึงทูลความในพระทัยแก่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ โดยทรงรับเป็นผู้ปกครองของพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชในการติดต่อกับครอบบครัวของหม่อมซิริล เพราะครอบครัวของหม่อมยึดมั่นในธรรมเนียมที่พ่อแม่ของฝ่ายหญิงต้องทำความรู้จักกับชายคนสนิทด้วยการไปมาหาสู่ที่บ้าน พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์จึงเชิญแม่ของหม่อมซิริลมาร่วมจิบน้ำชาที่พระตำหนักคอร์นวอลล์ และตกลงกันว่าจะไม่พูดถึงเรื่องงานแต่ง จนกว่าหม่อมซิริลจะมีอายุ 21 ปี[5]

ครั้นหม่อมซิริลมีอายุ 21 ปี ใน พ.ศ. 2480 เธอจึงวางแผนการใช้ชีวิตสมรสกับเจ้าชายแห่งสยาม ครั้นเมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชนิวัตแผ่นดินสยาม ประทับอยู่ที่นั่นได้เดือนเศษ ระหว่างนั้นพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงปรึกษากับพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พระยาพหลพลพยุหเสนาจึงทูลว่าต้องผ่านประธานและคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสียก่อน แล้วเข้าเฝ้าองค์ยุวกษัตริย์ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามพระราชประเพณี ที่สุดทรงมีพระบรมราชานุญาตให้พระองค์เจ้าจุลจักรพง์ และพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชเสกสมรสกับสตรีต่างชาติได้ และได้คำนำหน้านามว่า "หม่อม" เช่นเดียวกับภรรยาสามัญชนที่สมรสกับหม่อมเจ้าทั่วไป ปลาย พ.ศ. 2480 พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชจึงเสด็จกลับอังกฤษอีกครั้ง และเสกสมรสกับหม่อมซิริลเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481[5]

การหย่าร้าง แก้

แต่ชีวิตรักของทั้งสองเองก็ยืนยาวได้เพียง 11 ปี พอขึ้นปีที่ 12 ปี ด้วยความที่พระองค์พีรพงศ์ภาณุเดชทรงเป็นคนดังบุคลิกดี และสามารถตรัสได้คล่องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส และยังใช้ชีวิตอย่างเศรษฐี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอง ได้กลายเป็นแรงดึงดูดผู้หญิงอื่นให้เข้ามาหลงใหลพระองค์ พระองค์พีรพงศ์ภาณุเดชมิได้เลิกรักหม่อมซิริลเพียงแต่ว่าเมื่อถึงเรื่องที่ทรงพอพระทัยถ้าหากทำได้ก็ทรงทำ ส่วนหม่อมซิริลเองก็โอนอ่อนผ่อนตามได้ไม่เดือดร้อนก็คงจะครองชีวิตคู่กันต่อไปได้ โดยถือว่าพวกผู้หญิงเหล่านั้นจะไม่มีความหมายกับท่านเท่าภรรยาตามกฎหมาย แต่ว่าหม่อมซิริลทำใจไม่ได้ที่พระองค์พีระมีหญิงอื่นแม้จะไม่ทรงจริงจังด้วยนัก แต่เธอถือว่าเป็นความเดือดร้อนสาหัสของภรรยา หม่อมซิริลก็ตัดสินใจแยกกันอยู่พักหนึ่งเพื่อระงับจิตใจ โดยระหว่างที่แยกกันอยู่โดยยังไม่ได้หย่าขาดจากกัน สถานการณ์ก็ยิ่งทำให้ทั้งสองห่างเหินกันมากขึ้นอีก และเมื่อครั้งพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชและหม่อมซิริลเดินทางไปประเทศอาร์เจนตินาใน พ.ศ. 2491 ทรงรับสั่งกับหม่อมซิริลว่า หญิงอาร์เจนตินามีชีวิตชีวา ร่าเริง เป็นกันเองและครึกครื้น และหม่อมซิริลเริ่มรู้สึกว่าสามีเปลี่ยนไป ไม่ติดที่ และรู้สึกอึดอัดเมื่อเธออยู่ใกล้ ๆ[5]

ในระหว่างที่พระองค์พีระทรงแข่งขันที่ประเทศอาร์เจนตินานั่นเอง พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชก็ทรงพบกับเชลิตา โฮวาร์ด เมื่อครั้งที่พระองค์พีระทรงได้รับบาดเจ็บจากการแข่งรถ ก็มีเชลิตาคอยปรนนิบัติดูแล จนที่สุดพระองค์ก็ทรงพาเชลิต้ากลับมาอังกฤษด้วยกัน ประทับอยู่กับหล่อนไม่ได้กลับบ้านไปหาหม่อมซิริล รวมทั้งซื้อบ้านในเมืองกาน ชุดโต๊ะเก้าอี้ และประทานรถยนต์มอร์ริสให้เชลิตาอีกหนึ่งคัน[5] เมื่อเป็นเช่นนั้น หม่อมซิริลจึงตัดสินใจหย่าขาดจากพระองค์พีระตามกฎหมายใน พ.ศ. 2493 แต่ทั้งพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดชแและอดีตหม่อมซิริลยังคงติดต่อกันอยู่เรื่อย ๆ หลังหย่าร้าง จนภรรยาใหม่คือหม่อมชลิตาไม่พอใจนัก[5] ช่วงเวลานั้นหม่อมซิริลคบหากับชายชาวอิตาลีชื่อบรูโน หลังจากนั้นเมื่อทุกคนยอมรับให้สถานะความสัมพันธ์กัน ทั้งพระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หม่อมชลิตา หม่อมซิริล และบรูโน ออกไปท่องเที่ยวด้วยกันอย่างสหายสนิท[5]

ชีวิตหลังการหย่า แก้

หลังจากการหย่าจากพระองค์พีระแล้ว หม่อมซิริลเองก็ไม่ได้สมรสใหม่ แต่เธอมีเพื่อนใจเป็นหนุ่มโสดอายุกว่า 40 ปี และคบหากันมาจนฝ่ายชายได้เสียชีวิตจากไปทั้งที่ยังไม่ได้สมรสกัน ส่วนทางฝ่ายพระองค์พีระเองก็ทรงลังเลอยู่ถึง 3 ปีถึงตัดสินพระทัยเสกสมรสใหม่กับหม่อมชลิต้า แต่อย่างไรก็ตามพระองค์พีระก็ทรงระลึกถึงหม่อมซิริลเสมอ ทรงเป็นมิตรกับเพื่อนชายของหม่อมซิริล แล้วพาชลิต้าไปด้วยเพื่อให้รู้จักกับหม่อม ไปไหนมาไหนกัน 4 คน แต่หม่อมซิริลก็ไม่ได้กลับมาหาท่านอีก และยังคงพบปะกันอย่างเพื่อนสนิทเท่านั้น[4]

จนในปี พ.ศ. 2526 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช ได้เสด็จไปยังอังกฤษอีกครั้งหลังจากการหย่าขาดจากภรรยาชาวไทย ทรงเก็บตัวอย่างชายชราที่ไม่มีใครรู้จัก เพื่อแวะหาหม่อมซิริลเป็นครั้งสุดท้าย จนท้ายที่สุดพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช สิ้นพระชนม์ที่สถานีรถไฟบารอนส์คอร์ต ลอนดอน เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ขณะสิ้นพระชนม์ไม่มีผู้ใดทราบว่าเป็นใคร ก่อนจะเป็นข่าวใหญ่ในสัปดาห์ต่อมา[4]

หม่อมซีริลถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553 สิริอายุ 94 ปี [6] [7]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เจ้าชีวิต-สยามก่อนยุคประชาธิปไตย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : ริเวอร์บุ๊คส์. 2536, หน้า 342
  2. เกิดวังปารุสก์, หน้า 316
  3. "Ceril M G Heycock". Wiki Tree. สืบค้นเมื่อ 23 กันยายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 เรือนไทย-เจ้าดาราทอง
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 "ชีวิตและรักที่เหลือเชื่อของ "พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช" เจ้าชายนักแข่งรถชื่อก้องโลก". ศิลปวัฒนธรรม. 14 พฤษภาคม 2564. สืบค้นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2564. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "The real-life King and I: Beautiful array of jewels that belonged to an English woman who married Prince of Siam and moved to Cornwall". Dailymail. 10 กรกฎาคม 2556. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "Ceril Mary Georgina Heycock". Geni. 15 ตุลาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2561. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

บรรณานุกรม แก้