หมาย
หมาย เป็นเงินกระดาษชนิดแรกในระบบเงินตราของประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ทำขึ้นในปีพ.ศ. 2396 เพราะ ในรัชกาลของพระองค์มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างชาติและเปิดเสรีทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น จนไม่สามารถผลิตเงินพดด้วงซึ่งเป็นเงินตราหลักในขณะนั้นได้ทันต่อความต้องการ ทั้งยังมีผู้ทำเงินพดด้วงปลอมออกใช้ปะปนในท้องตลาด
หมายเป็นกระดาษสีขาวพิมพ์ตัวอักษรและลวดลายด้วยหมึกสีดำ ประทับตราพระราชสัญลักษณ์ประจำพระราชวงศ์จักรีรูปพระแสงจักร และพระราชลัญจกรประจำพระองค์รูปพระมหาพิชัยมงกุฎ ด้วยสีแดงชาด เพื่อป้องกันการปลอมแปลง หมายที่โปรดให้จัดทำมี 3 ประเภท ได้แก่
- หมายราคาต่ำ
- หมายราคากลาง (ตำลึง)
- หมายราคาสูง
อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่หมายเป็นเงินตราชนิดใหม่ ในขณะที่ราษฎรยังคงคุ้นเคยกับเงินพดด้วงซึ่งเป็นเงินตราโลหะมาแต่โบราณ จึงไม่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายตามพระราชประสงค์
การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกแบบหมายทั้งสามชนิดดังกล่าว ก็เพื่อให้มีการใช้หมายเป็นเงินที่ใช้ซื้อขายสินค้า และชำระหนี้ได้อย่างแพร่หลาย จึงทรงออกแบบให้สะดวกแก่การใช้ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จากการที่ให้พิมพ์ข้อความแจ้งมูลค่าของหมายไว้ถึง 12 ภาษา นอกจากนั้นลักษณะการทำตราดุนรูปเงินเฟื้องตามมูลค่าไว้ในประกาศว่า "เพื่อให้คนเสียจักษุ แลคนชราตาไม่เห็นคลำดูรู้สังเกต ให้อาณาประชาราษฎรทั้งสิ้นดูให้รู้จักทั่วกัน"
หมายราคาต่ำ
แก้หมายชนิดนี้พิมพ์ในด้านตั้ง มีขนาดกว้าง 5 เซนติเมตร ยาว 8.7 เซนติเมตร ด้านหนึ่งพิมพ์รูปลายเครือแกมดอกและผลไม้โดยรอบ มีตัวหนังสือบอกราคาเป็นภาษาไทย จีน ละติน อังกฤษ ฮินดู มลายู เขมร พม่า รามัญ ลาว เรียงจากบนมาล่าง ด้านซ้ายเป็นภาษามคธ ด้านขวาเป็นภาษาสันสกฤต รวมทั้งสิ้นมี 12 ภาษา มีรูปเงินเฟื้องประจำในลายเครือ หมายชนิดนี้เท่าที่พบมีอยู่ 6 ราคา คือ หนึ่งบาท สามสลึง สองสลึง และหนึ่งสลึง ในแต่ละราคาจะแสดงจำนวนรูปเงินเฟื้องประจำลายเครือ ตั้งแต่ราคาเฟื้องหนึ่งก็มีรูปเงินเฟื้องหนึ่ง ราคาสลึงหนึ่งมีรูปเฟื้องสองเฟื้อง และทวีขึ้นไปตามลำดับจนถึงราคาบาทหนึ่งมีรูปเงินเฟื้องแปดเฟื้อง
พระราชลัญจกรประทับอีกห้าดวง คือ รูปพระมหาจักรดวงหนึ่ง รูปตราสำหรับประจำแผ่นดินปัจจุบันดวงหนึ่ง รูปตราข้างซ้ายขวาเป็นพวงดอกดวงหนึ่ง เป็นพวงผลดวงหนึ่ง ถ้าราคาเฟื้องหนึ่งมีดอกหนึ่ง พวงหนึ่งถ้าราคาสลึงหนึ่งมีดอกสองผลสอง ทวีขึ้นไปตามลำดับจนถึงราคาบาทหนึ่ง จะมีแปดดอก แปดผล และมีดวงตราอักษรโดยย่ออยู่ใต้ตราประจำมีกำหนดว่าปีที่สี่ดวงหนึ่ง แล้วมีเลขพระราชหัตถข้างล่างบ้าง ข้างบนเป็นสำคัญ เพื่อไม่ให้เปลี่ยนปลอมได้ อีกด้านหนึ่งมีลักษณะเป็นประกาศหรือสัญญาของรัฐบาล โดยพิมพ์ข้อความไว้ภายในกรอบ
ลักษณะสำคัญของหมายชนิดนี้ ได้แก่การประทับตราดุนนูนรูปตราเงินเฟื้อง เป็นจำนวนตามมูลค่าที่กำหนดไว้ที่ตอนบนด้านนี้
หมายราคากลาง
แก้หมายชนิดนี้มีความกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร พิมพ์ในด้านนอนด้วยหมึกสีดำ เป็นลายกนกใบไม้แบบฝรั่งเป็นกรอบนอก คั่นด้วยลายเถาเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมข้อความระบุจำนวนเงิน และคำสัญญารัฐบาล ประทับตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล ด้านบนและด้านล่างของข้อความดังกล่าว พิมพ์ลวดลายรูปใบไม้ไว้ทั้งสองด้าน พร้อมกับประทับตราสีแดงชาดเป็นตัวหนังสือจีนซึ่งแปลว่า พิทักษ์หรือคุ้มครองไว้เท่ากับจำนวนตำลึง อีกด้านหนึ่งของหมายชนิดนี้ พิมพ์เป็นรูปลายเครืออยู่เต็มฉบับ ที่กึ่งกลางประทับตราพระราชลัญจกรนามเมืองเป็นอักษรขอม เช่นเดียวกับหมายราคาต่ำ หมายชนิดนี้เท่าที่พบมีอยู่ 4 ราคาคือ สามตำลึง สี่ตำลึง หกตำลึง และสิบตำลึง
หมายราคาสูง
แก้เป็นหมายที่พิมพ์ในด้านตั้ง มีขนาดกว้าง 6.2 เซนติเมตร ยาว 8.7 เซนติเมตร พิมพ์ลายเส้นในลักษณะเป็นกรอบอยู่โดยรอบ ด้านในกรอบพิมพ์ข้อความว่า "หมายสำคัญนี้ให้ใช้แทน 320 ซีก ฤๅ 640 เสี้ยว ฤๅ 1280 อัฐ ฤๅ 2560 โสฬส คือ เป็นเงินยี่สิบบาท ฤๅห้าตำลึง ฤๅ 12 เหรียญนก ฤๅ 28 รูเปีย ได้ให้ไปเปลี่ยนที่พระคลังจะได้ จงเชื่อเถิด ที่....." มีการประทับตราพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน และพระราชลัญจกรประจำรัชกาล รวมสององค์ อีกด้านหนึ่งของหมายพิมพ์เป็นลายในลักษณะเป็นกรอบ ที่ตอนบนของลายกรอบนี้มีข้อความพิมพ์บอกราคาเป็นภาษาอังกฤษ และมีข้อความในลักษณะเป็นประกาศหรือคำรับรองของทางราชการ รับรองในสิทธิของผู้เป็นเจ้าของเป็นภาษาอังกฤษ ด้านที่พิมพ์เป็นภาษาไทย ประทับตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลไว้เกือบเต็มพื้นที่ กรอบด้านในและข้อความพิมพ์ไว้เพื่อระบุหมวดหมายเลขของหมายแต่ละฉบับ หมายชนิดนี้เท่าที่พบมีราคา 20 บาท และ 80 บาท